ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 25 September 2010

"บลูไดมอนด์"บลูส์ ขับขานคลอสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ

ที่มา มติชน



โดย ปิยมิตร ปัญญา piyamitara@gmail.com

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องแปลกนะครับ ผู้รู้เคยบอกเอาไว้ว่า นี่เป็นเรื่องที่สร้างยาก แต่ถ้าอยากทำลายน่ะ ง่ายนิดเดียว!

ผมเชื่อว่ามีไม่น้อยที่คิดว่าเรื่องราวที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับซาอุดีอาระเบียตกอยู่ในสภาพต่ำเตี้ยเรี่ยดินมายาวนานร่วมๆ 2 ทศวรรษเข้าให้นี่แล้ว เป็นเรื่อง "ง่ายๆ" แล้วพาลไม่เข้าใจว่าด้วยเหตุใดอีกฝ่ายถึงได้ตั้งแง่ตั้งเงื่อนปมไว้มากมาย ถึงขนาดนั้น

มีกังขาขึ้นมาเช่นกันว่าซาอุดีอาระเบียกำลังแทรกแซงกิจการภายในของไทย -ใช่หรือไม่? ในขณะที่อีกบางคนอาจเห็นว่าเรื่องนี้ "เล็กๆ" ไม่แยแสเสียเลยก็ไม่น่าจะเป็นอะไรมากมายไปกว่าที่เคยเป็นมา

ความรู้สึกเช่นนี้ ทำนองนี้เกิดขึ้นได้ครับ แต่หากใคร่ครวญกันด้วยเหตุและผล ยึดถือเอาสารัตถะของเรื่องเป็นที่ตั้งแล้ว

ผมเชื่อว่าทุกคนต้องเข้าใจทางการซาอุดีอาระเบีย เข้าใจว่าทำไมต้อง "แสดงออกถึงความไม่พอใจ" ในหลายๆ เรื่องหลายๆ ครั้ง

การแสดงออกทางการทูตของซาอุดีอาระเบียอันเกี่ยว เนื่องกับกรณีนี้ทั้งหมด ไม่ใช่เป็นการแสดงออกถึง "ความรู้สึก" หากแต่เป็นการแสดงออกถึง "ความไม่เข้าใจ" และ "ความคับข้องใจ" ต่อเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ซึ่งยิ่งนับวันยิ่งทวีมากขึ้นทุกที สั่งสมจนกระทั่งกลายเป็นเหตุแห่งความไม่พอใจและร้องขอ "ข้อเท็จจริง" เรื่อยมาจนกระทั่งทุกวันนี้

เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นวันใดวันหนึ่ง เวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน และ 8 สิงหาคม เมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้ ไม่เพียงส่งผลกระทบหลายต่อหลายด้านกับประเทศไทย ยังส่งผลสะเทือนต่อซาอุดีอาระเบียด้วยเช่นเดียวกัน

หากเลือกได้ ซาอุดีอาระเบียเองอยากเลือกที่จะฟื้นสัมพันธ์ขั้นปกติขึ้นโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

แต่จนกระทั่งถึงวันนี้ คำถามหลายคำถามยังไม่มีคำตอบ ข้อเท็จจริงหลายประการยังไม่กระจ่าง อัญมณีสำคัญยังไม่ได้กลับคืน สภาวะอึดอัดคับข้องใจซึ่งกันและกันยังต้องดำเนินต่อไป

เพลงเศร้ายังคงขับขานคลอขนานไปกับสัมพันธ์ระหว่างกันต่อไป

--------------

เกรียงไกร เตชะโม่ง เคยให้สัมภาษณ์ไว้ครั้งหนึ่งลึกซึ้งอย่างยิ่งว่า หากรู้ล่วงหน้าว่าทุกอย่างจะเป็นเช่นนี้ เขาคงไม่มีวันลงมือขโมย "เพชรซาอุฯ" ในวันนั้นแน่นอน


เกรียงไกรพ้นโทษกลับไปทำนาอยู่อย่างสมถะที่บ้านใน อ.เถิน จ.ลำปาง ในสภาพมือเปล่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาได้มาจากทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ของตนเองจากการตัดสินใจใน วันนั้น มลายหายไปอย่างรวดเร็ว-หมดจด

เขาคงคาดเดาได้ว่า สักวันคงมีผู้รู้เรื่องการปล้นในวันนั้นและโทษทัณฑ์จะตามมาถึง แต่ต่อให้คาดคิดอย่างไร เกรียงไกรไม่มีวันคาดหมายได้เด็ดขาดว่าการกระทำของตนเองจะก่อให้เกิดการสูญ เสียมากมายมหาศาล คร่าชีวิตคนที่ยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องคนแล้วคนเล่า และกลายเป็นอาถรรพ์ที่สิงสู่อยู่คู่กับความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯเรื่อยมาจนถึง บัดนี้

คืนนั้นเขาลอบปีนหน้าต่างชั้นสองของพระราชวังที่ ประทับเจ้าชายไฟซาล บิน อัลดุล ราอิช ในกรุงริยาดห์ กวาดเอาอัญมณี เครื่องประดับ เพชรพลอยและข้าวของมีค่าจากเซฟในห้องนอนของเจ้าชาย คิดเป็นมูลค่าราว 502 ล้านบาท

จัดการส่งข้าวของทั้งหมดกลับมา ก่อนที่จะลาออกจากการทำหน้าที่พ่อบ้านเดินทางกลับประเทศไทย

หนึ่งในจำนวนอัญมณีที่เกรียงไกรลักลอบขโมยออกมา จากวังเจ้าชายแห่งริยาดห์คือ "บลูไดมอนด์" เพชรหายากน้ำหนัก 50 กะรัต มูลค่าของมันมิอาจประเมินได้ เนื่องจากนี่คือมรดกตกทอดสำหรับทายาทสืบตระกูลเท่านั้น

น้ำหนักของข้าวของล้ำค่าที่เขาลักลอบนำเข้าประเทศมาด้วยหนนั้นรวมกันแล้ว ถึง 90 กิโลกรัม! จัดแบ่งใส่กระเป๋าเจมส์บอนด์ 3 ใบ ส่งทางเครื่องบินกลับมายังประเทศไทย

เกรียงไกรขโมยเพชรเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2532 เขาถูกจับกุมพร้อมของกลางส่วนที่เหลือเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2533 ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก

เรื่องราวน่าจะลงเอยด้วยดีหลังจากนั้น แต่การจับกุมเกรียงไกรกลายเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของมหากาพย์เรื่องนี้

สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในช่วงระยะเวลาเพียงไม่ถึง 5 สัปดาห์หลังจากนั้น ก็คือการหายตัวไปของบุคคลถือสัญชาติซาอุดีอาระเบีย 4 คน 3 คน ในจำนวนนั้นเป็นบุคคลระดับเจ้าหน้าที่ทูต บุคคลในระดับที่สมควรได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูต อีกหนึ่งคนเป็นนักธุรกิจ

การหายตัวไปกลายเป็นการอุ้ม-ฆ่า

เท่านั้นยังไม่พอ มีนาคม 2533 ทางการไทยส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงเดินทางไปส่งมอบอัญมณีของกลางคืนถึง พระราชวังเจ้าชายไฟซาล หนึ่งเดือนให้หลัง โมฮัมเหม็ด ซาอิด โคจา อุปทูตซาอุดีอาระเบีย ส่งจดหมายอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลซาอุดีอาระเบียถึง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น

ข้อความบ่งบอกว่า ไม่เพียงไม่มี "บลูไดมอนด์" แล้ว 70 เปอร์เซ็นต์ ของเพชรของกลางที่ถูกส่งคืนไปนั้น

ยังเป็นเพชรปลอม!

-----------------------

อับดุลลาห์ อัลเบซรี่, ฟาฮัด อัลบานี่ และ อาเหม็ด อัลซาอิฟ คือเจ้าหน้าที่ทูตประจำสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ที่กรุงเทพฯ ซึ่งถูกสังหารด้วยอาวุธปืนในท่วงทำนองของการ "ประหาร" แยกกันเป็น 2 เหตุการณ์ในกรุงเทพฯ ในวันเดียวกันคือ 1 กุมภาพันธ์ 2533

มูฮัมหมัด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจผู้ถือหุ้นในบริษัทจัดหาแรงงานระหว่างประเทศชื่อ "ซินเซียร์ อินเตอร์เนชั่นแนล รีครูทเมนท์" ที่เชื่อกันว่าอยู่ในรถคันหนึ่งซึ่งนักการทูตรายหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อกระสุน หายตัวไปในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ถัดมา เชื่อว่าเสียชีวิตแล้ว

ผมเคยเข้าไปนั่งพูดคุยกับ โมฮัมเหม็ด ซาอิด โคจา เขาชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างคดีทั้งสองคดีกับคดีเพชร ชี้ให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของเรื่องทั้งหมด ชี้ให้เห็นถึงความพยายามบางอย่างจากคนบางกลุ่มเพื่อ "อำพราง" ความจริงทั้งหมด

ในทรรศนะของโคจา นักการทูตเหล่านั้นถูกสังหารเพราะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับการขโมยและการปกปิด ปลอมแปลงเพชร ในขณะที่อัลรูไวลี่ ซึ่งสนิทสนมกับนักการทูตเหล่านี้ดี ถูกสังหารอาจจะเพราะล่วงรู้ทั้ง "ความลับแห่งอัญมณี" และล่วงรู้ถึงการสังหารในครั้งนั้น

อัลรูไวลี่จึงต้องตายตามไปด้วย

ในความรู้สึกของคนอย่าง โมฮัมเหม็ด ซาอิด โคจา เหตุการณ์ทั้งหมด ไม่เพียงเป็นขโมยซ้อนขโมย ปล้นซ้อนปล้นเท่านั้น

ยังเป็นการปล้นแล้วกลับไปตบหน้าซ้ำเป็นการหยามกันชนิดถึงขีดสุดด้วยการส่งเพชรปลอมกลับคืนด้วยอีกต่างหาก

-----------------

นับเนื่องตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา การสร้างความกระจ่างให้กับคดีทั้งหมดเหล่านี้ คือภารกิจที่มีลำดับความสำคัญสูงสุดของสถานเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบีย ประจำประเทศไทย

นาบิล ฮุสเซน อัสชรี ก็เป็นเช่นเดียวกับ โมฮัมเหม็ด ซาอิด โคจา มีคุณสมบัติพร้อมเพียงพอต่อการไปรับตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ ประเทศหนึ่งประเทศใดได้สบายๆ แต่ต้องมารับเพียงตำแหน่ง "อุปทูต" ในเมืองไทย

นาบิล อัสชรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการประชาสัมพันธ์ ทำปริญญาเอกด้านรัฐศาสตร์ ก่อนหน้าจะเข้ามาอยู่ในแวดวงการทูต เคยเป็นทั้งผู้สื่อข่าว ทั้งคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ชั้นนำของซาอุดีอาระเบียอย่าง อัล บิลัด และ อัลจาซีร่า

ในด้านการทูตเคยขึ้นไปดำรงตำแหน่งเป็นถึง อัครราชทูตที่ปรึกษาประจำกระทรวงต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นนักการทูตซาอุดีอาระเบียผู้หนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วยุโรป จากบทบาททั้งใน องค์การพลังานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) และ ในฐานะตัวแทนของซาอุดีฯในสหภาพยุโรป

ถ้าไม่เอาดีทางการทูต นาบิล อัสชรี ไปเอาดีทางด้านกีฬาได้สบายๆ เพราะนี่คือ แชมป์เทกวนโด ระดับสายดำ ดั้ง 4 (สามารถเป็นผู้ฝึกสอนเทกวนโดได้) ที่ได้รับจากสมาพันธ์เทกวนโดโลกแห่งเกาหลีใต้ ตั้งแต่เมื่อปี 1982

แต่เมื่ออายุความของหลายคดีที่เกี่ยวเนื่องกับเพชรและการสังหารนักการทูต ซาอุดีอาระเบียกำลังคืบคลานใกล้เข้ามา และรัฐบาลไทยรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่าล้มเหลวโดยสิ้นเชิงที่จะตอบคำถาม สร้างความกระจ่างให้กับคดีทั้งหมด คนอย่าง นาบิล ฮุสเซน อัสชรี ก็จำเป็นต้องเดินทางมารับตำแหน่งในไทย

"ไพรออริตี้" ยังเหมือนเดิม คำถามยังเหมือนเดิม "บลูไดมอนด์" อยู่ที่ไหน เพชรส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ที่ใคร? ใครคือผู้สังหารนักการทูตทั้ง 3 ราย? ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังในการจัดการให้เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างเป็นขั้น เป็นตอน? ใครกันหนอพยายามปกปิด? และปกปิดอะไรกัน?

นาบิล ฮุสเซน อัสซรี คาดหวังว่า ตนเองจะประสบความสำเร็จใดๆ บ้างเมื่อสามารถผลักดันจนทำให้มีการคดีฟ้องร้องและศาลประทับรับฟ้องได้ในที่ สุด

ทุกอย่างกำลังขยับขยายไปในทางที่ดี แล้วก็ให้บังเกิดมีชื่อ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นมา

ผมหวนนึกถึงความรู้สึกเหมือนถูกตบหน้า ถูกหยามของ โมฮัมเหม็ด ซาอิด โคจา ในครั้งนั้น และภาวนาอยู่ในใจขออย่าให้ นาบิล อัสซรี รู้สึกอย่างเดียวกัน

ประเดี๋ยวจะร่ำลือกันไปใหญ่ว่า อาถรรพ์บลูไดมอนด์ เป็นจริง!!!