ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 21 September 2010

พงศ์เทพ เทพกาญจนา: อย่าว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง

ที่มา ประชาไท

พงศ์เทพ เทพกาญจนา
20 กันยายน 2553
การปฏิบัติหน้าที่ของ ป.ป.ช.กับการบังคับใช้ มาตรา 100 ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ที่ควรบังคับใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้ง ป.ป.ช.
ในขณะที่เพิ่งเป็นข่าวใหญ่ในเดือนที่แล้วว่าเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2553 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งสำนวนคดีทุจริตปล่อยสินเชื่อของอดีตผู้ช่วยและรองกรรมการผู้จัดการธนาคาร อาคารสงเคราะห์กับพวกไปยังอัยการ อัยการสั่งฟ้องในวันที่ 19 สิงหาคม แต่ไม่สามารถตามตัวจำเลยไปศาลได้ คดีจึงขาดอายุความในวันที่ 25 สิงหาคม ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. กันยกใหญ่ ว่าปล่อยเรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะกรณีอย่างนี้ใครๆ ก็รู้ว่าจำเลยที่คดีกำลังจะขาดอายุความย่อมหลบหนีแน่นอน ถ้าไม่มีเวลามากพอสมควร ก็ยากที่จะได้ตัวจำเลยไปฟ้อง
นอกจากเรื่องข้างต้นแล้ว มีเรื่องการทุจริตที่ไม่ซับซ้อนอะไรค้างอยู่ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกมาก และทำให้มีข้อสงสัยตามมาด้วยว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. เลือกเร่งดำเนินการเป็นพิเศษสำหรับคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นบุคคลที่อยู่ใน ฝ่ายตรงข้ามกับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้หรือไม่
วันนี้ผมได้อ่านโฆษณาหนังสือพิมพ์ของสำนักงาน ป.ป.ช. เรื่องการควบคุมจริยธรรมนักการเมือง ซึ่งเกี่ยวพันกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ด้วย จึงทำให้ต้องขุดบทความของผมเรื่องกฎหมายประหลาดซึ่งเกี่ยวกับการที่คณะ กรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติว่า ด้วยการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 มาทวงถามคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าเมื่อไรจะกำหนดให้กรรมการ ป.ป.ช. อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 100 ดังกล่าวเสียที และเมื่อใดจะกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่นที่ต้องอยู่ภายใต้บังคับ มาตรา 100 เพิ่มเติม ไม่ใช่ให้มาตราดังกล่าวใช้บังคับเฉพาะกับนักการเมือง 30 กว่าคน เท่านั้น
ลำพังผมคนเดียวไม่สามารถทำให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ทำอะไรที่เป็นผลเสียต่อกรรมการ ป.ป.ช.แต่เป็นผลดีต่อระบบและประชาชนได้ จึงจำเป็นต้องขอท่านผู้อ่านช่วยกันส่งเสียงกระตุ้นถึงคณะกรรมการป.ป.ช. ด้วยครับ
กฎหมายประหลาด
สองวันก่อนผมนั่งฟังวิทยุอยู่ในรถ ได้ยินเพลงเก่าที่มีเนื้อร้องตอนหนึ่งว่า “มัน แปลกดีนะ มันแปลกดีนะ.....” ทำให้ผมคิดถึงกฎหมายแปลกๆ ที่ยังมีไม่มีการยกเลิก กฎหมายเหล่านั้นใครที่ได้ฟังเนื้อหาก็คิดไม่ต่างกัน ว่ากฎหมายประหลาดอย่างนี้ยังปล่อยไว้ได้อย่างไร
ลองดูตัวอย่างกฎหมายอังกฤษที่ตามผลสำรวจของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง ชาวอังกฤษลงความเห็นว่าประหลาดสักหน่อยซิครับ
๑. การตายในรัฐสภาเป็นความผิด
๒. การติดแสตมป์ที่มีรูปกษัตริย์อังกฤษกลับหัวเป็นความผิดฐานกบถ
๓. ในเมืองลิเวอร์พูล คนเฝ้าร้านปลาเขตร้อนเปลือยอกได้
ถ้าท่านผู้อ่านอยากเห็นตัวอย่างกฎหมายประหลาด ลองใช้คำว่า “Absurd law” ค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก็จะเห็นกฎหมายประหลาดเหล่านี้แยะครับ
กฎหมายประหลาดข้างต้น ประหลาดที่เนื้อหาของกฎหมาย แต่มีกฎหมายประหลาดอีกฉบับ เป็นของไทยนี่เอง เนื้อหาไม่ประหลาด แต่ประหลาดที่การใช้บังคับ
กฎหมาย ประหลาดที่ผมว่า คือ มาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ. ศ. ๒๕๔๒ (กฎหมาย ป.ป.ช.)
บทบัญญัติมาตรา ๑๐๐ มีข้อความดังนี้
“มาตรา ๑๐๐ ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดดำเนินกิจการดังต่อไปนี้
(๑) เป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจ กำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดu
(๒) เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับ หน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้า หน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
(๓) รับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเข้าเป็นคู่สํญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือ เข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว
(๔) เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่หรือ
ปฏิบัติ หน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วน รวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น
เจ้า หน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไป ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ให้ นำบทบัญญัติในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามวรรค สอง โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสดังกล่าวเป็นการดำเนินกิจการของเจ้า หน้าที่ของรัฐ
มาตรา ๑๐๐ เป็นบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ที่ถูกคณะปฏิวัติ (คปค.) ฉีกทิ้งไป กำหนดให้ต้องมีในกฎหมายป.ป.ช. โดยมาตรา ๓๓๑(๒) ของรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๔๐ ใช้คำดังนี้ “(๒) การห้ามการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วน รวม ซึ่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐต้องรับผิดชอบ ทั้งในระหว่างดำรงตำแหน่งหรือหลังพ้นจากตำแหน่งตามเวลาที่กำหนด”
รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ เป็นรัฐธรรมนูญไทยฉบับแรกที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า conflict of interest โดยการห้ามการขัดกันแห่งผลประโยชน์นี้ต้องใช้ให้ครอบคลุมทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐอื่น ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญใช้คำว่า “ ...ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ....”
น่า เสียดายครับที่หลักเกณฑ์การห้ามการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๐๐ แทนที่จะถูกใช้อย่างกว้างขวางตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ป.ป.ช. กลับใช้บังคับกับคนไม่กี่สิบคน คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเท่านั้น
การ บังคับใช้อย่างจำกัดมีที่มาจากการที่ วรรคสองของมาตรา ๑๐๐ ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนดว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งใดบ้างที่ต้องห้ามดำเนินกิจการตามมาตรา ๑๐๐ (๑) (๒) (๓) และ (๔) คณะกรรมการป.ป.ช. ชุดแรกได้กำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ โดยให้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด ๑๘๐ วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ที่ถูกต้องนั้นคณะกรรมการป.ป.ช. ควรกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐเหล่านั้นให้กว้างขวางและครอบคลุม แต่เรื่องประหลาดก็เกิดขึ้น แทนที่คณะกรรมการป.ป.ช. จะกำหนดตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายป.ป.ช. กลับกำหนดเพียง ๒ ตำแหน่ง คือ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ซึ่งมีจำนวนไม่เกิน ๓๖ คน ในแต่ละรัฐบาลเท่านั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งอื่นซึ่งมีอำนาจมากและอาจเกิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ได้ เช่น ประธานศาลฎีกา ประธานองค์กรอิสระ ปลัดกระทรวง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการทหารบก กลับไม่ถูกห้ามตามมาตรา ๑๐๐ นี้ ที่น่าประหลาดยิ่งคือ คณะกรรมการป.ป.ช. ถึงกับไม่กำหนดให้ประธานป.ป.ช. และกรรมการป.ป.ช. อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐๐ ซึ่งเท่ากับเปิดช่องให้ตัวเองกระทำการที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ซึ่ง มาตรา ๑๐๐ ห้ามไว้ได้ โดยไม่มีความผิด
หลัง จากคณะกรรมการป.ป.ช. ชุดแรกกำหนดตำแหน่งตามมาตรา ๑๐๐ไปแล้ว ยังไม่มีการกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามกระทำกิจการตามมาตรา ๑๐๐ เพิ่มเติมเลย
คณะกรรมการป.ป.ช. ชุดปัจจุบันแม้จะได้รับการแต่งตั้งจาก คปค. ก็มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ป.ป.ช. ผมขอเรียกร้องให้คณะกรรมการป.ป.ช. ชุดนี้ รีบกำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามกระทำกิจการตามมาตรา ๑๐๐ เพิ่มเติมโดยด่วนครับ อย่าให้มาตรา ๑๐๐ เป็นกฎหมายประหลาดเพราะการบังคับใช้ และหวังว่าท่านคงไม่ลืมที่จะกำหนดให้ประธานป.ป.ช. กรรมการป.ป.ช. และเลขาธิการป.ป.ช. อยู่ในบังคับมาตรา ๑๐๐ ด้วย คนที่กำหนดให้ผู้อื่นต้องห้ามทำสิ่งใด ต้องพร้อมที่จะให้ใช้ข้อห้ามนั้นกับตนเองด้วยครับ
พงศ์เทพ เทพกาญจนา
๔ มกราคม ๒๕๕๑