ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 22 September 2010

รายงาน: ปากคำผู้ถูกควบคุม‘ผมถูกซ้อมในค่ายทหาร’

ที่มา ประชาไท

กรณีการตายในค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ของนายสุไลมาน แนซา เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ยังกลายเป็นที่โจทย์จานของสังคม ทำให้เป็นที่สงสัยว่า สถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยในการก่อความไม่สงบตามพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 แห่งนี้มีการซ้อมทรมานซึ่งนำมาสู่การตายดังกล่าวหรือไม่
ต่อไปนี้ เป็นคำบอกเล่าจากปากของนักศึกษาในสถาบันการศึกษา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้หนึ่งถึงประสบการณ์ระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายอิงคยุทธบริหารอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานีเมื่อไม่นานมานี้
.............................................
ตอนนั้น เวลาประมาณ 08.30 . พวกเรานักศึกษาราชภัฏยะลา 6 คน และเพื่อนที่ไม่ได้เป็นนักศึกษาอีกหนึ่งคนกำลังนอนอยู่ในหอพักแห่งหนึ่ง ในตัวเมืองยะลา ได้มีเจ้าหน้าที่เข้ามาปิดล้อม
ก่อนจะเข้าควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ตะโกนให้มอบตัวหลายครั้ง แล้วก็สั่งให้เราเปิดประตูเมื่อนักศึกษาเปิดประตูเจ้าหน้าที่สั่งให้หมอบเอาปืนจี้หัวพวกเรา บอกให้ถอดเสื้อพร้อมกับสั่งให้ยกมือขึ้น
เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เป็นการปิดล้อมตามกฎอัยการศึกจากนั้นได้ถามชื่อพวกเราทั้งหมด แล้วสั่งให้ออกไปข้างนอกระหว่างที่กำลังเดินออกไป พวกเราถูกเจ้าหน้าที่เตะต่อยทุบตีไปตลอดทาง พอออกไปนอกหอพักเจ้าหน้าที่สั่งให้นักศึกษานั่งคุกเข่าเป็นแถวหน้ากระดานพร้อมกับบอกให้ทุกคนรับสารภาพพร้อมกับเข้ามาเตะตีชกต่อย
ช่วงนั้นมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นภายในห้องพบกระดาษที่มีข้อความภาษายาวีในตู้เสื้อผ้าของนักศึกษาคนหนึ่งเจ้าหน้าที่ถามว่าเป็นตู้เสื้อผ้าของใครผมรับว่าเป็นของผม พวกเขานำผมกลับเข้าไปในห้องอีกครั้ง คราวนี้ให้ผมนั่งตรงกลางห้องมีเจ้าหน้าที่ 5 คนยืนล้อมรอบเจ้าหน้าที่คนหนึ่งบอกให้ผมรับสารภาพผมบอกว่าผมไม่รู้เรื่องอะไร
หลังจากนั้น ผมก็ถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมโดนเตะต่อยถีบอยู่กลางวงล้อมของเจ้าหน้าที่ทั้ง 5 คนผ่านไปประมาณ 15 นาที ผมทนไม่ไหวอ่อนแรงทรุดตัวลงนอนที่พื้น
ประมาณ 09.30 เจ้าหน้าที่ได้นำพวกเราทั้ง 7 คนไปที่หน่วยเฉพาะกิจที่ 11 (ฉก.11) หลังโรงเรียนพาณิชยการยะลา ระหว่างเดินทางเจ้าหน้าที่ขับรถเร็วมาก แถมยังท้าให้พวกเราทั้ง 7 คนกระโดดลงจากรถ
พอถึงหน่วยเฉพาะกิจที่ 11 เจ้าหน้าที่ให้นำพวกเราทั้ง 7 คนลงจากรถพร้อมกับทุบตีเตะ ต่อยไปด้วย ต่อมาก็เอาท่อนไม้ห่อด้วยผ้าแล้วทุบตีพวกเราทุกคน ตรงบริเวณหลังและหัว ผมเองถูกเจ้าหน้าที่เตะจนปากแตก
พอเที่ยงๆ เจ้าหน้าที่นำพวกผมทั้ง 7 คน ไปทิ้งกลางแดด โดยให้นั่งคุกเข่า แล้วเอาข้าวมาให้กินช่วงนั้นฝนตกลงมาพอดีพวกเราทั้งหมดต้องกินข้าวกลางฝน
เสร็จจากกินข้าว เจ้าหน้าที่ได้เอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คมาโชว์รูปภาพบุคคลต่างๆ มาให้นักศึกษาดูพร้อมกับบอกว่านี่คือผู้ก่อการร้ายถามว่ารู้จักไหม มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งนำผมไปหลังรถแล้วเอาปืนมาจี้ที่หัวบอกให้รับสารภาพแต่ผมเงียบ
พอเวลาประมาณ 13.30 . เจ้าหน้าที่ได้นำนักศึกษาทั้ง 7 คนไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหารจังหวัดปัตตานีพอถึงค่ายอิงคยุทธบริหารเจ้าหน้าที่ได้สอบประวัติพวกเราทั้ง 7 คนอย่างละเอียด จากนั้นนำไปแยกขังห้องละ 2 คนภายในห้องมีห้องน้ำแต่น้ำไม่ไหลมีพัดลมเปิดไฟให้แสงสว่างตลอด พวกเราไม่สามารถปิดไปได้ เนื่องจากสวิตช์อยู่นอกห้อง
วันที่ 2 ของการควบคุมตัวผมถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปซักถามเจ้าหน้าที่บอกให้ถอดเสื้อและปิดตาแล้วถามว่าจะยอมรับสารภาพหรือไม่ผมเงียบอีก ระหว่างซักถาม ผมถูกเจ้าหน้าที่ซ้อมไปด้วย ผมถูกทุบตีเตะถีบจนหมดแรง
นับแต่นั้นมา ผมก็ถูกจับแยกให้พักคนเดียวในห้องปรับอากาศมีลักษณะเป็นตู้สี่เหลี่ยมเหมือนห้องเย็น ผมถูกขังในห้องนี้ตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็น ถึงตี 4 เป็นเวลา 1 คืนช่วงกลางดึกคืนนั้นเจ้าหน้าที่นำผมไปซ้อมอีกครั้งพร้อมซักถามไปด้วย พวกเขามัดตัวผมไว้กับเสา
จากนั้นเจ้าหน้าที่จับให้นั่งคุกเข่าใต้โต๊ะแล้วเอายางในมอเตอร์ไซค์มารัดที่คอตอนนั้นหายใจไม่ออกสักพักหนึ่งก็เอาสายไฟที่เชื่อมต่อกับแบตเตอรี่รถยนต์มาจี้ฝ่าเท้า จนผมสะดุ้งเพราะถูกไฟช็อตระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่อยู่ด้วย 2–3 คน
เมื่อถูกนำตัวกลับห้องขัง ก่อนเข้าห้องเจ้าหน้าที่สาดน้ำใส่ผมจนเปียกไปทั้งตัวแล้วเอาเข้าห้องเย็น ผมหนาวตัวสั่นไปหมด จนไม่รู้สึกตัวกระทั่งตี 4 เจ้าหน้าที่จึงนำผมไปขังที่ห้องขังที่ขังผมคืนแรก
พวกเราทั้ง 7 คนถูกควบคุมตัว 9 วัน จากนั้นเจ้าหน้าที่นำพวกเราไปปล่อยที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลา ในตอนเที่ยงคืน ตอนนั้นแต่ละคนไม่รู้ชะตากรรมของแต่ละคนเลยว่าใครโดนอะไรกันมาบ้าง
เท่าที่ผมทราบการซ้อมทรมาน ในลักษณะเดียวกับที่ผมโดน เกิดขึ้นอยู่ตลอด เคยมีคดีฟ้องศาลแพ่ง ระหว่างนายอิสมาแอ เตะ นายอามีซี มานาก เป็นโจทก์ ฟ้องกองทัพบก กระทรวงกลาโหม เป็นจำเลย เรื่องละเมิด
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า มิใช่เป็นการกระทำละเมิดของเจ้าพนักงานตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา แต่เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎคำสั่งปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 9 (3) คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง จึงส่งเรื่องให้ศาลปกครองกลางพิจารณา
ต่อมา ศาลปกครองกลางได้ส่งเรื่องให้ศาลปกครองสงขลาดำเนินการ ขณะนี้คดีนียังอยู่ที่ศาลปกครองสงขลา
……………………………..
คำสั่งศาลแพ่ง
ซ้อมทรมานต้องขึ้นศาลปกครอง
ต่อไปนี้เป็นคำสั่งศาลแพ่ง ในคดีที่นายอิสมาแอ เตะ โจทก์ที่ 1 นายอามีซี มานาก โจทก์ที่ 2 ยื่นฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย จากกองทัพบก กระทรวงกลาโหม จำเลย ในคดีความแพ่ง ในความผิดละเมิด เป็นเงินกว่า 3.4 ล้านบาท ดังนี้

โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่
27 มกราคม 2551 ถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 เจ้าหน้าที่ทหารพราน เจ้าหน้าที่ทหารจากหน่วยฉก.ที่ 11 และเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยทั้งสอง ได้จงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ ด้วยการหน่วงเหนี่ยวกักขัง ทำร้ายร่างกายและยึดทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายร่างกาย จิตใจ อนามัย สิทธิและเสรีภาพ

การกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่หารพราน และเจ้าหน้าที่ทหารในสังกัดของจำเลยทั้งสอง เป็นการกระทำตามหน้าที่ ซึ่งจำเลยทั้งสองมีหน้าที่บังคับบัญชา และควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารพราน และเจ้าหน้าที่ทหารใต้บังคับบัญชา และหน่วยงานของรัฐ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิด ที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสอง ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์สำนวนแรกเป็นเงิน
1,736,000 บาท โจทก์สำนวนที่สองเป็นเงิน 1,717,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าเยียวยาความเสียหาย ที่โจทก์ทั้งสองได้รับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 32 ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด

ก่อนศาลชี้สองสถาน จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลปกครองกลาง โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลแพ่งทำความเห็นส่งไปยังศาลปกครองกลางตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.
2542 มาตรา 10

โจทก์คัดค้านว่า คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง

ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีนี้มิใช่การเรียกร้องจากการกระทำละเมิดของเจ้าพนักงาน ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา และเหตุละเมิดก็มิได้อยู่ในระหว่างขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีประมวลวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐไว้ แต่เป็นการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.
2547 อันเป็นกฎหมายเฉพาะและเป็นอำนาจฝ่ายทหาร ให้ฝ่ายทหารมีอำนาจเหนือเจ้าหน้าที่ฝ่ายพลเรือน ทั้งเหตุละเมิดคดีนี้ก็เกิดขึ้นก่อนขั้นตอนการดำเนินการกระบวนการยุติธรรม ทางอาญา จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิด หรือการรับอย่างอื่นของเจ้าหน้าที่รัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย หรือจากกฎคำสั่งปกครอง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 9 (3)

จึงมีความเห็นว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง ให้รอการพิจารณาคดีนี้ชั่วคราว และได้ส่งความเห็นนี้ไปยังศาลปกครองกลาง เพื่อพิจารณาความเห็นและดำเนินการตามนัยมาตรา
10 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542

ความเห็นของศาลปกครองกลาง เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ตามหนังสือที่อ้างถึงศาลแพ่ง ได้ส่งความเห็นเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล ความเห็นที่ 10/2552 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ตามมาตรา 10 แห่งราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. 2542 ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 108/2552 ระหว่างนายอิสมาแอ เตะ โจทย์ กองทัพบกที่ 1 กับพวก รวม 2 คน จำเลย ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 109/2552 ระหว่าทางนายอามีซี มานาก โจทก์กองทัพบกที่ 1 กับพวกรวม 2 คน จำเลย เพื่อให้สำนักงานศาลปกครองกลางพิจารณา

สำนักงานศาลปกครองกลาง ได้ส่งเรื่องให้ศาลปกครองสงขลา ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง ทำความเห็นต่อไป
หมายเหตุ ปัจจุบันคดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสงขลา
พล.ท กสิกร คีรีศรี
เราต้องเชื่อหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
ที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์ความรุนแรงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนแล้วแต่ตกอยู่บนบ่าของ “พล.ท.กสิกร คีรีศรี” อดีตผู้บัญชาการกำลังผสม พลเรือน ตำรวจ ทหาร ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนามการสู้รบ หรือในค่ายทหาร
ล่าสุด การเสียชีวิตของนายสุไลมาน แนซา ผู้ถูกควบคุมตัวภายใต้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ในศูนย์สมานฉันท์ฯ ท่ามกลางความคลางแคลงใจของผู้คนหลายฝ่าย กระทั่งตกเป็นข่าวอื้อฉาว ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นายพลผู้นี้ ต้องแอ่นอกรับหน้า ต่อไปนี้เป็นความในใจของ พล.ท.กสิกร คีรีศรี ต่อกรณีที่เกิดขึ้นไม่นาน ก่อนที่เจ้าตัวจะย้ายไปรับต่ำแหน่งใหม่ไม่นาน
....................................................
หลังจากนายสุไลมาน แนซา ฆ่าตัวตายด้วยการผูกคอในห้องขังศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์ (ศสฉ.) ก็มีการออกข่าวไปพอสมควร
ตอนนี้ กรณีการตายของนายสุไลมาน แนซา ถูกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วทางฝ่ายทหารได้ให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าเป็นหมอ ตำรวจ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมเข้ามาตรวจสอบอย่างเปิดเผย
รวมทั้งกลุ่มบุคคลที่สนใจติดตามเรื่องนี้ ตั้งแต่องค์พัฒนาเอกชน หรือเอ็นจีโอ ไปจนถึงพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ตอนแรกก็ไม่มีอะไร ไม่มีใครติดใจ แต่ตอนหลังก็ประเด็นเพิ่มเติมขึ้นมา กลายเป็นเรื่องโน้นเรื่องนี้
ทางเราเองไม่มีอะไรปิดบัง เพราะทั้งหมดมันเป็นเรื่องของข้อเท็จจริง เราสามารถอธิบายได้เป็นฉากๆ
อย่างประเด็นข้อสงสัยที่ว่า ทำไมเลือดออกทางนี้ ทำไมคอถุงพับ ในห้องขังไม่น่าจะผูกคอตายได้ รวมทั้งประเด็นข้อปลีกย่อยอื่นๆ ล้วนเป็นประเด็นความเห็นแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ทั้งทุกประเด็นหมอสามารถอธิบายด้วยวิทยาการทางการแพทย์ได้
จนถึงวันนี้ ทางกองทัพก็ยังคงยืนยันว่า เป็นการผูกคอตาย เพราะสถานที่เกิดเหตุมีคนเยอะ ไม่มีใครกล้าไปทำให้คนตายในสถานที่แบบนั้น มีห้องอยู่ติดๆ กันไปหมด ถ้าเกิดอะไรขึ้นได้ยินกันไปทั่ว
พอเกิดเหตุผูกคอตาย ทางฝ่ายทหารไม่ได้เข้าไปตรวจสอบเอง เราแจ้งเจ้าหน้าตำรวจ และทุกฝ่ายเข้ามาดำเนินการสอบสวน ตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม ดำเนินการไปตามขั้นตอนของการทำคดี ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องการจะตรวจสอบก็เข้ามา
ส่วนคณะกรรมการตรวจสอบการเสียชีวิต นายสุไลมาน แนซา ที่มีการแต่งตั้งขึ้นมาตรวจสอบการเสียชีวิตของนายสุไลมาน แนซา ผมไม่แน่ใจว่าเกิดขึ้นมาอย่างไร คำสั่งนี้ไม่ได้มาจากกองทัพ
ถึงตอนนี้ใครจะเข้ามาตรวจสอบ เราพร้อมให้ตรวจสอบ เพราะในวันเกิดเหตุมีคนมาก มีเจ้าหน้าที่อยู่หลายชุดมาก
การผูกคอตายของนายสุไลมาน แนซา อาจเกิดจากความกดดันก็อาจเป็นไปได้ แต่ใครจะเป็นผู้ยืนยัน ฝ่ายที่ยังสงสัยเกี่ยวกับสาเหตุการตาย จะต้องฟังผู้เชี่ยวชาญอย่างหมอ ต้องยอมรับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
ถ้ายังตั้งข้อสงสัยว่า เป็นไปได้อย่างนี้ เป็นไปได้อย่างโน้น เรื่องจะไม่จบ เราต้องเชื่อหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญ เรื่องนี้มันพูดยาก เนื่องจากตอนเกิดเหตุการณ์ไม่มีใครรู้เห็น ไม่มีใครอยู่ในเหตุการณ์
สำหรับการจับกุมนายสุไลมาน แนซา มีความเป็นมาอย่างไร ผมจำไม่ได้ ถ้าใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก หรือพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ก็ส่งมาควบคุมที่ศูนย์เสริมสร้างความสมานฉันท์นี้ได้เลย
ในการควบคุมตัว บางทีเราก็ใช้ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ขอออกหมายจับ ถ้าพิจารณาแล้วจะเกิดประโยชน์มากกว่า แต่ส่วนใหญ่เราจะใช้กฎอัยการศึก นำตัวมาควบคุมซักถาม 7 วัน จากนั้นอาจพิจารณาควบคุมตัวต่อไปอีก 30 วัน หรือไม่ก็ควบคุมตัวโดยใช้อำนาตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุก เฉิน พ.ศ. 2548 โดยส่งมาควบคุมที่ศูนย์สมานฉันท์แห่งนี้
ตอนนี้ไม่มีการบังคับหรือการซ้อมทรมาน เพื่อให้รับสารภาพ เพราะทุกคนรู้อยู่ว่า หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการการควบคุมตัว คนที่ถูกซ้อมทรมานจะได้รับการปล่อยตัว หลังจากนั้นอาจถูกฟ้องศาล
สังเกตได้ว่า สมัยก่อนใครซ้อมทรมาน จะถูกแจ้งความดำเนินคดี ถูกฟ้องร้อง พอมาช่วง 2–3 ปีมานี้ ไม่มีการแจ้งความดำเนินคดี ไม่มีการฟ้องร้องในคดีซ้อมทมาน เพราะเจ้าหน้าที่กลัวถูกคดี เพราะเจ้าหน้าที่ทำผิด ระหว่างอยู่ในคดีก็จะถูกสั่งพักราชการ ถ้าศาลตัดสินว่าผิด ก็จะถูกจำคุก ถูกออกจากราชการ
ทุกวันนี้มีคนจับตามองมากขึ้น ทั้งองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มองค์กรต่างๆ มีการตรวจสอบ
จากบุคคลภายนอก ขณะเดียวกันญาติก็สามารถเข้ามาเยี่ยมผู้ถูกควบคุมตัวได้ตลอด
ถ้าไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร เราจะมีสถานที่เยี่ยมญาติ บางวันคนมาเยี่ยมกันเต็มไปหมด แต่เข้าไปเยี่ยมถึงสถานที่ควบคุมไม่ได้ ถ้าเราจะให้ญาติเข้าไปดูข้างในทีหนึ่ง 30–40 คน มันแออัดดูไม่เหมาะสม แต่ถ้ามีข้อสงสัยขอเข้าไปดู คงไม่มีปัญหา