ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 21 September 2010

นิรโทษกรรมพรรคภูมิใจไทย

ที่มา มติชน



โดย นิธิ เอียวศรีวงศ์

ร่าง กฎหมายนิรโทษกรรมที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจากนายกฯ คงจะผ่านสภาออกมาเป็น พ.ร.บ.ได้ยาก แม้แต่สมมุติให้พรรคฝ่ายค้านร่วมลงมติเห็นชอบกับพรรคภูมิใจไทย


เรื่องนี้พรรคภูมิใจไทยก็คงจะคาดเดาได้ถูกอยู่แล้ว


ข้อ เสนอของพรรคภูมิใจไทยก็คือ ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ประชาชนผู้ร่วมประท้วงทางการเมือง ทั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ-ทหารซึ่งปฏิบัติการกับกลุ่มผู้ชุมนุม รวมไปถึงผู้บังคับบัญชาชั้นสูงด้วย แต่ไม่รวมผู้นำของทั้งสองกลุ่ม ไม่รวมผู้ที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีในความผิดอาญา โดยเฉพาะในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ไม่รวมนักการเมืองอีก 220 คนที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง


แน่ นอนว่าไม่รวมทักษิณ ชินวัตร ซึ่งไม่เข้าข่ายนิรโทษกรรมข้างต้นสักข้อเดียว และตามหลักการเดียวกันย่อมไม่รวมถึงนักการเมืองซึ่งสั่งทำร้ายประชาชน ทั้งในการชุมนุมของ พธม.และของ นปช.


อย่าง ไรก็ตาม ในข่าวที่ปรากฏตามสื่อ แม้จะชัดว่าใครจะได้รับนิรโทษกรรมบ้าง แต่ไม่ชัดนักว่าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ จะนิรโทษกรรมให้แก่ "ความผิด" อะไร ส่วนใหญ่ของผู้ชุมนุม พธม.และ นปช.ไม่ได้ทำผิดอะไร มากไปกว่ากฎหมายจราจร อาจมีผู้ต้องหาบางคนที่ถูกจับและอยู่ระหว่างดำเนินคดี โดยที่ตามทรรศนะของคุณเนวิน ชิดชอบ เห็นว่า เป็นไทยมุงธรรมดา แต่โชคร้ายถูกจับกุมและดำเนินคดี โดยไม่มีพยานหลักฐานที่หนักแน่นพอ แต่ปัญหาของคนเหล่านี้แก้ไขได้ง่ายมาก เพียงแต่รัฐบาลออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ (หรือดีเอสไอ) ปล่อยคนที่ไม่มีพยานหลักฐานหนักแน่นพอจะดำเนินคดีออกมาเสียโดยเร็วเท่านั้น


จึง น่าสงสัยอย่างยิ่งว่า "ประชาชน" ผู้ร่วมชุมนุมทางการเมืองฝ่ายใดจะได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรม แก่ความผิดที่เขาไม่ได้ทำครั้งนี้ และด้วยเหตุดังนั้น เขาจึงไม่น่ายินดียินร้ายอะไร และแน่นอนไม่เป็นเหตุนำไปสู่ความปรองดองดังที่อ้างอย่างแน่นอน


ใน ทางตรงกันข้าม เจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ทำร้ายประชาชนอย่างโหดร้ายป่าเถื่อน กลับได้ประโยชน์จากกฎหมายนิรโทษกรรม และก็คงนำเอาชีวิตประชาชนมาสังเวยการไต่เต้าในระบบราชการของตนอีกไม่มีที่ สิ้นสุด เมื่อตำรวจและทหารได้รับนิรโทษกรรม ก็ไม่มีอำนาจอะไรที่จะดึงเอาข้อมูลที่แท้จริงจากคนเหล่านี้ว่า ใครควรรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้คน ใครในที่นี้เป็นได้ทั้งบุคคลและระบบ และตราบเท่าที่เราไม่จับให้มั่นคั้นให้ตายในเรื่องนี้ เราก็ปิดหนทางแก้ไขปรับปรุงในอันที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการยิงแก๊สน้ำตาเข้า ใส่ผู้ประท้วงจนเสียชีวิต หรือการสังหารหมู่ขึ้นอีกในบ้านเมืองของเรา


การ ปรองดองต่างจากการหยุดยิง เราปรองดองเพื่อจะไม่ต้องยิงกันอีกตลอดไป ไม่ใช่พักรบเพียงชั่วคราว เพื่อเปิดฉากรบกันใหม่ให้แรงกว่าเก่าในอนาคต กฎหมายนิรโทษกรรมใดๆ หรือมาตรการปรองดองใดๆ ต้องเป็นมาตรการที่ให้ผลระยะยาว

ไม่ใช่การหยุดยิงพักรบชั่วคราว


แม้ โอกาสที่ผลักดันร่างกฎหมายนี้ผ่านสภามาได้มีน้อยมาก เพราะไม่ได้รับการสนับสนุนทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาล และจากใครในสังคมสักฝ่ายเดียว แต่พรรคภูมิใจไทยก็มุ่งมั่นจะผลักดันกฎหมายนี้เข้าสภาให้ได้


มี แผนว่า หากนายกฯ ไม่ให้การสนับสนุน ก็จะล่ารายชื่อประชาชน 50,000 ชื่อ เสนอร่างกฎหมายนี้เข้าคิวในสภา ส่วนภูมิใจไทยซึ่งมีสมาชิกเป็นประธานสภา จะสามารถนำร่างกฎหมายนี้ลัดคิวได้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพียงแต่ภูมิใจไทยสามารถนำร่างเข้าไปต่อคิว ภูมิใจไทยก็ได้ชื่อแล้วว่าพร้อมจะเริ่มต้นกันใหม่ แม้แต่กับคนเสื้อแดง เพราะอย่างน้อยก็มีความห่วงกังวลต่อความเดือดร้อนของคนเสื้อแดงที่ไม่ใช่แกน นำ


คะแนน เสียงในการเลือกตั้งคงได้ไม่มากนัก มติของพรรคเพื่อไทยว่า จะไม่ทิ้งกลุ่มมวลชนที่สนับสนุนพรรค คือคนเสื้อแดง และแสดงออกด้วยการเปิดพื้นที่บริหารพรรคให้แก่ผู้สนับสนุนเสื้อแดง ทำให้คนเสื้อแดงคงไม่ทิ้งพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า (และถึงอย่างไร ก็ดูเหมือนคนเสื้อแดงไม่มีพรรคการเมืองเหลือให้เลือกมากไปกว่าเพื่อไทยอยู่ แล้ว)


ฉะนั้น การเริ่มต้นกันใหม่ของพรรคภูมิใจไทย จึงไม่น่าจะหวังไปที่เริ่มต้นกันใหม่กับกลุ่มเสื้อแดง แต่น่าจะเป็นการเริ่มต้นกันใหม่กับพรรคของคนเสื้อแดงมากกว่า นั่นคือ พรรคเพื่อไทย


ใครๆ ก็คาดเดาได้ทั้งนั้นว่า การเลือกตั้งครั้งหน้า (หากจะมี) ย่อมนำมาซึ่งรัฐบาลผสม การชิงกันเป็นแกนนำรัฐบาลผสมอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ไม่จำเป็นว่าผู้ที่ได้ที่นั่งในสภาสูงสุดจะได้เป็นแกนนำเสมอไป ขึ้นอยู่กับว่าจะรวบรวมเสียงในสภาให้เหนือคู่แข่งให้ได้ต่างหาก ฤดูกาลแห่งการต่อรองผลประโยชน์แทบจะเริ่มขึ้นทันทีที่ผลการเลือกตั้งเริ่ม ปรากฏแววออกมา ต่อรองทั้งระหว่างพรรคที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคอื่น และระหว่างหลงจู๊พรรคต่างๆ กับหัวหน้ามุ้งในพรรค


แม้ จะมีการตั้งรัฐบาลในค่ายทหารกันอีก อำนาจต่อรองของพรรคภูมิใจไทยเหลือไม่มากนัก ยิ่งหากพรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียงมากกว่าประชาธิปัตย์อย่างเป็นกอบเป็นกำ เพราะถึงอย่างไรพรรคภูมิใจไทยจะไม่สามารถไปร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย ได้เสียแล้ว อย่างน้อยได้ร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ แม้ต้องสูญเสียตำแหน่งรัฐมนตรีหลักๆ ไปจำนวนมาก ก็ยังดีกว่าเป็นฝ่ายค้าน


ดัง นั้น ภูมิใจไทยจึงเลือกจะสร้าง "เยื่อใย" กับพรรคเพื่อไทยไว้เป็นเบื้องต้น ด้วยการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้ และพร้อมจะแข็งขืนกับพรรคแกนนำถึงขนาดที่จะผลักกฎหมายเข้าสภาด้วยรายชื่อ ประชาชน 50,000 ชื่อ


ร่าง กฎหมายจะผ่านได้หรือไม่เป็นประเด็นรอง แต่สัญญาณ "ปรองดอง" ได้ส่งไปแล้ว แก่พรรคเพื่อไทย ฉะนั้นจึงถึงเวลาที่พรรคเพื่อไทย (ซึ่งไร้หัวไร้หาง) ต้องกลับมานั่งขบกันให้ดีว่า จะรับไมตรีนี้ไว้แค่ไหนเพียงใด จึงจะเป็นประโยชน์ในการต่อรองทางการเมืองของตนเอง

รับ ไว้อย่างกระตือรือร้นมากเกินไป ก็อาจเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่พรรคภูมิใจไทยที่มีต่อประชาธิปัตย์ โดยที่ภูมิใจไทยไม่ได้เจตนาจะร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทยเลยก็ได้ ไม่รับเลยก็เท่ากับไม่เพิ่มอำนาจต่อรองของตนเลย จนกระทั่งความพยายามที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่มีทางเป็นไปได้เอาเลย แม้ได้ที่นั่งในสภาสูงสุดก็ตาม


ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับประชาชนแต่อย่างใด เพราะเรากำลังพูดกันถึงการเมืองของพรรคการเมืองไทย ไม่ใช่การเมืองของประชาชนไทย


และการเมืองของพรรคการเมืองไทยไม่เคยเกี่ยวอะไรกับประชาชนตลอดมา