ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 27 September 2010

เครือข่ายชุมชนอีสาน 7 จังหวัด เสนอโมเดลปฏิรูปประเทศไทย

ที่มา ประชาไท

26 ก.ย.53 เครือข่ายชุมชนภาคอีสาน 7 จังหวัดจัดเวที เวทีประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทย “นี่คือโอกาสสุดท้ายของประเทศไทย”โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 400 คนจาก 200 กว่าเครือข่าย ได้ข้อสรุปเป็นจดหมายเปิดผนึกพร้อมข้อเสนอการปฏิรูปแก่ นายอานันท์ ปันยารชุน น.พ.ประเวศ วะสี และนายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ มีรายละเอียดดังนี้
จดหมายเปิดผนึก
เวทีประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทย
“นี่คือโอกาสสุดท้ายของประเทศไทย”
ถึง
นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป
นพ.ประเวศน์ วะสี ประธานคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
วันที่ 26 กันยายน 2553
สถานการณ์ การต่อสู้ของชุมชน เพื่อการรักษาฐานทรัพยากรธรรมชาติที่ชุมชนพึ่งพิงนับวันจะมีความรุนแรงขึ้น เป็นสิ่งที่สะท้อนทำให้เห็นว่าเป็นความล้มเหลวของการเมืองระบบตัวแทนและระบบ ราชการ ในการช่วยปกป้องสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญมาตา 66 และ 67 ที่ระบุชัดเจนว่าชุมชนมีสิทธิในการปกป้องดูแลรักษาและใช้ทรัพยากรอย่าง ยั่งยืน แต่จากแผนการพัฒนาและปัญหาที่เกิดขึ้น กลับตอกย้ำว่าชุมชนทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศถูกละเมิดสิทธิ และผู้อยู่เบื้องหลังการทำลายวิถีวัฒนธรรมชุมชน คือ นักการเมือง และทุนที่ทำธุรกิจเน้นการใช้ค้าทรัพยากรธรรมชาติแบบไม่รับผิดชอบต่อสังคมและ สิ่งแวดล้อมแทบทั้งสิ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ชุมชนต้องลุกขึ้นมารวมกลุ่ม และทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม
จากการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเครือข่ายชุมชน ได้มีกระบวนการพัฒนาและแก้ปัญหาภายในชุมชนอย่างสอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ชุมชน ประกอบด้วย จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดสุรินทร์ มากกว่า 400 คน ซึ่งเป็นตัวแทนจากเครือข่ายกว่า 200 ชุมชนต้นแบบ
บทสรุปจากการแลกเปลี่ยนที่ถือว่าเป็นทางรอดของประเทศไทย มีดังนี้ (1) เรื่องความมั่นคงทางอาหาร คือ การที่ชุมชนมีอาหารอย่างเพียงพอ ให้ความสำคัญกับการเกษตรปลอดสารเคมี การมีส่วนร่วม รวมกลุ่มผลิต รวมกลุ่มขาย การอนุรักษ์พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ดั้งเดิมของท้องถิ่น แทนการผูกขาดของบริษัท (2) ปัญหาที่ดิน ระบบนิเวศของพี่น้องชาวอีสาน ในมิติของชุมชน ห้วย หนอง คลองบึง ดินน้ำป่า นั้น เป็น แหล่งอาหาร เป็นทรัพยากรของชุมชน เป็นสิ่งที่ชุมชนต้องเข้าถึงได้ ไม่ใช่เป็นของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในขณะนี้เป็นปัญหาจากเรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นธรรม และเอื้อประโยชน์ให้คนกลุ่มเดียว รวมทั้งกลไกของรัฐ แก้ไขปัญหาที่ล่าช้า ไม่จริงใจ ทำให้ชาวบ้านเห็นว่ารัฐไม่เคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ผูกขาดการพัฒนาและรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพ ฯ (3) การศึกษาทางเลือก ต้อง สร้างคนให้เป็นคนมีคุณธรรมชั้นสูง ไม่หลอกหลวงประชาชน โรงเรียนต้องพัฒนาคนให้เป็นคนดีของสังคม การศึกษาต้องใช้เพื่อชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้เรื่องศีลธรรม (4) สุขภาพทางเลือก ชุมชนยังมีระบบการดูแลสุขภาพกับหมอพื้นบ้านและใช้ความรู้เหล่านี้ในการรักษา ต้องสนับสนุนสิทธิหมอพื้นบ้าน และสร้างเครือข่ายหมอพื้นบ้าน (5) การสื่อสารของชุมชน ความสำคัญคือการยกระดับให้สังคมและสื่อมวลชนเข้าใจเรื่องชุมชนโดยช่องทางสื่อชุมชนหลากหลายรูปแบบ (6) การพัฒนากลุ่มเยาวชน ปัจจุบันเยาวชนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงมาก ควรสนับสนุนให้มีพื้นที่สำหรับการแสดงออกของเยาวชน สร้างความเข้มแข็งในชุมชน ด้วยคุณธรรมจริยธรรมและการมีส่วนร่วมของคนทุกวัย
จาก ประสบการณ์ทั้งหมดที่สั่งสมมาของคนอีสาน จึงมีข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศไทยโดยมีรูปธรรมที่ชุมชน ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่โครงสร้างเพียงอย่างเดียว ดังข้อเสนอต่อไปนี้
การแก้ปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วนของชุมชน
1.กรณี ความเดือดร้อนเรื่องที่ดินจากข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับรัฐ มีการจับกุมดำเนินคดีตัดฟันต้นไม้ และการลงพื้นที่รังวัดแนวเขต โดยชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม ของเจ้าหน้าที่จากกรมอุทยาน กรมป่า ฯลฯ ให้รัฐยุติการจับกุมและหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกจับกุมดำเนินคดีอย่างเร่งด่วน
ให้ มีนโยบายคุ้มครองพื้นที่การทำเกษตรโดยการรับรองสิทธิให้มีความมั่นคง โดยให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนก่อนสิทธิของเอกชน กรณีปัญหาที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ร่วมกัน แต่มีบุคคลเข้าไปใช้ประโยชน์หรือออกโฉนดทับพื้นที่สาธารณะ ให้มีการตรวจสอบและยกเลิกทั้งประเทศ
2.กรณีการ สำรวจพื้นที่ตามแผนการสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดอุบลราชธานีของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และมีกระบวนการสร้างความแตกแยกในชุมชนท้องถิ่น โดยวิธีการต่างๆ เสนอให้รัฐยุติกระบวนการดังกล่าว กรณีปัญหาเขื่อนปากมูลให้เร่งรัดการแก้ไขปัญหาตามข้อตกลงที่วางไว้ กรณีเขื่อนในลำน้ำโขงให้ยกเลิกทั้งหมดเพราะกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน อย่างมหาศาล การสร้างสายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้ยกเลิกและให้ยึดหลักเคารพในสิทธิชุมชน กล่าวคือ ให้ยกเลิกสัมปทานของรัฐในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ซึ่งชุมชนใช้ประโยชน์
3. ให้แก้ปัญหากรณีสัญชาติในพื้นที่ซึ่งมีความกลมกลืนทางวัฒนธรรมโดยเร่งด่วน เช่น กรณีคนไร้รัฐในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว
ข้อเสนอระยะกลาง
1.ให้มี การส่งเสริมการเกษตรผสมผสานโดยใช้วิถีวัฒนธรรมเป็นตัวตั้ง เน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ คุ้มครองอาชีพที่หลากหลาย โดยเฉพาะพันธุ์ข้าว และจัดสรรให้มีปัจจัยการผลิตโดยเฉพาะที่ดินทำกินอย่างเท่าเทียม โดยประกาศพื้นที่นำร่องเป็นเครือข่ายฯ จังหวัด ป่าชุมชน หรือชุมชนต้นแบบและสนับสนุนงบประมาณโดยตรงในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเสริม ความเข้มแข็งองค์กรชุมชน
2.ให้ ใช้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายหลักในการแก้ปัญหาที่ดิน และปฏิรูปกฎหมายที่ดินที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการแก้ปัญหาคนจน เช่น ยกระดับระเบียบโฉนดชุมชนเป็น พรบ.โฉนดชุมชน ฯลฯ โดยต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าควบคู่กับการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง
3.กำหนด เขตนิเวศวัฒนธรรมเพื่อคุ้มครองและอนุรักษ์วิถีวัฒนธรรมชุมชน เพื่อการจัดการทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์ตามวิถีดั้งเดิมโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน
4.ให้ยก เลิกโครงการที่มีผลกระทบต่อสิทธิชุมชนชัดเจน เช่น โครงการเหมืองแร่โปแตช และต้องจัดให้มีการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพประชาชน โดยการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอนอย่างเปิดเผยรอบด้าน
5.ให้มี การส่งเสริมสวนสมุนไพรชุมชนและรับรองหมอพื้นบ้าน เพื่อสนับสนุนการดูแลสุขภาพชุมชนอย่างเอื้ออาทร โดยประกาศเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งการเรียนรู้ รัฐต้องสนับสนุนด้านทรัพยากร และงบประมาณตรงที่ชุมชน ให้ออกใบประกอบโรคศิลป์กับหมอพื้นบ้านที่ชุมชนรับรอง
6.ให้มี การตั้งหน่วยงาน หรือกรมสื่อสารชุมชน เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีพื้นที่ในการเผยแพร่สาธารณะ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการผลิตสื่อชุมชนในหลากหลายรูปแบบเช่น เพลงพื้นบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่น หนังสร้างสรรค์สังคม หรือเรื่องสั้นสารคดี โดยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาบุคลากรชุมชนอย่างเป็นระบบโดยงบประมาณของรัฐ อย่างเพียงพอ
7.ส่ง เสริมสนับสนุนให้มีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ โรงเรียนต้องสร้างคนให้เป็นคนมีคุณธรรมชั้นสูง ไม่หลอกหลวงประชาชน ต้องสร้างคนมีคุณธรรมให้มากที่สุด โรงเรียนต้องพัฒนาคนให้เป็นคนดีของสังคมก่อนที่จะเป็นคนเก่ง การศึกษาเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน สิ่งสำคัญคือ การเรียนรู้เรื่องศีลธรรม และส่งเสริมให้เยาวชนได้มีพื้นที่ในการสร้างตัวตน โดยใช้วัฒนธรรมชุมชน ได้แสดงความสามารถ ได้ฝึกทักษะ ด้านต่างๆ เช่น ดนตรี กีฬาที่สร้างสรรค์
8.ให้มี การกระจายอำนาจสู่ประชาชนโดยตรง ประชาชนต้องมีสิทธิในการกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ โดยให้จัดสรรงบประมาณของรัฐในการสนับสนุนการพัฒนาองค์กรชุมชนโดยตรง ให้มีการจัดตั้งสภาประชาชนอยู่ในระบบประชาธิปไตย ควบคู่ไปกับสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา
การสรุป บทเรียนชุมชนเพื่อหาทางออกประเทศไทยครั้งนี้เป็นรูปแบบที่ครอบคลุมรอบด้าน ที่สุดซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ และรัฐบาลนำข้อมูลไปใช้เพื่อการปฏิรูปได้ในทันที โดยไม่มีความจำเป็นต้องทำเหมือนกันทั่วประเทศอย่างไม่ต้องรอผลจากการประชุม ของกรรมการเพียงอย่างเดียวเท่านั้น คณะกรรมการฯควรฟังเสียงและข้อเสนอของคนจนเพื่อตอบโจทย์ในการปฏิรูปประเทศ ไม่ใช่คนจนเป็นเพียงองค์ประกอบในการปฏิรูปประเทศไทย
ด้วย ความ เคารพ
เครือข่ายชุมชนภาคอีสาน 7 จังหวัด
วันที่ 26 กันยายน 2553
ณ ศูนย์ประสานงานเครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จังหวัดอุบลราชธานี(คปสม.อบ.)