ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 18 September 2010

4ปีรัฐประหาร-ผลลัพธ์ประเทศไทย?

ที่มา ข่าวสด

คอลัมน์ รายงานพิเศษ



ครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร มีคำถามเกิดขึ้นมากว่าเมืองไทยได้อะไร

มีมุมมองจากนักวิชาการ สะท้อนผลกระทบจากเหตุการณ์ 19 กันยา 49

ทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม

เมืองไทยดีหรือแย่ขึ้น

-โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล

เราได้บทเรียนว่าการรัฐประหารไม่ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง เราได้มรดกจากการรัฐประหาร คือ ประกาศ คปค. กฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมาย คมช.

ขณะที่ปัญหาที่ตั้งใจจะแก้ให้การเมืองดีขึ้น การฉ้อฉลน้อยลง การทำให้คนปรองดองกันมากขึ้น กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่ต้องการ วันนี้ความขัดแย้งยังอยู่

อย่างที่บอกว่าเป็นบทเรียน ที่คิดกันว่าการใช้กำลังจะแก้ปัญหาอะไรได้ ก็เห็นว่าแก้อะไรไม่ได้

ส่วนคำถามว่า 4 ปีที่แล้วหากไม่รัฐประหารประเทศจะเดินหน้าได้ดีกว่านี้หรือไม่ ผมไม่อยากตอบคำถามลักษณะนี้

แต่เราเห็นว่าความขัดแย้งที่ปรากฏ ตอนนั้นมีการชุมนุม วันนี้ไม่มีการชุมนุม แต่มีการแบ่งเขาแบ่งเราอย่างมาก อาจมีคนถามว่ามีไม้บรรทัดอะไรมาวัด เอาอะไรประเมิน ผมไม่รู้ แต่ที่รู้คือวันนี้ความขัดแย้งยังดำรงอยู่

การรัฐประหารเป็นปัจจัยหนึ่งของความขัดแย้ง ทำให้เรื่องยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น ผมไม่อยากกล่าวโทษใครว่าทำเศรษฐกิจเสีย แต่การพัฒนาประเทศก็เดินหน้าได้ตามลำดับอยู่แล้วถ้าเรามีความสามัคคีกัน

การรัฐประหารเป็นอาการที่ปรากฏบนพื้นฐานความคิดว่าการแก้ปัญหาด้วยกำลังจะ ได้ผล ถ้าไม่เปลี่ยนความคิดพื้นฐาน แล้วใช้วิธีอื่นที่ดีกว่า เราจะย่ำอยู่กับที่ วนอยู่ในอ่าง

4 ปีมานี้ทำให้รู้ว่าทัศนคติคนในสังคมเรียนรู้ว่าการใช้กำลังไม่ได้ผล ไม่อย่างนั้นคงจะมีการเรียกร้องให้มีการใช้อำนาจ กำลัง แต่ตรงนี้ลดลง

ทางสังคมที่เกิดการปริแยกแบ่งข้าง ยิ่งซับซ้อนมาก ยังไม่มีวี่แววที่จะคลี่คลาย ซึ่งผมไม่อยากจะโทษการรัฐประหาร แต่เพราะพวกเราเองทำให้ยุ่งยาก จนแก้ปมไม่ออก เรามีด้ายกลุ่มหนึ่ง เราช่วยกันแก้ แต่ยิ่งแก้ก็ยิ่งยุ่ง

สิ่งสำคัญต้องหาทางแก้ไขความขัดแย้ง ใช้ความคิดริเริ่ม เห็นอกเห็นใจ เอาประโยชน์ร่วมกันเป็นตัวตั้ง ต้องหันหน้ามาปรึกษาหารือกัน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับคนที่เห็นเหมือนกันเท่านั้น ต้องปรึกษาหารือกับคนที่เห็นต่างกันด้วย

หากคิดได้อย่างนี้เรื่องอื่นๆ เช่น โครงสร้างการเมืองก็ดูแลกันไป ถ้าหลักความคิดยังเป็นฉันถูกเธอผิด ใครมีกำลังมากกว่าก็ชนะ ก็ไม่ใช่คำตอบของสังคม

สังคมที่มีความขัดแย้งของหลายฝ่าย การเมืองควรอยู่ในกรอบประชาธิปไตย

การใช้กำลังเอาชนะกันไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้

-สมชาย ปรีชาศิลปกุล

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลสืบเนื่องจากการรัฐประหารที่เห็นได้ในสังคมคือ คนบางกลุ่มไม่พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย

การรัฐประหาร 49 อาจได้รับการยอมรับจากทางการเมือง จากกลุ่มคนบางส่วน ได้ทำลายกติกา ทำลายหลักการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง หันไปสู่การใช้อำนาจเข้าแก้ปัญหา

ผมมองในแง่ดีว่าถ้าไม่มีการรัฐประหารในตอนนั้น เราน่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ การเคลื่อนไหวทางสังคมสามารถคุมรัฐบาลได้ ทำให้ตัวกติกา หรือรัฐธรรมนูญ 40 เป็นรัฐธรรมนูญที่สักดิ์สิทธิ์มากขึ้น

ถ้า 4 ปีก่อน ไม่มีการรัฐประหาร ความขัดแย้งมีอยู่แต่จะนำมาสู่ความรุนแรงหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากย้อนกลับไปเมื่อ 4 ปี มีการชุมนุมหลายครั้งแต่เป็นการชุมนุมที่ทุกคนรู้สึกว่าอยู่ใต้กติกา มีเส้นหรือกรอบที่ทุกคนเคารพอยู่ จะไม่เลยเถิดถึงขั้นยึดทำเนียบฯ ยึดสนามบิน ยึดราชประสงค์

เมื่อการรัฐประหารเกิด ทุกอย่างมันพลิก ทำให้กติกาล้มลง กลายเป็นเรื่องอำนาจนิยม

จากนี้ไปผมคิดว่าการแก้ไขปัญหาจะยากยิ่งกว่าปี"49 เพราะสังคมไทยได้เดินเลยจุดที่ควรจะจัดการปัญหาได้ดีมาแล้ว พอเข้าสู่หลังเหตุการณ์ เม.ย.52 พ.ค.53 การจะแก้ปัญหาก็ยากมากขึ้น มีกลุ่มคนที่ไม่ยอมรับการปกครองของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น

รัฐประหาร 49 ก็เป็นจุดที่ตกต่ำแล้ว แต่ผมว่าสถานการณ์ปีนี้จะตกต่ำกว่า ปี"49 บางอย่างพอเห็นความหวังแต่ปีนี้มันไม่เห็นความหวังในการแก้ไขปัญหา

การยุบสภาเลือกตั้งคงจัดการปัญหาได้ไม่มากเท่าไหร่ หากยุบก่อนนองเลือด ความหมายต่างกัน เพราะตอนนั้นยังไม่เกิดการสูญเสีย ไม่มีคนเจ็บแค้น

กระบวนการยุติธรรม หลังจากนี้ก็ต้องถูกปฏิรูปด้วย เพระที่ผ่านมาถูกลากเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้ง และที่ผ่านมาก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่าเป็นสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดการเกลียดชังระบบเพราะเอียงข้างกันหมด

การทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปทั้งหมด คงทำอะไรไม่ได้มาก ข้อเสนอของกรรมการแต่ละชุด สุดท้ายจะเป็นข้อเสนอกว้างๆ เช่น ปัญหาเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ต้องแก้โครงสร้าง เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาที่สังคมไทยเผชิญ แต่ไม่ใช่เรื่องเป็นตาย

แต่การคุกคามกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล หรือกรณี 91 ศพ รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเลย นี่คือปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องได้รับการแก้ไข ต้องเคลียร์ให้เห็นว่ามีอะไรเกิดขึ้น ใครต้องรับผิดชอบ ต้องทำโดยองค์กรที่เป็นอิสระจากรัฐบาล

หากทำเรื่องนี้แล้ว เรื่องอื่นก็จะเดินตามกันมา ถ้าไม่ดำเนินการเรื่องนี้การพูดเรื่องความปรองดอง พูดไปก็เปลืองน้ำลาย ไม่ว่าคนพูดจะเป็นใคร

สังคมการเมืองไทย มันเดินหน้าได้ง่ายกว่าหากเคลียร์ปัญหา 91 ศพ ตามหาคนรับผิดชอบ

-ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

4 ปี ที่เปลี่ยนคือแนวโน้มการคอร์รัปชั่นหนักขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านมาไป

ปัญหาคือแม้จะมีการรัฐประหาร แต่ช่วงที่มีรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นรัฐบาลชั่วคราวเน้นความสมานฉันท์และการดำเนินการเพื่อไปสู่การเลือกตั้ง เร็วที่สุด มากกว่าดำเนินการตามความตั้งใจของคณะรัฐประหาร

ทำให้ความชัดเจนเรื่องการแก้ปัญหา บทบาทไปอยู่ที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นอาศัยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งไม่มีอำนาจอิสระ

กระบวนการแก้คอร์รัปชั่นที่เป็นเหตุผลหนึ่งของการรัฐประหาร จึงเป็นแค่การเร่งกระบวนการกลั่นกรอง และวิทยาการในการแก้ไขก้าวไม่ทันปัญหาคอร์รัปชั่นที่บานปลายออกไป

ความจริงปัญหาเศรษฐกิจมีสัญญาณชะลอตัวมาก่อนหน้าการรัฐประหาร 6 เดือน แต่เมื่อเกิดการรัฐประหารรอเลือกตั้งใหม่ ความเชื่อมั่นภาคเอกชนจึงไม่มากนัก

แต่ที่พิเศษคือรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ดำเนินมาตรการเงินทุนสำรอง 30 เปอร์เซ็นต์ ให้ยาแรงเกินขนาดหลายเท่า ทำให้เกิดปฏิกิริยาจากภาคเอกชน ท้ายสุดต้องยกเลิก

เศรษฐกิจที่ชะลอตัวช่วงที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากการรัฐประหาร แต่ประเด็นสำคัญคือเกิดวิกฤตในสหรัฐที่เข้ามาซ้ำเติม หากไม่มีการรัฐประหารก็ไม่ได้หมายความว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยจะไม่มีปัญหา

แต่จะกระทบต่อความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุน และขณะเดียวกันก็มีตัวแปรที่ทำให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง ทำให้เกิดการแปรปรวน

เราบอกไม่ได้ว่าการรัฐประหารไปเติมความรุนแรง หรือความแปรปรวน แต่การรัฐประหารทำให้คู่ความขัดแย้งเปลี่ยนไปชั่วคราว แต่หลังรัฐบาลสุรยุทธ์ คู่ความขัดแย้งก็กลับมาสู่จุดเดิม

สิ่งที่กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ หลักใหญ่เป็นสถานการณ์ในต่างประเทศ แต่ขณะนี้ภายในรัฐบาลก็เริ่มมีข้อจำกัดด้านการคลัง ดังนั้น เศรษฐกิจจะให้โตมากเหมือนในอดีตคงยาก

การเคลื่อนไหวต่อต้านที่พักยกไปแล้วหากกลับมารุนแรงอีกก็จะกระทบเศรษฐกิจ ในส่วนของการท่องเที่ยวได้ แต่จะต่างจากในอดีตคือการทำนายความแปรปรวนจะยากกว่าที่เคยเกิดขึ้นที่ราช ประสงค์

ที่ราชประสงค์ เป็นการทำให้เศรษฐกิจศูนย์กลางเป็นอัมพาต แต่ในอนาคตจะไม่อยู่ในแง่การชุมนุมขนาดใหญ่ ทำให้เมืองอัมพาต แต่น่าจะเป็นเรื่องความไม่แน่นอน เช่น การก่อวินาศกรรม การก่อเหตุรุนแรงตามจุดต่างๆ ที่คาดเดาได้ยาก ซึ่งกระทบท่องเที่ยวทั้ง 2 แบบ