หมายเหตุ
1 บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประกอบการอภิปรายในหัวข้อ "4 ปี รัฐประหาร 4 เดือน พฤษภาอำมหิต อนาคตสังคมไทย” ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วันที่ 19 กันยายน 2553
2 ประชาไทคงตัวสะกดและถ้อยคำตามต้นฉบับเดิม เพื่อรักษาอรรถรสในการอ่าน
000
พลเมืองหญิง พลเมืองชายที่เคารพ
คณะนิติราษฎร์ – นิติศาสตร์เพื่อราษฎร สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน สื่อมวลชน ตำรวจสันติบาลและเจ้าหน้าที่จาก ศอฉ. ทุกท่าน
ผมขอแบ่งหัวข้ออภิปรายเป็น 3 หัวข้อ
หัวข้อแรก ความสำเร็จของรัฐประหาร รัฐประหารดำรงและสำเร็จได้อย่างไร
หัวข้อสอง ลักษณะเฉพาะของรัฐประหาร 19 กันยายน
หัวข้อสาม รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับ พฤษภาอำมหิต 2553
1. ความสำเร็จของรัฐประหาร
รัฐ ประหารโดยตัวของมันเองอาจไม่มีน้ำยาอะไร แต่รัฐประหารจะสำเร็จและดำรงอยู่ต่อไปได้จำเป็นต้องมีปัจจัยสนับสนุนการลง มือกระทำรัฐประหาร มีกระบวนการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร
ปัจจัยเหล่านั้นได้แก่
หนึ่ง แรงสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก ซึ่งอาจเกิดจากวัฒนธรรมการเมืองของประเทศนั้นๆ ที่ประชาชนอาจเชื่อว่ารัฐประหารเป็นวิธีสุดท้ายในการแก้ปัญหาทางการเมือง หรือเป็น The last word of politic แรง สนับสนุนอาจเกิดจากการโหมกระพือของปัญญาชนและสื่อสารมวลชนมาก่อนหน้านั้น เพื่อเร่งเร้าให้สถานการณ์สุกงอมพอจนทำให้คณะรัฐประหารมั่นใจว่ารัฐประหาร แล้วจะไม่มีประชาชนต่อต้านมาก
สอง การใช้มาตรการรุนแรงของรัฐบาลเผด็จการทหารเพื่อปราบปรามการต่อต้านรัฐประหาร เช่น จับกุมคุมขัง นำทหารออกมาควบคุมสถานการณ์จำนวนมาก ปราบปราม ลอบฆ่า อุ้มหาย ปิดกั้นสื่อ ห้ามชุมนุม
สาม การใช้กระบวนการทางกฎหมาย เช่น ตรารัฐธรรมนูญรับรองความชอบธรรมของรัฐประหาร คำพิพากษาของศาลรับรองรัฐประหาร
สี่ ประเทศมหาอำนาจให้การสนับสนุนรัฐประหาร เช่น รัฐประหารในอเมริกากลางและอเมริกาใต้หลายประเทศ ที่สหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอย่างลับๆ
ห้า บุคคลผู้มากบารมีและมีวาจาสิทธิ์รับรองรัฐประหาร เป็นต้น
แปล ความในทางกลับกัน ถ้าปราศจากซึ่งสิ่งเหล่านี้รัฐประหารย่อมไม่สำเร็จเด็ดขาด หากรัฐประหารปราศจากคนไปมอบดอกไม้ ปราศจากสื่อสารมวลชนร่วมเชียร์ ปราศจากมาตรการรุนแรงของเผด็จการในการปราบปราม หรือ หากมีผู้พิพากษาจำนวนหนึ่งตัดสินว่ารัฐประหารไม่ชอบด้วยกฎหมาย ลบล้างรัฐประหารและผลพวงลูกหลานของรัฐประหาร หากบุคคลผู้มากบารมีและมีวาจาสิทธิ์แสดงต่อสาธารณะว่าตนไม่สนับสนุนรัฐ ประหาร รัฐประหารก็ไม่สำเร็จ และกลายเป็นความพยายามรัฐประหาร หรือกบฏเท่านั้น
จะขอยกตัวอย่างบางกรณี
ใน สาธารณรัฐฝรั่งเศส 8 มกราคม 1961 นายพลเดอโกลล์จัดให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการปกครองตนเองของ แอลจีเรีย ผลปรากฏว่าเสียงข้างมากเห็นด้วย นโยบายแอลจีเรียของนายพลเดอโกลล์นี้สร้างความไม่พอใจต่อคณะนายทหารที่ประจำ การในแอลจีเรีย พวกเขามองว่าทำแบบนี้เท่ากับปล่อยให้ทหารจำนวนมากตายฟรี ทหารอุตส่าห์เสียสละชีวิตเพื่อรักษาแอลจีเรียไว้ แต่ในท้ายที่สุดรัฐบาลกลับพยายามปลดปล่อยแอลจีเรีย คณะนายทหารกลุ่มหนึ่ง จึงพยายามก่อการรัฐประหาร โดยเชิญ นายพลราอูล ซาล็อง ที่เกษียณอายุไปแล้วเป็นผู้นำ คณะนายทหารกลุ่มนี้บุกเข้ายึดเมือง Alger เมืองหลวงของแอลจีเรียเมื่อวันที่ 21 เมษายน 1961 และเตรียมยกพลเข้าฝรั่งเศส วันถัดมาตำรวจจับกุมนายพล Jaques Faure และพวกได้ เพราะกำลังตระเตรียมการรัฐประหารในปารีส
23 เมษายน 1961 นายพลเดอโกลล์แถลงการณ์สาธารณะ เรียกร้องให้ทหารแอลจีเรีย ประชาชนชาวฝรั่งเศสและแอลจีเรียร่วมมือกันต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ เจ้าหน้าที่และทหารไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทหาร เรียกร้องให้ประชาชนใช้ทุกวิธีการในการต่อต้านรัฐประหารครั้งนี้ และประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 16 ของรัฐธรรมนูญ รวมอำนาจเข้าสู่ตนเองแต่ผู้เดียว
จากนั้น Michel Debré นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาแถลงซ้ำ เรียกร้องให้ประชาชนเดินทางโดยเท้าหรือรถยนต์ไปที่สนามบิน รวมตัวกันให้คณะทหารเหล่านั้นเห็นว่าเป็นข้อผิดพลาดมหันต์ของพวกเขาที่คิดทำ การเช่นนี้
ความพยายามรัฐประหารครั้งนั้นไม่สำเร็จ นายทหารถูกตัดสินให้จำคุก
ใน ราชอาณาจักรสเปน เหตุการณ์ความพยายามรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1981 โดยคณะนายทหารกลุ่มหนึ่งบุกเข้าไปยังรัฐสภา ขณะที่คณะรัฐมนตรีกำลังแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ดังที่ผมเคยเขียนเล่าเรื่องนี้ให้ฟังไปแล้ว และเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ภายหลัง 19 กันยายนไม่นานว่ารัฐประหารครั้งนี้ไม่สำเร็จ เพราะ กษัตริย์ฆวน คาร์ลอส ทรงอาศัยในฐานะเป็น “กษัตริย์” ผู้ มีหน้าที่พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ และทรงเป็นจอมทัพสเปน อ่านแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์และวิทยุไม่รับรองความพยายามรัฐประหารครั้งนั้น (ดู http://www.onopen.com/2006/01/1186)
ผมขออนุญาตเปิดคลิปพระสุรเสียงของพระองค์ให้ชมให้ฟังกัน ....
http://www.youtube.com/watch?v=LVK-_bYWGNc
พระองค์ตรัสว่า...
"La Corona, símbolo de la permanencia y unidad de la Patria, no puede t0lerar en f0rma alguna acciones o actitudes que pretendan interrumpir p0r la fuerza el proceso democrático que la Constitución votada 0r el pueblo español determinó en su día a través de referéndum."
ผมลองแปลเป็นไทยได้ว่า
"ราช บัลลังก์ สัญลักษณ์แห่งความสถาพรและความเป็นเอกภาพของชาติ ไม่สามารถอดทนอดกลั้นต่อการกระทำในรูปแบบใดหรือความพยายามในการใช้กำลังใด เพื่อต้องการหยุดกระบวนการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญซึ่งราษฎรสเปนได้ให้ความ เห็นชอบผ่านการลงประชามติ"
ฆวน คาร์ลอสที่ 1
พระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสเปน
1 นาฬิกา 14 นาที วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1981
สังเกต ได้ว่าพระองค์ทรงใส่ชุดทหารเต็มยศ เพื่อส่งสัญลักษณ์ไปถึงทหารด้วยว่า พระองค์เป็นจอมทัพ ภายหลังการแทรกแซงการเมืองครั้งประวัติศาสตร์ รัฐประหารก็ไม่สำเร็จ ทหารผู้ก่อการก็กลายเป็นกบฏ รับโทษจำคุกไป 30 ปี ส่วนพระองค์ก็ได้การยอมรับอย่างกว้างขวาง ผ่านบททดสอบของชาวสเปนและประชาคมโลกว่าพระองค์อยู่ฝ่ายประชาธิปไตย รวมทั้งปลดปล่อยประเทศสเปนและตัวพระองค์เองด้วยให้ออกจากมรดกตกทอดของนายพล ฟรังโก้อย่างเด็ดขาด
โดย ธรรมชาติ กษัตริย์เป็นสิ่งแปลกปลอมในระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อรัฐเสรีประชาธิปไตยใดเห็นพ้องต้องกันว่าควรเก็บรักษาสถาบันกษัตริย์ ไว้เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น รักษาประเพณีของตน เป็นศูนย์รวมใจของชาติ รัฐนั้นก็จะสร้างวิธีการหลอมรวมเอา “สถาบันกษัตริย์” เข้ากับ “ประชาธิปไตย” โดยยกให้กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐและไม่มีอำนาจทางการเมืองใดๆ จึงกล่าวได้ว่า ในระบอบประชาธิปไตย เป็น “ประชาธิปไตย” ต่างหากที่อนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุข มิใช่กษัตริย์เป็นประมุขและมี “ประชาธิปไตย” เป็นส่วนเสริม
รัฐ ธรรมนูญของประเทศประชาธิปไตยที่อนุญาตให้กษัตริย์เป็นประมุข จึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเคารพรัฐธรรมนูญของกษัตริย์ การสาบานตนก่อนรับตำแหน่งว่าจะเคารพรัฐธรรมนูญ และบทบาทในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เช่น สเปน ในมาตรา 61 “กษัตริย์ ต้องปรากฏตนต่อหน้ารัฐสภาเพื่อสาบานตนว่าจะปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างซื่อ สัตย์ ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เคารพสิทธิของพลเมืองและประชาคมปกครองตนเอง”
เบลเยียม ในมาตรา 91 วรรคสอง “กษัตริย์จะขึ้นครองราชย์ได้ภายหลังสาบานตนอย่างสง่าผ่าเผยต่อหน้ารัฐสภา คำสาบานมีดังนี้ “ข้าพเจ้าขอสาบานว่าจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของราษฎรชาวเบลเยียม รักษาเอกราชของชาติ และบูรณภาพแห่งดินแดน”
เดนมาร์ก ในมาตรา 8 “ก่อน เข้าสู่อำนาจ กษัตริย์ต้องทำคำประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะรัฐมนตรีว่าจะไม่ละเมิดรัฐ ธรรมนูญ กษัตริย์ต้องทำคำประกาศนั้น 2 ฉบับ ฉบับหนึ่ง ส่งมอบให้กับรัฐสภา (Folketing แปลตรงตัวได้ว่า “สภาของประชาชน”) เพื่อเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุของรัฐสภา อีกฉบับ เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุของราชอาณาจักร...”
เนเธอร์แลนด์ ในมาตรา 32 “โดย เร็วที่สุด ภายหลังเริ่มใช้อำนาจ กษัตริย์ต้องสาบานตนอย่างสง่าผ่าเผยต่อที่ประชุมรัฐสภาอันเปิดเผยซึ่งจัด ขึ้นในสถานที่ประชุมเดียวเท่านั้น คือ อัมสเตอร์ดัม พระองค์ต้องสาบานและสัญญาว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญและซื่อสัตย์ต่อการ ปฏิบัติหน้าที่
เมื่อ กษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเหมือนพลเมือง หากกษัตริย์ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ผลที่ตามมาคืออะไร ในทางตำราเห็นกันว่า หลักการที่ว่า “กษัตริย์ไม่ต้องรับผิด” หรือ “กษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดละเมิดมิได้” หรือ “หลักการห้ามฟ้องร้องต่อกษัตริย์” นั้น คุ้มครองกษัตริย์ในสถานะเป็น “กษัตริย์” และ สถานะความเป็นกษัตริย์นี้จะดำรงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อกษัตริย์ปฏิบัติตามรัฐ ธรรมนูญทุกประการ หากกษัตริย์ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ละเมิดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง เอกสิทธิ์และความคุ้มกันที่รัฐธรรมนูญมอบให้นั้นย่อมหมดไป
หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ นักกฎหมายสาย “รัฐธรรมนูญนิยม” ผู้สนับสนุนอุดมการณ์แบบคณะราษฎร อธิบายไว้ในคำสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อ พ.ศ. 2477 ไว้ว่า
"ข้าพเจ้า มีความเห็นว่า คดีอาชญาซึ่งกษัตริย์ทำผิดจะต้องถูกฟ้องร้องต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้นไม่ฉะเพาะ แต่ความผิดที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอาชญาเท่านั้น ยังหมายความเลยไปถึงความผิดซึ่งกษัตริย์กระทำการบกพร่องอย่างสำคัญในการ บริหารราชการแผ่นดิน ตัวอย่างเช่น ละเมิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ หรือกระทำผิดต่อสัญญาทางพระราชไมตรีอันเป็นเหตุจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่ ประเทศบ้านเมือง นี่เป็นความเห็น คือว่า ในคดีอาชญาไม่หมดความฉะเพาะแต่ความผิดซึ่งบัญญัติไว้ในกฎหมายอาชญา ร.ศ. 127 แต่กินความเลยไปถึงการกระทำของกษัตริย์ซึ่งเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญปกครอง แผ่นดินสยามมาตราใดมาตราหนึ่ง หรือว่ากระทำการผิดสัญญาทางพระราชไมตรี ซึ่งจะนำความเสียหายมาสู่ประเทศบ้านเมือง ในกรณีเหล่านี้กษัตริย์ควรจะต้องรับผิดชอบและถูกฟ้องร้องตามมาตรา 6"
หลวงประเจิดอักษรลักษณ์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ คำสอนภาค 1 ชั้นปริญญาตรี, 2477, หน้า 75.
2. ลักษณะเฉพาะของรัฐประหาร 19 กันยายน
เอกลักษณ์ ร่วมกันของรัฐประหาร คือ กระทำการโดยคณะบุคคล มีคนร่วมมือกันไม่กี่คนและยึดอำนาจโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ใช้ บังคับอยู่ ณ เวลานั้น
อย่าง ไรก็ตาม รัฐประหารแต่ละรัฐประหารล้วนแล้วแต่มีลักษณะเฉพาะ รัฐประหารอาจเป็นรัฐประหารก้าวหน้าเพื่อสร้างประชาธิปไตย เช่น รัฐประหารโดยคณะนายทหารหนุ่มในโปรตุเกส ปี 1974 เพื่อปูทางเข้าสู่ประชาธิปไตยหรือที่รู้จักกันนาม “ปฏิวัติคาร์เนชั่น” หรือรัฐประหารของพระยาพหลฯเมื่อปี 2476 เพื่อเอาระบบรัฐธรรมนูญกลับมา หรือรัฐประหารในอียิปต์เมื่อ 23 กรกฎาคม 1952 โดนคณะนายทหารในชื่อ "The Free Officers Movement" นำโดยนายพล Muhammad Naguib เพื่อโค่นกษัตริย์ Farouk I และในท้ายที่สุดก็กลายเป็นการยกเลิกโมนาร์ขี้และสถาปนาให้อียิปต์เป็นสาธารณรัฐ เป็นต้น
รัฐประหารอาจเป็นรัฐประหารผ่านสภาผู้แทนราษฎรโดยการตระเตรียมวางแผนล่วงหน้า เช่น รัฐประหาร 18 Brumaire an VIII เพื่อสถาปนาเผด็จการโดยนโปเลียน อันเป็นการปิดฉากปฏิวัติ 1789 เป็นต้น
รัฐประหารอาจเป็นรัฐประหารโดยอาศัยประชามติแบบ plébiscite เข้าสนับสนุนการรัฐประหาร เช่น การ plébiscite หลุยส์ นโปเลียน ให้เป็นจักรพรรดิตลอดชีพ
รัฐ ประหารอาจเป็นรัฐประหารโดยคณะนายทหารเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญและกลายเป็นเผด็จ การทหาร ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในแอฟริกา ปากีสถาน ฟิจิ และราชอาณาจักรไทย
วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางกฎหมายเรื่อง ศึกษารัฐประหารในความเป็นจริงและในกฎหมาย ของ Brichet ใน ปี 1935 เสนอว่ารัฐประหารมีหลายรูปหลายลักษณ์ อาจแบ่งได้โดยใช้เกณฑ์ต่างกันไป ได้แก่ การเคลื่อนไหวและแรงจูงใจ แบ่งเป็น รัฐประหารสังคม (ชี้นำโดยปัจจัยของผลประโยชน์ทางชนชั้น) กับรัฐประหารการเมือง, เป้าหมาย แบ่งเป็นรัฐประหารตั้งรับกับรัฐประหารเชิงรุก, การอำนวยการ แบ่งเป็นรัฐประหารเดี่ยวกับรัฐประหารกลุ่ม, วิธีการ แบ่งเป็นรัฐประหารโดยทหาร โดยพลเรือน หรือผสม, เทคนิค แบ่งเป็น รัฐประหารที่เข้ายึดที่ทำการสำคัญของศัตรูเพื่อเปลี่ยนขั้วทางการเมือง เช่น วัง รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล กับรัฐประหารที่เข้ายึดสถานที่สำคัญอันเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมในสังคม เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ สถานีรถไฟ โรงงาน สถานีโทรทัศน์และวิทยุ
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็เช่นกัน มีลักษณะเฉพาะของมันอยู่ ซึ่งผมขอสรุปเป็น 3 ข้อ
1. รัฐประหารที่พรากความเป็นพลเมือง (ซึ่งมีอยู่น้อยนิดอยู่แล้ว) ให้หายไป
ตัวชี้วัดความเป็นพลเมืองประการหนึ่ง คือ ความเสมอภาคทางการเมือง
ความเสมอภาคทางการเมือง แสดงออกให้เห็นได้จาก “หนึ่งคน หนึ่งเสียง” พลเมืองทุกคน ไม่ว่าชาติกำเนิดใด ศาสนาใด ความเชื่อใด ฐานะเศรษฐกิจอย่างใด เมื่อเดินไปหน้าคูหา ก็มี 1 เสียงเท่ากัน
ผม พูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า ผู้แทนและรัฐบาลสามารถทำอะไรก็ได้โดยอ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง แน่นอน นิติรัฐ-ประชาธิปไตย จำเป็นต้องเคารพกฎหมาย เคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เคารพเสียงข้างน้อย มีองค์กรตุลาการคอยตรวจสอบการใช้อำนาจ แต่ต้องไม่ลืมวา การเลือกตั้งเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของประชาธิปไตย
ผมตามอ่านงานของ Pierre Rosanvallon มาพอสมควร เล่มหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ Le sacre du citoyen (การ เถลิงขึ้นของพลเมือง) เกี่ยวกับประวัติศาสตร์สิทธิการเลือกตั้งแบบทั่วไป-เท่าเทียมในฝรั่งเศสผม อ่านแล้วมีข้อสังเกตว่า เรื่องสิทธิเลือกตั้งเป็นของมีค่าของตะวันตกจริงๆ "สิทธิเลือกตั้งทั่วไป-เท่าเทียม" เป็นสัญลักษณ์ - ภาพแทนของการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ของ "พลเมือง" เป็น เครื่องหมายของ การบอกว่าคุณกับฉันเท่ากัน เราเท่ากัน เราเป็นคนเหมือนกัน เมื่อเกิดมาเราก็เท่ากันแล้ว โดยไม่พิจารณาถึงชาติกำเนิด ยศถาบรรดาศักดิ์ สถานะทางเศรษฐกิจ การศึกษา เขาต่อสู้กันยาวนาน กว่าจะได้ ก็ผ่านบทเรียนเยอะ มีนองเลือด มีความรุนแรง เมื่อได้มาด้วยความยากลำบาก จึงศักดิ์สิทธิ์และมีค่ามาก
แน่ ล่ะ เมื่อฝังรากลึกแล้ว กลไกประชาธิปไตยแบบผู้แทนก็มีปัญหาในตัวมันเอง เมื่อนั้นก็ค่อยๆพัฒนากลไกตรวจสอบต่างๆตามมา แต่อย่างไรเสีย สิทธิการเลือกตั้งทั่วไป-เท่าเทียม และองค์กรผู้ใช้อำนาจสาธารณะทั้งหลายล้วนต้องมีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชน ก็เป็นหลักการพื้นฐานอันดับ 1 ตรง กันข้ามกับบ้านเรา ได้มาง่าย ง่ายเกินไปจริงๆ ปฏิวัติ 24 มิ.ย.2475 ท่านผู้ประศาสน์การปรีดี พนมยงค์ ก็เขียนใส่ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นการดี แต่ เมื่อได้มาง่าย มันก็ดูเหมือนไม่มีค่า ประกอบกับโดนขบวนการสถาปนาอุดมการณ์ "ราชา-ชาตินิยม" บดขยี้ ด้วยการสร้างวาทกรรม "นักการเมืองเป็นคนชั่วร้าย" "ชาวบ้านโง่เขลาโดนซื้อ" สิทธิการเลือกตั้งแบบทั่วไปเท่าเทียม จึงเป็นเหมือนของไร้ราคา มีก็ดี ไม่มีก็ได้ ใครมาพรากเอาไป ก็รู้สึกเฉยๆ
ผมเห็นว่าความเสมอภาคทางการเมืองมาก่อนความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ
ผมเชื่อของผมเองว่า "ความเสมอภาคทางการเมือง" เป็นบ่อเกิดของสังคมเสรีประชาธิปไตย
หากปราศจากสิ่งนี้ เราไม่อาจอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ประชาธิปไตย อาจไม่ใช่ระบอบการเมือง ไม่ใช่รูปแบบของรัฐบาล แต่มันเป็นรูปแบบของการรักษา "สนาม" ที่เปิดให้ทุกคน ทุกฝ่าย ทุกรสนิยม ได้ถกเถียงกัน
และ "ความเสมอภาคทางการเมือง" ก็เป็นเครื่องมือในการรักษา "สนาม" นี้ ให้เกิดการถกเถียงอย่าง "ฟรี" และ "แฟร์" เมื่อ นั้น ใครจะผลักดันรสนิยมทางการเมืองของตนก็ย่อมได้ทั้งนั้น จะขวาหรือซ้าย จะอนุรักษ์นิยมหรือก้าวหน้า จะเสรีนิยมทางเศรษฐกิจหรือสังคมนิยม จะเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า ย่อมสามารถถกเถียง-รณรงค์ได้อย่างเสรี
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการเหยียบย่ำสิทธิการเลือกตั้งทั่วไป-เท่าเทียม ขบวนการต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นการประกาศซ้ำว่า ที่แห่งนี้ ไม่อนุญาตให้มี "ความเสมอภาคทางการเมือง"
รัฐ ประหาร 19 กันยา ได้พรากเอาความเป็นพลเมืองไป ลดสถานะพลเมืองให้กลายเป็นไพร่ กระบวนการต่อเนื่องจากรัฐประหาร ก็ยังคงดำเนินการต่อไปเพื่อตอกย้ำความเป็นไพร่ให้กับคนส่วนใหญ่ของประเทศ
2. รัฐประหารเพื่อฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ให้มั่นคงสถาพรตลอดกาล
ในตำราต่างประเทศ มีคำศัพท์อยู่คำหนึ่ง คือ “Restaurati0n” คำนี้หมายความว่า การยึดอำนาจเพื่อฟื้นฟูกลับไปสู่ระบบเก่า ในฝรั่งเศสมักนำคำนี้ไปใช้กับเหตุการณ์ยึดอำนาจและกลับไปฟื้นฟูระบอบเก่า หรือโมนาร์ขี้
การรัฐประหาร 19 กันยา อาจเรียกว่า “Restaurati0n” ได้ไม่เต็มปากเต็มคำนัก เพราะ ก่อนหน้า 19 กันยา ประเทศไทยก็อยู่ในระบอบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” เพียง แต่ว่าอาจเข้มข้นไม่มากเท่าปัจจุบัน และเมื่อกลุ่มบุคคลชนชั้นนำจารีตประเพณีเริ่มเห็นว่าระบอบของพวกเขาถูก ท้าทาย ถูกสั่นคลอน โดยรัฐบาลในขณะนั้น (ซึ่งรัฐบาลอาจไม่ได้คิด แต่พวกเขาคิดไปเองและไม่พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง) และเพื่อมิให้ระบอบของพวกเขาถูกกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในระยะยาว ก็จึงเกิดรัฐประหารขึ้น เป็นรัฐประหารเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ระบอบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” จะมั่นคงสถาพรตลอดกาล
ชื่อของคณะรัฐประหารก็บอกไว้ชัดเจนว่า “คณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
บุคคลที่ครองอำนาจ หรือดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีอุดมการณ์แบบประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” แนวทางของรัฐบาลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยา ก็เป็นไปในทางฟื้นฟู “พระราชอำนาจ” เทิดพระเกียรติ และใช้กฎหมาย 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จัดการคน ดังเราจะเห็นได้จากจำนวนคดี มีมากขึ้นเรื่อยๆ มีการปิดกั้นสื่อจำนวนมาก ทั้งใช้อำนาจรัฐ และการเซนเซอร์ตนเองของสื่อ เดี๋ยวอาจารย์สาวตรีจะได้พูดในประเด็นเหล่านี้ต่อไป
3. รัฐประหารของนักกฎหมาย
“กฎหมาย” มีความสำคัญกับรัฐประหารในสามแง่มุม หนึ่ง เป็นกลไกรับรองความชอบธรรมและสนับสนุนรัฐประหาร สอง เป็นกลไกปราบปรามศัตรูของคณะรัฐประหารและพวกและปราบปรามอุดมการณ์ตรงข้ามกับ รัฐประหาร สาม เป็นกลไกรักษาและเผยแพร่อุดมการณ์ของรัฐประหาร ซึ่งอุดมการณ์ของรัฐประหาร 19 กันยา คือ ประชาธิปไตย “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข”
คณะ รัฐประหารประกอบด้วยทหารไม่กี่นาย ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ไม่มีความสามารถเสกสรรปั้นแต่งกฎหมายเพื่อรับรองและรับใช้รัฐประหารได้ เช่นนี้แล้ว นักกฎหมายจึงจำเป็นต่อรัฐประหาร 19 กันยา
นัก กฎหมายเข้าไปมีบทบาทกับรัฐประหาร 19 กันยา ตั้งแต่การแนะนำเทคนิคทางกฎหมายให้แก่คณะรัฐประหารถึงการรับรองความชอบด้วย กฎหมายของรัฐประหาร การยกเลิกรัฐธรรมนูญ การยกเลิก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดบ้าง เก็บฉบับใดไว้บ้าง การยกเลิกองค์กรตามรัฐธรรมนูญใดบ้าง เก็บองค์กรใดไว้บ้าง และควรสร้างองค์กรทางกฎหมายใหม่ใดขึ้นมาบ้างเพื่อป้องกันและปราบปรามศัตรู
จากนั้น นักกฎหมายก็ต้องเข้าไปรับใช้คณะรัฐบาลชุดใหม่ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้น
และ เพื่อให้รัฐประหาร 19 กันยา สำเร็จเด็ดขาด ก็จำเป็นต้องสร้างกลไกขึ้นมาจัดการกับการตอบโต้รัฐประหารและศัตรูของคณะรัฐ ประหารและพวก กลไกที่ว่าต้องเป็นกลไกทางกฎหมาย เพราะ สามารถเอาไปอ้างความชอบธรรมได้ว่า กระทำการตามกฎหมาย ตามหลักนิติรัฐ เราจึงเห็นนักกฎหมายไปช่วยออกแบบรัฐธรรมนูญชั่วคราว และรัฐธรรมนูญ 2550 เราจึงเห็นนักกฎหมายเข้าไปนั่งเป็นกรรมการองค์กรต่างๆเต็มไปหมด
พวก นักกฎหมายมีความสามารถเอกอุ สามารถเขียนกฎหมายรองรับรัฐประหาร ปิดรูโหว่ อุดรูนั้น ปิดรูนี้ ไหนจะวางกลไกทางกฎหมายไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันและปราบปรามศัตรู เช่น เขียนรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรค ให้มีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี และให้มีผลย้อนหลังไปถึงคดีก่อนหน้า หรือ เขียนรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรค ลากเอาความผิดของกรรมการบริหารมาเป็นเหตุให้ยุบพรรค หรือเขียนรัฐธรรมนูญรับรองรัฐประหารและลูกหลาน ไปทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ออกแบบรัฐธรรมนูญใหม่ให้ไม่เป็นคุณต่อพรรคการเมืองขั้วศัตรู
บุคคล ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร หรือถูกกลไกของรัฐประหารเล่นงาน ก็อาจร้องขอความเป็นธรรมเอากับศาล ให้ศาลช่วยตรวจสอบรัฐประหาร ดังนั้น ศาล (ซึ่งก็คือผู้ปฏิบัติทางกฎหมาย แต่การกระทำของศาลมีอานุภาพมหาศาลกว่าการกระทำของผู้ปฏิบัติการทางกฎหมาย อื่นๆ) จึงต้องเข้ามารับรองรัฐประหารผ่านคำพิพากษาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐประหาร “สมบูรณ์” ในนามของนิติรัฐ ดังปรากฏให้เห็นจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2551
รัฐประหารและกระบวนการต่อเนื่อง ยังอาศัยนักกฎหมายตามไล่บี้ ไล่ทุบ ปราบปราม ศัตรู ดังปรากฏให้เห็นในปรากฏการณ์ที่เขาเรียกกันว่า “ตุลาการภิวัตน์” ซึ่งผมได้อภิปรายและเขียนไว้ในหลายที่ จึงขออนุญาตไม่กล่าวในที่นี้
3. รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับ พฤษภาอำมหิต 2553
รัฐประหาร 19 กันยายน บอกอะไรกับเรา?
รัฐ ประหาร 19 กันยายน บอกเราว่า ชนชั้นนำจารีตประเพณีไม่อนุญาตให้ประเทศนี้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ รัฐบาลไหนขึ้นมาทำตัวหน่อมแน้ม สุภาพ เรียบร้อย บริหารไปวันๆเหมือนงานรูทีน ก็ได้รับการอนุญาตให้อยู่ในตำแหน่งได้ รัฐบาลไหนที่ขึ้นมาดำเนินนโยบายมากมาย สร้างฐานมวลชน แย่งชิงฐานลูกค้าจากชนชั้นนำประเพณี ได้รับความนิยมเท่ากันหรือสูงกว่าชนชั้นนำประเพณี รัฐบาลนั้นต้องมีอันไป
กล่าว ให้ถึงที่สุด ต้นตอความขัดแย้งของสังคมไทย คือ ชนชั้นนำจารีตประเพณีนอกระบบการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงเนื่อง จากวัตรปฏิบัติประกอบกับการโฆษณาชวนเชื่อและการเผยแพร่อุดมการณ์หลักของรัฐ ไทย ปะทะกับ นักการเมืองในระบบการเลือกตั้งที่ได้รับความนิยมอย่างสูงแสดงออกผ่านการลง คะแนนเสียง และทำให้พลเมืองเกิดรู้สึกว่าคะแนนเสียงมีค่า
ปะทะ กันจนชนชั้นนำจารีตประเพณีรู้สึกว่าตนถูกคุกคามอย่างหนัก หากปล่อยไว้ต่อไปอาจเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพของตน เพื่อรักษาสถานะเดิมของตน จึงต้องจัดการ วิธีการจัดการ ก็คือ รัฐประหาร 19 กันยา
เรา ไม่อาจแยกรัฐประหาร 19 กันยายน กับ เหตุการณ์พฤษภาอำมหิตออกจากกันได้ ผมได้ยินความเห็นหลายคน รวมทั้งอาจารย์ในคณะผมบางคน พูดทำนองว่า “พูดกันแต่เรื่อง 19 กันยา ไม่เบื่อกันหรือไร ผ่านมาตั้งนานแล้ว มองไปข้างหน้าดีกว่าว่าจะจัดการสังคมอย่างไร” หรือผู้นำความคิดรุ่นใหม่บางคนก็แอ๊บเนียนว่า “ตนเองไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร แต่ไม่ควรหมกมุ่นกับรัฐประหาร รัฐประหารเป็นเหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นแล้วในอดีต ถ้าอ้างว่าทุกอย่างสืบมาไม่ถูกต้อง ก็เลยไม่สนใจจะดูว่าเกิดอะไรขึ้น แบบนี้ก็ไม่ถูก”
ผม เห็นว่า วันนี้ เราไม่พูดถึง 19 กันยา ไม่ได้เลย เพราะ 19 กันยา เป็นจุดกำเนิดของเหตุการณ์ปัจจุบัน ณ เวลานี้ เรายังคงอยู่ในรัฐประหาร 19 กันยาอยู่ เป้าประสงค์ของรัฐประหารยังคงอยู่ครบถ้วน และจำเป็นต้องพูดต่อไป พูดมันทุกโอกาส เพราะ ถ้าไม่พูด เดี๋ยวก็ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอ้พวกที่สนับสนุนรัฐประหาร ไปช่วยงานคณะรัฐประหารและพวกทั้งทางตรงและทางลับ แต่จนวันนี้มาทำเนียนว่าไม่เห็นด้วย ต้องช่วยกัน และไม่อยากพูดถึงแล้ว ผ่านไปแล้ว มองไปข้างหน้าดีกว่า
หาก ถามผมว่าเบื่อไหม ขอตอบว่าเบื่อมากที่ต้องพูดเรื่องนี้ แต่ก็ต้องถามกลับไปยังพวกเขาเหล่านั้นว่า แล้วพวกคุณไม่เบื่อบ้างหรือที่ไปรับรองรัฐประหาร ไปสนับสนุนรัฐประหาร ไปช่วยงานรัฐประหาร หรือขลุกอยู่กับกระบวนการรัฐประหารและพวกแล้วมันอิ่มอำนาจ อิ่มท้อง อิ่มใจที่ศัตรูได้พ้นจากอำนาจ
เมื่อรัฐประหาร 19 กันยา ไม่ต้องการให้ “คะแนนเสียง” ของพลเมืองมีความหมาย พวกเขาจึงจัดการไล่รัฐบาลที่พลเมืองเลือกมาออกไป และเมื่อรัฐบาลขั้วเดียวกันกลับมาได้อีกเพราะพลเมืองยังเลือกกลับเข้ามาอีก ลูกหลานของรัฐประหารก็ต้องหาหนทางกำจัดรัฐบาลนั้นออกไปอีก
แน่ล่ะ สีแดง ก็ไม่ได้เป็นสีแดงเหมือนกันทั้งหมด มันยังมีเฉดสี มีระดับ มีความแตกต่าง-หลากหลายภายในสีแดงนั้นเอง แต่อย่างน้อย จุดยืนร่วมกันที่เราพอสังเคราะห์ออกมาได้ คือ "ความเสมอภาคทางการเมือง" เมื่อการมาของ “สีแดง” เป็นไปเพื่อสิ่งนี้ เมื่อจำนวนของ “สีแดง” มากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมสะเทือนไปถึงบรรดาผู้ไม่ปรารถนาให้สังคมไทยมี “ความเสมอภาคทางการเมือง” เพราะ หากทุกคนเสมอกันหมด หากไพร่เกิดจิตสำนึกทางการเมือง มาร้องขอเป็นพลเมืองกันทั้งแผ่นดินล่ะก็ สถานะของบรรดาชนชั้นนำจารีตประเพณีย่อมสะเทือน
เช่นนี้ ใบอนุญาตให้ฆ่าจึงเกิดขึ้น
10 เมษา ก็แล้ว ยังเอาไม่อยู่
จึงต้องเกิด 19 พฤษภาอีกสักหน
เพื่อ ประกาศให้รู้ว่า พวกเอ็ง คนเสื้อแดง มิได้เป็นพลเมือง ให้เป็นไพร่ดีๆก็ไม่เอา คิดกำเริบเสิบสาน เมื่อหือกับข้ามากนัก ไพร่ข้าก็ไม่ให้เป็น เอ็งเป็นแค่ Homo sacer ใครก็ฆ่าเอ็งได้ ฆ่าแล้วไม่มีความผิด
การตั้งคณะกรรมการปฏิรูปเป็นเรื่องไร้สาระ บุคคลที่เข้าร่วมเป็นกรรมการปฏิรูป แม้จะอ้างเหตุผลใดๆก็ตาม ล้วนแล้วแต่ไม่มี ethics ทางการเมือง หากเชื่อว่าโลกนี้มี “ดี” มี “เลว” จริง มีมาตรฐานที่พอจะวัดได้ว่าใคร “ดี” ใคร “เลว” ผมเห็นว่า บุคคลที่เข้าไปร่วมกับสารพัดกรรมการที่อภิสิทธิ์ตั้งขึ้นนั้น “เลว” คน ตายต่อหน้าต่อหน้า ตายกันเกือบร้อย ตายกันกลางเมืองหลวง ตายด้วยการซุ่มส่องสไนเปอร์ กลับมองไม่เห็น หรือแกล้งมองไม่เห็น หรือมองเห็นแต่ไม่คิดคำนึง
ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนห่าเหวอะไรอีก ทำไมต้องมี fact finding ตั้งกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริง ก็ในเมื่อเห็นกันคาตา รูปก็มี คลิปวิดีโอก็มี รายงานข่าวก็มี พยานบุคคลก็มี เห็นกันเต็มสองตาว่า มีคนตาย มีคนตายจากการถูกทหารยิง
สิ่งที่ต้องทำ ต้องตรวจสอบ จึงเหลือเพียงประการเดียว ใครสั่ง ใครกดปุ่ม ใครออกใบอนุญาตให้ฆ่า
..............
ผมขอปิดอภิปรายด้วยเรื่องสั้น Die Bäume หรือ “ต้นไม้” ของ Franz Kafka สำนวนแปลโดยอาจารย์ถนอมนวล โอเจริญ ว่า
“พวก เราเปรียบเสมือนขอนไม้บนหิมะ ดูเหมือนขอนไม้เหล่านี้วางเรียงกันเป็นธรรมดา ถ้าใช้แรงผลักเพียงนิดเดียว ก็คงขยับเขยื้อนมันได้ แต่มิใช่เช่นนั้นดอก ไม่มีใครขยับเขยื้อนมันได้ เพราะขอนไม้เหล่านั้นติดแน่นอยู่กับพื้น แต่ดูสิ นี่เป็นเพียงดูเหมือนว่าเท่านั้น”
ใครเป็น “พวกเรา”
ใครเป็น “ขอนไม้”
และ ตกลงแล้วขอนไม้เขยื้อนได้หรือไม่
ทุกท่านมีเสรีภาพในการพินิจพิเคราะห์ด้วยปัญญาแห่งตน