ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 19 September 2010

เตือนความจำ...รัฐประหาร 19 กันยายน 4 ปีแล้ว

ที่มา ประชาไท

ผม เองไม่ได้มีเวลาไล่เรียงอะไรกับงานชิ้นนี้มาก เพราะอยู่ในระหว่างเตรียมตัวสอบภาษาเพื่อจะไปเรียนต่อในเร็วๆ นี้ ตอนแรกก็กะว่าจะไม่เขียนอะไร แต่สุดท้าย (ประมาณ 5 โมงครึ่ง ของวันที่ 18) ก็ทำใจไม่ได้ คิดเสียว่าเขียนน้อย ก็ยังดีกว่าไม่เขียนเลย เลยเป็นที่มาของสารเตือนความจำนี้
ดังที่จั่วหัวไว้ ผมเขียนนั้นไม่ได้หวังอะไรนอกจาก “กันไม่ให้ลืมการรัฐประหารที่ชั่วร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย” อย่าง 19 กันยายน 2549 ด้วยกระแสอื่นๆ เช่น ข่าวฟิลม์ รัฐภูมิ (อาจ)จะมีลูกอายุ 3 เดือน, ข่าวกรณีความร้าวฉานทางความสัมพันธ์ ไทย – ซาอุดิอาระเบีย (ซึ่งบางสำนักข่าวยังคงเชื่ออย่างเหนียวแน่นว่าทักษิณสามารถซื้อทุกอย่างบน โลกนี้ได้ เว้นแต่เพียงสลิ่ม), การเล่นเฟสบุ๊ค,ฤดูกาลแห่งการสอบ, ฯลฯ ผมอยากจะย้ำกันลืมอีกครั้งว่า ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วย หรือเกลียดทักษิณอย่าง ไร แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ทักษิณ และพรรคไทยรักไทยนั้นมาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางการเลือกผู้นำของระบอบ ประชาธิปไตย และเป็นผู้ซึ่งได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย ฉะนั้นการรัฐประหาร 19 กันยา จึงหมายถึงการ “ล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่สะท้อนถึงความต้องการของคนไทยมากที่สุดใน ประวัติศาสตร์” หรือพูดง่ายๆ ว่าคือการรัฐประหารที่ “ชั่วร้าย โสมม และอัปรีย์ที่สุด หากมองด้วยบรรทัดฐานของประชาธิปไตย”
หากพูดในระดับซีเรียสที่สุด เราคงพูดไม่ได้ว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คือ “การล้มประชาธิปไตยไทย” เพราะประเทศไทยไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” ดังที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเสนอไว้ว่า ประชาธิปไตยไม่มีทางเกิดขึ้นมาได้ หากไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “ประชาชน” ซึ่งน่ารันทดเหลือแสน ประเทศไทยไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า “ประชาชน” มาก่อน มีเพียง “ละอองผงใต้ฝ่าตีน”1ฉะนั้น เราอาจจะเรียกว่าเป็น “ฝุ่นใต้ตีนธิปไตย” ก็คงได้กระมัง แต่กระนั้นก่อนการรัฐประหาร ความเปลี่ยนแปลงภายใน “ฝุ่นใต้ตีนธิปไตย” ก็มีขึ้นอย่างชัดเจน กล่าวคือ เริ่มเกิดสิ่งที่เรียกกันว่า “Self-Determination (การกำหนดการปกครองด้วยตนเอง)” ในหมู่คนไทย แม้จะไม่เต็มที่แต่เราก็เห็นได้ถึงเค้าลางของสิ่งนี้ (ซึ่งสุดท้ายจะนำมาซึ่ง “สถานะของความเป็น “ประชาชน” ได้)
การ ที่คนไทยเริ่มหันมาตอบสนองต่อนโยบายของพรรคการเมือง, การมาสนใจว่านโยบายของพรรคไหนนั้นตอบสนองต่อผลประโยชน์ของพวกตน แล้วทำการเลือกพรรคนั้นมาเป็นผู้แทนของตน และทำการปกครองประเทศต่อไปโดยอิสระนั้น ย่อมเป็นสัญญาณที่ดีของการเกิด Self-Determination อันจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยไตย” ได้เสียที แต่แล้วกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ทั้งผู้ถือครองฐานันดรชั้นสูง สุดของไทย, กลุ่มผู้มีอำนาจเก่าทางการเมืองจะระบอบฝุ่นใต้ตีนธิปไตย ก็ไม่ยอมให้ครรภ์ที่ชื่อประชาธิปไตยถึงกำหนดคลอดได้ และได้ร่วมมือกัน “ทำแท้งประชาธิปไตย” ด้วยรัฐประหาร 19 กันยา...แม้ 19 กันยา จะไม่ใช่การล้มประชาธิปไตย แต่มันก็คือการ “ทำแท้งประชาธิปไตยที่แสนโสมม” มันไม่ใช่แค่การพยายามล้มพรรค หรือล้มบุคคลซึ่งมาจากกระบวนการคัดสรรแบบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่มันคือการตัดตอน และผลักไสใล่ส่งให้คนไทยที่พยายามจะก้าวเข้าสู่สถานะของความเป็นประชาชน กลับสู่สถานะของการฝุ่นผงอย่างคงระเบียบแบบแผนเดิมต่อไป
หลัง จากวันที่ 19 กันยายน 2549 คนไทยบางกลุ่มก็ร่วมยินดี เฮโล และสมัครใจเป็นฝุ่นผงต่อไป (ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว) บางคนก็จำใจกลับมาเป็นฝุ่นผงอย่างไม่สู้สะดวกใจนัก นั่งพร่ำบ่นนู่นนี่ไปวันๆ และอีกพวกหนึ่งที่พยายามจะต่อสู้เพื่อการเป็นประชาชนต่อไป เป็นกลุ่มคนที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ถึงพัฒนาการของ Self-Determination ที่เรียกคร่าวๆ กันว่า “มวลชนเสื้อแดง” (แต่น่าเสียดายที่แกนนำบางคนพยายามในทางตรงกันข้าม หรือบางคนก็ก้าวร้าว รุนแรงจนทำให้เสียขบวนไปทั้งยวง) และแน่นอน ผู้ซึ่งฝังผลประโยชน์ของตนไว้กับระบอบฝุ่นใต้ตีนธิปไตย (ชุดเดิมกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อาจจะเปลี่ยนตัวประกอบบ้างบางตัว แต่ตัวละครหลักดังเดิม) ย่อมไม่อนุญาตให้เกิด Self-Determination ได้ ไม่ยอมให้เกิดประชาชนได้ และแล้วการปราบปรามอันนองเลือดที่อย่าง “พฤษภา 53” ก็ได้เกิดขึ้น โดยที่ฆาตกรบางคนก็ยังอยู่รอดมาหลายเดือน บางคนอยู่รอดมาหลายสิบปี (หากจะไม่รอดก็อาจจะเพราะสังขาร ไม่ใช่เพราะการเมืองกระมัง) และแล้วทุกอย่างก็สงัดลงอีกครั้ง ราวกับว่าเราจะโดน “ทำหมันประชาธิปไตย” โดยถาวรก็มิปาน
และ การสมานแผลทำหมัน โดยรัฐบาลในแคมเปญ “ตบหัวแล้วลูบหลัง” ก็เริ่มขึ้น ด้วยพวกที่เรียกๆ กันว่า “คณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ” ซึ่งน่าตกใจยิ่งที่คนหนึ่งในนั้น ปรากฏชื่อ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ขึ้น (แม้ผมจะไม่ได้ชอบงานนิธินัก แต่ก็พยายามเชื่อว่าอยู่ฝ่ายต้องการประชาธิปไตยมาโดยตลอด) แต่การปรากฏตัวขึ้นของนิธิ ในแคมเปญตบหัวแล้วลูบหลังนี้นั้น ทำให้เราได้เทราบถึง “ความใฝ่ต่ำทางการเมือง และประชาธิปไตย” ของนิธิเองได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แคมเปญนี้ก็ยังหาทางใช้ประโยชน์จากพลังของพุทธศาสนา ที่บังคับยัด บังคับสอน บังคับเสพจนกลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อันก้าวล่วงไม่ได้ในสังคม ไทย ด้วยการตั้งพระภิกษุที่แลดูมีความรู้ (แต่ไม่ได้มีความคิดนัก) อย่างพระไพศาลมาอยู่เป็นยันต์กันคนด่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิภาพจนคนแทบจะลืม หรือเลิกสนใจการเข่นฆ่า หรือรัฐประหารที่ชั่วร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ประเทศไปเสียสิ้น
ผมอยากจะบอกว่า “จงอย่าลืม”...หาก ยังคงจำได้ โอกาสจะผ่าตัดแก้หมันก็ยังมี แม้จะอีกยาวไกล แต่ก็ยังคงมีทาง แต่เมื่อไหร่ที่ปล่อยให้ความทรงจำโดนจัดการ และการรับรู้โดนทำหมันไปด้วย ก็คงจะยากที่เราจะได้เป็นประชาชนกันเสียที
ด้วยความเคารพ
18 กันยายน 2553 (18.28 น.)
--------------------------------------
1 โปรดดู จากพฤษภาประชาธรรม ถึงรัฐประหารเพื่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข: อ่านการต่อสู้ทางชนชั้นในพลวัตการเมืองไทย ใน ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม – กันยายน), (สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน : กรุงเทพฯ, 2553), หน้า 198 – 200.