ชื่อบทความเดิม: จะสามารถมีหลักเกณฑ์ที่ทุกฝ่ายยอมรับ (ด้วยเหตุผล) ได้หรือไม่ ? ในการพิจารณาว่า “รัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ ? ในเหตุการณ์ ระหว่าง 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553”
มีความเห็นที่แตกต่างกันว่า นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องรับผิดชอบทางการเมืองหรือไม่ ? ใน เหตุการณ์ระหว่าง 10 เมษายน ถึง 19 พฤษภาคม 2553 ที่มีผู้สูญเสียชีวิตจำนวนมากถึง 91 ศพ และบาดเจ็บร่วม 2,000 คน ฝ่ายที่เห็นว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำต้องรับผิดชอบ เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ปกป้องรักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เมื่อเกิดความสูญเสียชีวิตอย่างมาก จำเป็นต้องสืบหาผู้ผิด จึงไม่เหมาะสมที่นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดด้วยนั้น จะดำรงตำแหน่งต่อไป แต่ควรลาออก เพื่อเปิดทางให้มีคณะกรรมการที่มิได้มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาล เป็นผู้สืบสวนหาข้อเท็จจริง สำหรับฝ่ายที่เห็นว่า นายกรัฐมนตรีไม่ต้องรับผิดชอบมองว่า การชุมนุมครั้งนี้แตกต่างจากการชุมนุมอื่นๆคือมีความรุนแรงและมีกลุ่มก่อการ ร้ายแฝงอยู่ และรัฐบาลได้ปฏิบัติหน้าที่เพื่อรักษาระเบียบและกฎหมายอย่างดีแล้ว
ดู เหมือนว่าฝ่ายที่มองว่ารัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบนั้นจะมีข้อสรุปอยู่แล้วว่า ผู้ชุมนุมซึ่งมีความคิดที่แตกต่างจากรัฐบาลนั้นเป็นฝ่ายผิดอย่างแน่นอน และการดำเนินการต่างๆ ของรัฐบาลนั้นถูกต้องแล้ว หรือบ้างอาจให้เหตุผลว่า ในส่วนของรัฐบาลนั้น ต้องรอให้มีผลพิสูจน์ทราบก่อนว่าเป็นฝ่ายผิดจริง รัฐบาลถึงค่อยแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองได้ แต่สำหรับเหตุผลของฝ่ายที่มองว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมืองนั้น ไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปในชั้นนี้ว่ารัฐบาลเป็นฝ่ายถูกหรือผิดกฎหมาย ใครผิดใครถูกเป็นสิ่งต้องสืบหากัน ซึ่งหากผิดก็ต้องมีความรับผิดชอบทางกฎหมายอีกด้วย แต่หากในขณะที่จะมีการสืบหาข้อเท็จจริง รัฐบาลในฐานะคู่พิพาทยังครองอำนาจอยู่ ย่อมทำให้เกิดความคลางแคลงใจอย่างเลี่ยงไม่ได้
จะ มีหลักเกณฑ์อะไรที่จะบอกว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นสอง แนวทางดังกล่าวข้างต้นนั้น ความเห็นใดถูกต้อง หรือว่าที่จริงปัญหานี้เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาหลักเกณฑ์ได้ เป็นเรื่องการมองต่างมุมที่ไม่อาจมีข้อยุติ นอกจากนี้บางท่านยังอ้างว่า บริบทของสังคมไทยแตกต่างจากสังคมตะวันตก ดังนั้น หลักเกณฑ์ที่ใช้ย่อมแตกต่างกันด้วย
ผม คิดว่า หลักเกณฑ์ที่ควรใช้ในการพิจารณาสำหรับสังคมประชาธิปไตยหรือสังคมที่รัฐบาล ต้องยึดโยงกับประชาชนคือ ความเสมอภาคของประชาชนในสังคมการเมืองนั่นเอง การที่ประชาชนมาอยู่ร่วมกันในรัฐนั้น พื้นฐานแรกสุดก็เพื่อต้องการมีชีวิตที่ได้รับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และการให้ความคุ้มครองประชาชนนั้น รัฐต้องให้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ คิดถึงใจเขาใจเรา ประชาชนจึงจะมีความสุข หากรัฐไม่สามารถให้ความคุ้มครองประชาชนแล้วไซร้ ก็จำต้องแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองก่อนในเบื้องต้น
ใน ครั้งที่เกิดเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งมีผู้สูญเสียชีวิต 2 ท่านนั้น ผู้ที่เวลานี้มีแนวคิดว่ารัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบกรณีเหตุการณ์เมษายน -พฤษภาคม 2553 กลับเป็นผู้เรียกร้องให้รัฐบาลขณะนั้นต้องรับผิดชอบอย่างมาก[1] แต่ในเหตุการณ์ครั้งนี้ที่มีผู้เสียชีวิตถึง 91 ศพ บุคคลที่เคยสนับสนุนเหตุผลว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบ หากมีการสูญเสียชีวิตของประชาชน (อย่างตัวนายกอภิสิทธิ์) กลับเลือกที่จะไม่ใช้เหตุผลเดียวกัน หรือใช้มาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไป
คำถามที่น่าพิจารณาคือ คุณค่าชีวิตของคนเราไม่เท่ากันใช่หรือไม่? คนที่คิดต่างจากกลุ่มคนเสื้อแดงชีวิตของเขามีค่ามากกว่าชีวิตของคนเสื้อแดง หรือ? หรืออาจสมมุติว่า ในอนาคตหากกลุ่มเสื้อแดงเป็นรัฐบาล แล้วกลุ่มคนหลากสีออกมาต้านแบบเดียวกับที่เสื้อแดงทำเมื่อเมษา-พฤษภา แล้วรัฐบาลเสื้อแดงใช้การสลายแบบเดียวกัน กลุ่มคนหลากสีจะมีท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร
การคิดอย่างตรงไปตรงมานี้น่าจะทำให้เลิกหลอกตนเองได้เสียทีว่า ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ร่วมกันได้เกี่ยวกับความรับผิดชอบของรัฐบาล.
________________________________
[1] พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบขณะนั้นได้ลาออกทันทีในวันดังกล่าว และต่อมา ป.ป.ช.มีมติให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ และพล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) มีความผิดกรณีสั่งการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย โดย พล.ต.อ. พัชรวาท และ พล.ต..ท.สุชาติ ยังมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง สำหรับนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ หลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว วุฒิสภายังพยายามลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่งอีกด้วย