ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 8 August 2010

สุรพงษ์ ชัยนาม: “พม่า” ยิ่งเปลี่ยนยิ่งเหมือนเดิม คือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ที่มา ประชาไท

สุรพงษ์ ชัยนาม” บรรยาย ที่ ม.เชียงใหม่ อธิบายเรื่องการจัดการเลือกตั้งโดยรัฐบาลทหารพม่าว่าไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่เป็นไปเพื่อความอยู่รอดของระบอบ ทั้งยังสมประโยชน์กับนานาประเทศที่แบนเผด็จการพม่าจะไม่เสียหน้า และจะได้วางมือถ้าพม่าจัดการเลือกตั้ง ด้วยตรรกะ “มี ดีกว่าไม่มี” ย้ำพม่ายิ่งเปลี่ยนยิ่งเหมือนเดิมคือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างอภิปรายที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาหัวข้อ “การเลือกตั้งในพม่า และประชาคมASEAN: มุมมองทางภูมิรัฐศาสตร์” โดย นายสุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการตางประเทศ ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับรายละเอียดของการอภิปราย มีนี้ [หมายเหตุ: ตัวเน้นและโปรยหัวข้อ เป็นการเน้นโดย “ประชาไท”]

000

“ประเทศเหล่านี้” อาจคิดว่า “การเลือกตั้งในปีนี้อาจจะไม่โปร่งใสนะ ไม่ชัดเจนนะ แต่เมื่อเราคำนึงว่าการรัฐประหารมาในปี 2505 พม่าไม่มีการเลือกตั้งเลย และการเลือกตั้งปี 1990 โดนคว่ำกระดานไป 10 กว่าปี ก็ถือว่าเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่ง ที่ดีกว่าไม่มีน่ะ ถึงจะมีข้อบกพร้องเยอะแยะก็ยังดีกว่าไม่มี เราต้องให้โอกาสเขา และเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว เขาจะปรับตัวเอง เปิดตัวเองมากขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าการเลือกตั้งนี้เป็น Exist Strategy ที่จะทำให้สหรัฐอเมริกา และหลายชาติไม่เสียหน้า”

การเลือกตั้งในพม่า
ที่ไม่ได้เกิดในสุญญากาศ

นายสุรพงษ์ เริ่มอภิปรายว่า การเลือกตั้งในพม่าไม่ได้เกิดในสุญญากาศ ความว่างเปล่า หรือความประสงค์ของรัฐบาลทหารพม่าที่จู่ๆ นึกสนุกจัดการเลือกตั้งขึ้นมา ในเรื่องการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แม้แต่ชีวิต ส่วนตัว การงาน การจะทำความเข้าใจได้นั้นต่อเมื่อเรายอมรับบริบท (Context) ของมัน ทุกอย่างมีบริบท แม้แต่การเมืองพม่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีต่อพม่า ท่าทีที่พม่ามีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะในระดับภูมิภาคก็ดี ระดับโลกก็ดี ต่างมีบริบทและเงื่อนไข ถ้าทำความเข้าใจเรื่องนี้ จะช่วยทำความเข้าใจเรื่องการเลือกตั้งปี 2010 ในพม่า ที่จะกล่าวในตอนท้าย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเกี่ยวข้องกับความร่วมมือหรือความขัดแย้ง”หมายความว่า ไม่มีอะไรที่จะเกี่ยวกับข้องกับความร่วมมืออย่างเดียวหรือความขัดแย้งอย่างเดียว เมื่อผลประโยชน์ลงตัวก็เป็นเรื่องความร่วมมือมากกว่าความขัดแย้ง เมื่อผลประโยชน์ขัดแย้งก็เป็นเรื่องความขัดแย้งมากกว่าความร่วมมือ ยกตัวอย่างในอาเซียน สำหรับ 9 ประเทศเป็นเรื่องความร่วมมือมากกว่าความขัดแย้ง อีก 1 ประเทศเป็นเรื่องความขัดแย้งมากกว่าความร่วมมือนั่นคือกัมพูชา

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าที่ผ่านมา ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจนถึงปัจจุบัน หากตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง และการมีความสัมพันธ์ที่ปกติ ในแง่ต่างคนต่างอยู่ ติดต่อกันบ้าง ปฏิสัมพันธ์กันบ้าง มีความร่วมมือในระดับหนึ่ง คือ “สัมพันธ์แบบปกติเฉยๆ” ไม่ได้นำไปสู่ความร่วมมือรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ความสัมพันธ์ไทยพม่าในภาพรวมเป็นเรื่องความสัมพันธ์ปกติ สลับด้วยความขัดแย้ง มากกว่าที่จะเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่นำไปสู่ความใกล้ชิด สนิทสนม ความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ถือว่าไม่มี เคยจะมีบ้าง แต่ก็สะดุดไป

สาเหตุเป็นเพราะอะไร ในความเห็นผมคิดว่ามีหลายปัจจัยมาก ทั้งความแตกต่างเรื่องระบอบการเมืองการปกครอง เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่ง จะเห็นได้ว่าถ้าดูช่วง 65 ปีที่ผ่านมา เมื่อโลกถูกแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็อยู่ในอิทธิพลของสงครามเย็น มีลัทธิอุดมการณ์เป็นปัจจัยอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ไทยและพม่าก็หนีไม่พ้นอิทธิพลของสงครามเย็น

พม่าภายใต้บริบทสงครามเย็น
และการรัฐประหารปี 1962

เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ไทยกับพม่าในยุคสงครามเย็น เกือบจะเป็นศูนย์ไม่มีความร่วมมืออะไรกัน ถามว่ามีความขัดแย้งกันไหม ก็มี ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการมองปัญหาระหว่างประเทศที่แตกต่างกันด้วยอิทธิพลของลัทธิอุดมการณ์ คือพม่าถือว่าอยู่ใน “กลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” “Non-alignment” การไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดไม่ได้หมายถึงความเป็นกลาง “Neutrality” นะ เพียงแต่ว่ากลุ่มที่ร่วมกันก่อตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดนี้ พม่าอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย ซึ่งรวมทั้งยูโกสลาเวีย อียิปต์ อินเดีย และอีกหลายประเทศ เขาเพียงแต่มองว่า ในยุคสงครามเย็นที่โลกแบ่งเป็นสองขั้วชัดเจน เขาไม่ต้องการที่จะฝักใฝ่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเขาวางตัวเป็นกลางระหว่างความขัดแย้งสองกลุ่มนี้ คือ ไม่ได้แปลว่าเมื่อ A โลกเสรี กับ B โลกคอมมิวนิสต์ ขัดแย้ง กลุ่ม C จะวางตัวเป็นกลางไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับความขัดแย้ง เพียงแต่เขาเห็นว่าถ้าไปถือหางกลุ่มใดโดยเฉพาะเขาจะเปลืองตัว ไม่สามารถรักษานโยบายต่างประเทศของเขา ในทางที่จะสามารถดูแลผลประโยชน์ประเทศเขาได้ดีกว่า

นี่คือสาระสำคัญของกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด พม่าอยู่ในกลุ่มนี้ แต่กลุ่มนี้จะฝักใฝ่กลุ่ม A บางช่วง และ กลุ่ม B บางช่วง ถ้าได้ประโยชน์ ถามว่าในช่วง 60 กว่าปีของสงครามเย็น การสังกัดในกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของพม่า สามารถทำให้พม่าสามารถรักษาความอิสระในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของพม่าได้อย่างที่คาดหวังหรือไม่ คำตอบคือ ไม่ แม้ว่าผู้นำอาจคิดว่าเขาได้ประโยชน์ในการอยู่ในกลุ่มประเทศไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์ พม่าเป็นประเทศที่ถ้าเราดูในแผนที่ พม่าถูกขนาบโดยยักษ์ใหญ่สองประเทศ อินเดีย จีน มีพรมแดนติดต่อกับบังกลาเทศ ลาว ไทย ดังนั้น ถึงจะอยู่ในกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด การดำเนินนโยบายต่างประเทศของพม่า ต้องคำนึงถึงปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์อยู่ดี จะบอกว่าทำอะไรโดยไม่คำนึงผลประโยชน์ ข้อคำนึง และทัศนะ ท่าที พฤติกรรม นโยบายของจีน อินเดีย และไทย และอื่นๆ คงไม่ได้ นี่ระดับภูมิภาคนะ ในระดับโลกเขาก็ต้องคำนึงภาพใหญ่ของโลกด้วย ดังนั้นก็ชี้ให้เห็นแล้วว่าถึงคุณไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ต้องคำนึงข้อเท็จจริงนี้ด้วย คุณจะดำเนินนโยบายตามอำเภอใจไม่ได้อยู่แล้ว

เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ไทยพม่ายุคสงครามเย็น ก็เป็นความสัมพันธ์ที่ติดต่อกันเชิงสัญลักษณ์ การทูต แต่ความร่วมมือไม่มีอะไรเลย เป็นสองประเทศที่ดำรงอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ อะไรไม่มีเลย ในแง่อุดมการณ์ทางการเมืองของพม่าเอง ที่เขาอยู่ในกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และนโยบายของพม่าเองหลังเนวินทำการรัฐประหารรัฐบาลของอูนุในปี 1962 (พ.ศ. 2505) แล้ว หลังจากนั้น นโยบายต่างประเทศและนโยบายภายในของพม่าเป็นการปิดประเทศมากขึ้น นโยบายวิถีสังคมนิยมแบบพม่า ทำให้เศรษฐกิจปิดมากขึ้น พม่าปฏิสัมพันธ์กับประเทศในค่ายสังคมนิยม ในแง่บริบทของสงครามเย็น จึงมีผลกับพม่าด้วย

การเปิดประเทศหลังสงครามเย็น
เพื่อความอยู่รอดของระบอบ

หลังสงครามเย็นปี 1989 (พ.ศ. 2532) ในขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทยเองพยายามปรับตัวให้เข้ากับบรรยากาศทางเศรษฐกิจ การเมืองระหว่างประเทศภายใต้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศยุคสงครามเย็นจากสองขั้วกลายเป็นหลายขั้ว โดยหลังสงครามเย็นในที่สุดขั้ว B หายไป เหลือแต่ A น่าจะเป็นแค่ขั้วเดียว แต่ไม่ เพราะว่าแม้ว่าความขัดแย้งทางอุดมการณ์ ลัทธิคอมมิวนิสต์หายไป ไม่มีตัวตนที่จะท้าทาย B หายไปแล้ว เหลือแต่ B A ตลอด 60 กว่าปีของสงครามเย็น แต่ในโลกมนุษย์ ในโลกการเมืองทุกสิ่งทุกอย่าง ใน A ด้วยกันเอง เมื่อ A จะร่วมกันแต่ B ไม่มีแล้ว A จะทำอะไร ภายใน A ซึ่งอาจมีความขัดแย้งอยู่ แต่ตอนนั้นมี B ความขัดแย้งกันเองจึงระงับไว้ เมื่อ B หายไป สิ่งขัดแย้งในตัว A จึงผุดขึ้นมา แต่ไม่ใช่ความขัดแย้งทางลัทธิอุดมการณ์ A กลายสภาพเป็นอะไรล่ะ จากโลกขั้วเดียว ก็กลายเป็น สหรัฐอเมริกา A1 ญี่ปุ่น A2 อาเซียน A3 จีน A4 อินเดีย A5 สหภาพยุโรป A6

คือแต่ละประเทศหลังยุคสงครามเย็น มันเกิดยุคความร่วมมือส่วนภูมิภาค (Regionalism) มันเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด องค์การเพื่อความร่วมมือส่วนภูมิภาคที่เก่าแก่ที่สุดก็คือสหภาพยุโรปหรืออียู รองมาคืออาเซียน และมีความร่วมมือส่วนภูมิภาครวมกันหลายส่วนในภูมิภาคทุกทวีปเต็มไปหมด นี่คือปรากฏการณ์หลังสงครามเย็นคือ Regionalism

เรื่องที่สองคือสถาบันนิยม (Institutionalism) คือทุกประเทศพยายามสร้างให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศ ให้เกิดเสถียรภาพความมั่นคงระหว่างประเทศ ในมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ว่าเมื่อสิ้นสุดสงครามเย็นแล้วไม่มีเรื่องของความขัดแย้งทางลัทธิอุดมการณ์แล้ว เพราะว่าสิ่งที่เราเรียกว่ายุคหลังสงครามเย็น อะไรที่ครองความเป็นใหญ่ (Hegemony) ทางการเมืองหลังสงครามเย็น มันคือ “ประชาธิปไตยเสรีนิยม” ในทางเศรษฐกิจ “เศรษฐกิจเสรีนิยม” ครองความเป็นใหญ่ นี่คือภาพใหญ่หลังยุคสงครามเย็น

มันมีบางประเทศ อย่าง จีน เวียดนาม ลาว มี 3-4 ประเทศ ในทางการเมืองอาจจะไม่ใช่ประชาธิปไตยเสรีนิยม ยังคงมีพรรคคอมมิวนิสต์ผูกขาดอำนาจ แต่ส่วนใหญ่ในอดีตโลกคอมมิวนิสต์นั้น ได้ถูกอิทธิพลทางอำนาจนำของเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ และอิทธิพลทางอำนาจนำของเสรีนิยมประชาธิปไตยครอบงำหมดแล้ว ประเทศจีนมีอะไรที่เป็นสังคมนิยมหลงเหลืออยู่ไหม ไม่มีอีกแล้ว จะเหลือเพียงประเทศเดียวในโลกคือเกาหลีเหนือ ส่วนคิวบาก็เปิดมากขึ้นแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่า การแข่งขันกันของประเทศในโลกอยู่ในกรอบของเศรษฐกิจเสรีทุนนิยม และการเมืองในกรอบเสรีประชาธิปไตย

ในที่สุด หมายความว่า โลกปัจจุบันนี้เป็นโลกของการพึ่งพา “Inter-dependent” หมายถึงว่า ทุกประเทศที่ยอมรับว่าโลกปัจจุบันเป็นโลกของการพึ่งพาคือ ประเทศในโลกยอมรับว่าไม่มีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง เหมือนในยุคสงครามเย็น ช่วงนั้นเรื่องโลกร้อน สิ่งแวดล้อม มันถูกซุกไว้ ตอนนี้เราพูดเรื่องประชาธิปไตย ธรรมาภิบาล นิติรัฐ ตอนสงครามเย็นไม่มีใครพูดถึง หลังสงครามเย็นมันผุดมาหมด

คือทุกคนยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่มีประเทศใดสามารถแก้ได้โดยลำพัง นี่คือระบบการพึ่งพาระหว่างประเทศ แม้แต่มหาอำนาจหรืออภิมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาก็ยอมรับว่าใหญ่แค่ไหนก็ไม่อาจแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้น ปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงยุคนี้คือ การก่อการร้าย ก็ต้องการความร่วมมือระหว่างประเทศแน่นอน

พม่าในยุคหลังสงครามเย็น พม่าพยายามปรับกรอบความคิดของตนมากน้อยแค่ไหน เราจะเห็นว่า โดยถ้อยแถลงของรัฐบาลพม่าระบุว่าตระหนัก แต่ทางพฤตินัย กรอบความคิดเดิมๆ ยังฝังอยู่มาก อิทธิพลสงครามเย็นยังมีอยู่มากในท่าทีของผู้นำพม่า มีผลต่อท่าทีของเขาต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และต่อประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งไทยด้วย ถามว่าเขาพยายามเปลี่ยนไหม เขาก็พยายามเปลี่ยน ไม่เช่นนั้น คงไม่เสนอตัวมาเป็นสมาชิกอาเซียน หรือมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ในโลกนี้

มีระดับหนึ่ง ที่เขาพยายามปรับท่าทีของเขา แต่ที่แน่นอนที่ไม่เปลี่ยนเลยในความคิดของระบอบการปกครองพม่า หรือรัฐบาลทหารพม่า ก็คือเรื่อง “ความมั่นคง” เขายังมองเรื่องความมั่นคงว่า มันเป็นความมั่นคงของระบอบทหารพม่าที่จะต้องอยู่รอด ทำให้ทหารที่ผูกขาดอำนาจอยู่รอด นี่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย ทุกวันนี้การมองปัญหาต่อต่างประเทศ การปรับตัวต่อปัญหาระหว่างประเทศ การปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศนั้น ไม่ใช่เพื่อพัฒนาการเศรษฐกิจของพม่าให้มีความเจริญเติบโต ให้ประโยชน์สังคมส่วนรวม หรือการพัฒนาส่วนอื่นๆ ของตน แต่การปรับตัวของเขา จุดประสงค์สำคัญที่สุดคือเพื่อการอยู่รอดของระบอบ

การเปิดประเทศของพม่าหลังสงครามเย็น ไม่ใช่เพราะจู่ๆ อยากมีเศรษฐกิจทุนนิยม มีการลงทุนของต่างชาติ สร้างงาน สร้างความเจริญให้พม่าในด้านต่างๆ ไม่ ... แต่เปิดเพราะตระหนักว่าถ้าไม่เปิด ระบอบการปกครองที่ทหารผูกขาดอำนาจในพม่าจะอยู่ไม่ได้ เป็นเรื่อง Survival (ความอยู่รอด) ของทหารมากกว่าจะส่งผลให้เกิดความคืบหน้าหรือพัฒนาการด้านอื่นๆ

เทียบกับตอนเวียดนามเปิดประเทศปี 1986 (2529) ก็เป็นแบบนี้ แต่ตอนหลังก็เปิดหมด แต่พม่านั้น หากการเปิดประเทศเริ่มส่งสัญญาณให้รัฐบาลทหารพม่ารู้ว่าความอยู่รอดและความมั่นคงของรัฐบาลทหารพม่าสุ่มเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงของภายนอก เขาจะยุติ จะระงับ จะไม่เปิดมากกว่านี้ หรือหาทางออกด้วยการใช้กฎหมายควบคุม เราก็รู้ว่าสิ่งที่จะเข้าไปแรกๆ คือการค้า จากนั้นจะเป็นวัฒนธรรม ค่านิยม เขารู้ว่าถ้าเปิดแล้วจะมีผลต่อความคิด ยิ่งในยุตเทคโนโลยีสารสนเทศ เขารู้ว่าจะบ่อนทำลายเขาได้

สรุปนิดหนึ่งว่า ความสัมพันธ์ไทยพม่ายุคหลังสงครามเย็น เริ่มเปลี่ยน เริ่มมีความร่วมมือ อย่างน้อยที่สุดในแง่ไทยเข้าไปค้าขายลงทุน ปฏิสัมพันธ์ด้านต่างๆ มีโครงการร่วมมือไทยพม่า มีโครงการช่วยเหลือที่ไทยให้พม่า มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นเพราะบริบทหลังสงครามเย็นที่เปลี่ยนไป พม่าก็เปิดประเทศมากขึ้นก็เพื่อความอยู่รอดของระบอบ ไม่ได้นำไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีบทบาท มีการเลือกตั้ง ไม่ใช่ แต่เป็นการเปิดเพื่อซื้อเวลาให้กับระบอบทหาร ระบอบการปกครองของพม่า ได้อยู่นานยิ่งขึ้นได้

ความสัมพันธ์ไทย – พม่า
และผลประโยชน์กลุ่มบุคคล

ในบรรดาประเทศเพื่อนบ้านของไทย ประเทศอาเซียนด้วยกัน เรามีพรมแดนยาวที่สุด 2,401 กิโลเมตร พม่าเป็นประเทศเดียวที่ไทยมีปัญหาด้วยมากที่สุด ปัญหานี้จะบอกว่า เป็นปัญหาที่ฝ่ายพม่าเป็นคนสร้างเองทั้งหมดก็ไม่ใช่ แต่ปัญหาที่เราประสบกับพม่าส่วนใหญ่เราไม่ได้ก่อขึ้นมา แต่โดยเนื้อหาแล้วถ้าจะวิเคราะห์กันถึงที่สุดเกิดจากระบอบการเมืองการปกครองของพม่าเองที่ไม่มีความเอื้ออาทรต่อคนของเขา

ตั้งแต่การรัฐประหารของนายพลเนวิน ปี 1962 (2505) ที่โค่นอูนุ ความสัมพันธ์ไทย-พม่าก็เสื่อมเรื่อยๆ ล้มลุกคลุกคลาน ขัดแย้งมากกว่าร่วมมือ ที่ดีที่สุดคือความสัมพันธ์แบบปกติ มาถึงทุกวันนี้ก็ไม่เคยปรากฏว่าความสัมพันธ์ไทย-พม่า มีความสนิทชิดเชื้อ แนบแน่น ใกล้ชิด ร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดทุกด้าน ก่อดอกก่อผล มีรูปธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายนั้นไม่เคยปรากฏ อยากมากที่สุดถ้าความสัมพันธ์แบบปกติถือว่าเยี่ยมแล้ว เยี่ยมมากๆ แล้ว ถามว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ มากกว่านี้ไม่ได้หรือ ก็อะไรล่ะที่เป็นเป้าประสงค์ของเขา ก็คือระบอบการเมืองการปกครองที่มีทหารผูกขาดอำนาจ เพราะถ้าเปิดมากกว่านี้ก็จะกัดกร่อนฐานอำนาจที่ทหารผูกขาดอำนาจ ดังนั้นคงต้องใช้เวลา

ถามว่าความสัมพันธ์ใกล้ชิดเคยมีไหม เราเคยได้ประโยชน์อะไร มันก็มีนะครับ แต่มันไม่ได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชน เพราะความใกล้ชิดในอดีตเป็นเรื่องกลุ่มบุคคล พรรคพวก นักการเมืองไทย นักธุรกิจไทย ข้าราชการไทย บางคนบางกลุ่มบางพวกที่ปฏิสัมพันธ์กับทหารพม่า ได้ประโยชน์แก่พรรคพวก ผลประโยชน์แก่ไทยไม่มี มันเป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ในไทย

พม่าเองรู้ดีว่า ในสังคมการเมืองไทย เป็นสังคมการเมืองที่ไร้เอกภาพมากๆ พม่ารู้ว่าระบอบการเมืองไทยไร้เอกภาพมากเขารู้ว่าต้องเข้าเจาะกลุ่มผลประโยชน์อะไร เอาผลประโยชน์ให้แค่นั้นพอแล้ว เพราะนักการเมือง นักธุรกิจไทยที่ฉ้อฉลก็คว้า แล้วพม่าจะได้รับการตอบสนองที่ดีจากกลุ่มที่มีอิทธิพลในการเมืองการปกครองไทยในช่วงนั้น

ปัญหาชนกลุ่มน้อยเกิดขึ้นเพราะตราบใดที่รัฐบาลทหารพม่ามีนโยบายเหมือน 50 ปีที่ผ่านมา แก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่าโดยยึดการทหารแก้ปัญหาเป็นคำตอบ ตราบนั้นประเทศไทยจะเจอปัญหานั้นอย่างเดียว ที่ผ่านมาพม่าใช้การทหารแก้ปัญหาชนกลุ่มน้อยอย่างเดียว ไม่คิดจะใช้การเมืองหรือหาทางเจรจาหรือหาข้อสรุป เคยมีการเจรจาในอดีต ทุกวันนี้ก็มีอยู่ ที่เขาพยายามเจรจาพูดคุยกับชนกลุ่มน้อย มีการระงับการสู้รบระหว่างกัน แต่ไม่ใช่ข้อสรุปหรือข้อยุติทางการเมือง ไม่ใช่ความตกลงทางการเมือง ไม่ใช่สันติภาพระหว่างชนกลุ่มน้อย มันเป็นการ หยุดยิง Ceasefire พูดภาษาชาวบ้านคือพักรบชั่วคราว หยุดยิงกันแค่นั้น มันไม่มี Political Agreement ความตกลงทางการเมืองระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อย

เพราะรัฐบาลทหารพม่าไม่ได้มีเป้าประสงค์ หาความตกลงทางการเมือง แต่คิดจะใช้การทหารแก้ปัญหา ตราบใดที่ยึดนโยบายนี้อยู่ เพราะพม่าก็ไม่มีอธิปไตยเหนือดินแดนของตนทั้งหมดได้ เป็นเรื่องรัฐซ้อนรัฐเต็มไปหมด การใช้นโยบายทางการทหารแก้ปัญหา ไม่มีข้อตกลงทางการเมือง มากสุดคือข้อตกลงหยุดยิง มันก็สร้างปัญหาให้ประเทศเพื่อนบ้าน ไทยมีปัญหาต้องรับผู้พลัดถิ่นเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้นำไปสู่ปัญหาความมั่นคงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาทั้งเศรษฐกิจ สังคม ไล่ตั้งแต่เหนือสุดถึงใต้สุดของชายแดน มีปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม บางพื้นที่บางหมู่บ้าน คนไทยเป็นคนส่วนน้อยในพื้นที่ตัวเอง นำไปสู่ความขัดแย้ง ความระแวง มีปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคมอีกมาก มีปัญหายาเสพย์ติด แรงงานเป็นจำนวนล้าน จริงอยู่รัฐบาลอยากแก้ปัญหา เรารับคนพวกนี้เข้ามาเป็นเหตุผลด้านมนุษยธรรม ไม่ได้รับมาเพื่อติดอาวุธเพื่อกลับสู้กับพม่า การรับผู้อพยพเป็นภาระสำหรับเรา เพราะเราแก้ปัญหารับคนอพยพ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากพม่า

ตัวอย่างเช่น มีแรงงานพม่าแบบผิดกฎหมายเป็นล้าน รัฐบาลไทยต้องการให้มีการจดทะเบียน รัฐบาลพม่าบอกว่าต้องมีการพิสูจน์สัญชาติก่อน เพราะรัฐบาลพม่าไม่ได้ออกบัตรประชาชนให้ การพิสูจน์สัญชาติก็เป็นทางเลี่ยงที่รัฐบาลพม่าจะไม่ให้ความร่วมมือ เลี่ยงกันเป็นปีๆ เลย ปัญหาชาวโรฮิงยาก็เช่นกัน เขาถือว่าไม่ใช่คนของเขา

ถามว่ารัฐบาลที่มีอยู่ในพม่าที่เป็นเผด็จการทหารพม่า เราเห็นด้วยไหมกับระบอบอย่างนี้ คำตอบคือเราไม่เห็นด้วย แต่ถามว่าแล้วทำอย่างไร เป็นเรื่องที่คนพม่าต้องแก้ไขเอง ไทยไม่มีนโยบายแทรกแซงกิจการภายในของพม่า แต่ถ้าถามว่าการมีรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตยในสายตาของเราและสายตาชาวโลก มันทำให้เราไม่สามารถติดต่อหรือเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือได้หรือไม่ มันไม่เกี่ยวหรอก คุณจะเป็นเผด็จการ คอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ นาซี ประชานิยม เรื่องของคุณ แต่คุณอย่าสร้างปัญหาให้ผม

รัฐบาลทหารพม่าเป็นอย่างไรก็ตาม แน่นอนเราไม่เห็นด้วยกับระบอบแบบนี้ ถ้าเราเห็นด้วย 14 ตุลาคงไม่มีแล้วในประเทศไทย พฤษภาทมิฬก็คงไม่มีแล้วในประเทศไทย เราไม่เห็นด้วย แต่เป็นเรื่องภายในของเขา ถามว่าระบอบการเมืองที่เป็นอำนาจนิยมอย่างนี้ มันจะเป็นอุปสรรคต่อการมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไหม ไม่มี แต่ที่มีอุปสรรคเพราะ รัฐบาลที่ไม่เอื้ออาทรต่อคนของเขาเอง มันสร้างปัญหาให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยได้ คนที่หนีมาไทย ถ้าไม่ใช่เหตุผลทางการเมืองที่ถูกปราบปราม เช่น ชนกลุ่มน้อย ก็หนีมาเพราะเหตุผลเศรษฐกิจ เศรษฐกิจล้มละลายในพม่า ก็ต้องหนีมาฝั่งไทย มาหางานทำ หนีร้อนมาพึ่งเย็น

ทุกวันนี้ตั้งแต่การรัฐประหารของนายพลเนวิน (ในปี พ.ศ. 2505) จนถึงตอนนี้รัฐบาลทหารพม่าก็ยังอยู่ได้ ถามว่า ทำไมยังอยู่ได้ ก็อย่างที่ผมบอก ก็เพราะไม่ใช่แค่ความแข็งแกร่งของระบอบทหารพม่า และกองทัพพม่าเท่านั้น แต่อยู่ได้เพราะบริบทในภูมิภาค ระดับโลก

ในแต่ละห้วงเวลา เคยมีความพยายามที่ประชาชนลุกขึ้นต้านระบอบทหารพม่าหลายช่วง ระยะหลังคือสิงหาคม 1988 หลังจากนั้นเมื่อปี 2550 ก็เกิด “Saffron Revolution” ที่รัฐบาลขึ้นราคาแก๊ส ก็นำไปสู่ประเด็นทางการเมืองมีพระลุกขึ้นมา ในที่สุดก็โดนปราบปราม รัฐบาลทหารพม่าสามารถปราบปรามได้ทุกครั้ง ตอนปี 1988 ปราบรุนแรง นักศึกษาทะลักมา ตอนนั้นพม่าโดดเดี่ยวมาก มีแต่ไทยกับจีนเท่านั้นที่ทำให้ทหารพม่าหลุดจากการโดดเดี่ยว

ซึ่งไทยพลาดโอกาสที่จะต่อรอง โน้มน้าว กดดัน เรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปรับตัว เปลี่ยนแปลง ให้มีระบอบการปกครองที่เอื้ออาทรต่อคนของเขามากๆ สมัยรัฐบาลชาติชาย ก็ส่ง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีกลาโหม ไปเจรจา พร้อมได้สัมปทานป่าไม้ ประมง ไม่ได้ให้ไทยนะ ให้กับนักการเมืองไทย ทำให้พม่ามีความรู้สึกว่า ในโลกนี้เขายังมีไทย มีจีน

จีนนั้นพอเข้าใจได้ ระบอบการปกครองนั้นเข้ากับพม่าได้และเรื่องผลประโยชน์ด้วย แต่ไทยระบบการเมืองการปกครองของไทย มันขัดแย้งมากๆ กับระบบประชาธิปไตยของไทยในยุคนั้น ซึ่งตอนนั้นเราสามารถที่จะกดดัน ประชาคมโลกทั้งหมดเขาประณามอยู่แล้ว เรามีประชาคมโลกที่จะกดดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพม่าได้แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะผลประโยชน์เฉพาะหน้า เฉพาะพรรคพวก ที่เข้ามามีอิทธิพล และประชาสังคมไทยในยุคนั้นก็อ่อนแอมาก นโยบายต่างประเทศของไทยจะดีขึ้นหรือไม่ บทบาทของประชาสังคมก็สำคัญมาก ในที่สุดเราก็ต้องโทษตัวเอง ที่เหตุการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามที่ประชาชนคิดหรือหวัง

และรัฐบาลทหารพม่าก็อยู่มาได้ ถึงตอนที่เขาปราบปรามพระสงฆ์ ปี 2550 ตอนนั้นผมเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ท่านไปพูดที่สหประชาชาติ ช่วงการประชุมสมัชชาใหญ่ที่นิวยอร์ก เราเสนอและท่านก็เห็นด้วย ท่านพูดว่าประเทศพุทธไม่สามารถยอมรับการกระทำและพฤติกรรมของรัฐบาลทหารพม่าในการปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนในครั้งนั้น นี่เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย กล้าพูดในเวทีระหว่างประเทศ ท่าทีของไทยนั้น นำไปสู่การที่สิงคโปร์เป็นประธานอาเซียน ตอนนั้น สิงคโปร์ออกแถลงการณ์ของอาเซียนตำหนิอย่างรุนแรงต่อการกระทำของรัฐบาลทหารพม่า

“ไพ่” หลายสำรับ
ในมือรัฐบาลพม่า

แล้วมีอะไรเกิดขึ้นหลังจากนั้น ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก ที่หลายๆ ประเทศไม่กดดันพม่าต่อก็เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของแต่ละประเทศ พม่าก็ไม่ได้เปลี่ยนอะไร ตอนปี 1988 (พ.ศ. 2531) ทั่วโลกประณาม แต่ไทยไปช่วยให้เขาพ้นจากโดดเดี่ยว ในปี 2550 ปราบปรามพระสงฆ์ ไทยออกมาตำหนิเลย สิงคโปร์ประธานอาเซียนออกแถลงการณ์ พม่ารับทราบ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นจนบัดนี้ ถามว่าทำไม ตอบว่า บริบทสำคัญ

เพราะ Post Cold war เป็นยุคที่ไม่เน้นการเมืองและความมั่นคงเท่ากับเรื่องเศรษฐกิจ ทุกประเทศต้องการพัฒนา ผลประโยชน์มหาศาล ประเทศที่เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมากคือจีน อินเดีย หิวโหยทรัพยากรพลังงาน ในพม่า น้ำมันยังไม่เจอ แต่แก๊สมีเยอะแล้ว จีนและอินเดียก็เข้าไปเพื่อพลังงาน พม่าใช้ไพ่ด้านพลังงาน ต่อรอง รักษาผลประโยชน์ของทหารพม่าได้

แม้ในปี 2550 เขาถูกตำหนิ แต่เขาไม่เปลี่ยนเพราะ บริบทมันเปลี่ยนไป ทุกประเทศหน้าฉากก็ประณาม แต่หลังฉาก “Business as usual” พม่าถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงก็อยู่ได้ เพราะบริบทเปลี่ยน พม่ามีไพ่หลายสำรับที่เล่นได้ ทั้งสำรับจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา อียู อาเซียน อย่างน้อยมีไพ่ 5 สำรับที่จะสับเล่นได้ ไม่ใช่มีแต่จีน และพม่าก็เชื้อเชิญให้ประเทศต่างๆ เข้ามาค้าขายในพม่า ให้ประเทศเหล่านี้เข้ามาคานกันเอง โดยพม่าเป็นผู้บริหารจัดการ ผู้นำเขาชาญฉลาดสร้างความสมดุลได้ และลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่ง

อย่างที่บอกทุกอย่างสีเทามากๆ อย่าลืมว่าครอบครัวของอองซาน ซูจีใกล้ชิดครอบครัวผู้นำอินเดียมากๆ อดีตนายกรัฐมนตรีอูนุ ใกล้ชิดเนห์รู (ยาวาหะราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย) มาก ตั้งขบวนการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด เมื่อนายกรัฐมนตรีอูนุถูกรัฐประหารในปี 2505 นโยบายต่างประเทศของนโยบายอินเดียเดิมคือยึดปัจจัยประชาธิปไตยเป็นอันดับหนึ่ง ในการตัดสินใจท่าทีต่อพม่า ดังนั้น อินเดียในอดีตจึงสนับสนุนตั้งแต่พรรคเอ็นแอลดีเกิด ผู้ลี้ภัยทางการเมืองของพม่าอยู่ในอินเดียมาก อินเดียไม่เห็นด้วยกับระบอบทหารพม่า เรียกร้องให้เปลี่ยนระบอบ

แต่บริบทของอินเดียก็เปลี่ยนเหมือนกัน อย่าลืมว่าอินเดียยุคสงครามเย็นอินเดียใกล้ชิดสหภาพโซเวียต ใช้ระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมอย่างมาก หลังสงครามเย็นสิ้นสุดอินเดียเปลี่ยน ต้องการพัฒนาประเทศ เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ ทุนนิยมเข้ามา เศรษฐกิจแข่งกับจีน และจะทำอย่างไร อินเดียเห็นแล้วว่า เอาเรื่องประชาธิปไตยมาอันดับหนึ่งมันไม่เวิร์คแล้ว หนึ่ง อินเดียต้องการทรัพยากร พลังงาน แหล่งหนึ่งคือพม่า สอง ความมั่นคง อินเดียมีปัญหาเหมือนพม่าคือเรื่องชนกลุ่มน้อยพยายามแบ่งแยกดินแดน นี่ก็สอดคล้องกับปัญหาของพม่า ที่มีปัญหาชนกลุ่มน้อยด้านรอยตะเข็บชายแดนอินเดียพม่า สาม ในแง่เศรษฐกิจ พลังงาน ภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิยุทธศาสตร์ พม่าก็ไม่ต้องการพึ่งพาจีนอย่างเดียว พม่าก็ได้อินเดียมาด้วย ประชาธิปไตยมันไม่ Relevant (เป็นประเด็นสำคัญ) ต่ออินเดียแล้ว คือ ปัจจัยประชาธิปไตยตกไปจากอันดับ 1 กลายเป็นปัจจัยอันดับท้ายๆ แล้วอินเดียไปลงทุนในพม่ามาก พม่าก็ให้ประโยชน์อินเดีย แน่นอนจีนยังได้รับผลประโยชน์มากกว่า

คือถ้าเรามองการเมืองเป็นเรื่องขาวกับดำ ก็จะประณามอินเดียว่า ไอ้นี่มัน Hypocrisy (เจ้าเล่ห์) มากๆ แต่จริงๆ ไม่ใช่ Hypocrisy หรอกครับ นี่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของชาติ ดังนั้น พม่าจึงมีไพ่หลายสำรับเล่นได้

ผมขอสรุปภาพรวมไทยพม่า โดยสรุป นโยบายต่างประเทศของไทยต่อปัญหาพม่า ต้องไม่มอง และไม่พิจารณาแค่ว่าเป็นเรื่องของปัญหาทวิภาคีไทยพม่า เวลามองความสัมพันธ์ไทยพม่า เราจะกำหนดนโยบายของไทยต่อพม่า เรื่องนี้ไทยต้องการแบบนี้ พม่าต้องการแบบนี้ ไม่ใช่ ไม่ใช่แค่ไทยกับพม่า เรากำหนดท่าทีของไทยต่อพม่า เราจะกำหนดนโยบายไม่ใช่มองแค่เรื่องไทยพม่าเท่านั้น คุณต้องมองบริบทใหญ่

Regional Context คืออะไร ขณะนี้พม่าเป็นสมาชิกอาเซียนใช่ไหม มีผลประโยชน์ในอาเซียนอย่างไร พม่ามีท่าทีต่อจีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย พม่ามีปัญหากับประเทศในภูมิภาคนี้ มหาอำนาจ ไทยอย่างไร มันเป็นปัจจัยที่จะใช้ประกอบนโยบายต่างประเทศ

ฟันธง ไทยพม่าคนละระบอบ
“อภิสิทธิ์” เป็น “ตานฉ่วย”ไม่ได้

ระบอบการเมืองที่แตกต่างกันมีอิทธิพลต่อท่าทีการกำหนดนโยบาย ยกตัวอย่างง่ายๆ ประเทศไทยขณะนี้ ประชาธิปไตยเสรีนิยม ประชาธิปไตยรัฐสภา ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พม่าอำนาจนิยมทหารผูกขาด เลือกตั้งไม่มี เสรีภาพขั้นพื้นฐานไม่มี คิดว่าผู้นำอย่างอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอยากเป็นอย่างตานฉ่วย (พล.อ.อาวุโสตานฉ่วย ประธานสภาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพแห่งรัฐ ผู้นำสูงสุดของพม่า) เป็นได้ไหม อยากเป็นฮุนเซ็นเป็นได้ไหม ไม่ได้ เป็นแล้วตกจากเวทีการเมืองทันที แต่พม่าเขาทำได้

เพราะฉะนั้นเวลา (รัฐบาลไทย) เจรจากับพม่า คุณต้องรู้ว่าตัวแทนของเขาตัดสินไม่ได้ เขามาตามที่นายเขาสั่ง เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจอันนี้ ในการเจรจานั่งโต๊ะเจรจากับพม่า อย่าลืมเลยว่าเวลาของเขา เวลามัน Non-existent มัน Eternal “ชั่วนิจนิรันดร์” แต่นักการเมืองระบอบประชาธิปไตยเวลามัน “กูจะอยู่ได้นานแค่ไหนวะ 3 เดือน 6 เดือน” ดังนั้น ประเทศที่เวลาไม่มีความหมายสำหรับเขา เขาก็พูดไปเรื่อยๆ เขาจะไม่มีวันเปิดท่าทีของเขา แต่นักการเมืองมาจากระบอบประชาธิปไตยที่แข่งขันตลอดเวลา แน่นอน นั่งอยู่แป๊บเดียวเดี๋ยวก็คายให้เขาหมดแล้ว ระบบมันกำหนดพฤติกรรมคน

จุดอ่อนของเราอีกอันหนึ่ง ด้านนโยบายต่างประเทศในหลายรัฐบาล ก็คือ เราชอบเหมาว่าคนอื่นคิดเหมือนเรา นี่เป็นผลประโยชน์เรา เขาน่าจะเห็นด้วยกับเรา นี่เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นจุดอ่อนมากว่าชอบเหมา โดยที่เราเป็นประชาธิปไตย นักการเมืองไทยก็คิดแต่ผลประโยชน์พรรคพวกมากกว่าส่วนรวม ชอบทำงานแข่งกับเวลา ถ้าคู่ต่อสู้รู้ว่าเวลาคุณจำกัดเสร็จ คุณเสียเปรียบเขาอยู่แล้ว และในประเด็นอีกอันหนึ่งคือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่องความขัดแย้ง ร่วมมือ ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และไม่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือ อย่างกัมพูชา ถ้าตกลงเรื่องปราสาทพระวิหารกันได้ จะจูบปากกันชั่วนิจนิรันดร์หรือ ก็ไม่ใช่ เดี๋ยวก็มีอีก

มากที่สุดที่หวังได้คือ ความสัมพันธ์ปกติแล้วกันอย่าให้ถึงกับต้องขัดแย้งกันรุนแรง พูดง่ายๆ คือว่าในทางการเมืองมันคือสีเทา ดีที่สุดมันไม่มี มีแต่เลวน้อยที่สุด เมื่อเราพูดถึงนโยบายต่างประเทศ มันเกี่ยวข้องกับทางเลือก เลือกอะไร เลือกสิ่งที่เลวน้อยที่สุด เพราะฉะนั้นในความสัมพันธ์ที่เราพูด ไม่มีดีที่สุด ช่วงใดที่มีความขัดแย้ง สิ่งที่เลวน้อยที่สุดคือ อย่าทำให้ความขัดแย้งนั้นเลวไปกว่าที่เป็นอยู่ และรอจังหวัดให้ปรับปรุงสู่ภาวะปกติได้ และถ้ามันปกติได้สามารถพูดคุยกันได้ ก็นำไปสู่ความร่วมมือ แต่นี่เป็นจุดอ่อนของสังคมไทยที่ไม่ชอบความสลับซับซ้อน มัน Intangible (ซึ่งจับต้องไม่ได้) ไม่เหมือนค้าขาย ขายเท่านี้ตัน เอามาอวดประชาชน แต่ในทางนโยบายต่างประเทศ มันจับต้องไม่ได้ ถ้ามันบรรลุผลขึ้นมา มันจะปูพื้นฐานให้ส่วนอื่นๆ รับประโยชน์อย่างมาก

ในประเด็นสุดท้าย ในความสัมพันธ์ไทย-พม่า ที่อยากฝากไว้คือว่า เราตระหนักไว้ตลอดเวลา ว่าความสัมพันธ์มีหลายมิติ ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง ในยุคที่เราเรียกว่ายุคโลกาภิวัตน์ ยุคที่ทุกคนพูดเรื่องประชาธิปไตย นโยบายต่างประเทศถ้าเราถือตัวว่าเป็นประชาธิปไตย นโยบายต่างประเทศมันต้องเป็นส่วนขยายของประชาธิปไตยภายใน ผลประโยชน์ภายในประเทศ คือต้องตอบสนองความต้องการของภายใน ถึงจะเป็นนโยบายที่มีประสิทธิภาพ นโยบายต่างประเทศของประเทศประชาธิปไตยต้องเป็นเช่นนี้

การเมืองพม่าเป็นอย่างนี้ เราไม่ชอบ เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เพราะว่าการเมืองแบบนี้เป็นอุปสรรคในการสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่หรอก ไม่อย่างนั้นเราไม่มีความสัมพันธ์กับจีน สหภาพโซเวียต เราไม่ชอบเผด็จการทหารแน่นอน แต่ปัญหาคือระบอบอย่างนั้นไม่เอื้ออาทรกับคนของมัน มันลิดรอนสิทธิเสรีภาพของคนของมัน สร้างความล้มเหลวทางเศรษฐกิจ เราได้รับผลกระทบ ถ้าคนเรามีงานทำในประเทศ ไม่มีใครอยากทิ้งประเทศ คนส่วนน้อยหนีมา เพราะนโยบายของรัฐบาลต้องการใช้การทหารแก้ปัญหาใช่ไหม เรื่องยาเสพย์ติด สิ่งแวดล้อม เหล่านี้สร้างปัญหาให้ไทย ถ้าเขาเป็นเผด็จการแต่ถ้าเขาไม่สร้างปัญหา เราก็ Co-exist กับเขาอยู่ได้ แต่นี่เป็นรากเหง้าปัญหา

ดังนั้นอย่าไปหลงทางว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงไม่มีในโลกนี้ ไม่มี ไม่เคยมี และจะไม่มี สหรัฐอเมริกาเอง อังกฤษเองทุกวันนี้ ฝรั่งเศสเองก็มีหลายด้านที่ Non-democracy ความหมายของประชาธิปไตยที่เอเธนส์ แต่ในปีนี้มันต่างกันแยะ แค่ประชาธิปไตยสมัยกรุงเอเธนส์ เราบอกว่ามันไม่เป็น เพราะในเอเธนส์ทาสมีสิทธิเลือกตั้งไหม ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งไหม คนอายุเกิน 18 มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ไม่เป็นเจ้าของที่ดินมีสิทธิไหม สำหรับเรากับอังกฤษ แน่นอน เขามีกระบวนการที่ต่อเนื่อง บางช่วงสะดุดอีก ถามว่าเราเป็นประชาธิปไตยไหม ถ้าเปรียบเทียบกับเรา เขาเป็น เรามีเนื้อหาประชาธิปไตยน้อยกว่าเขา ก็ต้องปรับปรุงรัฐธรรมนูญ แก้ไขกฎหมายนู้น กฎหมายนี้

ความพลาดของอาเซียน

เรื่องอาเซียนกับพม่า ขอพูดสั้นๆ ว่า เหตุผลที่อาเซียนรับพม่าเข้ามา ถามว่าอาเซียนขัดแย้งไหมที่รับพม่าเข้ามา มันมีครับ ผมสรุปสั้นๆ ว่า อาเซียนไม่ใช่ทุกประเทศเห็นด้วยในการรับในปี 1997 (2540) แต่ประเทศที่มีบทบาทสำคัญคือมาเลเซีย มหาเธย์ กับอินโดนีเซียคือ ซูฮาร์โต้ เราต้องขยาย 6 ประเทศไม่พอ ในโลกโลกาภิวัตน์ไม่พอ ถ้าเรามีสมาชิกมากขึ้นเราจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้นนี่คือ Argument (ข้อถกเถียง) อันแรก

องค์กรความร่วมมือ องค์กรอะไรก็แล้วแต่ มันอยู่ที่ปริมาณจริงหรือ มันอยู่ที่ Reputation (ความน่านับถือ) Credibility (ความน่าเชื่อถือ) ต่างหากประเทศสมาชิกทำให้เกิดสิ่งเหล่านั้นได้ เอาพม่าเข้ามาแล้ว ASEAN ได้รับผลกระทบมากไหม ทุกวันนี้ ล่าสุดการประชุมที่ฮานอย ผู้นำอาเซียนบอกให้พม่าจัดการเลือกตั้งโปร่งใสนะ ทำไมผู้นำอาเซียนพูดแบบนี้ แสดงว่ายอมรับว่ามีสมาชิกปลาเน่าตัวหนึ่งอยู่ในอ่าง

ข้อถกเถียงในการรับพม่าเป็นสมาชิก อันที่สอง ต้องดึงพม่าเข้ามาในอาเซียน เพื่อลดการพึ่งพาจีน แต่จากปี 1997 ถึง 2010 ตั้งแต่พม่าเป็นสมาชิกในอาเซียน อิทธิพลของจีนในพม่าเพิ่มขึ้นมหาศาลไม่ใช่ลดลง ไม่เกี่ยวเลยที่บอกว่าจะทำให้ลดลง เพราะมันเป็นเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิยุทธศาสตร์ สิ่งที่จีนสามารถช่วยพม่าได้เป็นเรื่องผลประโยชน์

ประการที่สาม อาเซียนเคยประกอบด้วยสมาชิกของสุภาพบุรุษแบบอังกฤษ คนดี ไม่ใช่คนกักขฬะ มีวินัย คนเรียบร้อย ศิวิไลซ์ คิดว่าการเป็นสมาชิกขององค์กรมันจะหล่อหลอมนิสัยสันดานของเขาไม่ดี เป็นองคุลีมาลได้ แต่ทำมาแล้ว 13 ปี

ประการที่สี่ อาเซียนบอกว่า เราจะต้องต่อต้านฝรั่ง เพราะฝรั่งบีบว่าอย่าเพิ่ง Delay-admission (เลื่อนการรับพม่า) ก่อน มหาเธย์กับซูฮาร์โต้บอกว่า ไม่ได้ อย่าให้ฝรั่งมาบีบ เราต้องเป็นตัวของตัวเอง ยิ่งบีบเรา เรายิ่งต้องรับเร็วๆ

และเหตุผลเหล่านี้ไม่ใช่เหตุผลแท้จริง เหตุผลแท้จริงเขาไม่พูด แต่ผมจะวิเคราะห์ให้ หนึ่ง ทุกวันนี้ สิ่งที่ผมพูดตั้งแต่ปี 1995(2538) อินโดนีเซีย มาเลเซียต้องการรับพม่า เพราะในอาเซียนตอนนั้นที่เป็นประชาธิปไตย ก็มีไทยกับฟิลิปปินส์ นี่พูดถึงปี 1997 นะ นอกนั้นอินโดนีเซียภายใต้ซูฮาร์โต้ก็อำนาจนิยมมาก ไม่ใช่ประชาธิปไตยโดยตรง ครึ่งใบ เสี้ยวใบแค่นั้น มาเลเซียก็พรรคอัมโนถูกขาด ฝ่ายค้านเป็นส่วนประดับ สิงคโปร์ก็เหมือนกัน บรูไน ก็สุลต่าน แต่ทำไมต้องเอาเวียดนาม ลาว พม่า กัมพูชาเข้ามา ก็เพื่อเป็นพลังถ่วง อินโดนีเซีย มาเลเซีย กลัว “Democracy fall out” กลัว “เชื้อประชาธิปไตย” จากไทยและฟิลิปปินส์ เลยเอาประเทศ อำนาจนิยมเหล่านี้เข้ามาเป็น 8 ต่อ 2 แม้ตอนนี้ ในอาเซียน อินโดนีเซียกลับมามีความเป็นประชาธิปไตยสูงมากัน ตั้งแต่พม่าได้รับเอกราช ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับพม่าเป แต่ที่เรามีปัญหานี้ ทำให้อาเซียนไม่สามารถคืบหน้าในการต่อรองกับสหภาพยุโรปกับสหรัฐอเมริกา เพราะการดำเนินการมีอุปสรรค มันก็หยุดชะงักไปหลายด้าน

นอกจากนี้ สอง ผลกระทบที่ชาติในอาเซียนได้รับจากพม่าก็แตกต่างกัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ผู้อพยพชาวไทใหญ่หนีไปไหม คุณเห็นไหมครับ ผลประโยชน์แตกต่างกัน ผลกระทบที่ได้รับก็แตกต่างกัน ขณะนี้อาเซียนมีกฎบัตรอาเซียน ซึ่ง 40 ปีก่อนหน้านี้ไม่มี เดิมอยู่กันแบบพี่น้อง สุภาพบุรุษ แต่ปัจจุบันความร่วมมือมีมากมายหลายด้าน ไม่มีใครอยากทำความตกลงกับอาเซียนถ้าคุณไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ถามว่าการมีกฎบัตรจะทำให้อาเซียนรุดหน้า โชติช่วงชัชวาลไหม ไม่ ตัวกฎบัตรมีข้อบกพร่องไม่น้อยทีเดียว คือไม่ทำโทษสมาชิกที่ไม่อยู่ในร่องในรอย ทุกวันนี้ ชาติทำให้อาเซียนมีอุปสรรค กลับไม่สามารถขับไล่ออกจากอาเซียนได้ ไม่มีมาตราไหนที่กำหนดหลักเกณฑ์ หรือ Criteria ในการรับสมาชิก ถ้าสมาชิกส่วนใหญ่ยินดีรับ แต่สหภาพยุโรปมี Criteria ในการรับ ต้องเป็นเสรีประชาธิปไตย ทุนนิยม สหภาพยุโรปมี Criteria ใหญ่ 2 อัน และมีข้อย่อยอีก 30 กว่าข้อ ตอนโปรตุเกส สเปน กรีซ เป็นรัฐบาลทหาร เคยขอเป็นสมาชิกเขาไม่รับ เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย เศรษฐกิจไม่เป็นทุนนิยม

สาม จุดอ่อนที่สามของอาเซียน เรื่องของการใช้ ฉันทามติ ไม่ใช้ระบบลงมติ

สี่ กฎบัตรอาเซียน ไม่ผูกมัด ไม่ลงโทษขับไล่สมาชิก โดยหวังว่าอยู่กันด้วยใจ เป็นสุภาพบุรุษ ไม่มี (กฎบัตร) ดีกว่ามีหรือเปล่า ผมว่ามีก็ยังดี ในแง่ที่ว่า การมีถ้าสมาชิกหน้าด้านบ่อยๆ ดูสิว่าจะหน้าด้านนานแค่ไหน

ในปี 2015 อาเซียนหวังจะเป็นประชาคมด้านความมั่นคง ประชาคมด้านเศรษฐกิจ และประชาคมด้านสังคมวัฒนธรรม ประชาชนจะได้มีสิทธิอ้างใช้กฎบัตรควบคุมติดตามรัฐบาลอาเซียนของประเทศตน ว่าเคารพกฎบัตรแค่ไหน และในที่สุดต้องมองระยะยาวว่าทุกอย่างมีวิวัฒนาการของมัน และอาเซียนจะพัฒนาไปสู่การที่สามารถบังคับได้

เหมือนในยุคใกล้สิ้นสุดสงครามเย็น ประเทศยุโรปและโลกตะวันตกกับสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ลงนามในเอกสาร เฮลซิงกิ ไฟนอล แอค (Helsinki Accords หรือ Helsinki Final Act) พิธีสารกรุงเฮลซิงกิ 1975 มีความร่วมมือเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม วัฒนธรรม กลุ่มประชาชนในสังคมนิยมในยุโรปตะวันออกมักจจะอ้างพิธีสารนี้เพื่อส่งเสริมให้ไปมาหาสู่ ซึ่งในที่สุดใช้เวลา 20 กว่าปี เฮลซิงกิ ไฟนอล แอค ทำให้กำแพงเบอร์ลินพังทลายลงมาได้ ในอาเซียนเองทุกวันนี้ก็อยู่ด้วยการไม่มีอะไรขับไล่กันออกได้ ก็ต้องพยายามที่จะหวังในระยะยาวที่จะร่วมอยู่ด้วยกัน

การเลือกตั้งในพม่า วิธีคิดแบบ “มี ดีกว่าไม่มี”
โอกาสวางมือและรักษาหน้าของนานาประเทศ

เรื่องของการเลือกตั้ง มีแยะมาก ถามว่าทำไมรัฐบาลพม่ายุคนี้คิดกลับมามีการเลือกตั้ง รัฐบาลทหารพม่าจัดการเลือกตั้งครั้งแรกคือปี 1990 (พ.ศ. 2530) รัฐบาลทหารพม่า กลุ่มผู้นำรัฐบาลที่เป็นทายาทสืบทอดอำนาจมาจากนายพลเนวิน มั่นใจว่าจะสามารถชนะเลือกตั้งได้ จึงจัดการเลือกตั้งเอง เพื่อลดแรงกดดัน ให้พม่าแปรสภาพเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ลดกระแสกดดันทั้งในประเทศและที่มาจากภายนอก อย่างน้อยที่สุดสามัญสำนึกบอกเราได้ว่า การจัดการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้ง มันให้ความชอบธรรมกับรัฐบาล แต่ตอนนั้นพรรคเอ็นแอลดีชนะ รัฐบาลทหารก็คว่ำกระดาน บอกว่าไม่ได้จัดการเลือกตั้งเพื่อตั้งรัฐบาล แต่เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบันรัฐบาลทหารพม่าก็ถูกดดันมาตลอด จีนเองคงบอกว่ายังไงว่าเธอมีปัญหา ฉันก็ต้องช่วยเธอ เวลาวีโต้ (การใช้สิทธิคัดค้านในฐานะ 1 ใน 5 ชาติสมาชิกถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อระงับวาระต่างๆ) ก็เสียภาพพจน์ ให้จัดการเลือกตั้งเสีย จะได้ดูดี ดูเนียนหน่อย ถ้าชนะแล้วจะได้มีความชอบธรรม ตอนนี้สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน ยังไม่มีใครบอกว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง อย่าจัดดีกว่า แต่จะพูดว่าต้องพยายามแก้รัฐธรรมนูญ แก้กฎหมายเลือกตั้งให้แฟร์กว่านี้ เพราะกีดกันฝ่ายค้าน

อย่างมาตราที่ให้เจ้าหน้าที่ในกองทัพมีที่นั่งในสภา ส.ส. และ ส.ว. มาจากกองทัพ ถึงร้อยละ 25 อีกมาตราระบุว่าสมาชิกสภาระดับรัฐมาจากหน่วยงานที่กองทัพจัด กฎหมายเกี่ยวกับการออกเสียงเลือกตั้ง ให้เวลาแก่พรรคการเมืองเสียงเลือกตั้ง 2 อาทิตย์ ถ้าหาเสียงนอกที่ทำการพรรคต้องแจ้งล่วงหน้า 2 อาทิตย์ ส่วนการหาเสียงในที่ทำการพรรคไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องแจ้งว่าเมื่อไหร่จะทำกฎหมายเลือกตั้งแบบนี้ทำให้ฝ่ายที่ไม่ใช่พรรครัฐบาลอยู่ในฐานะที่จะแข่งได้

ตอนนี้มีการลงทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว 37 พรรค แต่มีองค์กร USDA (สมาคมสหภาพเพื่อความสามัคคีและการพัฒนา) มาตั้งพรรคเป็น USDP (พรรคสหภาพเอกภาพและการพัฒนา) ซึ่งเดิม USDA คือกลุ่มอันธพาลการเมืองที่รัฐบาลทหารพม่าใช้ไปทุบตี กดดัน รังแก กลุ่มที่มีทัศนะต่อต้านรัฐบาล

ดังนั้น รัฐบาลทหารพม่าจัดการเลือกตั้งเพื่ออะไร ไม่ใช่เพราะจู่ๆ เขารักประชาธิปไตย แต่เขาต้องการอยู่รอด ความการต้องการอยู่รอดเป็นหัวใจ เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลทหารพม่า เขาต้องการหาทางออกจึงจัดการเลือกตั้ง เขามั่นใจว่าเขาจะชนะ อะไรที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกมองว่ามีความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งก็ไม่รู้จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ คาดว่าจะมีในสิ้นปีนี้ เดือนพฤศจิกายน หรือเดือนธันวาคม ไม่แน่ และอาจจะเลื่อนไปอีก นี่คือการลดแรงกดดัน และเพื่อความอยู่รอดของทหารพม่า

แต่การที่พลเอกอาวุโสตานฉ่วยและพวกคิดจัดการเลือกตั้ง เพราะเขาคิดว่าเป็นโอกาสดีที่จะจัดการเลือกตั้ง หน้าต่างเปิด ประตูเปิดให้พม่าใช้โอกาสนี้จัดการเลือกตั้ง เพราะเขาคิดว่าท่าทีสหรัฐอเมริกา โอบาม่าอยากปรับความสัมพันธ์ อยากเสวนา ทำความเข้าใจโน้มน้าวให้พม่าเปิดทางการเมืองมากกว่านี้ อันนี้เป็นผมคิดว่าพม่าอ่านเกมถูก เพราะโอบาม่าตอนหาเสียงก็ต้านแนวนโยบายแบบบุชที่กระทำโดยพลการ “Unitarianism” แต่หันมาใช้นโยบายพึ่งพาชาติอื่นๆ เมื่อพม่ารู้ว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่บีบพม่า เพราะสหรัฐอเมริกามีปัญหาอิรัก อัฟกานิสถาน เวเนซุเอลา อิหร่าน เกาหลีเหนือ เป็นสิ่งที่ฝรั่งเรียกว่า “เต็มกลืน ในหลายด้าน” จึงไม่สามารถเอาปัญหาพม่ามากดดันสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติม จึงเป็นโอกาสที่ตานฉ่วยและพวกเตรียมการเลือกตั้ง

ในส่วนที่สองสหรัฐเอง อาเซียนเองก็เหมือนกัน และสหภาพยุโรป รู้แล้วว่าใช้นโยบายพม่าที่เรียกว่า “Carrot exist” หรือ “เอาขนมมาล่อ” ตั้งแต่ปี 2000 (พ.ศ.2543) คือเอาผลประโยชน์มาล่อ แต่ไม่ได้ผล เพราะอะไรพม่ามีหลายสำรับที่จะเล่นไพ่ เพราะฉะนั้นก็ต่างคนก็รู้ว่าไม่ได้ผล และนโยบายแซงชั่นก็มีจุดอ่อนอยู่ ถ้าคุณใช้วิธีคว่ำบาตรต่อประเทศเผด็จการคนที่เดือดร้อนคือประชาชน ถ้าประเทศประชาธิปไตยถ้าโดนแซงชั่นทางเศรษฐกิจทุกด้าน เช่น ปิดตายไทยเลย รัฐบาลนี้อยู่ไม่ได้แน่ คนไทยลุกฮือเอามันลงได้ แซงชั่นมันจะทำงานได้ทั้งโลกต้องร่วมมือ แต่ไม่ได้ผลถ้าประเทศนั้นมีอะไรจะให้ มีขนมให้หลายประเทศได้ประโยชน์ อย่างพม่ามีพลังงาน มีทรัพยากรล่อมันก็เล่นได้

ผมเลยคิดว่า ถ้าจะวิเคราะห์ว่า การที่อาเซียน ไม่ตำหนิพม่าในการจัดการเลือกตั้ง แต่บอกพม่าให้มีการปรับปรุงแก้ไขและแสดงความหวังว่าจะมีการเลือกตั้งที่เสรี ยุติธรรม โปร่งใส ให้โอกาสทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม แสดงความหวัง แต่ทั้งๆ ที่รู้ว่าการเลือกตั้งไม่สะอาดหรอก ก็เพื่อเป็นยุทธศาสตร์หาทางออกโดยตัวเองไม่เสียหน้า สหรัฐอเมริกาไม่เสียหน้า อาเซียนไม่เสียหน้า ไทยก็ไม่เสียหน้า เพราะรู้ว่าการเลือกตั้งจัดแล้วจะไม่เป็นไปอย่างที่คนคาดหวังหรอก แต่ก็ต้องพูดหน้าฉากว่าผมตำหนิแล้ว ทำได้แค่นี้ ผมได้ทำหน้าที่แล้ว “I done my duty” แล้ว อาเซียนก็วิจารณ์หน้าฉากก็แบบนี้ ส่วนหลังฉากจะเป็น “Business as usual” แล้ว คอยดูนะประเทศเหล่านี้จะไปทำธุรกิจ ลงทุนกันเต็มที่

ประเทศเหล่านี้” อาจคิดว่า “การเลือกตั้งในปีนี้อาจจะไม่โปร่งใสนะ ไม่ชัดเจนนะ แต่เมื่อเราคำนึงว่าการรัฐประหารมาในปี 2505 พม่าไม่มีการเลือกตั้งเลย และการเลือกตั้งปี 1990 (พ.ศ.2531) โดนคว่ำกระดานไป 10 กว่าปี ก็ถือว่าเป็นก้าวเล็กๆ ก้าวหนึ่ง ที่ดีกว่าไม่มีน่ะ ถึงจะมีข้อบกพร้องเยอะแยะก็ยังดีกว่าไม่มี เราต้องให้โอกาสเขา และเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว เขาจะปรับตัวเอง เปิดตัวเองมากขึ้น มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วผมคิดว่าการเลือกตั้งนี้เป็น Exist Strategy ที่จะทำให้สหรัฐอเมริกา และหลายชาติไม่เสียหน้า”

และอย่าลืมนะครับ ในยุคสงครามเย็น ที่เรียกว่า “โลกเสรี” และ “โลกคอมมิวนิสต์” ถามจริงๆ เถอะประเทศที่สังกัดในโลกเสรี 80 กว่าประเทศ 90 กว่าประเทศ เสรีแค่ไหน ตอนนั้นประเทศที่สังกัดในโลกเสรีไม่ต่ำกว่า 70% เป็นประเทศที่มีการปกครองไม่เป็นประชาธิปไตยเลย แต่พิจารณาตัวเองว่าเสรี เป็นฝ่ายประชาธิปไตยเพราะต่อต้านคอมมิวนิสต์ มาบัดนี้คอมมิวนิสต์ไม่มีแล้ว โลกเสรีไม่มีแล้ว ประเทศตะวันตกไม่ต้องการได้รับผลกระทบแบบลัทธิคอมมิวนิสต์มาท้าทายทุนนิยม มีระบอบประชาธิปไตยสังคมนิยมมาท้าทายประชาธิปไตยเสรีนิยม วันหนึ่งข้างหน้าอาจมีอะไรขึ้นมาใหม่ ดังนั้น ต้องทำให้แน่ใจว่าทุนนิยมเสรี ประชาธิปไตยเสรีนิยม ต้องมี “Hegemonic Power” (อำนาจนำ) อยู่ได้นานที่สุด ให้มันมีประชาธิปไตยเสรีนิยม เศรษฐกิจทุนนิยมเป็น “Washington Consensus” (ฉันทามติวอชิงตัน) หมด

นี่เป็นสิ่งที่ทุกประเทศในโลกนี้ต้องอยู่ในกรอบนี้ และวิธีการอันหนึ่งที่ดีที่สุดคือส่งเสริมให้ทุกประเทศมีการเลือกตั้ง ให้มันเนียนก็แล้วกัน แล้วรัฐบาลนั้นยึด “Washington Consensus” อย่าลืมว่าประชาธิปไตยเสรีนิยมที่เขาเอามาใช้กับประเทศกำลังพัฒนา มันคนละอย่างกับที่ใช้ในประเทศพัฒนาแล้วนะ อย่างประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายในโลกนี้ที่เขาให้เราคือ “เลือกตั้ง” ก็พอแล้ว อะไรที่มาจากเลือกตั้งนั่น Qualify (ผ่านเกณฑ์) ให้คุณเป็นประชาธิปไตย มีความชอบธรรม ถึงจะโกงเลือกตั้งก็ไม่เป็นไร ถ้าทำได้แนบเนียนและผู้ชนะต้องเป็น Candidate (ผู้สมัคร) ของประเทศตะวันตกเท่านั้นนะ อย่าง ชาเวซก็ชนะเลือกตั้ง อะมาดิเนจาดก็ชนะเลือกตั้ง ฮามาสถือว่าเป็นองค์กรก่อการร้าย ชนะการเลือกตั้งในปาเลสไตน์ แต่สหรัฐและอียูประณาม เพราะ “You wasn’t the right candidate.” (คุณไม่ใช่ผู้สมัครที่แท้จริงของเรา) อย่างประเทศไทย คนที่ไม่ได้มาจากเครื่องแบบ ก็ถือว่าประชาธิปไตย และถ้าคุณ Corrupt ก็ Corrupt ประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ละเมิดแบบประชาธิปไตย

จะเห็นได้ว่ามัน Corrupt มากๆ ในพม่าเขาขอให้แค่มีการเลือกตั้งก็แล้วกัน แล้วทำให้เนียน ถ้าทำแล้วทหารพม่าชนะ พม่าเขาไม่ได้ปิดบัง เขาบอกว่าจะเป็น Discipline democracy (ประชาธิปไตยที่มีวินัย) เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่ต่างจาก Guided democracy (ประชาธิปไตยชี้นำ) ของซูฮาร์โต้หรอก แต่อาเซียนและตะวันตกก็อยากล้างมือเรื่องพม่าจะได้หมดภาระ โอเคมีเลือกตั้งให้โอกาสเขาก่อน เพราะเราเองก็เคยเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบมาแล้วมันมี Evolution Process (มีขั้นตอนวิวัฒนาการ) เป็นเรื่องผลประโยชน์ และขี้เกียจแล้ว เรื่องนี้เป็นการรักษาหน้าด้วย เพราะถ้าพม่าไม่เปลี่ยนจะยิ่งเสียหน้าด้วย

สำหรับประเทศไทยกับพม่าอย่างไรก็ต้องอยู่ด้วยกัน หนีไปไหนไม่ได้ ไทยก็บกพร่อง พม่าก็บกพร่อง ดังที่อธิบายไปแล้ว แต่เราก็อยู่ด้วยกัน โดยหวังว่าจะพัฒนาความสัมพันธ์ปกติ แต่อยากให้พัฒนาจากความเป็นปกติ นำไปสู่ความร่วมมือกันอย่างจริงจังต่อเนื่อง แต่ขณะนี้อาจจะเริ่มไม่ปกติแล้ว เราไปสร้างทำนบกั้นน้ำ (ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก) พม่าเขาก็ถูก เพราะการก่อสร้างหน่วยงานไทยต้องแจ้ง เพราะการก่อสร้างจะมีผลทำให้น้ำเปลี่ยนเส้นทาง ทำให้พม่าเสียดินแดน เพราะฉะนั้นที่เขาปิดชายแดน อีกหน่อยเขาก็รู้ว่า ใครจะร้อง ก็พ่อค้าแถวนั้น นักการเมืองที่มีผลประโยชน์ชายแดน ก็ร้องลั่นเลยว่าวันๆ หนึ่งเสียหายกี่พันกี่ล้านบาท ก็ต้องมาบีบรัฐบาล เพราะฉะนั้นถ้าเป็นเช่นนี้แล้วรัฐบาลจะดูไม่ดี ถ้าเรารู้ว่ามันผิดก็ปรึกษาเขา หาทางแก้ไขเสีย จะได้หาทางย้ายไปจาก State of Normalcyไปสู่ความร่วมมือระดับชาติ

แต่แน่นอนประเทศไทยอย่าไปหวังอะไรกับไทยมาก ตราบใดที่ระบอบการเมืองการปกครองพม่ายังไม่สามารถ Democratize ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย และมีความเป็นอำนาจนิยมน้อยกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ เพราะฉะนั้นถ้ามีการเลือกตั้ง จะผิดหรือจะถูก เราจะชอบไม่ชอบ ผมคิดว่าอย่างไรมันชวยปลดล็อค ให้โอกาสกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและฝ่ายลงแข่งขันซึมเข้าไปบ้าง แต่อย่าลืมว่ารัฐบาลทหารอาจถูกคว่ำกระดานเมื่อไหร่ก็ได้ หากปีสองปีกลุ่มฝ่ายค้านที่อยู่ในสภา แล้วทหารเห็นว่าอยู่ให้นานไม่ได้ เพราะพวกนี้จะบั่นทอนความมั่นคงกองทัพ เขาก็จะทำรัฐประหารอีกแน่นอน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ก็กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เรื่องนี้ก็ต้องดูกันไป แต่อย่าถึงกับผิดหวังว่า มีการเลือกตั้งอย่างนี้ไม่มีประโยชน์อย่ามีดีกว่า ไม่มีการเลือกตั้ง กับเลือกตั้งแล้วเหมือนเดิม มันไม่มีทำให้อะไรเสียหาย เพราะฉะนั้นประเทศพม่า 50 กว่าปีที่ผ่านมาในพม่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แต่ยิ่งเปลี่ยนยิ่งเหมือนเดิม ก็คือไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย