ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 3 August 2010

ตู้สีแดง

ที่มา ประชาไท

* หมายเหตุผู้แปล: 'ตู้' ในที่นี้ มาจากสำนวนภาษาอังกฤษ in the closet แปลว่า แอบซ่อนตัวตนที่เป็นคนรักเพศเดียวกัน
คนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศและคนข้ามเพศ (LGBT) ในหลายประเทศต้องถูกกวาดล้างจากทางการและยังถูกรังเกียจและเลือกปฏิบัติจากสังคมโดยรวม ทำให้หลายๆ คนต้องปกปิดตัวตนหรือเปิดเผยตนเองแต่เฉพาะในวงลับ เหตุการณ์คล้ายๆ กันก็กำลังเกิดขึ้นกับเมืองไทยในตอนนี้ ต่างกันตรงที่ว่าสาเหตุของการถูกข่มเหงไม่ใช่เพราะเพศที่แตกต่าง แต่กลับเป็นความเห็นทางการเมือง
ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ กลุ่มคนเสื้อแดงได้เปลี่ยนจากขบวนการทางการเมืองที่หยุดไม่อยู่ กลายเป็นกลุ่มชายขอบที่ต้อง “แอบในตู้” หลังจากที่ผู้ประท้วงเสื้อแดงถูกล้อมปราบและอาคารสำคัญหลายแห่งถูกเผาทำลายในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. คนเสื้อแดงได้กลายเป็นผู้ถูกสังคมรังเกียจเหยียดหยาม และถูกเหมารวมภายใต้ข้อกล่าวหาว่าเป็นนักวางเพลิง ผู้ก่อการร้าย คนขายชาติ และพวกล้มเจ้า หลายคนต้องปกปิดความเป็นคนเสื้อแดงของตนและใช้ชีวิตแบบตีสองหน้า (ซึ่งคล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อกับเกย์และเลสเบี้ยนชาวไทยจำนวนมาก) นั่นคือ พวกเขาเป็นตัวของตัวเองได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในกลุ่มพวกเดียวกัน แต่เมื่ออยู่กับสังคมส่วนใหญ่ พวกเขาต้องปิดบังตนเอง เพื่อไม่ให้กระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่นและหน้าที่การงาน
ยิ่งไปกว่านั้น การคุกคามของภาครัฐที่มีต่อคนเสื้อแดงยังลามไปถึงโลกไซเบอร์ เว็บไซต์ของชาวเสื้อแดงจำนวนนับไม่ถ้วนได้ถูกบล็อคอย่างถ้วนหน้า เพื่อนของผมคนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่าเรดส์เบี้ยน (เรด+เลสเบี้ยน) บอกว่าตอนนี้การเปิดเผยตัวเองว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันนั้นง่ายกว่าการ “ออกจากตู้” มาบอกใครๆ ว่าตนเองเป็นคนเสื้อแดงเสียอีก สถานการณ์นั้นย่ำแย่ถึงขนาดที่ว่าเธอถูกโจมตีและดูถูกแม้แต่กระทั่งในเว็บบอร์ด LGBT ที่เธอสร้างขึ้นมากับมือ!
ผมไม่ได้เป็นทั้งฝ่ายเสื้อแดงหรือฝ่ายต่อต้านเสื้อแดง แม้ว่าตัวเองจะมีเหตุผลที่จะไม่พอใจต่อการกระทำของคนเสื้อแดงอยู่ไม่น้อย เมื่องานเชียงใหม่เกย์ไพรด์ปีที่แล้ว ผมก็เป็นหนึ่งในบรรดานักกิจกรรมที่ถูกโจมตีจากกลุ่มคนเสื้อแดงที่นั่น (นำโดยแกนนำที่กำลังถูกรัฐบาลตามล่าตัวอยู่ในตอนนี้) นอกจากนี้ ผมยังเผชิญกับความอกสั่นขวัญหายในขณะที่พยายามจะช่วยเหลือเพื่อนสนิทที่ติดอยู่ในที่อาศัยย่านราชปรารภออกมาจากบริเวณที่มีการต่อสู้กันอย่างหนัก ไม่เพียงเท่านั้น ผมยังมีเพื่อนหลายคนที่สูญเสียโอกาสในการทำมาหากินในบริเวณสีลมติดต่อกันเป็นเวลานานนับเดือนอีกด้วย
แน่นอนว่าคนเสื้อแดงที่ทำผิดกฎหมายสมควรถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม แต่กระนั้น การที่ผมโตมาในต่างจังหวัดและยังอาศัยอยู่ในต่างจังหวัดก็ทำให้ผมรู้จักคนเสื้อแดงหลายคน และเข้าใจว่าทำไมพวกเขาจึงต้องประท้วง ตลอดชีวิตของพวกเขาแทบไม่ได้เห็นความเป็นอยู่ของตนดีขึ้นเลย ในขณะที่แรงงานและทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่กลับถูกถ่ายเทไปสร้างความมั่งคั่งในกรุงเทพฯ
แม้ว่าอดีตนายกทักษิณจะไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกในโครงสร้างของประเทศ แต่คนคดโกงอย่างเขากลับทำให้คนรากหญ้าได้มีโอกาสเห็นว่าเสียงเลือกตั้งของตนหนึ่งเสียงมีพลังที่อาจทำให้เกิดความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมได้ไม่วันใดก็วันหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นที่มีความสำคัญกว่าผลทางวัตถุอันไม่จีรังจากนโยบายประชานิยม คือการที่พวกเขาได้ตื่นขึ้นและระลึกได้ว่าที่ผ่านมาพวกเขาถูกปฏิบัติอย่างพลเมืองชั้นสอง หรือที่เรียกว่า “ไพร่” นับวันภาพความเป็นผู้นำของทักษิณจึงยิ่งจางลง และถูกแทนที่ด้วยภาพของทักษิณในฐานะคนหัวอกเดียวกันที่ตกเป็นเหยื่อรายหนึ่งของระบอบอันไม่ชอบธรรม ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียว คือการต่อต้านความเปลี่ยนแปลงและรักษาผลประโยชน์ของอภิสิทธิชนที่ได้เปรียบทางสังคมเหนือคนส่วนใหญ่ หรือ “อำมาตย์”
การถูกปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสองเป็นสิ่งที่ชาว LGBT รวมไปถึงผู้หญิง ชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์และศาสนา คนพิการและคนชายขอบอื่นๆ คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว แม้ว่าจนถึงบัดนี้กลุ่มคนเสื้อแดงอาจไม่ได้มีท่าทีเป็นมิตรต่อ LGBT เท่าใดนัก แต่ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่พวกเราจะไม่สามารถขานรับต่อขบวนการของคนเสื้อแดงได้ เพราะโดยใจความสำคัญแล้ว การต่อสู้ของคนเสื้อแดงก็ไม่ต่างอะไรกับการต่อสู้ของพวกเรา
สิ่งที่น่าตกใจสำหรับผม คือการที่พวกเราถูกขอให้ “ให้อภัยและลืม” อย่างรวดเร็วเพื่อให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปอย่างไม่สะดุด เสียงเซ็งแซ่เรียกร้องหา “ความปรองดอง” (ในขณะที่การคุกคามต่อเสียงที่แสดงความคิดเห็นแตกต่างยังคงดำเนินต่อไป) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการที่สังคมไทยชอบการแต่งแผลแก้ตามอาการไปวันๆ มากกว่าการรักษาต้นเหตุของโรค
จริงหรือที่ว่าสิ่งที่สังคมไทยปัจจุบันต้องการคือความสามัคคีอันฉาบฉวยในขณะที่ปล่อยความคับข้องใจต่างๆ ให้คุกรุ่นอยู่ภายใน โดยส่วนตัวผมอยากจะขอแย้งว่าความเท่าเทียมเป็นธรรมและความยุติธรรมต่างหาก ที่จะสร้างความสมานฉันท์และสันติสุขได้อย่างยั่งยืนไม่ใช่สักแต่จะสามัคคีกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ในตอนนี้การถกเถียงประเด็นสำคัญเหล่านี้กลายเป็นสิ่งต้องห้ามไปเสียแล้ว ความหลากหลายทางความคิดเห็นการเมืองกลับถูกมองว่าเป็นปัญหา ถึงแม้ว่าจะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ (อย่างน้อยก็ในทางทฤษฎี)
แน่นอนว่าหากดูจากการกระทำของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ผ่านมา ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่ว่าเมื่อพวกเขาได้โอกาสขึ้นมามีอำนาจ พวกเขาจะใช้เผด็จการเสียงข้างมากละเมิดสิทธิของคนกลุ่มน้อยกลุ่มต่างๆ รวมทั้งคนกลุ่มน้อยทางเพศเสียเอง แต่นั่นก็ยิ่งเป็นเหตุผลที่เราต้องเรียกร้องให้ประเทศไทยเคารพต่อเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสันติ อย่างที่สังคมประชาธิปไตยทั้งหลายพึงมี
คำถามสำคัญก็คือ ถ้าแม้แต่ขบวนการมวลชนขนาดใหญ่ยังไม่สามารถเรียกร้องความยุติธรรมได้ แล้วกลุ่มคนส่วนน้อยในสังคมจะมีโอกาสได้รับความยุติธรรมได้อย่างไร
ที่มา: แปลจากบทความ The ‘Red Closet’
ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ The Nation วันที่ 1 มิ.ย.2553