ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 2 August 2010

สภาวะ อับตัน ของ ไทย กับ กัมพูชา กรณี ความสัมพันธ์

ที่มา ข่าวสด


แปลกใจหรือไม่ว่า ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีชื่อเสียงและเกียรติภูมิมาอย่างยาวนาน แล้วเหตุใดในที่ประชุมกรรมการมรดกโลกจาก 21 ประเทศ

ไทยจึงเป็นเสียงส่วนน้อยในกรณีแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหาร

เป็นเพราะภาคีสมาชิกจากหลายประเทศอย่าง สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส มีผลประโยชน์ร่วมกับกัมพูชาอย่างที่มีข้อสังเกตจากกระทรวงการต่างประเทศไทยอย่างนั้นหรือ

น่าสงสัย

เพราะสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ก็ใช่ว่าจะมีผลประโยชน์แต่ในกัมพูชา หากในไทยทั้ง 2 ประเทศนี้ก็มีผลประโยชน์อย่างมหาศาล

ยิ่งหากมองผ่านตัวนายกรัฐมนตรี ยิ่งมองเห็นความแตกต่าง

นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเติบโตมาจากนักรบกองโจร เรียนจบมัธยมหรือไม่ยังน่าสงสัย ขณะที่นายกรัฐมนตรีไทยจบจากอีตัน สำเร็จจากออกซŒฟอร์ด พูดภาษาอังกฤษปร๋อ

แล้วเหตุใดเสียงส่วนใหญ่ในกรรมการมรดกโลกจึงเทไปทางกัมพูชา



ที่ว่าเสียงส่วนใหญ่ในกรรมการมรดกโลกเทให้กับกัมพูชามิได้นั่งเทียนเขียน หรือว่าได้รับเอกสารลับอะไรจากในที่ประชุม

หากแต่สังเกตจากท่าทีและการเคลื่อนไหวของไทย

ความจริง เสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการมรดกโลกเอียงข้างกัมพูชาตั้งแต่การประชุมที่สเปนในปี 2552 มาแล้ว

เพียงแต่กัมพูชายังไม่พร้อม ไม่สามารถนำเสนอแผนบริหารจัด การได้

ในที่ประชุมปี 2553 บราซิล ทางกัมพูชามีความพร้อมมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เผชิญกับการต่อต้านจากทางไทยอย่างรุนแรงและแข็งกร้าว

รุนแรงตรงที่หากมีการพิจารณาเรื่องนี้ก็จะวอล์กเอาต์จากที่ประชุม

แข็งกร้าวตรงที่หากที่ประชุมยอมรับแผนบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหารที่เสนอโดยกัมพูชาก็อาจจะถอนตัวจากการเป็นภาคีสมาชิกไม่เพียงแต่คณะกรรมการมรดกโลกเท่านั้น

หากแม้กระทั่งภาคีสมาชิกองค์การยูเนสโกก็ไม่เป็น



ทางออกของประธานคณะกรรมการมรดกโลก ทางออกของผู้อำนวยการองค์การยูเนสโก จึงต้องประนีประนอม

ประนีประนอมให้กัมพูชายอมรับการเลื่อนการพิจารณาแผนบริหารจัดการออกไปเป็นปี 2554

ประนีประนอมให้ไทยและกัมพูชาไปหาทางเจรจาเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อนการประชุมที่บาห์เรนในปีหน้า

นี่จึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง

ยากเพราะว่าความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชานับแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติ

ไทยถอนเอกอัครราชทูตจากกรุงพนมเปญ กัมพูชาถอนเอกอัคร ราชทูตจากกรุงเทพฯ

ยิ่งกว่านั้น ความเข้าใจในเรื่องพื้นที่โดยรอบบริเวณปราสาทพระวิหารยังแตกต่างกันเป็นอย่างมาก

หากต่างฝ่ายต่างยืนยันก็ยากที่จะเจรจากันได้บทสรุปร่วมอย่างแท้จริง



การซื้อเวลาอีก 1 ปีจึงเป็นการซื้อเวลาที่มองไม่เห็นหนทางออกว่าจะราบรื่นได้อย่างไร

ในเมื่อกระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่สามารถเจรจากับกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา แล้วใครจะแสดงบทบาทนี้ได้อย่างเสมอภาคและสร้างสรรค์

นี่ย่อมเป็นจุดอับตันของความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา