ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 2 August 2010

คนดีกับคนมีเสรีภาพ

ที่มา ประชาไท

การเรียกร้อง “คนดี” โดยชนชั้นนำในสังคมไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี กล่าวว่า"เราอยากเห็นคนดีมีมากขึ้นในสังคม ถ้าสัดส่วนระหว่างคนดีกับคนไม่ดียังไม่ใกล้เคียงกัน บ้านเมืองจะตกอยู่ในภาวะวุ่นวาย เพราะคนไม่ดีมากกว่าคนดี..ที่สำคัญคือจะทำอย่างไรให้สัดส่วนคนดีเพิ่มขึ้น”(http://www.matichon.co.th/news_detail.p ... =01&catid=)
แต่เมื่ออ่านตามเว็บไซต์ต่างๆ จะพบว่ามีความเห็นจำนวนไม่น้อยที่บอกว่าไม่อยากพูดถึง หรือกระทั่งสะอิดสะเอียดกับคำว่า“คนดี” หรือที่จริงจังมากขึ้นก็คือมีการเสนอว่า สังคมควรเรียกร้อง “ระบบที่ดี” มากกว่า “คนดี” หากต้องการเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
โดยที่สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ จึงน่าสนใจว่า ความหมายของ “คนดี” ตามที่พุทธศาสนาสอน กับ “คนดี” ในจินตนาการของสังคมไทยคือคนเช่นไร?
ในหนังสือชื่อ An Essay Concerning Buddhist Ethics (ที่เขียนโดยคนไทย คือ ศ.ดร.สมภาร พรมทา) อธิบายว่า “ตามทัศนะของพุทธศาสนา การเป็นคนดีกับการเป็นคนมีเสรีภาพคือสิ่งเดียวกัน” (According to Buddhism, being a good person is same as being a free person.)
หมายความว่า การเป็นคนดีเกิดจากการกระทำสิ่งที่ดี แต่เราจะเป็นคนดีไม่ได้หากเราไม่เป็นคนที่มีเสรีภาพที่จะเลือกกระทำตามอารมณ์ หรือเหตุผล หรือเลือกระหว่างถูกกับผิด เมื่อเราเลือกที่จะกระทำตามเหตุผล เราย่อมกระทำสิ่งที่ดีหรือถูกต้อง การกระทำสิ่งที่ดีหรือถูกต้องนั่นเองที่ทำให้เราสมควรถูกยกย่องว่าเป็น “คนดี”
อันที่จริง “คน” ไม่ว่าจะได้รับยกย่องว่าเป็นคนดีหรือถูกตำหนิว่าเป็นคนเลว เขาคือ “คนที่มีเสรี” (a free person) การเป็นคนดีคนเลวก็เกิดจากการที่คนซึ่งมีเสรีภาพเลือกการกระทำที่สร้างให้เขาเป็นคนดีหรือเลว
ฉะนั้น ถ้าจะเพิ่มจำนวนคนดีในสังคม สิ่งสำคัญที่สุดเราต้องยอมรับความเป็น “คนที่มีเสรีภาพ” ของประชาชนก่อน เพราะเงื่อนไขแรกสุดของการเป็นคนดี เราจำเป็นต้องเป็น “คน” ก่อน คือเป็นคนที่มีเสรีภาพที่จะเลือกก่อน การกะเกณฑ์ให้คนต้องเชื่อฟัง ต้องสยบยอมต่ออำนาจ ปิดกั้นเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสาร การแสดงความความคิดเห็น การแสดงออกทางการเมือง การพูดความจริง ฯลฯ คือการทำลายความเป็น “คน” เมื่อทำลายความเป็นคนแล้ว เราจะสร้าง “คนดี” ได้อย่างไร?
เพราะการเป็นคนดี ย่อมเรียกร้อง (Requirement) ความเป็นคนมีเสรีภาพที่สามารถจะเลือกกระทำตามเหตุผล หรือกระทำสิ่งที่ถูกต้อง และรับผิดชอบต่อผลที่ตามมาด้วยตัวของเขาเอง
นอกจากนี้ การเป็นคนดียังเรียกร้องความสามารถที่จะเผชิญกับความทุกข์หรือความเจ็บปวดจากการกระทำสิ่งที่ดีด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การทำความดีของพระเวสสันดร ที่บริจาคช้างคู่บ้านคู่เมือง ถูกชาวเมืองปฏิเสธ ถูกเนรเทศจากเมืองไปอยู่ป่า และกระทั่งยอมเผชิญความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัสที่ต้องบริจาคลูกเมียเมื่อมีผู้มาขอไปเป็นทาส
จึงดูเหมือนว่า การเป็นคนดีหรือการเป็นคนมีเสรีภาพนั้น บางครั้งอาจดูคล้ายกับเป็นคนโง่ เพราะต้องเดินทวนกระแสของชาวโลก คงยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจว่าทำไมพระเวสสันดรจึงทำความดีด้วยการบริจาคลูกเมียให้ไปเป็นทาสของคนอื่น และคงยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจว่าทำไมพระมหาชนกจึงยังคงพยายามว่ายน้ำในมหาสมุทรข้ามคืนข้ามวันอย่างเหน็ดเหนื่อยทั้งที่มองไม่เห็นฝั่ง และแน่นอนว่า เจ้าชายสิทธัตถะย่อมถูกปฏิเสธแม้กระทั่งจากพระบิดาเมื่อตัดสินใจเลือกอย่างอิสระที่จะออกเผชิญความยากลำบากในการแสวงหาทางพ้นทุกข์
ปกติแล้วคนทั่วไปจะลงทุนลงแรงพยายามกระทำสิ่งใด ก็ต่อเมื่อเขามองเห็นผลสำเร็จจากการกระทำสิ่งนั้น เช่นที่เรามักได้ยินคำถามเสมอว่า “ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปแล้วจะได้อะไร” แต่ในทัศนะของพุทธศาสนาคนดีย่อมกระสิ่งใดเพราะเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แม้เมื่อจะต้องเผชิญความทุกข์ความเจ็บปวดจากการกระทำความดีนั้น ก็พร้อมเผชิญโดยไม่หวังผลตอบแทน
เมื่อวันที่ 19 ก.ค.53 “คณะเดินสันติสู่ปัตตานี” ของอาจารย์โคทม อารียา และอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ แวะมาพักดื่มน้ำและสนทนากับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยที่ผมสอนหนังสืออยู่ ผมรู้สึกนับถืออย่างยิ่งกับการทำ “ความดี” ของคนเหล่านั้น พวกเขาคงไม่คิดว่าเมื่อใช้เวลา 55 วันเดินเท้าถึงปัตตานีแล้ว สันติภาพในสามจังหวัดภาคใต้จะเกิดขึ้นตามมาทันที แต่ความน่าเคารพของพวกเขาอยู่ตรงที่ พวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขาทำเป็นสิ่งที่ดี และพวกเขามีความกล้าหาญที่จะกระทำในสิ่งที่ตนเชื่อ แม้ว่าจะเผชิญกับความยากลำบากเพียงใดก็ตาม
แต่ที่น่าเศร้าคือ สังคมพุทธในบ้านเราเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อให้ทำความดีด้วยการเอานรกมาขู่ เอาสวรรค์มาล่อ จนทำให้คนเชื่อฝังหัวว่า การทำความดีคือการหลีกหนีความทุกข์ความเจ็บปวด และแสวงหาความสุขสบาย คุณบริจาคน้อยได้บุญน้อย บริจาคมากได้บุญมาก เมื่อสั่งสมบุญเอาไว้มากๆ อนาคตเราจะร่ำรวยสุขสบาย ตายไปจะได้เสวยสุขในสวรรค์วิมาน หรือเกิดชาติหน้าจะได้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี หรือเป็นราชามหากษัตริย์
“คนดี” ในจินตนาการของชาวพุทธในบ้านเรา จึงหมายถึง คนที่มองเห็นปัญหาสังคมและการเมืองเป็น “นรก” เห็นความร่ำรวยสุขสบายเป็นสวรรค์บนดิน เห็นวัดหรือศาสนาเป็นทางผ่านไปสู่ความสุขสบายในชาตินี้และชาติหน้า ไปๆมาๆ คนดี คือ คนที่หันหลังให้สังคม ไม่ใส่ใจปัญหาบ้านเมือง ไม่มีจิตสาธารณะ มองความยากลำบากในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมเท่ากับ “บาป” มองความสุขสบายร่ำรวยเท่ากับ “บุญ”
สุดท้ายก็บูชาเงิน นับถือเงิน นับถือความร่ำรวยเป็น “ความดี” และยกย่องคนรวย คนมีอำนาจ มียศถาบรรดาศักดิ์ คนชั้นสูง หรือคนชั้นนำทางสังคมว่าเป็น “คนดี” แล้วต่างก็แก่งแย่งไขว่คว้าหาความดีเช่นนั้น แข่งขันที่จะเป็นคนดีเช่นนั้น โดยไม่สนใจ “ความดีภาคสาธารณะ” (เช่น สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม ฯลฯ) ที่เราต้องร่วมกันต่อสู้ให้ได้มาด้วยสำนึกในความความเป็น “พลเมืองดี” ที่กล้าหาญเผชิญความทุกข์ ความเจ็บปวด หรือกระทั่งความตาย
แต่ทว่าคนดีหรือคนมีเสรีภาพตามทัศนะของพุทธศาสนา เขาไม่ได้กระทำสิ่งที่ดีเพราะหวังความสุข แต่กระทำเพราะเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมพระเวสสันดรถึงบริจาคช้างคู่บ้านคู่เมืองของตนเองให้แก่ชาวเมืองอื่น ทั้งที่รู้ว่าตนเองจะเดือดร้อนจากการต่อต้านของชาวเมืองของตนเอง ก็เพราะท่านเห็นว่าการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นสิ่งที่ดีไม่ว่าเขาจะเป็นพวกเดียวกับตนหรือพวกอื่นก็ตาม
น่าคิดว่า ทำไมสังคมพุทธไทยกลับมีวัฒนธรรมสร้างความเกลียดชังคนสีอื่น คนชาติอื่น เพื่อแสดงว่าตนเองรักชาติ รักสถาบัน เป็นคนดี แล้วเราก็เมินเฉย กระทั่งเย้ยหยันต่อการที่คนไปผูกผ้าแดง หรือไปชูป้ายว่า “เห็นคนตายที่ราชประสงค์” หรือคนอื่นๆ ที่ยอมเจ็บปวดเพื่อกระทำสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งที่คนกลุ่มนี้คือคนที่มีเสรีภาพหรือคนดีตามหลักคำสอนที่แท้จริงของพุทธศาสนา
เราเอาแต่เรียกร้อง “คนดี” ซึ่งไม่รู้ว่ามีความหมายอย่างไร แต่ไม่ยอมรับ “ความเป็นคน” ของประชาชน หรือไม่เคารพความเป็น “เสรีชน” ของประชาชนที่สามารถเลือกและรับผิดชอบด้วยวิจารณญาณของตนเอง
ซึ่งเท่ากับว่า เราเอาแต่เรียกร้อง “คนดี” แต่ไม่ยอมให้ประชาชนเป็น “คน” หรือเป็น “เสรีชน” ที่สามารถจะเป็นคนดี และเลือกกระทำสิ่งที่ดี พร้อมกับรับผิดชอบต่อผลของการเลือกด้วยตัวของเขาเอง!