1 ส.ค.53 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย แถลงข่าวเรื่อง “ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ‘ฉบับทหาร’ ตอบโจทย์การปฏิรูปสื่อ? หรือเพื่อความมั่นคง ?”
สุเทพ วิไลเลิศ เลขาธิการ คปส. กล่าวถึงเหตุผลการแถลงข่าวครั้งนี้ว่า เนื่องจากวุฒิสภาได้พิจารณา ร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ในช่วงความขัดแย้งรุนแรงเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมาและมีมติผ่านร่างออกมาในวันที่ 30 พ.ค. โดยมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของร่างกฎหมายที่ผ่านชั้นสภาผู้แทนราษฎรหลายประการ โดยเฉพาะการเปิดช่องให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่งจะเป็นองค์กรจัดสรรและกำกับดูแลคลื่นความถี่ทั้งหมดในอนาคตเพื่อการปฏิรูปสื่อตามรัฐธรรมนูญ
สุภิญญา กลางณรงค์ รองประธาน คปส. และอดีตคณะกรรมาธิการยกร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับร่างของ ส.ว. และในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวที่กำลังจะเริ่มในสมัยประชุมนี้ ก็อยากให้สภาผู้แทนฯ ทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ยืนยันร่างของ ส.ส. ซึ่งสะท้อนเจตนารมณ์ได้ดีกว่า เนื่องจากออกแบบที่มาของ กสทช. เป็นภาคส่วนที่สาม ได้แก่ ภาควิชาชีพ นักวิชาการ ตัวแทนภาคประชาสังคม ซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงกับคลื่นความถี่เดิมเพื่อจะปฏิรูปสื่อได้อย่างอิสระ ขณะที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับที่ผ่านวุฒิสภากลับเพิ่ม กสทช. อีก 4 คน เป็น 15 โดยระบุว่าต้องมีประสบการณ์ด้านความมั่นคง บริหารราชการ ศาสนา ฯ แม้ถ้อยคำจะคลุมเครือแต่เดาเจตนารมณ์ได้ว่าเป็นการเปิดช่องให้ภาครัฐเข้ามา เช่น กระทรวงกลาโหม ซึ่งทำให้ขาดความเป็นอิสระ และเท่ากับไม่มีประโยชน์ที่จะตั้ง กสทช.ขึ้นมาปฏิรูปสื่อ
สุภิญญา กล่าวอีกว่า ส่วนที่ส.ว.เพิ่มเข้ามาและเป็นจุดอ่อนอย่างมากอีกประการ คือ การกำหนดว่า กสทช.ต้องจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงอย่างพอเพียง ซึ่งถือเปิดให้หน่วยงานความมั่นคงเข้ามาเพื่อปกป้องผลปรโยชน์เดิม และไม่มีความชัดเจนว่า “เพียงพอ” คืออะไร
“ตอนนี้ถ้าต้องตั้งกมธ.ร่วมสองสภา ก็อยากเรียกร้องให้ ส.ส.ยืนยันร่างเดิมของตัวเอง ถ้ายอม ร่างของ ส.ว. ก็เข้าข้อครหาว่า รัฐบาลเต็มใจ ยิมยอมต่อข้อเรียกร้องนี้เพื่อแลกกับการพึ่งพิงทหารในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน” สุภิญญากล่าว
สุภิญญายังกล่าวถึงอีกประเด็นหนึ่งว่า ส.ว. ได้แก้ไขมาตรา 78 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้แก่ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. หรือแคท เทเลคอมฯ โดยยืดระยะเวลาการได้รายได้จากการสัมปทานคลื่นให้บริษัทมือถือหลังจากตั้ง กสทช.แล้ว จากเดิม 1 ปี เป็น 3 ปี เพื่อให้มีเวลาปรับตัว โดยการยืดเวลาดังกล่าวทำให้สองหน่วยงานนี้ไม่ต้องส่งเงินค่าสัมปทานมือถือจำนวนมหาศาลที่ได้จากเอกชนเข้าคลัง และไม่ส่งเสริมให้สองหน่วยงานนี้ปรับตัวเพื่อการแข่งขันเสียที
วิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สวชช.) กล่าวว่า ในส่วนของผู้ทำวิทยุชุมชนก็สนับสนุนอยากให้มีร่าง พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้มีองค์กรกำกับดูแลที่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาวิทยุชุมชนอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของ กทช. ซึ่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งและดูแลไม่ทั่วถึง อีกทั้งยังมีแต่อำนาจปิดสถานีที่ไม่ได้ลงทะเบียนแต่ไม่มีอำนาจให้ใบอนุญาตเพิ่มเติม นอกจากนี้ช่องว่างในการดูแลดังกล่าวยังทำให้วิทยุชุมชนหลายแห่งยังถูกปิดโดยหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เช่น วิทยุชุมชน 12 แห่งที่จังหวัดนครศรีธรรมราชถูกปิดโดย ศอฉ. อย่างไรก็ตาม แม้จะอยากให้กฎหมายนี้ออกมาเป็นรูปเป็นร่างแต่ยังคงไม่เห็นด้วยกับที่มาของ กสทช. ที่ปรากฏในร่างของ ส.ว. เพราะเกรงว่าการทำงานของ กสทช.จะไม่เป็นอิสระ
“เรามีข้อสังเกตว่าหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา บทบาทกองทัพมีมากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเข้ามามีส่วนได้ส่วนเสียกับ พ.ร.บ.นี้ด้วย” วิชาญกล่าว
ด้านตัวแทนผู้บริโภค ระบุว่า อยากให้ร่างพ.ร.บ.ฉบับของ ส.ว. เพิ่มเติมกลไกในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยคงบทบาทตามมาตรา 31 ของร่างเดิมไว้ หรือทบทวนมาตรา 13 เรื่องการคุ้มครองสิทธิในร่างฉบับวุฒิสภาให้มีสาระชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภค