ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 1 July 2010

ความเป็นหนึ่งเดียวของไทยและแค็ปซูลวิเศษ วัฒนธรรมสื่อไทยในสายตาต่างชาติ

ที่มา ประชาไท

ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เชื่อกัน ในความเห็นผู้เขียน เสื้อแดงและเสื้อเหลืองมีลักษณะพื้นฐานบางอย่างร่วมกันมากกว่าความแตกต่าง

ทั้งคู่นั้นมีลักษณะ ชาตินิยม ปิตาธิปไตย นิยมกองทัพ สนับสนุนทุนนิยมและบริโภคนิยม และนับถือคนที่ความร่ำรวยและอำนาจ ไม่คำนึงถึงความถูกต้องทางการเมืองทั้งในแง่จิตสำนึกและวิธีปฏิบัติ ฉวยประโยชน์จากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย (แกนนำฉวยประโยชน์จากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับว่าสิทธิมนุษยชนเช่นกัน) อยู่บนพื้นฐานของอารมณ์มากกว่าอุดมคติ...ลิสต์รายการนั้นมีไม่มีสิ้นสุด

ไม่สำคัญว่าผู้มีอำนาจจะพยายามสร้างภาพของเสื้อแดงว่าเป็นขบวนการต่อต้านสถาบันกษัตริย์ ทั้งพยายามฟื้นโวหารแห่งสงครามเย็นอย่างไร ความแตกแยกระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดงนั้นไปไกลเกินกว่าที่จะหดแคบอยู่ที่ประเด็นที่ว่าเสื้อแดงซึ่งเป็นกลุ่มฝ่ายซ้ายตามรูปแบบของการแบ่งขั้ว

วิธีแบ่งขั้วฝ่ายซ้ายกับฝ่ายขวานั้น เราอาจจะเคยคุ้นอยู่ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้วในโลกตะวันตก (รวมถึงละตินอเมริกา) โดยฝ่ายซ้ายเท่ากับฝ่ายต่อต้านทุนนิยม, ข้ามรัฐ, ต่อต้านโลกาภิวัตน์, อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ, สนับสนุนเกย์และเลสเบี้ยน, มีนโยบายที่ก้าวหน้าในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ, สนับสนุนเสียงส่วนน้อย, ต่อต้านทหาร, ส่งเสริมระบบรัฐสวัสดิการ, ส่งเสริมทางเลือกของปัจเจกบุคคล

ขณะที่ฝ่ายขวา เท่ากับนิยมระบบทุนนิยม ให้ความสำคัญกับธุรกิจมากกว่าเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม, ชาตินิยม, ส่งเสริมคุณค่าพื้นฐานของความเป็นครอบครัว, นิยมทหาร, ต่อต้านการอพยพ, ต่อต้านการทำแท้ง เป็นต้น

เสื้อแดงและเสื้อเหลืองนั้นไม่อาจแบ่งขั้วได้โดยวิธีที่กล่าวมา, เพราะเหตุผลหลักคือเสื้อแดงไม่ได้มีวาระของฝ่ายซ้ายมากพอในขณะที่ฝ่ายเหลืองนั้นมีลักษณะของความเป็นฝ่ายขวามากกว่า

ในห้วงแห่งวิกฤตของไทย, เราได้เห็นภาพของคนฟิลิปปินส์ประท้วงต่อต้านการสลายการชุมนุมโดยทหารที่หน้าสถานทูตไทยในกรุงมะนิลา ก่อนหน้านั้นไม่นานในกรุงมะนิลาเช่นกัน กลุ่มนักกิจกรรมชาวฟิลิปปินส์อีกกลุ่มเรียกร้องการเลือกตั้งที่เป็นธรรมที่หน้าสถานทูตพม่า

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทย เราไม่เห็นภาพใดๆ ของคนเสื้อแดงไปทำการประท้วงต่อต้านประธานาธิบดีอาโรโยกรณีการแต่งตั้งหัวหน้าผู้พิพากษาที่หน้าสถานทูตฟิลิปปินส์

รวมทั้งเราไม่อาจจะเห็นแกนนำคนเสื้อแดงถือภาพของออง ซาน ซูจี ทำการประท้วงอยู่ที่หน้าสถานทูตพม่าด้วย

เราได้เห็นผู้ประท้วงที่โกรธเกรี้ยวต่อต้าน "เหตุการณ์กองเรือรบ" ในหลายประเทศทั่วโลก แต่เจ้าหน้าที่สถานทูตอิสราเอลในประเทศไทยไม่จำต้องกังวลว่าจะถูกรบกวนจากเสียงตะโกนใดๆ เราไม่เห็นรายการวิเคราะห์เกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในมาดากัสการ์เช่นกัน ไม่ว่าจะในพีทีวีหรือเอเอสทีวี

และแทนที่เราอาจหาข้อเท็จจริงที่แสดงความเหมือนระหว่างเหตุการณ์และสถานการณ์ของประเทศอื่นๆ กับสิ่งที่ประเทศไทยก็กำลังเผชิญเราไม่สามารถที่จะหากิจกรรมใดๆ ของเสื้อแดงว่าเป็นรูปแบบที่จัดอยู่ในหมวดหมู่เดียวกับฝ่ายซ้ายได้เลย

ยิ่งไปกว่านั้น การเชื่อมโยงระหว่างเสื้อเหลืองและเสื้อแดงต่อโลกภายนอกก็มีเพียงการที่พวกเขาอ้างถึงฮิตเลอร์อยู่บ่อยๆ (ในความหมายแทน อภิสิทธิ์ หรือทักษิณ) หรือรัฐบาลทหารพม่า (ในความหมายถึงรัฐบาลหลังการรัฐประหารและกองทัพไทย) รวมถึงข้อความที่พวกเขาใช้เป็นภาษาอังกฤษในบางโอกาส (ไม่ใช่ผู้ก่อการร้าย เราเป็นนักเคลื่อนไหวที่สันติ, คนเสื้อแดงไม่มีการศึกษา (ภาษาอังกฤษแบบผิดไวยากรณ์) ขณะเดียวกันสหประชาชาติก็ดูเหมือนว่าจะอยู่ในใจของพวกเขาแต่ยังไม่ชัดเจนในหลักการ

แกนนำเสื้อแดงเรียกร้องให้สหประชาชาติเข้าแทรกแซง ทั้งที่สหประชาชาตินั้นเป็นองค์กรที่อดีตผู้นำสูงสุดของพวกเขาอย่างทักษิณเพิกเฉยมาก่อน

สิ่งเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเรื่องอื่นๆ ด้วย คนเสื้อแดงเผาห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เหตุผลของผู้เผานั้นชัดเจนว่า ไม่ใช่เพราะห้างสรรสินค้าเป็นสัญลักษณ์ของทุนนิยมซึ่งฝ่ายซ้ายมักกล่าวอ้าง เมื่อพวกเขาเลือกหนทางที่รุนแรง

เหตุผลในการจุดไฟเผานั้นในความเป็นจริงแล้วไม่ได้รับการคำอธิบายจากใครและไม่เคยถูกทำให้ชัดเจนว่ามีเจตนาใด นัยยะซ่อนเร้นประการเดียวสำหรับเหตุผลในการเผาก็คือ จากคลิปวิดีโอที่ทางโฆษกกองทัพและพรรคร่วมรัฐบาลนำมาฉายซ้ำบ่อยๆ คือสิ่งที่แกนนำพูดว่า "ถ้าพวกเขาจับเรา กรุงเทพฯก็จะลุกเป็นไฟ เผา! เผา!" นี่ไม่ใช่เหตุผลแต่เป็นอารมณ์ที่ถูกจุดขึ้น

เรื่องทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นในการแสดงอาการเหยียดหยามประฌามเกย์บ่อยครั้งผ่านการเรียกขานผู้ชายที่พวกเขาถือว่าอ่อนแอ หรือไม่ชัดเจนว่าเป็น "เกย์" โดยไม่มีเหตุผลอะไรนอกจากความเข้าใจผิด ในการอภิปรายกับนักคิดสายทรอตสกี้ ไจล์ อึ๊งภากรณ์ ในเรื่อง "ประชาธิปไตยเดี๋ยวนี้" ฟิลิปส์ เจ. คันนิงแฮม เรียก นปช. ว่าองค์กรฟาสซิสต์เพราะพวกเขาต่อต้านเกย์และใช้ความรุนแรง

ตั้งแต่การเดินขบวนของเสื้อแดงปีที่แล้ว มีข่าวลือว่าชาวเขมรและพม่าถูกจ้างมาฆ่าและโจมตี เพราะ "เป็นเรื่องง่ายสำหรับคนเหล่านั้นที่จะฆ่าคนไทยมากกว่าการที่คนไทยฆ่ากันเอง"

มันน่าฉงนที่คนเสื้อแดงเชื่อว่ากองทัพว่าจ้างคนเขมร และผู้มีอำนาจและคนเสื้อเหลืองก็เชื่อเช่นนั้น-เป็นความเชื่อเช่นเดียวกันว่ามือสไนเปอร์ ถูกว่าจ้างโดยอีกฝ่ายหนึ่ง

ด้วยเหตุที่กล่าวมา เมื่อจัดประเภทตามแบบตะวันตกแล้ว เสื้อแดงจึงเป็นฝ่ายขวามากกว่าฝ่ายซ้าย และมีวาระร่วมกันกับเสื้อเหลือง รวมถึงรัฐบาล กองทัพ และ ศอฉ. เป็นต้น ทั้งหมดนั้นตกอยู่ภายใต้การประเภทเดียวกัน และอยู่ในตระกูลเดียวกัน ตระกูลนี้โดดเดี่ยวตัวเองมากจากวาทกรรมในระดับโลกและในท้ายที่สุดพวกเขาเห็นว่าศัตรูที่เลวร้ายที่สุดมาจากภายนอก เช่น นักฆ่าชาวเขมร จอร์จ โซรอส แดน ริเวอร์ และซีเอ็นเอ็น

ในสายตาของคนนอก ตระกูลนี้ดูเหมือนจำกัดตัวเองอยู่ในแค็ปซูลขนาดใหญ่ แค็ปซูลนี้มีลักษณะอ่อนนุ่ม ยืดหยุ่นดัดงอได้ แต่ยากที่จะกลืน มีฉลากยากำกับว่ารับประทานครั้งละ 1 เม็ด ห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ห้ามรับประทานมากกว่า 4 ครั้งต่อวัน

นี่เป็นคำเตือน ถ้าคุณฝ่าฝืนกฎนี้ ก็จะได้รับผลกระทบที่ร้ายแรง

คำโฆษณาเป็นแบบสูตรสำเร็จ แสดงตัวเองเหมือนว่าสวยงามและกลมกลืน แต่การโฆษณาไม่สามารถอ้างอิงได้ในทางวิทยาศาสตร์ และไม่สามารถอธิบายได้ว่าสูตรของแค็ปซูลนี้ทำงานอย่างไร มันฟังดูคล้ายเป็นสูตรที่มาจากยาวิเศษยุคโบราณ

คนนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตกกล่าวว่า "โอเค เราต้องทดลองมันโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์ของเรา" หรือ "เราจะเชื่อถือแค็ปซูลตัวนี้ได้ก็ต่อเมื่อมันผ่านมาตรฐานของเรา"

เราต้องการเสียงของคนไทย โลกต้องการคนไทยที่จะช่วยสร้างความเข้าใจในสูตรลับนี้ ด้วยข้อจำกัดในความแตกต่างด้านภาษาและวัฒนธรรม เราต้องการสื่อมวลชนที่จะช่วยสร้างคำอธิบาย คนที่สามารถเชื่อมโยงประเทศไทยกับเรา ซึ่งเป็นคนนอก และเชื่อมโยงไทยเข้ากับโลก

เราต้องการสื่อที่สามารถจะหยิบยกเอาตัวอย่างเล็กๆ แต่มีนัยยะสำคัญจากท้องถิ่นเชื่อมโยงเข้ากับปัญหาและวาทกรรมในประเทศอื่นๆ

เราต้องการสื่อมวลชนไทยที่สามารถทำให้ประเด็นในท้องถิ่นเป็นประเด็นสากล

ด้วยเหตุนี้อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้ได้รับรางวัลปาล์มทองคำในช่วงเวลาวิกฤตจึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ด้วยวิสัยทัศน์และความมหัศจรรย์ของเขา เขาเป็นสื่อวัฒนธรรมที่สามารถทำให้พื้นที่ที่ไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งถูกเรียกว่าอีสานเข้าไปอยู่ในจินตนาการของผู้คนได้ ในทุกๆ คน ในทุกๆ ที่

โลกต้องการสิ่งนี้จากประเทศไทย และเพื่อที่จะบรรลุความสามารถในการเชื่อมโยงนี้ เขาต้องอยู่นอกแค็ปซูล และต้องจ่ายราคาให้กับมัน

เป็นเรื่องยากสำหรับประชาชนในประเทศไทยที่จะได้ชมภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จในทางพาณิชย์หรือไม่ และเหตุผลอีกส่วนหนึ่งก็คือการเซ็นเซอร์

ภาพยนตร์ของเขาตกเป็นเป้าของการเซ็นเซอร์ที่อันน่าอับอายและขบขัน เมื่อผู้เขียนได้ดูภาพที่เขาที่ขึ้นรับรางวัลปาล์มทองคำผ่านทางจอโทรทัศน์ คิดว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยจะต้องรู้สึกแย่กับเขา ที่เขาไม่ได้กล่าวแสดงสำนึกถึงบางสถาบันในความสำเร็จของเขา เหมือนอย่างที่ตัวแทนของไทยทั้งหลายทำกันเป็นประเพณีแต่เขากลับไปขอบคุณผีและวิญญาณแทน

คนไทยกล่าวว่าภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์นั้นยากและไม่สามารถเข้าใจได้ พวกเขากล่าวว่าภาพยนตร์เหล่านั้นทำให้ฝรั่งดู โดยแท้จริงแล้วภาพยนตร์ของเขานั้นยากและเข้าใจยากสำหรับคนต่างชาติเช่นกัน แม้แต่กับคนยุโรปที่ใช้ศิลปะอย่างซับซ้อน และมีแนวทางที่เรียกว่า "ภาพยนตร์ที่เน้นมุมมองของผู้กำกับ" เพื่อที่จะเข้าใจนัยยะซ่อนเร้น การเปรียบเทียบและสัญลักษณ์ภายในวัฒนธรรมนั้น โดยธรรมชาติแล้วไม่ใช่ง่าย มันยังสร้างความแตกต่างหากคุณชอบความยากและการทำความเข้าใจเหมือนเสมือนว่าเป็นทรัพย์สิน ซึ่งทำให้คุณพินิจ พิเคราะห์ พยายาม หรือแสวงหา แทนที่จะรอการนำเสนอแบบง่ายๆ

เมื่อเราตัดสินใจที่จะทำเช่นนี้ กรอบที่เราคุ้นเคยก็คือ กรอบภายใต้สภาพแวดล้อมที่ใกล้ชิดของเรานั้นช่วยเราได้ในระดับพื้นฐานให้เข้าใกล้สิ่งที่ไม่รู้ ในขั้นแรก เราทั้งหลายใช้กรอบเหล่านี้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งในฐานะที่เป็นเครื่องมือเพื่อทำความเข้าใจสิ่งที่ไม่รู้ ในประเทศตะวันตกการแบ่งขั้วเป็นกรอบเครื่องมือที่เคยถูกใช้มากในหมู่พวกเรา ซึ่งต้องการทำความเข้าใจโลก การแบ่งขั้วได้แบ่งสังคมออกเป็นซ้ายและขวา โดยฝ่ายซ้ายมองสังคมในกรอบของคู่ขัดแย้งระหว่างผู้ถูกกดขี่กับผู้กดขี่ ขณะที่ฝ่ายขวามองสังคมเดียวกันในกรอบของการละเมิดความมั่นคง กับการรักษาความมั่นคง

เพื่อที่จะเข้าใจศิลปะ เช่นภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์ เราต้องทำให้ตัวเองมีเวลาที่จะออกมาจากกรอบพื้นฐานและพัฒนาความคิดของเราสู่ระดับที่สองและสาม เราต้องอนุญาตให้ตัวเองเปิดกว้างอย่างที่สุดจากกรอบคิดและอคติ และรางวัลที่ได้จากการทำเช่นนี้ก็คือประสบการณ์ทางศิลปะ

ในอีกด้านหนึ่ง สื่อใหม่นั้นแตกต่างในแง่ที่ว่าสื่อเหล่านี้ต้องทำงานภายใต้เวลาอันจำกัดและความเร็วนั้นเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการนำเสนอข้อมูล ผู้ชมส่วนใหญ่ไม่มีเวลาพอที่จะไปให้พ้นจากความคิดในระดับพื้นฐานเมื่อเขาดูข่าว ด้วยเงื่อนไขนี้ สื่อกระแสหลักก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกับที่มีความได้เปรียบ

ผู้เขียนทำงานอยู่ในภาคของการศึกษาประเด็นวัฒนธรรมสื่อในประเทศต่างๆ รอบโลก ทำวิจัยเกี่ยวกับสื่อและวัฒนธรรมสื่อและพบปะผู้คนจำนวนมากที่ทำงานสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่ออิสระจากทวีปต่างๆ เพราะมักจัดการประชุมและสัมมนาโดยเชิญคนที่มีความแตกต่างด้านวัฒนธรรมเหล่านี้มาพบปะและถกเถียงกัน

ผู้เขียนต้องการที่จะเข้าใจให้ได้ว่าใครและสื่อไหนในแต่ละประเทศที่สามารถจะเชื่อมโยงวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับชุมชนระหว่างประเทศได้

ในประเทศไทยผู้เขียนตระหนักว่า ในบางครั้ง ณ ปัจจุบันนี้ อาจมองหาสื่อเหล่านี้ได้เฉพาะกรณีที่พวกเขาอยู่นอกแค็ปซูล ผู้เขียนยังได้เป็นพยานว่า ด้วยเหตุดังนี้เอง เส้นทางของพวกเขาไม่เคยง่ายดายเช่นเดียวกับกรณีของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ด้วยเหตุนี้ สื่อที่สามารถเลือกเป็นสะพานเชื่อมไทยกับโลกอย่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ฟ้าเดียวกัน ประชาไท และเควชชั่นมาร์ก ต่างถูกแบบและบล็อคไปเมื่อเร็วๆ นี้ และ บ.ก.ของสื่อเหล่านี้ก็มีประวัติถูกจับกุมหรือตั้งข้อกล่าวหาอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

เพื่อจะอยู่ใกล้กับชุมชนในขณะที่ก็อยู่ห่างไกลจากการถูกดูดกลืนตัวตนมันเป็นเรื่องยากสำหรับสื่อมืออาชีพ มันเป็นเรื่องพื้นฐานแต่ยากที่จะปฏิบัติ สื่อเหล่านี้ทำงานได้อย่างดีภายใต้ภาวะเช่นนี้และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมไม่เฉพาะผู้เขียน แต่นักวิชาการและนักวิจัยในต่างประเทศจำนวนมากเชื่อถือพวกเขา น่าสนใจว่า ยกเว้นนักวิชาการบางคนจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว ไม่มี บ.ก.คนไหนเลย ที่จบจากต่างประเทศหลายคนไม่พูดภาษาอังกฤษ พวกเขาทำอย่างไรจึงมีความเป็นสากลอยู่ในใจ ผู้เขียนไม่มีเบาะแสอะไร คิดว่าพวกเขาต้องมีสัญชาตญาณแห่งการปฏิเสธการถูกดูดกลืนตัวตน หรือไม่ก็มีสายตาคมกล้าที่สามารถมองผ่านสิ่งที่ฉาบเคลือบของแค็ปซูล หรือไม่อย่างนั้นก็พวกเขามีสติปัญญาชาญฉลาดมาก

แต่ด้วยบุคลิกของพวกเขาที่เข้าใกล้เรามากกว่า ทำให้พวกเขาเป็นไทยน้อยกว่า และนั่นเป็นวิธีที่ทำให้การแบนและการจับกุมเกิดขึ้น เพราะพวกเขาตีพิมพ์ในสิ่งที่ "มีความเป็นไทยอยู่น้อย" โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสื่อที่ได้รับความนิยมอย่างมาก คือ ฟ้าเดียวกันและประชาไททั้งคู่ได้รับการปฏิบัติอย่างที่ว่าผู้ที่อยู่ในแค็ปซูลไม่รู้จะทำอย่างไรดีกับพวกที่ "มีความเป็นไทยอยู่น้อย" เหล่านี้

เสื้อเหลือง เสื้อหลากสี กองทัพ และรัฐบาลจัดประเภทเขาไว้ในกลุ่มของผู้เห็นใจเสื้อแดง และคนเสื้อแดงก็เข้าใจผิดว่าสื่อเหล่านี้คือผู้สนับสนุนฝ่ายตน

ฟ้าเดียวกันเป็นสื่อเอียงซ้ายความหมายของตะวันตก และพวกเขาก็มีงานวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของทักษิณ ประชาไทก็มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงต่อสิ่งที่ทักษิณทำลงไปอย่างผิดๆ เช่นกัน ทำไมพวกเขาถึงถูกเข้าใจผิดได้เพียงนี้

แม้ว่าสื่อทั้งสองจะแตกต่างจากกัน แต่ทั้งสองนั้นต่างมีแนวปรัชญาเดียวกันในการเปิดพื้นที่ให้กับเสียงที่ถูกปฏิเสธจากจารีตและไม่ได้รับการได้ยิน เสียงเหล่านี้โดยธรรมชาติแล้วก็มาจากฝ่ายสนับสนุนเสื้อแดง สื่อทั้งสองนั้นยังมีประเด็นบางอย่างร่วมกัน (ผู้เขียนพูดว่า "บางอย่าง") กับเสื้อแดง เช่นการต่อต้านรัฐประหาร

ดังนั้น พวกเขาจึงถูกเข้าใจผิด

สำหรับความแตกแยกระหว่างผู้หนุนหลังกลุ่มต่อต้านสถาบันกษัตริย์ (คนไทยชั่ว) กับผู้รักในสถาบัน (คนไทยที่ดี) อำนาจรัฐพยายามที่จะสร้างฉากทัศน์ใหม่ นั่นก็คือ ผู้ก่อการร้ายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ และโดยแนวทางนี้ ก็ได้ผนวกเอาแนวทางของรัฐบาลบุชหลังเหตุการณ์ 19 กันยายน เข้าไว้ ซึ่งถือเป็นการแบ่งขั้วระหว่างตะวันตกและโลกมุสลิม โดยฉายอยู่บนโวหารแห่งสงครามเย็น

ปัจจุบันนี้ ในประเทศไทย นโยบายนี้ถูกใช้ในเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้อยู่บางครั้ง เพื่อที่จะให้เครื่องมือนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและกระตุ้นระดับความกลัวให้มากขึ้นในหมู่ประชาชนผู้ " บริสุทธิ์"

ผู้มีอำนาจจำเป็นต้องสร้าง "ผู้ก่อการร้าย" ขึ้นอย่างเบลอๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ ดังนั้น การเซ็นเซอร์ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อที่จะปิดกั้นข้อมูลใดๆ ที่จะแสดงตัวตนของ "ผู้ก่อการร้าย"

หากมีสื่อใดที่สงสัยในเครื่องมือนี้ และพยายามที่จะแสดงให้เห็นตัวตนของผู้ก่อการร้าย หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้ายนั้น, แปลว่าพวกเขาทำเพราะได้รับเงินจากฝ่ายตรงข้ามใช่หรือไม่?

ระดับของความไม่มีน้ำอดน้ำทนที่ต่อต้านเสียงของผู้อื่นที่เราได้เห็นในประเทศไทยนั้น เป็นการย้อนเตือนให้เรานึกถึงประโยคที่ว่า "ถ้าคุณไม่ใช่พวกเรา คุณก็ต่อต้านเรา" อันเป็นนโยบายภายใต้รัฐบาลของบุช

ขอเพิ่มเติมข้อมูลว่า อดีตประธานาธิบดีผู้นี้ถูกรังเกียจและไม่ได้รับความเคารพเนื่องด้วยแนวคิดนี้

ระบอบและแนวทางเดียวกันนี้ถูกนำมาใช้ประสานเสียง โดยฝ่ายที่ต่อต้านอย่างไร้ความอดทนต่อแดน ริเวอร์ และซีเอ็นเอ็น คนไทยคับข้องใจต่อชาวต่างชาติและสื่อต่างชาติ ที่ไม่มีความเข้าใจประเทศไทยเพียงพอ และตำหนิว่าสื่อเหล่านี้พยายามทำให้วัฒนธรรมที่ซับซ้อนเป็นเรื่องง่ายเกินไป เมื่อพวกเขาได้รับชมข่าวเกี่ยวกับประเทศไทย-หากเขาได้ดูทั้งหมด-เป็นเรื่องแน่นอนว่าข่าวนั้นถูกทำให้ง่ายขึ้น

คำวิพากษ์โดยปกติสำหรับซีเอ็นเอ็นที่เราได้ยินกัน เช่น ข่าวและโศกนาฏกรรมของผู้คนถูกทำให้ง่ายนั้นไม่ใช่เหตุผลที่ทำให้พวกเขาไม่พอใจ พวกเขาไม่ได้มีประเด็นเหล่านี้อยู่ ไม่มีปัญหาสำหรับคนไทย ในการที่ข่าวระดับโลกทำให้ประเด็นที่มีความซับซ้อนมากกลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย เช่น ผู้ก่อการร้ายที่ถูกยึดครอง, ความขัดแย้งระหว่างนิกายซุนนี่และชีอะห์, สถานการณ์หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต, ภาพลักษณ์ของผู้นำในละตินอเมริกา เป็นต้น

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาสำหรับคนไทย พวกเขาขอบคุณซีเอ็นเอ็นสำหรับการย่อยข้อมูลที่ซับซ้อนให้กับทุกคน และเช่นเดียวกัน

สื่อไทยก็ย่อยข้อมูลให้ง่ายแบบที่สุดในกรณีของข่าวจากประเทศอื่นๆ (และก็ทำเช่นกันนั้นบ่อยๆ กับข่าวในประเทศตัวเอง) ไม่มีปัญหาสำหรับคนเหล่านี้เช่นกัน

ในเวทีที่มีหัวข้อว่า "ไทยในสายตาคนนอก" ซึ่งจัดขึ้นที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย สุเมธ ชุมสาย แสดงความไม่พอใจต่อสื่อระดับโลกอย่างบีบีซีว่า "บีบีซีเคยเป็นฮีโร่ของผม เป็นต้นแบบ...แต่ตอนนี้อยู่ในภาวะตกต่ำ..." มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ บีบีซีนั้นเป็นสื่อที่ทำข่าวภายใต้กรอบแบบอังกฤษ ไม่เคยแสร้งทำเป็นอย่างอื่น แม้กระทั่งหลังจากที่พวกเขาก้าวสู่การทำสื่อระดับโลกแล้ว จริงหรือที่เพียงแค่เราผู้ชมที่เคยเพิกเฉยต่อประเทศที่เคยถูกนำเสนอผ่านรายการข่าวต่างๆ นั้น สามารถที่จะตัดสินว่าสิ่งที่สื่อเหล่านี้นำเสนอถูกต้องหรือมีอคติหรือไม่

ผู้ชมชาวไทย, หลังจากที่ข่าวเกี่ยวกับวิกฤตทางการเมืองในประเทศตัวเอง กลายเป็นข่าวพาดหัวในสื่อทั่วโลก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของประเทศ คนไทยจึงมีโอกาสที่จะตระหนักถึงเรื่องนี้เนื่องจากเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาเอง สื่อหลักนั้นมักจะแบกเอาข้อจำกัดเหล่านี้เอาไว้ กล่าวคือ หากเป็นสื่อของรัฐบาลก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อให้กับรัฐบาล

และหากเป็นสื่อภาคธุรกิจ ทรรศนะก็จะมาจากผู้ที่นำเสนอ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากเรตติ้งและผลประโยชน์ ซึ่งทำให้สื่อธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเน้นอารมณ์ตื่นเต้น และทำให้เนื้อหาเป็นง่าย

และเรา ในฐานะผู้ชม เราเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องถูกตำหนิ เพราะผู้ชมไม่สามารถดูข่าวได้หากมันไม่ได้ถูกทำให้ง่ายและย่อยมาแล้ว ทำให้เข้าใจได้ และหลายๆ ครั้งก็เน้นการเร้าอารมณ์ ผู้เขียนหวังว่าเราอาศัยอยู่ในโลกแห่งอุดมคติที่ทุกคนมีความสนใจอย่างจริงใจต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคนจน และคนกลุ่มน้อยในประเทศอื่นๆ และให้เวลาในการดูสารคดี หรือภาพยนตร์ ถกเถียงถึงเรื่องเหล่านี้ อ่านหนังสือเพื่อเพิ่มความเข้าใจในประเด็นเหล่านี้ และถกเถียงอีกครั้ง

แต่ความเป็นจริงคือ เราส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอย่างนี้

ซีเอ็นเอ็นได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางเพราะมันทำให้ทุกอย่างง่าย และเพราะความนิยมอันนี้เองสื่อแบบนี้จึงมีความได้เปรียบ เมื่อเราทำงานในประเด็นระดับท้องถิ่นซึ่งเราต้องการให้โลกรู้ เริ่มแรกนั้นเราต้องทำงานด้วยสื่อของเราเอง โดยที่สื่อท้องถิ่นหยิบประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา และจากนั้นเมื่อสื่อระดับโลกอย่างซีเอ็นเอ็นหรือบีบีซีหยิบเอาประเด็นเหล่านี้แล้ว คนนับแสนจากรอบโลกก็จะสามารถส่งเสียงเพื่อหนุนเสริมประเด็นของคุณ และการประชาสัมพันธ์นั้นวัดความสำเร็จจากการเป็นที่รับรู้

เราจึงต้องการสื่อที่มีความหลากหลายทั้งรูปแบบและประเภท, สื่อที่หลากหลายจะทำให้เราสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างทางความคิดและก้าวไปสู่การวิเคราะห์ที่ลึกขึ้นได้หากเราต้องการ, และทำให้เสียงของเราได้รับการฟังด้วยเช่นกัน

คนไทยได้รับการปลูกฝังให้เชื่อว่าสื่อนั้นเป็นตัวแทนของการเสนอภาพที่ได้รับการตรวจสอบและระบายสีมาเรียบร้อยแล้ว

พวกเขาสร้างความเชื่อนี้เพราะนี่คือวิธีที่ผู้มีอำนาจระดับสูง หรือที่เรียกว่า 3 เสาหลักของชาติ (ซึ่งคนไทยได้รับการปลูกฝังให้เชื่อเช่นเดียวกัน) ได้ใช้มาเป็นเวลานาน

ดังนั้น โดยทันทีที่สื่อใหม่ซึ่งมีความแตกต่างเหล่านี้ปรากฏขึ้นแก่ประชาชน และประชาชนก็ถูกทำให้สับสนโดยสื่อเหล่านี้มากพอๆ กันกับความสับสนเกี่ยวกับชาติ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ประชาชนเริ่มคิดถึงสื่อที่นำเสนอภาคที่พวกเขาวาดขึ้นได้

พวกเขาคิดว่านี่คือสิ่งที่สื่อประชาธิปไตยควรจะนำเสนอ

พวกเขาเริ่มรู้สึกคับข้องใจเมื่อสื่อไม่สามารถที่จะสร้างภาพที่พวกเขาวาดขึ้น

โลกของสื่อไม่สามารถนำเสนอได้เพียงความสวยงามของหาดทราย ผู้คน วัดและอาหารอย่างที่คุณต้องการให้โลกได้เห็นเกี่ยวกับประเทศไทย ทว่ากลับแทนที่ด้วยการนำเสนอภาพของหญิงค้าบริการ คนที่ต้มตุ๋นนักท่องเที่ยว โรห์ฮิงญา และเรื่องอื้อฉาวต่างๆ ที่ไม่พูดกันในประเทศมันผิดหวังมาก

เมื่อพวกเขาค้นพบเฟซบุ๊ก ซึ่งดูเหมือนสื่อพลเมืองมาก พวกเขาพบว่ามันมีเสน่ห์เพราะว่าไม่ต้องใช้ความพยายามอะไร แต่พวกเขาสามารถจะระดมคน "หนึ่งล้านคน" ด้วยการพิมพ์คำสองสามคำลงบนแป้นคีย์บอร์ด! "เพื่อน" จำนวนล้านคนของฉัน! มาล่าควายกันเถอะ มาช่วยกันส่งครีมทาตาให้นายพันผู้เป็นที่รักของเรากันเถอะ!

สิ่งที่พวกเขาไม่ตระหนักก็คือ ขณะที่พวกเขาหมกมุ่นอยู่กับเกม แบบทดสอบส่งของขวัญให้เพื่อน ฯลฯ อัตลักษณ์ของพวกเขาก็ถูกทำให้เป็นสินค้าและขายเพื่อประโยชน์ทางการค้า เฉกเช่นซีเอ็นเอ็น เฟซบุ๊ก และเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ มีทั้งด้านที่เป็นข้อดีและด้านที่เป็นข้อเสีย การตระหนักถึงกุญแจทั้งสองด้านจะทำให้เกิดความสำเร็จในการใช้สื่อ

เพื่อการศึกษาที่ดีกว่าและความเข้าใจในสื่อมวลชน การอนุญาตให้สื่อทุกแขนงได้มีพื้นที่นั้นเป็นความจำเป็น การห้ามไม่เคยแก้ปัญหาภายใต้เงื่อนไขนี้เท่านั้นที่พลเมืองจะได้เรียนรู้ด้วยการทดลองและความผิดพลาด และไปสู่การมีวุฒิภาวะและฉลาดขึ้นในการใช้สื่อ

หากรัฐบาลและกองทัพทำให้ประชาชนถูกสาป ประเทศก็จะโดดเดี่ยวตัวเองจากโลกภายนอก คงอยู่ในแค็ปซูล และสำหรับประชาชน หากคุณไม่ชอบสื่อบางแห่ง แทนที่จะโจมตีไปที่ตัวบุคคล ยังคงมีหนทางอื่นอยู่เสมอที่คุณจะสร้างสื่อของคุณเองและทำให้มันเป็นแรงบันดาลใจไม่เฉพาะแต่กับคนไทยเท่านั้น แต่สำหรับประชาชนที่ไม่รู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของคุณด้วย

นี่เป็นหนทางที่สร้างสรรค์มากพอ และเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่รากฐานมากกว่าการแข่งกันล่าแม่มด

หมายเหตุ : ผู้เขียนสอนวิชาการวัฒนธรรมสื่อในเยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย โคเอเชีย และเซอร์เบีย (แต่ไม่ได้สอนในมอนเตเนโกร) เธอเลือกใช้นามปากกาสำหรับงานเขียนชิ้นนี้เพราะไม่ต้องการถูกข้อกล่าวหาจากฝ่ายที่มีความเห็นแตกต่างว่าทำงานให้ฝ่ายตรงข้าม หรือทำงานให้กับอดีตนายกรัฐมนตรี หรือรัฐบาล รวมถึงข้อกล่าวหาว่าเธอทำให้เกิดรอยแปดเปื้อนแก่ภาพลักษณ์ในทางระหว่างประเทศของไทยและขาดไร้ความเคารพในสถาบันระดับสูงของชาติ ซึ่งจะทำให้ไม่ได้รับการอนุญาตให้เข้าประเทศนี้อีกต่อไป เธอใช้นามปากกาในการทำงานในประเทศพม่า เพื่อป้องกันการถูกคุมคามจากรัฐบาลปีศาจ และข้อเท็จจริงคือเธอเศร้าใจอย่างที่สุด เพราะขณะนี้เธอต้องทำเช่นเดียวกันในประเทศไทยเพื่อจะปกป้องตัวเองจากคนไทยทั่วไป

หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกที่ หน้า 6, หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 29 มิถุนายน 2553