ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 31 July 2010

ชำนาญ จันทร์เรือง: ผมเห็นเด็กกำลังจะตายเพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่เชียงราย

ที่มา ประชาไท

ไม่มีความอัปยศอดสูใดใดในการบังคับใช้กฎหมายในช่วงชีวิตของผมที่ได้เห็นการตั้งข้อหากับเยาวชนและเด็กที่แสดงออกทางการเมืองที่มีรัฐธรรมนูญรองรับด้วยข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯกับนายธนิต บุญญนสินีเกษม แกนนำกลุ่มพลังมวลชนเชียงราย นายกิตติพงษ์ นาตะเกศ อายุ 24 ปี และนายนิติ เมธพนฎ์ อายุ 23 ปี นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏ นายเอกพันธ์ ทาบรรหาร อายุ 19 ปี นายสาทิตย์ เสนสกุล อายุ 19 ปี จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และเด็กอายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงราย

ในชั้นแรก ศอฉ. แถลงว่าการจับน.ร.-น.ศ.ทั้ง 5 คนเนื่องจากมีความผิดพ.ร.บ.การจราจรฯ แต่ความจริงแล้วตามบันทึกแจ้งข้อหาของ สภ.เมืองเชียงราย ระบุไว้ชัดเจนว่าถูกจับเนื่องจากฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมาตรา 9 (1) และ (2) คือ ห้ามไม่ให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และ ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือการทำให้แพร่หลาย ซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใดที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร ทั้งที่ข้อความที่นักเรียนและนักศึกษาทั้ง 5 คนถือไม่ได้มีข้อความใดเลยที่เข้าข่ายลักษณะดังกล่าวเลย

ข้อความที่ว่า คือ “ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์” “นายกครับอย่าเลิก พรก.ฉุกเฉินนะครับ ไม่งั้นรัฐบาลจะพัง” และ “พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องคงไว้เพื่อไม่ให้ความจริงปรากฏ” ซึ่งไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ถึงแม้ไม่ได้เรียนกฎบัตรกฎหมายมาเลยก็ย่อมที่จะรู้ว่าหามีความผิดตามกฎหมายใดใดไม่แม้แต่ พรก.ฉุกเฉินฉบับนี้ที่ให้อำนาจล้นฟ้าแก่เจ้าหน้าที่เองก็ตาม มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่ยังส่งตัวนักเรียนชายผู้นั้นไปยังสถานพินิจฯเสียอีกแต่สถานพินิจฯให้เด็กชายผู้นั้นไปพบพนักงานคุมประพฤติเซ็นต์ชื่อแล้วแจ้งว่าในวันที่ 30 ก.ค.53 ให้เด็กชายผู้นั้นกลับไปยังสถานพินิจอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากการใช้อำนาจที่เกินเลยในการตั้งข้อหาแก่เด็กและเยาวชนดังกล่าวนี้แล้ว ยังมีการคุกคาม ผู้ถูกกล่าวหาด้วยการเข้าไปถ่ายภาพและยึดโน๊ตบุ๊กของเด็กชายผู้นั้นไปอีกและจากรายงานข่าวของข่าวสดออนไลน์ประจำวันที่ 25 ก.ค.53 รายงานข่าวจากคณะทำงานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความพยายามจากนายทหารยศพันตรี สังกัดจังหวัดทหารบกเชียงราย ไปติดต่อเจ้าของฟาร์มเลี้ยงสัตว์แห่งหนึ่งในเชียงรายให้ไปกล่อมนักเรียนและนักศึกษาทั้ง 5 คนให้สารภาพว่าเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมดถูกว่าจ้างจากนายธนิต แกนนำกลุ่มพลังมวลชนเชียงราย แล้วจะช่วยให้ทั้ง 5 คนพ้นข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่น.ร.-น.ศ.กลุ่มนี้บอกปฏิเสธไป เนื่องจากไม่เป็นความจริง

การดำเนินคดีกับเด็กนักเรียนและนักศึกษากลุ่มนี้เป็นการบ้าจี้หรือเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ที่พยายามที่จะยัดเยียดความผิดให้กับเด็กเพื่อที่จะสร้างผลงานโดยไม่คำนึงถึงหลักมนุษยธรรม โดยใช้วิธีข่มขู่ให้เด็กและผู้ปกครองกลัวในสารพัดวิธีแทนที่จะปฏิบัติต่อเด็กซึ่งเป็นผู้เยาว์ด้วยเมตตาธรรม

จากประสบการณ์ในชีวิตของผมที่ล่วงพ้นวัยกึ่งศตวรรษมาหลายปียังไม่เคยพบเห็นการคุกคามสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเช่นในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงที่อยู่ในภาวะของการปฏิวัติรัฐประหารก็ตามก็ยังไม่เคยมีการตั้งข้อหาแก่เด็กนักเรียนที่ถือป้ายแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในผืนแผ่นดินที่ผู้ปกครองของรัฐได้แต่พร่ำบอกว่าปกครองบ้านเมืองด้วยนิติรัฐเช่นนี้

คำว่านิติรัฐนั้นความหมายโดยย่นย่อคือการปกครองด้วยกฎหมาย แต่ในความหมายที่แท้จริงคือการปกครองด้วยหลักกฎหมาย เพราะถ้าไม่ยึดถือหลักกฎหมายแล้วคณะปฏิวัติรัฐประหารที่เป็นเผด็จการทั้งหลายก็ออกกฎหมายมาบังคับใช้เอากับราษฎรเช่นกัน หลักกฎหมายที่ใช้กับหลักนิติรัฐที่ว่าว่านี้ก็คือการกระทำใดใดของฝ่ายบริหารต้องชอบด้วยกฎหมายที่อออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติและทั้งการกระทำใดใดของฝ่ายบริหารและการออกกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติต้องไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งในกรณีนี้ก็คือการจำกัดอำนาจของฝ่ายบริหารไม่ให้ใช้เกินกว่าขอบเขตความจำเป็นนั่นเอง

การใช้อำนาจตาม พรก.ฉุกเฉินฯของรัฐบาลชุดนี้ไม่ว่าจะเป็นการปิดสื่อ อายัดธุรกรรมทางการเงิน จับบุคคลไปคุมขังหรือเรียกบุคคลที่แสดงออกทางการเมืองไปชี้แจงนั้นขัดรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้งเพราะจำกัดสิทธิและเสรีภาพเกินกว่าเหตุตามมาตรา 29 และยังขัดต่อมาตรา 27 ที่คณะรัฐมนตรีต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักอยู่เสมอ

ป่วยการที่แกนนำของรัฐบาลตลอดจนรองเลขา ครม.ที่พร่ำบอกอยู่เสมอว่าการบังคับใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ นี้สุจริตชนไม่เดือดร้อน ตัวอย่างนี้ย่อมเห็นได้ชัดว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่สุจริตชนได้รับความเดือดร้อนเพราะเหตุไม่สามารถใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญได้ เพราะเสรีภาพนั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด และเสรีภาพนั้นจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่มนุษย์จะยอมสูญเสียก่อนชีวิตของตนเองจะสูญเสียไป

อันที่จริงแล้วการเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับใช้หรือการประกาศสถานการณ์ตาม พรก.ฉุกเฉินฯนั้นยังไม่เพียงพอต่อความเสียหายต่อสิทธิเสรีภาพเสรีภาพของบุคคลด้วยซ้ำไป ในระยะยาวแล้วตัว พรก.ฉุกเฉินฯเองก็มีปัญหาตั้งแต่เริ่มร่างกฎหมายตั้งแต่แรกแล้ว ดังจะเห็นได้จากการต่อต้านจากหลายๆองค์กร จนมหาวิทยาลัยเที่ยงถึงกับทำการเผาร่างกฎหมายฉบับนี้จนเป็นข่าวเกรียวกราวมาแล้ว

หลายคนกังวลว่าหากเลิก พรก.ฉุกเฉินฯไปแล้วจะเอากฎหมายอะไรมาใช้ ผมเห็นว่าปกติกฎหมายธรรมดาก็เพียงพออยู่แล้ว หากเห็นว่ากฎหมายธรรมดาไม่เพียงพอก็ยังกฎหมายอีกสองฉบับที่มีอานุภาพไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า พรก.ฉุกเฉินฯมากนักก็คือ พรบ.กฏอัยการศึกฯและ พรบ.ความมั่นคงฯ นั่นเองเพียงแต่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเป็นฝ่ายทหารและ กอ.รมน. เท่านั้นเอง (ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่นายกฯ ฝ่ายพลเรือนและตำรวจไม่ถูกใจนัก)

หากยังขืนคง พรก.ฉุกเฉินฯต่อไปอีก ผมว่าหมอฟันคงต้องตกงานหรือปิดคลินิกกันเป็นระนาวแน่ เพราะแค่นี้ประชาชนคนไทยก็อ้าปากกันไม่ค่อยได้อยู่แล้วครับ