ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 25 July 2010

อำนาจกับประชาธิปไตย

ที่มา ไทยรัฐ

บทบรรณาธิการ

บรรดานักสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย อาจจะผิดหวังไปตามๆกัน เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพิ่มอีกแค่ 3 จังหวัดเท่านั้น แทนที่จะยกเลิกทั้งหมดใน 19 จังหวัด เพราะนักประชาธิปไตยเห็นว่า บัดนี้ สถานการณ์ "ฉุกเฉิน" ได้สิ้นสุดลงแล้ว แม้จะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ้าง แต่ก็ไม่น่ากระทบถึงความสงบเรียบร้อย หรือเป็นภัยต่อความมั่นคงรัฐ

ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงที่ผ่านมา รัฐบาลได้ประกาศ "สถานการณ์ ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" ใน 24 จังหวัด รวม ทั้ง กทม. แต่ได้สั่งยกเลิกไปแล้วครั้งแรก 5 จังหวัด และครั้งที่ 2 อีก 3 จังหวัด "สถานการณ์ ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง" หมายถึงมีการก่อการร้าย การใช้กำลังประทุษร้ายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน หรือมีความรุนแรงกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ เป็นต้น

แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ ฝ่ายความมั่นคงเปิดเผยว่า ยังมีการเคลื่อนไหวทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ในหลายจังหวัด ทั้งของพรรคฝ่ายค้าน และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แต่เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองตามปกติ ไม่ถึงขั้นเป็นภัยร้ายแรง แต่ถึงแม้จะมีการก่อเหตุการณ์ รุนแรง รัฐบาลก็มีอำนาจประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้อีก ตามความจำเป็น

แนวความคิดที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับการคัดค้านการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สะท้อนถึงความขัดแย้งทางความคิด ระหว่างฝ่ายอำนาจนิยมกับฝ่ายประชาธิปไตย คนไทยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเป็นอำนาจนิยม ต้องการให้รัฐบาลใช้อำนาจเด็ดขาด เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือทหาร ต่างก็ต้องการมีอำนาจที่กว้างขวาง และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติไม่ต้องรับผิดใดๆ

แต่ฝ่ายนักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย เป็นห่วงว่า ถ้าใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ติดต่อกันเป็นเวลานาน เหมือนกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐก็อาจเคยตัว และ "เสพติด" อำนาจพิเศษ อาจใช้อำนาจจนเลยเถิด กลายเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และถูกร้องเรียนเรื่องการขังลืม การอุ้มฆ่า การยัดข้อหา และอื่นๆ ที่หมิ่นเหม่ต่อการขัดรัฐธรรมนูญ

พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างกว้างขวาง ทั้งในการจำกัดเสรีภาพในการเสนอข่าว การแสดงความคิดเห็น การชุมนุม และมีอำนาจแม้กระทั่ง "ปิดสื่อ" ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่? ส่วนการจับกุมคุมขัง แม้จะต้องขอหมายจับจากศาล แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็มีอำนาจที่จะจับกุม และขออำนาจศาลให้ ควบคุมตัวผู้ต้องขังได้นานถึง 30 วัน

ถ้าหากรัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐ ยังคิดที่จะคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินเอาไว้เป็นการถาวร ก็ควรจะได้ศึกษาบทเรียนกรณี 14 ตุลาคม 2516 ที่เริ่มต้นด้วยนักประชาธิปไตยเพียง 13 คน ออกไปเดินถือป้ายท้าทายกฎอัยการศึก เพื่อเรียกร้องขอรัฐธรรมนูญ จนถูกจับกุม กลายเป็นชนวนการลุกฮือของนักศึกษาประชาชนครั้งใหญ่ที่สุด จนสามารถโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการ โดยเริ่มจาก "ผู้ร้าย" ที่ถูกจับ แต่กลายเป็นวีรชน.