ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 25 July 2010

บทคัดย่อรายงาน “มุมมองต่อการสลายการชุมนุมของรัฐบาล”

ที่มา ประชาไท

บทคัดย่อของกลุ่มสันติประชาธรรมได้นำเสนอถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐในช่วงการชุมนุมของ นปช.นับตั้งแต่ การขอคืนพื้นที่ 10 เมษายน จนหลังการล้อมปราบ 19 พฤษภาคม 2553

1. เป้าหมายและยุทธวิธีในการสลายการชุมนุม
การใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของ นปช. โดยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะทั้งในวันที่ 10 เมษายน และ 19 พฤษภาคม 2553 ถือเป็นการปราบปรามประชาชนที่รุนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย มีผู้เสียชีวิตถึง 90 รายและผู้บาดเจ็บทั้งพลเรือนและเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 2,000 ราย และมีผู้สูญหายที่ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด โดยหลักการแล้ว การใช้กำลังทหารเข้าสลายและล้อมปราบการชุมนุมทางการเมืองในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยไม่ควรเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อแนวทางการเจรจาเพื่อยุติปัญหาโดยสันติยังเป็นไปได้ แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์กลับปิดประตูการเจรจาอย่างรีบเร่ง
แท้ที่จริงยุทธวิธีในการสลายการชุมนุมของนปช. คือ ปฏิบัติการทางทหารในภาวะสงครามในเมือง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการเข้าล้อมกรอบพื้นที่ การซุ่มยิงฝ่ายตรงข้ามจากที่สูง บนรางรถไฟฟ้าและทางเดินลอยฟ้าด้วยอาวุธร้ายแรง

แม้ว่าฝ่ายรัฐบาลได้ตอกย้ำว่าผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธ แต่ก็ไม่สามารถแสดงหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ก่อการร้ายที่รัฐบาลชอบกล่าวถึงนี้คือใคร มีจำนวนเท่าไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันที่ 14-19 พฤษภาคม หากพวกเขามีจำนวนมาก ทำไมรัฐบาลไม่สามารถแสดงหลักฐานการดำรงอยู่ของพวกเขาให้ปรากฏ

จริงอยู่ที่ผู้ชุมนุมเสื้อแดงบางคนมีอาวุธ แต่ก็น่าจะเป็นเพียงส่วนน้อย คำถามในที่นี้คือ หากพวกเขามีเพียงไม่กี่คน การใช้กำลังทหารกว่า 50,000 นายพร้อมอาวุธขนาดหนักจำนวนมากเพื่อจัดการกับการชุมนุมในวันที่ 19 พฤษภาคม มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร? เป็นการใช้อำนาจและกำลังที่เกินกว่าเหตุหรือไม่

ในขณะที่รัฐบาลและ ศอฉ. ช่วยกันตอกย้ำว่าการชุมนุมของคนเสื้อแดงเท่ากับ “การก่อการร้าย” ที่เต็มไปด้วยผู้ก่อการร้าย จนทำให้สังคมเข้าใจว่าผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงส่วนใหญ่เป็นผู้ก่อการร้าย แต่รัฐบาลกลับไม่ตอบคำถามให้กระจ่างว่า ประชาชนที่ถูกทหารยิงจนเสียชีวิตและบาดเจ็บทั้งหมดเป็นผู้ก่อการร้ายหรือไม่ พวกเขามีอาวุธร้ายแรงต่อสู้กับทหารหรือไม่ เพราะไม่ปรากฏว่าผู้เสียชีวิตมีอาวุธอยู่ข้างกาย และจากการชันสูตรศพ ก็ไม่พบคราบเขม่าปืนในมือของผู้เสียชีวิต

2. การสลายการชุมนุมกับมาตราฐานที่ไม่สากลของรัฐบาลไทย
ตามหลักสากลได้กำหนดว่าการใช้กำลังและอาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐต้องมีสัดส่วนที่เหมาะสมกับความรุนแรงของสถานการณ์ นอกจากนั้นขั้นตอนการใช้กำลังและอาวุธจะต้องเริ่มจากเบาไปหาหนัก โดยใช้อาวุธที่ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต (non-lethal weapons)ในการควบคุมฝูงชนก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และลดความสูญเสียและบาดเจ็บ โดยมุ่งที่จะเคารพและรักษาชีวิตมนุษย์เป็นสำคัญ การใช้อาวุธสังหารต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายและใช้ได้เพื่อป้องกันตนเองและปกป้องชีวิตผู้อื่นเท่านั้น นอกจากนั้นหากมีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หน่วยแพทย์ต้องสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที

แม้ว่า ศอฉ. ได้ประกาศว่าจะใช้ 7 ขั้นตอนเพื่อสลายการชุมนุมบริเวณผ่านฟ้าในวันที่ 10 เมษายน โดยเริ่มจากเบาไปหาหนักตั้งแต่แสดงกำลัง, ใช้โล่ดัน, ฉีดน้ำ, ใช้เครื่องขยายเสียงกำลังส่งสูง, ใช้แก๊สน้ำตา, ใช้กระบอง และใช้กระสุนยาง แต่ในทางปฏิบัติ ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 10 เม.ย. หรือก่อนที่ “ไอ้โม่ง” จะปรากฎตัวในช่วงหัวค่ำเพื่อยิงต่อสู้กับฝ่ายทหาร ก็มีผู้ชุมนุมที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงด้วยกระสุนยางและกระสุนจริงบริเวณจุดสำคัญหลายราย

ในวันเดียวกัน ปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่”ในยามวิกาล ณ สี่แยกคอกวัว และถนนดินสอ มีรายงานการใช้กระสุนยางและกระสุนจริงของเจ้าหน้าที่ทหาร แม้ว่าการใช้กระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุมยังเป็นข้อถกเถียงและต้องมีการพิสูจน์ต่อไป
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่าการใช้อาวุธสังหารโดยตั้งใจสามารถกระทำได้เมื่อเผชิญสถานการณ์คับขันและหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อปกป้องชีวิตเท่านั้น แต่ช่วงเวลาจากวันที่ 10 เมษายน จนถึงปฏิบัติการณ์ “กระชับวงล้อม” ระหว่างวันที่ 14-19 พฤษภาคม ฝ่ายรัฐได้ยกระดับการใช้กำลังและอาวุธอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการประกาศใช้กระสุนปืนจริงเพื่อป้องกันตัวจากการถูกทำร้ายโดย “กลุ่มก่อการร้าย” ติดอาวุธที่แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง ประการสำคัญ ศอฉ. ได้ประกาศเกณฑ์การใช้กระสุนจริงไว้ใน 3 กรณี คือ

1. เพื่อยิงข่มขวัญขึ้นฟ้า
2. เพื่อยิงต่อเป้าหมายเมื่อสามารถตรวจสอบได้ว่ามีกลุ่มก่อการร้าย หรือกลุ่มผู้ชุมนุมคนหนึ่งคนใดที่ถืออาวุธ ร้าย แรง อาวุธสงคราม ลูกระเบิดที่จะสามารถทำร้ายเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และประชาชนผู้บริสุทธิ์
3. ยิงเพื่อป้องกันชีวิตของเจ้าหน้าที่เมื่อจะถูกทำร้ายถึงแก่ชีวิตและไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างอื่นได้

อย่างไรก็ดี ลักษณะของการเสียชีวิตและบาดแผลของผู้เสียชีวิตจำนวน 54 ราย ชี้ว่า 40 รายเสียชีวิตจากกระสุนปืน ในขณะที่มากกว่าครึ่งพบบาดแผลบริเวณช่วงบนของลำตัว อาทิ ใบหน้า/ศีรษะ หน้าอก ท้อง ปอด และลำคอ หากวิเคราะห์ประกอบกับสถิติยอดผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 1 มิถุนายน 2553 จากศูนย์เอราวัณ ผู้เสียชีวิตเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ รวม 2 นาย ขณะที่พลเรือนเสียชีวิต 53 ราย

ข้อมูลบาดแผลและสาเหตุการเสียชีวิตดังกล่าว นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงภาพรวมการปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลไทยที่ขัดต่อกฎการใช้กำลัง 3 ข้อของศอฉ.เองแล้ว ยังชวนให้ตั้งคำถามว่า หากผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มีอาวุธสงครามจริง หรือหากมี “ผู้ก่อการร้าย” แฝงตัวอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมจริง เหตุใดตัวเลขผู้เสียชีวิตจึงเป็นผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ไม่มีอาวุธมากกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เป็นทหารหลายเท่าตัว?

นอกจากนี้ ยังมีประจักษ์พยานที่ชี้ว่าเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ชีพได้ตกเป็นเป้าการยิงของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งๆที่เจ้าหน้าที่กู้ชีพเหล่านี้แสดงตนชัดเจนว่าไม่มีอาวุธ อีกทั้งมีความพยายาม ยับยั้งการทำงานของหน่วยกู้ชีพในการปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างทันท่วงที นอกจากนี้ เมื่อเจ้าหน้าที่ทหารอยู่ในสภาพกดดัน มีสภาวะทางอารมณ์ไม่ปกติ ยังส่งผลให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องได้รับบาดเจ็บสาหัสไปด้วย

เราสามารถสรุปลักษณะของปฏิบัติการทหารได้ดังนี้ 1) ยิงโดยไม่เลือกเป้าหมาย หรือไม่ได้เป็นไปเพื่อป้องกันตัว 2) สัดส่วนการใช้กำลังไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมถึงการใช้กำลังเกินขอบเขตจากการยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง 3) สั่งปฏิบัติการในเวลาค่ำโดยไม่คำนึงถึงวิสัยทัศน์ในการมองเห็นของเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายกับผู้ชุมนุม 4) ขาดการควบคุมการใช้อาวุธอย่างระมัดระวังและเข้มงวด และ 5) ขาดความรับผิดชอบต่อการปฏิบัติการที่ละเมิดหลักสากลและกฎการใช้กำลังของศอฉ.

3. วิธีการจับกุมและทรมานผู้ต้องหามีความถูกต้องชอบธรรมหรือไม่?
ภายหลังจากแกนนำกลุ่ม นปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลได้เข้าสลายการชุมนุมและควบคุมฝูงชน ด้วยการใช้กำลังทหารและอาวุธสงคราม จนกระทั่งมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ในช่วงบ่ายถึงค่ำของวันดังกล่าว มีการจับกุมและควบคุมตัวโดยใช้วิธีการรุนแรง เช่น มัดมือไพล่หลัง จับให้นอนคว่ำ มัดมือมัดเท้า ผูกตา ทำร้ายร่างกายผู้ถูกจับกุมขณะทำการจับกุม ตลอดจนมีการจับกุมพระภิกษุสงฆ์มัดมือไพล่หลัง เป็นต้น การกระทำดังกล่าว ถือว่าไม่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี เพราะความผิดในเรื่องฝ่าฝืนข้อห้ามการชุมนุมเป็นความผิดทางการเมือง จึงต้องปฏิบัติต่อผู้ถูกจับอย่างนักโทษทางการเมือง และการจับกุมต้องไม่มีลักษณะ “ละเมิดศักดิ์ศรีของมนุษย์”
ยังมีการปฏิบัติต่อพระสงฆ์ที่ถูกจับกุมอย่างไม่เหมาะสม พระรูปหนึ่งได้ให้ข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมพระภิกษุอย่างน้อย 4 รูป จับมัดมือไพล่หลังและนำไปกองรวมไว้กับประชาชนที่ถูกจับมัดมือผูกตาอีกกว่า 20 คนเป็นเวลาหลายชั่วโมง และยังถูกทหารบริภาษด้วยวาจาที่รุนแรง พฤติกรรมเช่นนี้จึงเข้าข่าย “การทรมาน” ซึ่งถือว่าผิดหลักสิทธิมนุษยชน

4.การคุกคามต่างๆ ภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน
การข่มขู่และคุกคาม (intimidation) เป็นรูปแบบหนึ่งของความรุนแรง ที่มุ่งสร้างความหวาดกลัว และจำกัดสิทธิเสรีภาพและเจตจำนงอันอิสระของพลเมืองในการคิด แสดงความเห็น และการประกอบกิจกรรมทางการเมือง หากรัฐใดเริ่มใช้การข่มขู่คุกคามอย่างกว้างขวางต่อพลเมืองของตนเอง ย่อมแสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของรัฐนั้นเอง และยังแสดงว่าความชอบธรรมในการปกครองที่มีฐานอยู่ที่ความยินยอมพร้อมใจ (consent) ของประชาชนได้เสื่อมถอยลง จนต้องหันมาใช้การข่มขู่บังคับ (coercion) แทน

นับตั้งแต่การชุมนุมของนปช. เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา ได้พบแบบแผนการข่มขู่คุกคามโดยรัฐหลายรูปแบบดังต่อไปนี้ การเรียกตัวไปสอบสวนและอบรมตักเตือน, การคุกคามและลิดรอนสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ, กรณีการซ้อมในเรือนจำ, การคุกคามครอบครัวของแกนนำผู้ชุมนุม, และการจับกุมและคุมขังแบบเหวี่ยงแห การข่มขู่คุกคามเหล่านี้ยังดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าการชุมนุมของนปช.ได้ยุติไปนานแล้ว

กลุ่มคนที่ถูกคุกคามมีตั้งแต่แกนนำการชุมนุม ครอบครัวของแกนนำ ผู้สนับสนุนในต่างจังหวัด ผู้เข้าร่วมชุมนุมทั่วไป ผู้ที่เห็นอกเห็นใจการเคลื่อนไหวของนปช. ชาวบ้านในพื้นที่ที่ถูกมองว่าเป็นฐานที่มั่นของนปช. รวมกระทั่งผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนปช.แต่อย่างใด

5.ปฏิบัติการโฆษณาชวนเชื่อของ ศอฉ.
ภายใต้ พรก.ฉุกเฉิน ศอฉ.ได้ครองพื้นที่และเวลาจำนวนมากในสื่อโทรทัศน์และวิทยุ การแถลงของศอฉ.มีท่าทีราวกับเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน แต่แท้ที่จริงเนื้อหาสาระและวิธีการนำเสนอของ ศอฉ. นั้น เข้าข่าย “การโฆษณาชวนเชื่อ” (propaganda) เพื่อให้ประชาชนเกิดความศรัทธาในรัฐบาลและการกระทำของรัฐบาล เกิดความเข้าใจสถานการณ์แต่เพียงด้านเดียว มีการเสนอภาพที่ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและเกลียดชังผู้ชุมนุม รวมทั้งเหตุการณ์รุนแรงที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ก็กลายเป็น “ข้อสรุป” ที่เป็นทางการไป ท้ายที่สุดแล้ว การโฆษณาชวนเชื่อนี้ได้กลายเป็นความจริงของสังคมไปโดยไม่มีการตั้งคำถาม

เทคนิคต่างๆที่ศอฉ.ใช้ในการโฆษณาชวนเชื่อ เช่น เลือกกล่าวโจมตีที่ตัวบุคคล, ใช้คำ วลี ประโยคที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามน่ารังเกียจและน่ากลัว, การตัดต่อภาพและการอ้างอิงคำพูดนอกบริบท, การพูดความจริงเพียงแค่เพียงบางส่วน, การเบี่ยงเบนความสนใจออกจากประเด็นหลัก, ปิดกั้นช่องทางสื่ออื่นๆ รวมทั้งเทคนิคการสร้างความนิยมในบุคลิกลักษณะของตัวผู้โฆษณาชวนเชื่อ เช่นการเสนอภาพความน่าคลั่งไคล้ “ไก่อู” ในฐานะ “ผู้ก่อการรัก”

6.รัฐบาลและสื่อกับการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมารัฐบาลได้ปิดกั้นสื่ออินเทอร์เน็ต ปิดสื่อของฝ่ายตรงข้าม จับกุมคุมขังบรรณาธิการ โดยอ้างว่าเพื่อจัดการกับสื่อต้องการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดชังและนำไปสู่ความรุนแรง และรัฐบาลได้ย้ำว่าปฏิบัติการเหล่านั้นมิใช่การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด แท้ที่จริง ปฏิบัติการของรัฐบาลคือการปิดกั้นควบคุมสื่อและข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับรัฐบาลและกองทัพ ในการการสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มเสื้อแดง

รัฐบาลได้อาศัยอำนาจ พรบ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และพรก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมือง ดังนี้

1. ออกอากาศคำสั่งและประกาศของ ศอ.รส. และ ศอฉ. ในลักษณะรวมการเฉพาะกิจ

2. เซ็นเซอร์สื่อท้องถิ่น เช่น วิทยุชุมชุน เคเบิลทีวี โดยมีคำสั่งให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือน ยั่วยุ ปลุกปั่นประชาชน

3. สั่งปิดเว็บไซต์ 36 เว็บไซต์ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่อาจส่งผลต่อความมั่นคง

4. แทรกแซงสื่อกระแสหลักโดย ให้ระงับรายการหรือคอลัมน์ หรือตัวนักข่าว, ให้ระงับการเสนอภาพลบของปฎิบัติการทหาร เช่น ภาพทหารประทับปืนเล็ง, ให้ใช้ถ้อยคำ/วาทกรรมของฝ่ายรัฐ เช่น การขอคืนพื้นที่ การกระชับวงล้อม, ข่มขู่คุกคามและสร้างความหวาดกลัวต่อสื่อมวลชน ในช่วงการสลายการชุมนุมที่ผ่านฟ้าและราชประสงค์ ด้วยการยิงผู้สื่อข่าวจนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต รวม 9 คน (ผู้เสียชีวิตเป็นนักข่าวต่างประเทศ 2 คน), และตรวจค้นบังคับให้ลบภาพถ่าย

คำถามคือเหตุใดสื่อมวลชนจึงตกเป็นเป้าหมายของการลิดรอนสิทธิเสรีภาพ ถูกปิดกั้นด้วยการใช้ความรุนแรงขั้นสูงสุด (ถ้าพวกเขาไม่ได้ถูกยิงโดยบังเอิญ) ภาพการสลายการชุมนุมที่ประชาชนถูกยิงเสียชีวิต 90 คนและบาดเจ็บนับพัน เป็นภาพที่ฝ่ายรัฐต้องการปกปิดกระนั้นหรือ ถ้าเป็นเช่นนั้นคำถามที่ตามมาคือมีอะไรบ้างที่ต้องปกปิด รัฐบาลต้องสืบสวนหาข้อเท็จจริงและตอบคำถามกับสังคมและผู้เสียหายอย่างเร่งด่วน อาทิ ต่อรัฐบาลญี่ปุ่นและครอบครัวของนักข่าวชาวญี่ปุ่นจากสำนักข่าวรอยเตอร์สที่ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 10 เมษายน

ท้ายที่สุด การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ เป็นเงื่อนไขให้รัฐใช้อำนาจข่มขู่คุกคามพลเมืองอย่างเกินขอบเขตต่อไปโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิไม่สามารถเรียกหาความรับผิดชอบและเรียกร้องความเสียหายจากรัฐได้ในภายหลัง ประการสำคัญ เป็นการสร้าง “บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว” ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแสวงหาความจริงและความยุติธรรมต่อเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน และ19 พฤษภาคม สิ่งที่รัฐบาลควรตระหนักอย่างยิ่งคือ การคุกคามพลเมืองอย่างต่อเนื่องและเหวี่ยงแห มีแต่จะทำให้สังคมแตกแยกยิ่งขึ้น พลเมืองจะขาดความไว้วางใจต่ออำนาจรัฐมากยิ่งขึ้น จนอาจถึงขั้นปฏิเสธอำนาจรัฐ และท้ายที่สุดจะทำให้ระบอบการเมืองไร้เสถียรภาพและรัฐบาลอยู่ในสภาพที่มีอำนาจแต่มิอาจปกครองได้อีกต่อไป

ติดตามอ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่:กลุ่มสันติประชาธรรม http://www.peaceandjusticenetwork.org/