ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Friday, 23 July 2010

"ยุกติ มุกดาวิจิตร" เปิดโฉมหน้า"ชนบทใหม่" คนยอดหญ้าผู้ตื่นตัว เจ้าพ่อใหม่ เสื้อเหลืองและเสื้อแดง

ที่มา มติชน


“พลเมืองโลกในหมู่บ้าน” อย่างที่ ศ.ชาร์ลส์ คายส์ พูดถึง เกิดขึ้นแล้ว

"ยุกติ มุกดาวิจิตร" อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหนึ่งในนักวิจัยที่ศึกษาวิจัยเรื่อง"จุดเปลี่ยนชนบทไทย"

เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์ยุกติ ไปพูดที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในหัวข้อเดียวกับงานวิจัย

ประเด็นของ อาจารย์ยุกติ น่าสนใจ ตรงที่เป็นการเปิดโฉมหน้า ชนบทไทย ที่กลายเป็น"ชนบทใหม่"

"มติชนออนไลน์" นำสาระมานำเสนอท่านผู้อ่าน ดังนี้

อาจารย์ยุกติ เปิดภาพว่า “ชนบทใหม่” มีตัวแบบหลายตัวแบบ แต่ตัวแบบที่ถูกพูดถึงมากในสังคมไทยก็คือ ตัวแบบชุมชนท้องถิ่น ที่อาจจะมองว่า ชนบทถูกทุนนิยมทำลาย หรือสูญเสียพลังท้องถิ่นดั้งเดิม

อีกแบบคือ ชุมชนท้องถิ่นอุปถัมภ์ ซึ่งจะพ่วงมาด้วยความคิดทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งผู้อุปถัมภ์ไม่ใช่การเลือกตั้งผู้แทน แล้วการเลือกตั้งไม่สะท้อนนโยบายแต่เป็นการเลือกบุคคล เลือกพรรคมากกว่า นอกจากนี้ ในงานวิจัย กำลังคิดถึงตัวแบบชนชั้นกลางใหม่ คือ คนในชนบทเป็นชนชั้นกลางใหม่ และเป็นพลเมืองผู้ตื่นตัว

เมื่อย้อนกลับไปดูภาพที่กว้างขึ้น สมมติฐานที่เราตั้งไว้ก็คือ เราเห็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดชนชั้นกลางขึ้นมา แล้วมีพลังเคลื่อนไหว ที่เรียกว่า พลังเคลื่อนไหวนอกระบบราชการ

แต่ปัจจุบัน หลังพฤษภาคม 2535 และหลังรัฐธรรมนูญ 2540 กระทั่งการนำมาสู่ความขัดแย้งระลอกใหม่ หลังการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา ทีมวิจัยมองว่า เราไม่สามารถเข้าใจ ด้วยตัวแบบเก่าต่อไป เพราะตัวแบบชนชั้นกลางเดิมที่เราเข้าใจ ไม่สามารถอธิบายความเปลี่ยนแปลงในช่วงหลังได้อีกต่อไป

ผมจึงเรียกคนที่เติบโตทางการเมือง ขึ้นมาในช่วง 2516 – 2535 ว่า “ชนชั้นกลางเก่า” แล้ว เราเรียกกลุ่มคนหลังจากนั้นมาว่าเป็น “ชนชั้นกลางใหม่”

ฉะนั้น การเมืองไทยหลัง พฤษภา 2535 ก็จะมีการเมืองของชนชั้นกลางเก่า กับ การเมืองของชนชั้นกลางใหม่ สิ่งเหล่านี้ ผมเชื่อว่า มันเกิดขึ้นคู่ขนานกัน แล้วมันค่อยเป็นค่อยไป และค่อยปรากฏตัวขึ้นอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ หลัง การรัฐประหาร 2549

ทั้งนี้ การเมืองของชนชั้นกลางเก่า อยู่กับราชาชาติธิปไตย ในศัพท์ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกุล ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ สามเส้าระหว่าง สถาบันกษัตริย์ กลุ่มอำมาตย์ และผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ขณะเดียวกัน มีความพยายามเชิดชูระบบรัฐสภา แต่โครงสร้างที่อยู่นอกระบบรัฐสภานั้นยังอยู่ มีการเติบโตของสื่อมวลชน ปัญญาชน สิ่งสำคัญคือ การเติบโตของการเมืองภาคประชาชนที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น

ส่วนการเมืองของชนชั้นกลางใหม่ มีความผูกพันกับอิทธิพลท้องถิ่น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาอย่างเป็นระบบ แล้วส่งผลกับการเปลี่ยนแปลงในชนบท มากๆ ก็คือ เกิดพลังการเมืองท้องถิ่นที่เป็นระบบ และกล่าวได้ว่าเป็นระบบการเมืองประชาธิปไตยในท้องถิ่น

สรุปก็คือ การเมืองไทยหลังพฤษภาคม 2535 เกิดชนชั้นกลางเก่า ซึ่งเป็นฐานมวลชนของคนเสื้อเหลือง ส่วนชนชั้นกลางใหม่เป็นฐานมวลชนของคนเสื้อแดง

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ มีลักษณะท้องถิ่นนิยมกับการเมืองไทยเกิดขึ้น และสิ่งที่เราเคยคิดกันว่าพรรคการเมืองไทยไม่ได้มีผลกับนโยบายเท่าไหร่ ชาวบ้านจะเลือกตัวบุคคล แต่เอาเข้าจริงแล้ว ความเป็นท้องถิ่นของพรรคการเมืองไทย อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงลักษณะเชิงนโยบายอยู่ ด้วยเหตุที่พรรคการเมืองบางพรรค ดำเนินนโยบายที่มีการส่งกับการดำเนินชีวิตผู้คนใน ท้องถิ่น

ฉะนั้น เราไม่สามารถมองข้ามได้ว่า พรรคการเมือง หรือนโยบายของพรรคการเมือง ไม่มีผลกับชีวิตของผู้คน มีผล แต่มีผลเป็นหย่อมๆ (เท่านั้น)

ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ลักษณะท้องถิ่นการเมืองที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังนโยบายพรรคไทยรักไทย ได้สร้างขั้วของความขัดแย้งในเชิงท้องถิ่นขึ้นมา โดยทำให้เกิดความขัดแย้งที่สอดคล้องกับความขัดแย้งพรรคการเมืองมากขึ้น ฉะนั้น พรรคการเมืองจึงมีส่วนในการกำหนดนโยบาย แล้วชาวบ้านเวลาเลือกตั้ง ก็เลือกนโยบายของพรรคการเมืองด้วย

ทั้งหมดนี้ เพื่อจะปฏิเสธความคิดที่ว่า นักการเมืองหรือพรรคการเมือง สามารถควบคุมคะแนนเสียงได้อย่างง่ายดาย

ฉะนั้น ถามว่า ใครคือชนชั้นกลางที่ว่านี้ คำตอบก็คือ เป็นคน “ยอดหญ้า” ไม่ใช่รากหญ้า หรือไม่ใช่เป็นคนที่จน

แต่คนกลุ่มนี้มีความรู้สึกว่า เขาเป็นคนที่ถูกกระทำ ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งไม่ใช่เป็นประเด็นเศรษฐกิจ แต่เป็นประเด็นด้านการเมือง ผมใช้คำว่า ประชดตนว่าเป็น “ไพร่” แต่หลายคนไม่ได้เป็นไพร่ในความหมายที่แท้จริง

ที่น่าสนใจอีกประการก็คือ ชนชั้นกลางใหม่ จริงๆ แล้ว เป็น “พลเมืองโลกในหมู่บ้าน” อย่างที่ ศ.ชาร์ลส์ คายส์ ให้ความหมายไว้ ซึ่งก็คือ เขายังมีลักษณะเชิงท้องถิ่น มีความผูกพันธ์กับท้องถิ่นอยู่ แต่เขามีความสัมพันธ์กับโลกภายนอกมากขึ้น และไม่ใช่โลกเฉพาะที่อยู่ในเมืองเท่านั้น แต่เป็นโลกที่ไกลออกไปด้วย

หลายคนเป็นสะใภ้ต่างชาติ หรือ หลายคนไปทำงานต่างประเทศ ส่งเงินกลับมา หมู่บ้านบางหมู่บ้านที่ไปสำรวจพบว่า จำนวนเปอร์เซ็นต์ที่ไปทำงานต่างประเทศ อาจะ 10 % แต่รายได้ที่ไปทำงานต่างประเทศ ไปสนับสนุนรายได้ครัวเรือน ไม่น้อยไปกว่าการทำงานภาคเกษตรที่เขาทำอยู่ ประเด็นคือ ชุมชนท้องถิ่น หรือชนบท ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

ส่วนการเมืองในชนบท จากงานวิจัยและการเก็บข้อมูลเบื้องต้น พบว่า กลุ่มคนที่เราเรียกว่าผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น เขามีพลวัตมากขึ้น เกิดเจ้าพ่อใหม่ ส่งลูกเรียน อ๊อกซฟอร์ด ไม่ได้ส่งเรียนธรรมศาสตร์ จุฬาฯ หรือเอแบค อีกแล้ว ซึ่งไม่ใช่เป็นเจ้าพ่อควงปืนแบบเก่าหรือไม่

ขณะเดียวกัน ธุรกิจการเมืองที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นก็เกิดการแข่งขันกันสูง เกิดความเคลื่อนไหวสูง นักธุรกิจบางคนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีอิทธิพลในทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้เป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมือง ฉะนั้น ความมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ไม่จำเป็นต้องผูกพันกับการมีอิทธิพลทางการเมืองอีกต่อไป ตรงนี้มีนัยยะสำคัญ

นอกจากนี้ ระบบอุปถัมภ์มีพลวัตสูง แล้วระบบอุปถัมภ์ในลักษณะใหม่ ชาวบ้านหรือรักธุรกิจต่อรองได้มากขึ้น ตัวอย่างเช่น นายกฯอบต. บางพื้นที่เลือกหรือกล้าท้าทายอำนาจสิ่งที่ชาวบ้านเรียกว่าบ้านใหญ่ เหตุผลที่เขาบอกก็คือ เราไม่เคยขออะไรเขา เขาก็ไม่สามารถมาข่มขู่เราได้

ตรงนี้น่าสนใจว่า อำนาจอิทธิพลต่อรองได้มากขึ้น นอกจากนี้ อบต. ต่างๆ มีอำนาจในการบริหารจัดการเงินงบประมาณของตัวเองอย่างแท้จริง ที่สำคัญ การกระจายข้อมูลข่าวสาร ให้ภาพเครือข่ายทางการเมืองและสังคมแบบใหม่ที่

ข้ามพ้นชุมชนชนบทแบบเก่า เช่น วิทยุชุมชน ปัญญาชนท้องถิ่น เดินสายทำงานมวลชน ประสานกับปัญญาชนในกรุงเทพฯ สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่ในเครือข่ายของนักการเมืองเสมอไป เขามีความอิสระในตัวเองมากขึ้น

ฉะนั้น การรับข้อมูลข่าวสารในชนบทมีพลวัตมากขึ้น เนื่องจากมีคนกระจายตัวแตกต่างไปจากอดีตมากขึ้น เกิดชุมชนใหม่ๆ ขึ้นมา

อีกอย่างเรียกว่า “ประชาธิปไตยท้องถิ่น” การกระจายอำนาจ เป็นสิ่งที่เราเรียกร้องมานาน และเกิดผลชัดเจนมากขึ้น เกิดการกระจายรายได้ ในการจัดสรรทรัพยากรท้องถิ่นชัดเจนมากขึ้น นำไปสู่พื้นที่ทางการเมืองในชนบทที่เปลี่ยนไป การพึ่งพิงระบบราชการลดลง คนแทบไม่ต้องเดินทางไปอำเภอ

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น บางหมู่บ้าน ชาวบ้านกำลัง จะมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน โดยบางคนหาเสียงว่าเขาจะอยู่แค่ 4 ปี ซึ่งน่าสนใจว่า เขาอยากได้การเมืองที่มีพลวัตมากขึ้น

ที่สำคัญ การเมืองเลือกตั้งในท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญมากขึ้น ในหลายพื้นที่ การตัดสินใจอำนาจทางการเมืองอยู่กับผู้คนในท้องถิ่นมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการเมืองกึ่งเลือกตั้ง กึ่งแต่งตั้ง ก็คือ สภาองค์กรชุมชน ซึ่งอาจกำลังมีบทบาทมากขึ้น

ฉะนั้น วัฒนธรรมการเลือกตั้ง มี 2 ตัวแบบที่ผู้วิจัยจะเสนอ อยากจะท้าทายว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดการแพ้ชนะเลือกตั้ง โดยเฉพาะในชุมชนหมู่บ้าน ถ้ามีการเหวี่ยงแห มันจะไม่สำเร็จ เพราะถ้าคุณทอดแหไม่เป็น มันจะไม่ได้ปลา

ระบบหัวคะแนนก็เช่นเดียวกัน เขาไม่แจกไปทั่ว คือ แจกทั่วชาวบ้านอาจจะรับ แต่ไม่จำเป็นต้องเลือก แต่จริงๆ แล้วคนที่แจกเงินเป็น เขาจะรู้ว่าแจกใครไม่แจกใคร อาจจะมีพื้นที่เสี่ยงบางพื้นที่หรือพื้นที่ที่เขามั่นใจ ว่าได้แน่ๆ เขาก็ไม่ต้องต้องแจกนะ ผู้ลงคะแนน เป็นผู้ตัดสินใจในเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรม แต่ผมไม่ได้บอกว่า ควรนำปัจเจกในชุมชนมาเป็นตัวตัดสินใจเด็ดขาด โดยไม่ได้คำนึงถึงอะไรเลย อย่างนั้นไม่ใช่ เขายังมีเครือข่ายของเขา

แต่การตัดสินใจของเขา ไม่สามารถจะสรุปง่ายๆ ว่า เขาถูกครอบงำในระบบอุปถัมภ์ เช่น ไปถามครอบครัว ครอบครัวหนึ่ง มี 6 คน ซึ่งมีญาติ 2 ฝ่าย ถามว่าชาวบ้านจะจัดสรรยังไง เขาบอกว่า ตกลงกันเลยว่าฝั่งละ 3 ก็พอ แล้วก็แบ่งกันไป เข้าคูหาก็กาคนละ 3

ฉะนั้น ถามว่าอยู่ในระบบอุปถัมภ์หรือเปล่า ก็อาจปฏิเสธไม่ได้ แต่ถามว่า เขาไม่ตัดสินใจเหรอ ก็ไม่ใช่ ฉะนั้น ผมคิดว่าเราต้องละเอียดอ่อนกับตรงนี้มากขึ้น

ฉะนั้น ข้อสรุปก็คือ ชนบทใหม่ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน ขณะที่พลวัตทางเศรษฐกิจและการเมืองท้องถิ่นเปิดพื้นที่ทางเศรษฐกิจการเมืองให้กับคนในชนบทมากขึ้น และต้องการการเมืองของการเลือกตั้ง โดยไม่แบ่งสี ที่สำคัญ ชาวชนบท ไม่สามารถกลับไปสูดอากาศ ประชาธิปไตยน้ำเน่าได้อีกต่อไป

หมายความว่า การเมืองที่ผ่านมา อย่างน้อยในช่วง รัฐธรรมนูญ 2540 ได้ให้อากาศแบบใหม่กับคนในชนบท

กลุ่มพันธมิตรฯ ไม่สามารถ ที่จะดำเนินบทบาททางการเมืองในแบบ นอกระบบการเมืองเลือกตั้งได้ เพราะการเมืองระบบเลือกตั้งได้สถาปนาตัวเอง เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองแบบใหม่ในท้องถิ่นไปแล้ว ซึ่ง อาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อ่านงานวิจัยของผม แล้วบอกว่า "ไม่เชื่อว่ามีชนบทไทยอีกต่อไปแล้ว "

นี่คือ โฉมหน้า ชนบทใหม่ ผ่านสายตา "ยุกติ มุกดาวิจิตรและพวก"