ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 24 July 2010

2 มาตรฐาน กรมสอบสวนคดีวิเศษ! Double Standard Investigation

ที่มา โลกวันนี้

เรื่องจากปก
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข
ปีที่ 6 ฉบับที่ 269 ประจำวัน ศุกร์ ที่ 23 กรกฏาคม 2010
โดย ทีมข่าวรายวัน

ดูภาพใหญ่

ครบ 3 เดือนหลังเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่จบลงด้วยชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์ 90 ศพ บาดเจ็บและพิการอีกเกือบ 2,000 คน และไม่รู้ว่าถูกจับขังลืมอีกกี่ร้อยคน ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ยังอ้างความจำ เป็นในการคง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไป

แม้จะมีการทยอยยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 ครั้งใน 8 จังหวัดก็ตาม แต่ก็ไม่ต่างกับราวคุณหมอเลี้ยงไข้ หรือเป็นเพียงการหาเสียงและพยายามกลบเกลื่อนซากศพและกองเลือด ซึ่งวันนี้นายอภิสิทธิ์ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบและไม่มีคำตอบให้สังคมกับการสังหารโหดอย่างเลือดเย็นที่เกิดขึ้น แต่กลับกล่าวหาและไล่ล่าคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้ามต่อไปด้วยข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” และ “ล้มสถาบัน”

7 เหตุผลคง พ.ร.ก.ติดหนวด

ในขณะที่การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม อ้าง 7 เหตุผลในเอกสารลับที่จำเป็นต้องประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปคือ 1.ยังมีการชุมนุมทางการเมืองอยู่ ถ้ายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะนัดชุมนุมโดยทันที 2.หลายพื้นที่ใช้ช่องทางการสื่อสารปลุกระดมทั้งวิทยุชุมชนและโทรทัศน์ดาวเทียม 3.ยังมีการเคลื่อนไหวสร้างความวุ่นวาย 4.มีความเคลื่อนไหวนอกประเทศ 5.มีการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมืองให้กับเยาวชน 6.มีการยุยงสร้างความแตก แยกให้เกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการและประชาชน และ 7.มีการข่มขู่ที่จะก่อวินาศกรรมและทำร้ายบุคคลสำคัญระดับวีไอพี

แต่มีรายงานว่านายอภิสิทธิ์ได้ให้รัฐมนตรีด้านความมั่นคงกำชับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติให้บังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินตามขั้นตอนอย่างเคร่งครัด ไม่ให้ใช้อำนาจเกินขอบเขตของกฎหมายและตอบคำถามสังคม เพราะมีข่าวมาว่าแม้แต่ตำรวจจราจรบางคนยังอ้างคำสั่ง ศอฉ. จับประชาชนที่ทำผิดกฎหมาย

ที่นี่มีคนตาย!

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่คนเสื้อแดงก็ยังคงออกมาต่อสู้และเรียกร้องความยุติธรรมอย่างสันติวิธี แม้ว่าจะถูกเจ้าหน้าที่พยายามขัดขวางหรือจับกุมก็ตาม เช่น นักเรียนและนักศึกษาที่เชียงรายจำนวน 3 คน ถือป้าย “ผมเห็นคนตายที่ราชประสงค์” ยังถูกหมายเรียกในข้อหา “ชุมนุมหรือมั่วสุมกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย” ตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน

เช่นเดียวกับนายนที สรวารี ผู้ร่วมเคลื่อนไหวกิจกรรม “วันอาทิตย์สีแดง” ที่ราชประสงค์ ถูกจับกุมขณะตะโกนว่า “เราเห็นคนตาย ที่นี่มีคนตาย เพื่อนเราถูกฆ่า เอาชีวิตเพื่อนเราคืนมาแล้วพวกเราจะปรองดองด้วย” ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

แต่ที่น่าอนาถที่สุดคือป้าย แยกราชประสงค์ที่คนเสื้อแดงและภาคประชาชนผูกผ้าแดง และมาร่วมกันแสดงออกทางการเมืองผ่านกิจกรรมต่างๆเท่าที่จะทำได้ เพื่อรำลึกและเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ โดยใช้สโลแกนว่า “ณ จุดนี้มีคนตาย” และ “ที่นี่มีคนตาย” ก็ถูกปลดออกไป โดยอ้างว่าปลดออกไปเพื่อทำความสะอาดจากสีที่ถูกพ่น ทั้งที่ไม่น่าเป็นไปได้เพราะมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าดูแลอยู่ตลอดเวลา จนเจ้าหน้าที่ต้องเอาป้ายมาแสดงต่อสื่อมวลชนว่าถูกพ่นสีจริง แต่ก็ไม่ค่อยมีคนเชื่อว่าถูกพ่นก่อนถอดป้าย จนในวันต่อมาเจ้าหน้าที่ต้องรีบนำกลับมาติดตั้งกลับคืนที่เดิม

ข่มขืน-ทำร้าย-ข่มขู่

ขณะที่คนเสื้อแดงอีกจำนวนมากที่ถูกข่มขู่ กลั่นแกล้ง และทำร้าย อย่าง น.ส.จรรยาภรณ์ แก้วนอก อายุ 39 ปี ที่มาร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดง ได้ออกมาเรียกร้องขอความเป็นธรรมกรณีถูกข่มขืนระหว่างมาชุมนุมตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม และได้แจ้งความต่อ สน.ปทุมวันแล้ว หลังจากนั้นยังถูกทำร้ายร่างกายจนกระดูกข้อต่อแก้ม ขวาแตกจากชายนิรนามบริเวณ สถานีรถไฟหัวลำโพงเมื่อเช้าวันที่ 20 กรกฎาคม ซึ่งมีหลักฐานการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลกลาง แต่ผ่านมากว่า 2 เดือนแล้วคดีก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ

เช่นเดียวกับนางศิณีนาถ ชมพูษาเพศ อายุ 29 ปี ถูกยิงที่หัวเข่าทะลุเจ็บสาหัสและถูกจับข้อหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะอยู่ในเหตุการณ์เผาศาลากลาง นอกจากนี้กลุ่มแม่ยกพ่อยก “อภิสิทธิ์” ยังเขียนจดหมาย ข่มขู่ ด่าทอ และสาปแช่งนางหอม ศิลปะ วัย 82 ปี ซึ่งดูแลลูกของนางศิณีนาถ 3 คนในบ้านผุพังอย่างหยาบคาย และเหยียดหยามว่าเป็นครอบครัวคน เสื้อแดง เป็นคนอีสานที่ทั้งใจ ง่าย โง่ ขายตัว ยอมเป็นขี้ข้าทักษิณ และขอให้คนทั้งตระกูลตายโหง ซึ่งไม่ได้แตกต่างกับขบวนการล่าแม่มดออนไลน์ที่เล่นงานนายวิทวัส ท้าวคำลือ หรือ “มาร์ค V11” จนต้องออกจากรายการเรียลิตี้ “ทรู อะคาเดมี แฟนเทเชีย ซีซั่น 7” เพียงเพราะไปโพสต์ในเฟซบุ๊คด่านาย อภิสิทธิ์ไม่รับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมจนมีคนตาย แม้จะใช้ถ้อยคำข้อความที่ไม่สุภาพเพราะใช้ภาษาแบบเด็กวัยรุ่น แต่หากแยกคำหยาบคายออกแล้วจะพบว่าเนื้อหาที่โพสต์ก็สะท้อนความจริงได้อย่างน่าขบคิด

ตุลาการอัมพาต!

แต่เหตุการณ์สังหารโหดจากผ่านฟ้าฯถึงราชประสงค์ที่เกิดขึ้นก็ไม่สามารถลบความทรงจำของคนเสื้อแดงและประชาชนที่รักความยุติธรรมและประชาธิปไตยได้ การออกมาต่อสู้อย่างสันติวิธีและการแสดงออกผ่านกิจกรรมต่างๆเท่าที่ทำได้จึงเป็นวิธีเดียวที่จะทำได้ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งกลายเป็นอำนาจครอบจักรวาลที่เจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหารนำมาข่มขู่และจับกุมประชาชนทั่วประเทศ ไม่ต่างกับกฎหมายภายใต้การปฏิวัติรัฐประหารของระบอบเผด็จการทหาร

เพราะวันนี้มีแต่ “ผู้ถูกกระทำ” 90 ศพกลายเป็นวิญญาณที่ไม่รู้จะเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากใคร เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้ปราศจาก “ผู้กระทำ” ส่วนผู้บาดเจ็บก็ไม่มีเสียงที่จะร้องออกมาให้สังคมได้ยิน เพราะสื่อของคนเสื้อแดงถูกปิดตายทั้งหมด ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ผ่านดาวเทียม และวิทยุชุมชน ทั้งยังถูกตามข่มขู่คุกคามอีก

ส่วนคนเสื้อแดงที่ถูกคุมขัง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯซึ่งเข้าไปตรวจสอบในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครก็พบว่ามีการปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยผู้ถูกคุมตัวไม่มีทนายให้คำปรึกษา ไม่สามารถติดต่อญาติและครอบครัว และมีปัญหาเรื่องการรักษาพยาบาล

แม้แต่กระบวนการยุติธรรมปรกติก็ยังเป็นอัมพาตชั่วขณะ จนศาลเองก็ถูกตั้งคำถามว่าทำไมไม่เข้ามาคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แม้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจะมีอำนาจมากมายอย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เตะออกไปทั้งหมด เพราะเจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบตามมาตรา 17 ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน??

กระบวนการยุติธรรมไทยวันนี้จึงเหมือนคำ 2 คำที่มีความหมายแยกออกจากกัน คือคำว่า “ยุติ” กับคำว่า “ธรรม” คือ “เลิกแล้วซึ่งความเป็นธรรม” ในสังคมขณะนี้นั่นเอง

ดีเอสไอไล่บี้เสื้อแดง

โดยเฉพาะกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ที่เป็นกรรมการ ศอฉ. และรับผิดชอบคดีคนเสื้อแดงและนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาเป็น “ผู้ก่อการร้าย” และ “ล้มสถาบัน” ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหมือน “ชงเอง กินเอง” เพราะทั้งกล่าวหาและสอบสวนเอง ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของดีเอสไอได้ว่ามีความยุติธรรมและตรงไปตรงมาหรือไม่

ตั้งแต่เหตุการณ์ 10 เมษายน ยิ่งเห็นบทบาทและตัวตนของนายธาริตได้ชัดเจนในการรุกไล่กล่าวหาและไล่ล่าคนเสื้อแดงในข้อหาเป็นผู้ก่อการร้ายและสะสมอาวุธร้ายแรง หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยข้อหา “ล้มสถาบัน” ในขณะที่มีข้อกังขา เรื่องหลักฐานและอาวุธต่างๆที่ดีเอสไอนำมาแสดงนั้นไม่ได้ระบุชัดเจนว่านำมาจากไหน และได้มาอย่างไร เช่นเดียวกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่อยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรมก็มีคำถามเรื่องการชันสูตรศพผู้เสียชีวิตที่ไม่มีการเปิดเผยให้ญาติผู้เสียชีวิตและประชาชนรับรู้เลย

อย่างคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท ซึ่งมีผู้เข้าข่ายกระทำ ผิด 27 คน ดีเอสไอก็อ้างหลักฐานจากแผนผังของ ศอฉ. และยืนยันว่ามีหลักฐานการกระทำเป็นเครือข่ายตามสื่อออฟไลน์ออนไลน์ มีทั้งท่อน้ำเลี้ยง แต่ก็ไม่ได้แตกต่างจากคดีผู้ก่อการร้ายที่มีแต่คำแถลงกว้างๆ โดยไม่มีหลักฐานชัดเจนมาแสดง แต่ ศอฉ. และดีเอสไอก็ใช้อำนาจตรวจสอบและหยุดการทำธุรกรรมทางการเงินของบุคคลและนิติบุคคลเกือบ 200 ราย ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาหลายคนได้แจ้งความกลับและเรียกร้องขอความเป็นธรรม ทั้งที่รู้ดีว่าไม่มีผลใดๆ เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้ความคุ้มครองการทำงานของเจ้าหน้า ที่ แม้แต่การฆ่าและทำร้ายประชาชนก็ตาม

ฮากลิ้งคดี “ไอ้หรั่ง”

แต่ที่เป็นข่าวฮือฮาล่าสุดคงหนีไม่พ้นกรณีนายสุรชัย หรือหรั่ง เทวรัตน์ อายุ 25 ปี ที่ดีเอสไอระบุว่าเป็นลูกน้องคนสนิทของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ถูกดีเอสไอระบุว่าก่อเหตุร้ายแรงในช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงถึง 8 คดี รวมทั้งการยิงเอ็ม 79 เมื่อวันที่ 10 เมษายน จน พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม นายทหารบูรพาพยัคฆ์ เสียชีวิต ซึ่งนายสุรชัยได้รับการฝึกจาก เสธ.แดง และยังพาไปฝึกที่ไต้หวันอีกด้วย

แต่ดีเอสไอก็หน้าแตกเมื่อทางไต้หวันยืนยันว่าตรวจสอบชัดเจนแล้วว่านายสุรชัยไม่เคยเดินทางไปไต้หวัน ขณะที่นายธาริตก็กลับคำให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าเดินทางไปจีนแทน เช่นเดียวกับการอ้างคำให้การของนายสุรชัยที่ยอมรับเรื่องก่อเหตุร้าย แต่ต่อมาดีเอสไอก็พลิกคำพูดว่านายสุรชัยยังไม่ยอมให้การ

โดยดีเอสไอกลับยื่นข้อเสนอจะดูแลภรรยาและแม่นายสุรชัยหากยอมเป็นพยานในคดีถูกล่อซื้ออาวุธสงคราม ซึ่งก่อนหน้านี้ดีเอสไอนำอาวุธสงครามและเครื่องกระสุนมากมายมาแสดงและยืนยันว่าเป็นหลักฐานที่ล่อซื้อจากนายสุรชัยด้วยเงินเพียง 60,000 บาทเท่านั้น จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือที่นายสุรชัยที่หนีข้ามไปถึงเขมรแต่สามารถกลับมาขายอาวุธมากมายได้ และขายถูกมากเพียง 60,000 บาท นอกจากราคาถูกมากแล้วยังน่าสงสัยอีกว่าขนมาได้อย่างไรทั้งจำนวนและน้ำหนักมากขนาดนั้น? เหมือนกรณีนำอาวุธสงครามมาก มายมาแสดงหลังปราบปรามคนเสื้อแดงว่ายึดได้จากที่ชุมนุม โดยไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดเลยว่ายึดได้จากที่ไหนและเมื่อใด ขณะที่ผู้สื่อข่าวก็ไม่เคยรู้เห็นเลย ทั้งที่เกาะติดในพื้นที่ชุมนุมแทบตลอด 24 ชั่วโมง

ล้มคดีไซฟ่อนเงินทีพีไอ

แต่ดีเอสไอกลับทำให้คนทั้งประเทศต้องอึ้งไปตามๆกันที่จู่ๆก็มีคำสั่งไม่ฟ้องบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ในความ ผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ ข้อหายักยอกเงินหรือไซฟ่อนเงินบริจาค 258 ล้านบาทให้กับคนในพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างเหตุผลว่าไม่มีหลักฐานเพียงพอ เนื่องจากการสอบสวนของทีมสอบสวนชุดก่อนหน้านั้นที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นหัวหน้า ใช้หลักฐานจากคำบอกเล่าโดยไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่สามารถเอา ผิดได้

ที่คดีนี้น่าสนใจเพราะเกี่ยวข้องกับคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าจะยุบพรรคตามความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือไม่ โดยคดีนี้ดีเอสไอรับมาเป็นคดีพิเศษเมื่อกลางปี 2551 และเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต. ก็เคยออกมาตำหนิดีเอสไอที่ส่งหนังสือชี้แจงมาให้ว่าไม่ได้มีอะไรชัดเจน เลยว่าใครทำผิดอย่างไร รวมทั้งการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารทีพีไอฯเกี่ยวกับการยักยอกเงิน

นายธาริตจึงถูกวิจารณ์ว่าเหมือนพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยพรรคประชาธิปัตย์ที่กำลังจะถูกฝังลงหลุม เพราะความเห็นไม่สั่งฟ้องทีพีไอฯ รวมไปถึงเรื่องการทำนิติกรรมอำพรางจ้างบริษัท แมสไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น จำกัด ทำสื่อโฆษณา ที่กำลังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญด้วย แม้ กกต. และอัยการจะออกมาชี้แจงว่าไม่เกี่ยวข้องกันก็ตาม ทั้งข้อกล่าวหาก็มีข้อมูลหลักฐานหนักแน่นพอที่จะชี้ให้เห็นความผิดจนนำไปสู่การยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้

แต่ไม่ว่านายธาริตจะอธิบายชี้แจงอย่างไรคงหนีไม่พ้นข้อครหาเรื่อง “เส้นใหญ่” และถูกมองว่ารับใช้พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนี้ก็เร่งทำคดีก่อการร้ายและคดีล้มสถาบันอย่างหามรุ่งหามค่ำ ในขณะที่สังคมตั้งคำถามว่าทำไมดีเอสไอต้องมีคำสั่งไม่สั่งฟ้องผู้บริหารทีพีไอฯในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะเช่นนี้

กรมสอบสวนคดีวิเศษ

บทบาทและพฤติกรรมของดีเอสไอขณะนี้จึงถูกมองและมีการตั้งคำถาม ซึ่งมีหน้าที่ในการสืบสวน สอบสวน ป้องกันปราบปรามและควบคุมอาชญากรรมพิเศษหรือคดีพิเศษนั้น มีอำนาจภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินมาก มาย ไม่ว่าจะกล่าวหา ใส่ร้าย และจับกุมใครก็ได้ โดยไม่มีการตั้งข้อหาหรือหลักฐานเหมือนกระบวนการยุติธรรมปรกติ

“กรมสอบสวนคดีพิเศษ” จึงน่าจะเรียกว่า “กรมสอบสวนคดีวิเศษ” มากกว่า เหมือนนายกรัฐมนตรีที่ขณะนี้คือ “ผู้วิเศษ” ทั้งที่เป็นผู้สั่งการให้ “ขอคืนพื้นที่” และ “กระชับวงล้อม” จนทำให้มีประชาชนถูกสังหารอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตถึง 90 ศพ และบาดเจ็บ พิการเกือบ 2,000 คน นอกจากจะไม่มีความผิดและไม่มีสำนึกทางการเมืองที่จะแสดงความรับผิดชอบใดๆแล้วยังอ้างความชอบธรรมใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็น พ.ร.ก.ฉกฉวย ที่ตัวเองเคยประณามว่าเป็นกฎหมายเผด็จการ มาไล่ล่าและกวาดล้างคนเสื้อแดงและฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่หยุดยั้งอีกด้วย

เพราะคำว่า “นิติรัฐ” หรือ Rule of Law หมายถึงการปกครองที่ยึดถือกฎหมายเป็นใหญ่และมีมาตรฐานเดียว เหมือนคำว่า “นิติธรรม” ที่หมายถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม เป็นธรรม และเสมอภาค ซึ่งนายอภิสิทธิ์ก็ประกาศวันที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่า “จะยึดหลักนิติธรรม นิติรัฐ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค และจะเคารพในกระบวนการและเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย”

แต่วันนี้นายอภิสิทธิ์กลับถูกวิจารณ์และประณามว่ากำลังดึงประเทศไทยถอยกลับไปสู่ระบอบเผด็จการภายใต้อำนาจของกองทัพ โดยใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ศอฉ. และดีเอสไอเป็นเครื่องมือทางการเมือง


DSI ที่เป็นหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมจึงถูกตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับการใช้อำนาจว่ายังทำหน้าที่อย่างยุติธรรม ตรงไปตรงมา โปร่งใส และเสมอภาคจริงหรือไม่

เพราะมิเช่นนั้น DSI ที่ย่อมาจากคำว่า Department of Special Investigation อาจกลายเป็นเพียง Double Standard Investigation

รับรอง 2 มาตรฐานโดยกรมสอบสวนคดี “วิเศษ” เพื่อ “ผู้วิเศษ” เท่านั้น!

“ประชาชนธรรมดา” หรือ “ไพร่” ไม่เกี่ยว!

ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 269 วันที่ 24-30 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 หน้า 8 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน