ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 1 July 2010

ศอฉ.ใช้งบสลายชุมนุมเสื้อแดง 2 เดือน 5 พันล้าน

ที่มา ประชาไท

เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า ค่าใช้จ่ายในภารกิจ ศอฉ.ที่เริ่มตั้งแต่มีการเรียกทหารทำหน้าที่รักษาความสงบ ตั้งแต่วันที่ 12-23 มี.ค. ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 280 ล้านบาท หรือประมาณวันละ 30-40 ล้านบาท แต่หลังจากขยายเวลาออกไปอีก ได้ปรับเปลี่ยนกำลังตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. เป็นต้นไป จากเดิมที่มีกำลังพลเพียง 5 หมื่นอัตรา เพิ่มมาอยู่ที่ 6.4 หมื่นอัตรา ทำให้มียอดค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

โดยตั้งแต่วันที่ 23 มี.ค. -30 พ.ค. รวมถึงวันประกาศยกเลิกเคอร์ฟิว รวมยอดค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 3,400 ล้านบาท(เฉพาะเบี้ยเลี้ยง) มีการเบิกจ่ายเป็นล็อตๆ ในรูปแบบของงบสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น โดยขอเบิกจ่ายจากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล ขั้นตอนงบสำรองจ่าย เฉพาะแค่ค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าอาหารให้แก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ภาคสนามและภายในหน่วย แต่หากรวมไปถึงค่าเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่ายแบบรายยิบรายย่อยคงมียอดสูงถึงกว่า 5,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้จากการสนธิกำลังจาก 3 เหล่าทัพ คือกองทัพบก-กองทัพเรือ-กองทัพอากาศ ตามการประกาศการเคลื่อนใช้กำลังจำนวน 5 หมื่นอัตรา ซึ่งจำนวน 3.3 หมื่นอัตราเป็นการปฏิบัติภารกิจจริง ส่วนอีก 1.7 หมื่นอัตรา ให้เตรียมกำลังในที่ตั้งของแต่ละหน่วย โดยมีผลการปฏิบัติตามพ.ร.บ.ความมั่นคง ระหว่างวันที่ 12-23 มี.ค.

โดยกำลังพลจะได้ค่าเบี้ยเลี้ยงพิเศษในทุกชั้นยศที่มาทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยคนละ 300 บาท นอกเหนือจากเบี้ยเลี้ยงสนามคนละ 120-280 บาทต่อวันตามชั้นยศที่กำหนดไว้ นอกจากนี้แล้วยังมีการจัดเสบียงอาหารให้กำลังพลรวม 3 มื้อด้วย และค่าขวัญกำลังใจกำลัง 100 บาทต่อคน

งบประมาณในส่วนของกองทัพที่ใช้ทหารประมาณ 6.7 หมื่นนาย โดยได้ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 300 บาท และค่าอาหารอีกวันละ 100 บาท รวมแล้วใช้งบประมาณไปราวๆ 3,000 ล้านบาท ส่วนสตช.ใช้กำลังประมาณ 2.5 หมื่นนายใช้งบประมาณกว่า 700 ล้านบาท โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มคนเสื้อแดงเริ่มมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ เรื่อยไปจนถึงวันที่มีการยกเลิกเคอร์ฟิวภายใต้อำนาจของพ.ร.ก. ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 30 พ.ค. และในระหว่างที่ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ก็จะยังคงดำเนินต่อไป

"คณิต"ระดมสมองวันที่2

เมื่อเวลา 09.30 น.ที่โรงแรมสยามซิตี นายคณิต ณ นคร ประธานคอป. จัดประชุมระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรทั้งภายในและภายนอกประเทศ เป็นวันที่ 2 เพื่อหาแนวทางและวิธีปฏิบัติในการแสวงหาความจริงและหลักฐานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเหตุการณ์ไม่สงบช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อนำไปสู่การสมานฉันท์ปรองดองของชาติ ซึ่งที่ประชุมส่วนใหญ่มีข้อสรุปตรงกันว่า ภารกิจเร่งด่วนของคอป.คือแสวงหาข้อเท็จจริงสาเหตุความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชนให้ได้ความจริงมากที่สุด แต่กระบวนการแสวงหาความจริงของคอป.จะไม่ใช้แนวทางการสอบสวนแบบตำรวจตามมาตรฐานคดีอาญา และจะไม่ตีกรอบดำเนินงานตั้งแต่ช่วง 10 เม.ย.-19 พ.ค.53 เพราะการตีกรอบเวลาอาจทำให้ไม่ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง จากนั้นจึงจะเริ่มกระบวนการเยียวยาโดยเดินสายพบปะพูดคุยกับเหยื่อและผู้ได้รับผลกระทบทั้งสองฝ่ายทั่วประเทศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นแล้วถึงนำเข้าสู่กระบวนการสร้างความปรองดองได้

นายโคทม อารียา ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คอป.ควรค้นหาความจริงมากกว่าใครผิดถูก โดยรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย แน่นอนว่าความจริงที่ได้จะหลากหลายและชัดเจนแตกต่างกัน และยากที่จะให้คนเชื่อได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นคอป.ควรเรียบเรียงข้อมูลทั้งหมดให้เป็นเรื่องพอเชื่อถือได้เมื่อเผยแพร่ต่อสังคม นอกจากนี้กรอบการทำงานของคอป.ควรนำความยุติธรรมมาใช้ในเชิงฟื้นฟู หมายความว่าต้องตั้งคำถามต่างจากกระบวนการยุติธรรมปกติ โดยเอาผู้ที่เห็นว่าเป็นคนทำความเสียหายกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความเสียหายมาพูดคุยกัน ว่าอะไรคือข้อเรียกร้องของบุคคลเหล่านั้น แล้วให้ความยุติธรรมเพื่อฟื้นฟูด้านความรู้สึก

ต้องหาความจริง-ผู้รับผิดชอบ

นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอตช์ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า คอป.ต้องชี้ให้เห็นว่าไม่ควรใช้ความรุนแรงไม่ว่าฝ่ายใด และใครต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ใครเป็นเหยื่อของความรุนแรง ทั้งนี้การนำบุคคลที่มาเป็นกรรมการคอป. ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความไว้วางใจจากทุกฝ่าย ถ้าจะดำเนินการได้เร็วต้องตั้งคณะอนุกรรมการมาช่วยด้วยเพื่อดูในแต่ละเรื่อง

นายฮาเวิร์ด วานนี่ ที่ปรึกษาด้านการค้นหาความจริงสถาบันนานาชาติการเปลี่ยนผ่านเพื่อความยุติธรรม แอฟริกาใต้ กล่าวว่า ก่อนการทำงาน คอป.ต้องวางแผนวางกรอบการทำงาน โดยมีภาคประชาชนเข้ามาเพื่อร่วมจัดทำแผนว่าจะเริ่มสิ่งใดก่อน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิ ภาพมากขึ้น เช่น ต้องรู้ว่าสัมภาษณ์ใคร จำนวนมากแค่ไหน ซึ่งการทำงานต้องมองความขัดแย้งในภาพรวม ไม่ใช่สนใจแค่ 1-2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดแล้วต้องจัดเก็บเป็นฐานข้อมูลเพื่อวิเคราะห์เรื่องราวทั้งหมดทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น นอกจากนี้ในการหาข้อมูลจากบุคคลที่เป็นเหยื่อต้องเปิดโอกาสให้พูดตามเวทีประชาพิจารณ์ต่างๆ โดยไม่มุ่งการซักถามต่อหน้าสาธารณชน มุ่งเน้นเค้นความจริงบางเรื่องออกมา

"คอป.ควรตั้งคณะทำงาน 2 ชุดคือดูแลกรณีเหยื่อความรุนแรง และสอบสวนเหตุการณ์ โดยเน้นการรับฟังเหยื่อในเหตุความรุนแรง รับฟังเขาอย่างแท้จริง ที่แอฟริกาใต้ประธานาธิบดีมานั่งฟังเองจึงเข้าใจปมปัญหาว่าประชาชนมีปัญหาตรงไหนเพื่อแก้ได้ถูกทาง" นายฮาเวิร์ด กล่าว

6 ก.ค. รู้ผลต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
เมื่อเวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผอ.ศอฉ. ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมครม. เรื่องการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่า ในการประชุมครม.วันที่ 6 ก.ค. ตนจะนำเสนอเรื่องนี้เพื่อครม.พิจารณา

"มาร์ค"ชี้เครือข่ายไม่ธรรมดา

ต่อมาเวลา 13.00 น.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ครม.ว่า ตนย้ำแล้วว่าจะไม่อยู่บนความประมาท และจะติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ศอฉ.ประเมินตลอดเวลาเพื่อวางมาตรการป้องกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องให้ทหารออกมาเป็นผู้ช่วยเจ้าพนักงานควบคุมสถานการณ์หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ศอฉ.ประเมินทุกวัน แต่ที่ต้องการคือสภาพความเป็นปกติ อาจต้องใช้เวลาในบางพื้นที่ โดยสัปดาห์หน้าจะสิ้นสุดอายุของพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และต้องตัดสินใจว่าจะต่ออายุในพื้นที่ใดบ้าง จะชัดเจนมากขึ้นว่าทรัพยากรบุคคลที่มีอยู่ในฝ่ายต่างๆ จะใช้ไปจุดไหนอย่างไร

เมื่อถามว่าการเดินหน้าแผนปรองดองจะสะดุดเพราะการก่อวินาศกรรมหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องพยายามไม่ให้ใครมาทำสิ่งเหล่านี้สะดุด เพราะเป็นหน้าที่ จะต้องเดินต่อ แต่มีคนกลุ่มหนึ่งที่ต้องการให้บ้านเมืองมีปัญหา เราต้องแก้ไข เมื่อถามว่าเพราะอะไรจึงไม่สามารถเข้าไปจัดการต้นตอได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราดำเนินการตามกฎหมายโดยลำดับ และจากที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น มีหลายกรณีที่ศาลลงโทษ ซึ่งคิดว่าหนักพอสมควรและมีมาตรการหลายอย่างช่วยปรามได้ แต่ต้องยอมรับว่าเครือข่ายของคนสร้างความวุ่นวายก็มีทรัพยากรเยอะพอสมควร เราต้องเผชิญกับความยากลำบาก แต่มั่นใจว่าในภาพรวมสังคมส่วนใหญ่ต้องการให้บ้านเมืองเป็นปกติและเดินไปข้างหน้า ซึ่งมีอุปสรรคบ้างแต่ถ้าหลายฝ่ายร่วมมือกัน จะแก้ปัญหาได้มากขึ้น

เลิกพ.ร.ก.ก็ยังใช้พ.ร.บ.มั่นคง

นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการพิจารณาต่ออายุพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ว่า นายกฯอยากให้ศอฉ.พิจารณาตามสถานการณ์จริงแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด ว่ามีสถานการณ์อะไรบ้าง เนื่องจากอำนาจพ.ร.ก.ฉุกเฉินทำให้บางหน่วยงานคล่องตัวในการทำงาน แต่บางหน่วยก็ไม่จำเป็นต้องใช้ ดังนั้นหน่วยงานในพื้นที่ต้องพูดคุยกันว่าหากไม่มีพ.ร.ก. ฉุกเฉินจะทำงานได้คล่องตัวหรือไม่

นายปณิธานกล่าวอีกว่า ฝ่ายปกครองมองว่าน่าจะยกเลิกพ.ร.ก.ได้ แต่พื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ยังเปราะบาง เรื่องความมั่นคงเป็นห่วงเรื่องผลกระทบ พื้นที่เป้าหมายก็ต้องรักษาไว้ ต้องสร้างความมั่นใจกับประชาชน อย่างพื้นที่รอบกทม.หลายพื้นที่ หากยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ต้องคุมสถานการณ์ให้ได้ เพราะอย่างภาคกลาง หรืออีสานบางพื้นที่การบริหารจัดการอาจจะง่ายกว่าพื้นที่รอบกทม. ขณะที่ฝ่ายตำรวจอยากให้คงพ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้ เพราะหากยกเลิกตำรวจต้องทำงานหลัก แต่หากตำรวจยืนยันว่าดูแลได้ก็แล้วแต่ หากยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ต้องกลับไปใช้พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อเฝ้าระวัง และควบคุมพื้นที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าตำรวจกับฝ่ายปกครองจะดูแลร่วมกันได้หรือไม่ ซึ่งต้องให้ศอฉ.ประเมิน

นายปณิธานกล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องการเคลื่อนไหวก่อวินาศกรรมนั้น ขณะนี้จับตาความเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ในกลุ่มที่มีกิจกรรมชุมนุมทางการเมืองช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาถูกจับตาเรื่องธุรกรรมทางการเงิน การปลุกระดมยั่วยุ การก่อวินาศกรรม เป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะต้องคงพ.ร.ก. ฉุกเฉินไว้ โดยเฉพาะการก่อวินาศกรรมนั้นเห็นว่ายังมีศักยภาพอยู่ โดยมีการเคลื่อนไหวเตรียมการที่มีข้อมูลข่าวสารพอสมควร เช่นการเข้าไปที่กรมพลาธิการทหารบก ที่เข้าออกได้ไม่ยาก หรือการใช้โรงเรียนบริเวณนั้นเคลื่อนไหว ซึ่งมีเครือข่ายต้องสงสัยที่เรากำลังเฝ้าระวัง กดดัน และจับตาดูอยู่ โดยกลุ่มดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีกิจกรรมในช่วงชุมนุมที่ผ่านมา มีเครือข่ายที่มีข้อมูลเอามาใช้ในการปฏิบัติการโดยเฉพาะการยิงระเบิดอาร์พีจี ที่ไม่ได้ยิงกันได้ง่ายๆ ในพื้นที่แบบนั้น และการรู้ว่าถังน้ำมันมีหรือไม่มีน้ำมันเหลืออยู่

เมื่อถามว่ากลุ่มคนดังกล่าวเป็นนายทหารในหรือนอกราชการหรือคนมีสี นายปณิธานกล่าวว่า เราดูทุกกลุ่มที่มีแนวโน้มไม่ได้ระบุกลุ่มใดเฉพาะ แต่มองว่าเป็นกลุ่มที่มีความชำนาญ ซึ่งคนที่ก่อเหตุนี้ได้มีไม่มาก ซึ่งช่วงที่มีการชุมนุมก็เคลื่อนไหวแบบนี้มาก่อน มีเครือข่ายโยงใยสนับสนุนข้อมูล เส้นทางหลบหนี และมีประสบการณ์การใช้อาวุธพอสมควร มีกลุ่มสนับสนุนการเคลื่อนไหวเป็นระบบ เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ฝ่ายความมั่นคงประเมินวิเคราะห์ จับตาดูอยู่