ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 27 June 2010

นักสิทธิฯ รณรงค์ต้าน "ซ้อมทรมาน" ระบุเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ยอมรับไม่ได้

ที่มา ประชาไท

เนื่องในวันป้องกันและต่อต้านการซ้อมทรมานสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปี นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน รวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำกิจกรรมรณรงค์ให้สังคมรับรู้ว่าการทรมานเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ไม่สามารถยอมรับได้ ระบุไม่มีข้อยกเว้นใดๆ แม้ในภาวะสงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน

(26 มิ.ย.53) เนื่องในวันป้องกันและต่อต้านการซ้อมทรมานสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิ.ย.ของทุกปี นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์กรต่างๆ ประมาณ 20-30 คน ได้รวมตัวกันบริเวณลานวิคตอรี่ พอยต์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อทำกิจกรรมรณรงค์ให้สังคมรับรู้ว่าการทรมานเป็นอาชญากรรมร้ายแรงที่ไม่สามารถยอมรับได้ และไม่มีข้อยกเว้นใดๆ แม้ในภาวะสงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉินก็ตาม

เวลาประมาณ 14.30 น. นางสาวจันทร์จิรา จันทร์แผ้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้อ่านแถลงการณ์ร่วมของเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 8 องค์กร เรียกร้องให้รัฐบาลตรากฎหมายให้การทรมานเป็นความผิดเฉพาะ โดยให้เจ้าหน้าที่รัฐด้านความมั่นคงนำมาตรการในการป้องกันและห้ามการทรมาน ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด และให้รัฐมีมาตรการเยียวยาชดเชยผู้ถูกทรมาน ลงโทษผู้กระทำการทรมาน และให้รัฐแสดงความรับผิดชอบหากมีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ

นอกจากนี้ยังมีการจัดการแสดงสาธิตการซ้อมทรมานผู้ต้องหาโดยเจ้าหน้าที่รัฐ มีการแจกใบปลิว พวงกุญแจ สติ๊กเกอร์รณรงค์สร้างความเข้าใจกับประชาชนทั่วไป ว่าการซ้อมทรมานถือเป็นอาชญากรรม โดยเคลื่อนขบวนรณรงค์ไปตามทางเดินลอยฟ้ารอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จนถึงเวลาประมาณ 16.00 น. จึงสลายตัว

นางสาวจันทร์จิรา กล่าวถึงกิจกรรมวันนี้ว่า เป็นการร่วมเดินรณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนรู้ว่าวันนี้เป็นวันป้องกันและต่อต้านการซ้อมทรมานสากล และเรียกร้องให้มีกฎหมายป้องกันและต่อต้านการซ้อมทรมาน

"เราต้องการให้คนในสังคมไม่ยอมรับการทรมาน ไม่ว่าในกรณีใดๆ ก็ตาม ไม่มีกรณียกเว้น เพราะคอนเซ็ปต์ในการรณรงค์ของเราคือ ถ้ายอมให้มีการทรมานได้แล้ว ในที่สุด ระบบในสังคมก็จะบิดเบี้ยวไปสุดท้ายใครก็ตามก็สามารถตกเป็นเหยื่อการทรมานได้ และเราก็พยายามรณรงค์ร่างพระราชบัญญัติต่อต้านการทรมาน เพราะเราเห็นว่า การแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพจารณาความอาญายังไม่เพียงพอ ถ้าหากว่าใครอยากสนับสนุนร่างนี้ก็สามารถเข้าไปดูในเว็บไซต์ [www.naksit.org] ได้"

ขณะที่ นางสาวยูฮานี เจ๊ะกา นักสิทธิมนุษยชนจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม หนึ่งในผู้ร่วมรณรงค์ กล่าวว่า ปัญหาการซ้อมทรมานที่ยังอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกวันนี้ ชาวบ้านจะถูกจับตัวไปเข้ากระบวนการตามกฎหมายพิเศษ ซึ่งเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐซ้อมทรมานและจะมีการซัดทอด ข้อมูลที่ได้จากการซัดทอดก็จะนำไปขยายการจับกุมตัวต่อไป ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นผู้บริสุทธิ์ พอเข้าสู่การซักถามก็จะไม่มีหลักฐานใดๆ ที่จะส่งฟ้อง คนที่ถูกฟ้องศาลก็จะยกฟ้อง

---------------------------------------------------

แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน
“การซ้อมทรมานเป็นอาชญากรรม”
รัฐบาลต้องยุติและป้องกันการทรมานอย่างเป็นระบบ
เผยแพร่วันที่ 26 มิถุนายน 2553

ปัจจุบันไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การทรมานยังดำรงอยู่ในสังคมไทย โดยการทรมานดังกล่าวเป็นการทำให้เกิดความเจ็บปวด ทางร่างกาย หรือทางจิตใจ หรือความทุกข์ทรมานของบุคคลที่สาม โดยการกระทำ สั่งการ หรือยินยอมโดยเจ้าพนักงานของรัฐ ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล หรือเพื่อลงโทษ หรือเพื่อข่มขู่ โดยรูปแบบการทรมานส่วนใหญ่ เป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดทางร่างกายหรือทางจิตใจ แต่ยังมีการกระทำที่ไม่ถึงกับเป็นการก่อให้เกิดการทรมานแต่เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ลง เนื่องจากการกระทำดังกล่าวยังไม่เป็นสาเหตุให้เกิดความเจ็บปวดทางด้านร่างกายและจิตใจ เช่น การใส่ตรวนหรือกุญแจมือตลอดเวลา เป็นต้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2550 ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอในการพิจารณาเข้าเป็นภาคี “อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี” และกระทรวงต่างประเทศได้มอบภาคยานุวัติสารต่อสหประชาชาติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2550 โดยอนุสัญญาดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับประเทศไทย มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยมีพันธะกรณีตามอนุสัญญาการต่อต้านการทรมานดังกล่าว ก็มิได้ทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนดีขึ้นแต่อย่างใด โดยเฉพาะการทรมานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในการจัดการกับปัญหาการก่อความไม่สงบ ยังคงใช้วิธีการทรมาน เช่น การทุบตี การเตะหรือกระทืบ และการเอาถุงคลุมศีรษะจนแทบหายใจไม่ออก และไม่ปรากฏว่า ได้มีการบัญญัติกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานตามอนุสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด แม้จะมีความพยายามจากภาครัฐในการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อกำหนดให้การทรมานเป็นฐานความผิดตามกฎหมายโดยเฉพาะ ก็ยังไม่สามารถคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการตกเป็นเหยื่อการทรมานได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิดฐานการทรมานจะถูกสืบสวนสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ด้วยกันเอง ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการตรวจสอบถ่วงดุลแต่อย่างใด ดังข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ละเมิดสิทธิประชาชนด้วยการทรมานเป็นจำนวนมาก และบางกรณี เป็นการกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม แต่กลับปรากฏว่า เหยื่อจากการทรมานดังกล่าวไม่ได้รับการเยียวยาฟื้นฟู และเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดยังไม่ถูกลงโทษ จนเกิดภาวะลอยนวล ซึ่งนอกจากจะไม่ได้ตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในสังคมที่อาจตกเป็นเหยื่อการทรมานเพื่อให้รับสารภาพได้โดยง่ายดาย

ดังนั้น การทรมานคืออาชญากรรมที่ไม่อาจยอมรับได้ หรือไม่มีข้อยกเว้นใดๆ ให้เจ้าหน้าที่สามารถทรมานบุคคลใดได้ ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้กระทำความผิดหรือไม่ ไม่เช่นนั้น ปัญหาการทรมานจะหยั่งรากลึกและแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ถือเป็นส่วนหนึ่งในปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบกระบวนการยุติธรรม และระบบยุติธรรมในสังคมไทย และการทรมานมิได้เป็นคำตอบหรือทางออกสำหรับการจัดการกับปัญหาความไม่สงบหรือการรักษาความมั่นคงภายในแต่อย่างใด มีแต่จะทำให้สถานการณ์และความเชื่อมั่นในรัฐและระบบกระบวนการยุติธรรมเสื่อมถอยลง

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ได้เล็งเห็นความสำคัญของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในประเด็นการต่อต้านการทรมานดังกล่าว จึงขอเสนอให้รัฐบาลและสังคมไทย

1. ให้รัฐบาลตรากฎหมายซึ่งกำหนดให้การทรมานเป็นฐานความผิดเฉพาะ โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเพื่อการสนับสนุนและคุ้มครองเหยื่อจากการทรมาน ตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมจากประชาชน

2. ให้หน่วยงานความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ราชทัณฑ์ และเจ้าพนักงานของรัฐ ตลอดทั้งผู้รับมอบอำนาจจากเจ้าหน้าที่รัฐ นำมาตรการในการป้องกันและห้ามการทรมาน ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ที่ประเทศไทยได้รับรองไว้ มาบังคับใช้โดยเคร่งครัด แม้ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะ และประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

3. รัฐจะต้องมีกลไกปกป้องคุ้มครองผู้ที่ถูกทรมาน ให้ได้รับการเยียวยาอย่างเป็นธรรม และค่าชดเชยที่เพียงพอเหมาะสม
4. การทรมานเป็นอาชญากรรม ผู้กระทำจะต้องได้รับการลงโทษ ให้รัฐบาลไทยห้ามอย่างเด็ดขาด ไม่ให้มีการทรมาน และการกระทำหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และการทรมานไม่สามารถกระทำได้แม้ในสภาวะสงคราม หรือสถานการณ์ฉุกเฉินใดๆ

5. รัฐต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบเป็นเบื้องต้นหากพบว่าการทรมานกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการขอโทษเพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นแก่เหยื่อและครอบครัวจากการถูกทรมาน

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (CCHR)
คณะอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)
เครือข่ายเยาวชนสิทธิมนุษยชน(YPHR)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)
มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (WGJP)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)
คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (AHRC)