ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 28 June 2010

สัมภาษณ์ บก.ลายจุด: จิตวิญญาณผู้ก่อการ (ร้าย?) ทางสังคม

ที่มา ประชาไท

เป็นยุคที่ความดีเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เป็นยุคที่ความดีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ
เมื่อไรก็ตามที่ความดีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกระทำกับอีกฝ่าย
ไอ้ธรรมาธิปไตยส้นตีน คำพวกนี้น่ารังเกียจ คุณเป็นพวกเผด็จการความดี หยาบกว่านั้นคือคุณเป็นความชั่ว
คุณไม่ได้เชื่อเรื่องความดี แล้วคุณพูดความดีได้ยังไง คุณพูดปรองดองได้ยังไง มันไม่จริง
อ้างคำพระ น่าสะอิดสะเอียน คุณจะอ้างทำไม ในเมื่อมันไม่จริงอย่างที่คุณเชื่อ แล้วคุณละเว้นด้วย
ในแวดวงคนทำงานเพื่อสังคม น้อยคนที่จะไม่รู้จัก “หนูหริ่ง” สมบัติ บุญงามอนงค์ หลายคนรู้จักเขาในนาม บก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานมูลนิธิกระจกเงา และอโชก้าเฟลโลว์หรือนักประกอบการทางสังคมดีเด่นปี ๒๕๔๓
หลังจากที่คร่ำหวอดในแวดวงคนทำงานเพื่อสังคมมากว่ายี่สิบปี หนูหริ่งเลือกที่จะเดินเข้าสู่เส้นทางสายการเมือง อย่างไม่สนใจคำครหาที่ว่า “หนูหริ่งเปลี่ยนไป” โดยเข้าร่วมต่อสู้กับแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) โดยที่เขาเป็นแกนนำรุ่นที่ ๒ ภายหลังที่แกนนำ นปก.รุ่นแรกถูกคุมขัง จากนั้น นปก.ก็พัฒนากลายมาเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งหนูหริ่งก็ยังคงเป็นกำลังสำคัญในการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดงมาจนถึงปัจจุบัน
จากโลกอุดมคติของงานเพื่อสังคมมาสู่โลกของการต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง ที่ไม่ได้หอมหวนชวนโรแมนติก เช่นเคยที่หนูหริ่งเลือกที่จะเดินเข้าปะทะกับความขัดแย้ง เพราะสำหรับเขาแล้ว นั่นดูจะเป็นสถานที่ที่การปลดปล่อยทางจิตวิญญาณสามารถเกิดขึ้นได้อย่างทรงพลังที่สุด
การพูดคุยกับหนูหริ่งในครั้งนี้มีขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๓ และในวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๓ เพียงหนึ่งวันก่อนที่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้จะถูกนำออกเผยแพร่ หนูหริ่งได้ถูกตำรวจสน.ลุมพินี เข้าจับกุมตัว ข้อหาฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน ขณะที่เขากำลังเตรียมงาน “วันอาทิตย์สีแดง” บริเวณสี่แยกราชประสงค์
วิจักขณ์: พี่รู้สึกมั๊ยว่า ในสังคมไทยตอนนี้ช่องว่างระหว่างศาสนากับชีวิตคนมันห่างกันมาก
สมบัติ: อือ ใช่ เพราะศาสนาชอบพาไปหลีก...หลีกเร้นออกจากปัญหาของมนุษย์ไง มันก็เลยหลุด ใช้เทคนิคการหลุดออกไปทีละคน ทีละคน ใช่มะ เหมือนกับว่าพอคนจะเข้าสู่ศาสนาได้ ก็ต่อเมื่อมันทุกข์จนแบบหมดสภาพ จนต้องเลือกที่จะหลีกหนีออกจากสังคมไป ก็มักจะเป็นไปในทางนั้น แต่ว่ามันก็เป็นแค่การพ้นทุกข์ในระดับปัจเจก
วิจักขณ์: หรือแม้แต่กระทั่งท่าทีของศาสนาเพื่อสังคม เช่น ไปช่วย ไปสอน ไปดึงเค้าให้ออกมาจากความทุกข์ใจที่กำลังเจออยู่ ดูเหมือนจะเกี่ยวกับสังคม แต่ผมว่ามันก็ยังเป็นมิติแบบปัจเจกนิยมอยู่ ออกแนวสังคมสงเคราะห์มากกว่า แทนที่จะลงไปทำความเข้าใจความทุกข์ในมิติที่ลึกกว่านั้น
สมบัติ: อย่างงี้ ต้องไปอยู่ในคุกซักพัก
วิจักขณ์: (ยิ้ม)
สมบัติ: ชีวิตของคนในนั้น มันจริงและมันก็ซับซ้อนมาก ทำไมคนมันถึงมีวิญญาณแบบนั้น ความทุกข์ที่อยู่ตรงนั้นจะทำให้มุมมองเราจะเปลี่ยนเลยล่ะ มันจริงมาก
ริน (เพื่อนร่วมสนทนา): มันไม่น่ากลัวเหรอพี่
สมบัติ: ความน่ากลัวมันไม่ได้อยู่ตอนที่อยู่ในคุก ความน่ากลัวของคุกเนี่ย มันน่ากลัวตรงที่เราไม่สามารถเอาตัวเองออกจากมันได้ แต่ว่าลำพังแค่ในคุกเองไม่น่ากลัว อย่างคราวที่แล้วผมเข้าไป ผมไปในภาวะที่สามารถจะออกเมื่อไหร่ก็ได้ เพียงแต่ผมไม่ประกันตัว อยากจะเข้าไปดูว่าเป็นยังไง ก็...มีแรงกดดันพอสมควรนะ แต่มันก็ไม่ถึงขนาด...คือผมไม่ได้อยู่ในสถานะเดียวกับพวกนักโทษคนอื่น ยังไงผมก็สามารถจะกำหนดตัวเองได้ว่าจะออกเมื่อไหร่ ในคุกเนี่ย คนที่ดิ้นรนจะออกจะทุกข์มาก ยิ่งดิ้นรนจะออกเท่าไหร่ ก็ยิ่งทุกข์มาก แต่ใครที่ยอมรับได้ และปรับตัวได้กับตรงนั้น ...ก็ทุกข์เหมือนกัน เพราะยังโดนกดอยู่ แต่ก็ไม่ทุกข์เท่าพวกที่ดิ้นรน
เพราะฉะนั้น ลองหาเรื่องติดคุกดูสิ แล้วหาทางออกมา (หัวเราะ)
วิจักขณ์: (หัวเราะ)
สมบัติ: ดีกว่าพวกไปดูงาน ตอนที่นักศึกษามาดูงานนะ โคตรตลกเลย จัดฉากทุกอย่าง ไม่มีอะไรจริง ไม่มีอะไรเลย คนละเรื่อง
วิจักขณ์: เคยได้ยินเรื่องนี้จากเพื่อนที่เข้าไปทำงานในคุกเหมือนกัน แต่ถึงจะลงไปในบทบาทผู้รับฟัง ผู้เยียวยา สอนภาวนา ทำอบรมให้คนในคุกเนี่ย มันก็ไม่เหมือนกัน คือเราก็ได้เรียนรู้จริง อะไรจริง แต่เราก็ยังอยู่ในโลกของเราอยู่ดี มันจินตนาการไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าเราไปอยู่ในคุกจริงๆ ธรรมะที่เราเรียนๆมามันจะยังใช้อะไรได้บ้าง ถ้าจิตไม่แข็งจริง มันก็หลุดเอาได้ง่ายๆ
สมบัติ: รั่วใช่มั๊ย มี [วิจักขณ์: ใช่ ใช่] พวกรั่ว มี
แต่ยังไงมันก็ต้องอยู่ให้ได้ แต่ที่มันจะเกิดขึ้นก็คือ ชีวิตมันจะกร้าน มันจะตายด้าน มันจะแห้ง คุกมันจะดูดความชุ่มชื้น ความมีชีวิตชีวาของเราไป ก็ไม่ถึงกับไม่มีความอารีอะไรกันเลยนะ แต่บางสิ่งบางอย่างมันจะหายไป
ภาวะตรงนั้นมันเป็นภาวะที่ซับซ้อนมาก เราจะเรียนรู้จิตวิญญาณของเราในอีกมิติหนึ่ง มิติทางศาสนาก็ว่ากันไปนะ แต่อีกมิติหนึ่งก็คือ ความทุกข์มันกดคุณจน... มันจะรีดไอ้ความดิบข้างในคุณออกมา อย่างเช่น วันที่ผมโดนย้ายห้องขัง จากห้องรวมไปห้องแยก คือเราอยู่ได้สองสามวันแล้วก็จะต้องถูกแยกห้อง ห้องแรกนี่ก็ใหญ่ๆดูแลดีหน่อย พอถูกแยกไป อยู่กันประมาณ ๖๐ คน แทบพลิกตัวไม่ได้ มั่นแน่นมาก คนป่วยไอ ไม่สบาย พัดลมเป่า หัวหน้าห้องที่เป็นแบบอาชญากรอะไรงี้ พัดลมเป่า ก็เสนอขอให้ปิดพัดลมบางตัว เพื่อนอีกคนก็เอาผ้าห่มไปให้ ไอ้หัวหน้าก็ตะโกนบอกว่าไม่ต้อง ให้มันตายไปซะ ไอ้คนป่วยคนนั้นเป็นคนลาว ไม่ค่อยพูด ถูกจับเพราะเป็นคนเร่รอน มันเข้าไปนอนในจุฬาฯ ตรงระเบียงชั้นหนึ่ง ก็ถูกยามจับ พร้อมข้อหาพยายามลักทรัพย์ ในคุกเจ้าหน้าที่ไม่ใช่เป็นใครที่มาคอยดูแลจิตใจหรอก เป็นยังไงบ้าง อะไรแบบนี้ไม่มีหรอก ไม่มีซักแอะ บางคนอยู่ๆไปก็รั่ว วันๆเอาแต่ร้องไห้ไม่ทำอะไร ว่างก็ร้องไห้ ว่างก็ร้องไห้ มีสารพัดเลย อีกคนก็คนแก่เป็นอัลไซเมอร์ ถูกจับเพราะว่าไปขโมยรถ จริงๆที่บ้านก็มีฐานะนะ แต่อยู่ๆก็ไปเจอรถคันนึง แล้วไปขับ แล้วไม่รู้จะเอาไปคืนที่ไหน ที่มูลนิธิกระจกเงา ผมก็ทำเรื่องอัลไซเมอร์นะ ผมเข้าใจเรื่องแบบนี้เลย อ้าวแล้วไอ้ขบวนการทางวิทยาศาสตร์ ทางการแพทย์ที่จะมายืนยันล่ะไปไหน นี่เค้าทำอะไรไม่ได้เลย สภาพของเค้าเหมือนคนจะตายแล้ว พูดจาไม่รู้เรื่อง เหมือนคนที่เดินข้างถนนแบบนี้แหละ นึกดูสิ มีคนแบบนี้เข้าไปอยู่
คุกเป็นที่ที่ว่า ถ้าจะทำวิจัยเกี่ยวกับปัญหาทางสังคม ลงไปที่นี่เลย ศึกษากันให้ลึก แล้วโยงปัญหาพวกนี้ขึ้นมา มันจะโยงขึ้นไปข้างบนหมดเลย ไอ้ปัญหาสังคมไทยที่เราเห็นทำๆกัน แตะๆกัน มันทำไปในเชิงป้องกัน สร้างคนดีอะไรกัน มันก็ส่วนนึงนะ แต่ถ้าจะไปแก้กันจริงๆ ต้องลงไปที่นี่เลย มันเป็นท่อระบายน้ำ ทุกอย่างมันจะไปรวมกันที่นั่น แล้วคุณก็สังเคราะห์ ไล่ขึ้นมา เหมือนโครงการแยกขยะน่ะ คุณต้องศึกษาก่อนว่าในขยะมันมีอะไรบ้าง มันเป็นปลายท่อของระบบระบายน้ำ คุณจะรู้เลยว่าอะไรถูกทิ้งลงมาบ้าง
วิจักขณ์: ในแวดวงจิตจิต น้อยคนที่จะสนใจมองไปยังคนเหล่านั้น
สมบัติ: ใช่ พวกจิตนิยมก็มักจะไปสนใจที่เรื่องภายในของบุคคลว่าทำไมเค้าถึงเป็นแบบนั้น แต่ในสายสังคมมันต้องการกระบวนการการจัดการทางสังคม ไม่ใช่แก้ปัญหาทางจิตใจได้แค่นั้นแล้วจบ ความยากจนมันจะไม่จบลงง่ายๆตรงนั้น คนที่ไปอยู่ในคุกไม่ได้เป็นคนเลวในแง่ของจิตใจทั้งหมด แต่เค้าขาดโอกาส ขาดระบบการช่วยเหลือ การพัฒนามันต้องการกลไกทางสังคม คุณแก้ไม่ได้โดยการนั่งสมาธิ เยียวยา หรือทำจิตใจให้บริสุทธิ์ แค่นั้นมันแก้ไม่ได้หรอก (หัวเราะ)
วิจักขณ์: ในสถานการณ์แบบนั้นมันชัด เพราะเป็นภาวะที่คนเราถูกกด ถูกต้อนจนมุม ภาวะบีบคั้นได้รีดเอาจิตวิญญาณทั้งหมด ทุกสิ่งที่แอบซุกไว้ใต้พรม
สมบัติ: มันจะปรากฏทั้งหมด มันจะเอาตัวตนของคุณข้างในออกมา ทุกอย่าง ทั้งความดิบ หรือแม้แต่สติปัญญา มันจะบีบเอาทุกสิ่งทุกอย่างออกมาหมด ทุกอย่างที่มี ที่คุณเก็บซ่อนมันไว้
วิจักขณ์: ที่พี่ชอบเอาตัวเองไปลองตรงนั้นตรงนี้ ลงไปปะทะกับปัญหาทางสังคม พี่หลงเสน่ห์ภาวะบีบคั้นตรงนั้นด้วยรึเปล่า
สมบัติ: เป็นไปได้ ตอนแรกไม่เป็น แต่พอใช้ชีวิตไปแล้วมันไปปะทะกับความทุกข์จำนวนมาก ระดับนึงนะ ไม่ถึงกับว่าหนักมากนะ พอถึงระดับนึงเนี่ย มันหลงเสน่ห์ความจริงตรงนั้น เวลาเผชิญความทุกข์ ผมไม่มีกระบวนการมาก ผมก็ซึมซับเข้ามา รับมาเลย พอเห็นปัญหาปุ๊บ ก็รับมันเข้ามา ดูดรับเลย พอรับเข้ามาแล้วก็ใคร่ครวญขบคิด ดูว่าเราจะตอบโต้กับปัญหานั้นยังไง
อย่างคุณจะเห็นว่า งานของกระจกเงาเนี่ย มาจากสภาวะแบบนี้ทั้งนั้น คือเราไม่สนใจเลยว่ามันเป็นเรื่องเหี้ยอะไร ขอให้มันเป็นปัญหา ถึงขนาดที่เราประกาศปรัชญาว่า “เราทำทุกอย่างที่เราอยากทำ และเราทำได้” เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามว่ากระจกเงาทำอะไร เพราะเป็นเรื่องที่อธิบายยากมาก (หัวเราะ) หนึ่งเราทำทุกอย่างที่เราอยากทำ และเราทำได้ คือ ถ้าคุณอยาก ก็ในเมื่อคุณมีแรงบันดาลใจ เราก็จะส่งเสริมให้คุณได้ทำ ซึ่งก็ต้องทำได้ด้วยนะ ถ้าเสือกทำไม่ได้ก็ต้องใจเย็นนิดนึง เพราะว่ามันต้อง realistic ด้วย อยากทำนี่มันเป็นเรื่องอัตวิสัยใช่มั๊ย แต่การทำได้นี่มันจะต้องตั้งอยู่พื้นฐานของความเป็นจริง คุณจึงต้องคิดมากกว่าการอยากทำ เอ็นจีโอส่วนใหญ่มักจะมาจากการอยากทำ เอ็นจีโอกับพวกศิลปินนี่ใกล้กันมาก ผมเคยทำละครมาก่อน ผมจึงเข้าใจพวกเพื่อนที่เป็นศิลปิน เค้าจะคิดใหญ่ จะอะไรต่ออะไร เค้าไม่ได้คิดผิดนะ แต่เค้าขาดวิธีการบริหารจัดการความรู้ นี่คือสิ่งที่ขาดไปของพวกactivist คือมันใช้ใจแต่ไม่ค่อยมีความรู้ในการจัดการ หรือมีความรู้ในการจัดการ พอทำไประดับนึงปุ๊บ ก็จะทำเล็ก แล้วก็จะไปเกาะกับวาทกรรมเรื่อง “small is beautiful” พอไปเกาะมันมาก ก็เป็นปัญหา เพราะมันจะกลายเป็นกำแพง กลายเป็นว่าคุณบอก small is beautiful ก็เพราะว่า ที่คุณต้องเล็กเนี่ย เพราะคุณใหญ่กว่านี้ไม่ได้ใช่มั๊ย คุณไม่สามารถสร้าง impact กว่านี้ได้ใช่มั๊ย คุณเลยกำหนดตัวเอง เพื่อป้องกันอะไร? เพื่อป้องกันความเจ็บปวด เพราะคุณกลัวเจ็บ คุณเลยไปไกลกว่านั้นไม่ได้ ทั้งๆที่คุณมองเห็นปัญหาใหญ่กว่านั้นเยอะ แต่คุณก็เลือกที่จะลดลิมิตของตัวเองลงมา เพื่อลดความเจ็บปวด แล้วคุณก็สร้างความสุข มันก็กลับไปสนองตัวคุณอีก พอคุณบล็อกว่าคุณทำแค่นี้ เพื่อสนองสิ่งที่คุณต้องการได้แล้ว คุณก็บอกตัวเองว่าคุณทำได้แล้ว อย่างน้อยที่สุดชั้นก็ได้ทำแล้ว และชั้นก็ทำได้แล้ว
วิจักขณ์: อะไรที่ทำให้พี่หลงใหลในการเข้าปะทะกับปัญหา
สมบัติ: เรื่องจิตวิญญาณสำหรับผม มันไม่ใช่เพื่อการหลีกเร้นออกจากสังคม ผมยังมีแรง แม้ผมจะอยู่ในวัย ๔๐ แต่ผมคิดว่าผมยังมีพลังความเป็นหนุ่มสาวอยู่ ผมคิดว่าในวัยนี้ ผมต้องเป็น “ผู้กระทำการ” หรือผู้ขับเคลื่อนต่อสังคม ในขณะเดียวกันก็อาจมีภารกิจในแง่ปัจเจก ที่มันจะต้องไปจัดการเรื่องจิตวิญญาณภายใน แต่การดูแลจิตวิญญาณภายใน ก็มีสภาวะที่เป็นไปได้อยู่หลายสภาวะ สภาวะหนึ่งก็อาจจะเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นในขณะที่เราเข้าสู่แนวปะทะ คือเข้าไปอยู่ในปัญหา แล้วให้ปัญหามันสอนเรา แล้วเราก็ได้ดูตัวเราเอง อย่างในสถานการณ์ช่วงนี้ ผมก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองเยอะนะ ใช่มะ ผมก็ต้องถามตัวเอง คนที่ต้องถามมากและตอบมาก ก็คือต้องถามตัวเองและตอบตัวเองให้ได้ ไอ้สังคมจะแคร์ไม่แคร์ผมเนี่ยไม่สำคัญ เนื่องจากผมใช้ชีวิตสายนี้มายี่สิบกว่าปี ดังนั้นผมได้ตอบคำถามสังคมไปเยอะมาก แล้วไม่ว่าจะยังไง คุณจะเห็นผมเป็นคนแบบไหน ผมไม่ค่อยแคร์ ไม่ใช่ว่าจะไม่แคร์เลยทีเดียว แต่คนที่แคร์ที่สุดคือ ตัวผมเอง เพราะผมต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เมื่อวันนึงในอนาคต เรื่องราวเหล่านี้มันผ่านไป ผมต้องตอบตัวเอง ณ วันนั้นให้ได้ ว่าเมื่อมองย้อนกลับมาวันนี้ ผมทำอะไร และผมจะเคารพตัวเองได้มั๊ย
วิจักขณ์: คือมองย้อนกลับมาแล้ว ไม่รู้สึกเสียดาย หรือเสียใจกับสิ่งที่ตัวเองทำ
สมบัติ: ถูก ถูก การก้าวเดินมันเป็นเรื่องของการเลือก และความรับผิดชอบใช่มั๊ย เมื่อเราตัดสินใจเลือก เราเป็นผู้เลือกนะ เลือก และผมเป็นผู้กระทำ ผมเป็นคนเขียนบทละคร ผมมีปรัชญาในเรื่องละครกับชีวิตอยู่ว่า ในการเขียนบทละครชีวิต เราเขียนบทได้ครึ่งหนึ่งของละครเรื่องนี้ ผมจะไม่ยอมให้ชีวิตผมเดินไปตามใครไม่รู้มาเขียนบทละครให้ผมเดิน ผมไม่ยอม ผมจะต้องเขียนบทละครนี้อย่างน้อยที่สุดครึ่งเรื่อง นี่เป็นบทละครของผมนะ ซึ่งพอจริงๆเรื่องของผมมันก็จะมีคนอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่อย่างน้อย ครึ่งนึงผมต้องเป็นคนกำหนด วันนึงในอนาคตผมจะต้องย้อนกลับมาวันนี้ให้ได้ว่า ผมทำสิ่งที่ผมเลือกแล้ว ส่วนผลกระทบทั้งหลายที่มีคนกังวล มันเป็นเรื่องเฉพาะหน้านิดหน่อย เอาจริงๆแล้วมันไม่ตายหรอก ถ้าตายนั่นก็อีกเรื่องนึงนะ คือ เราก็รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ความยากลำบาก การใช้ชีวิตแปลกๆ หรือชีวิตที่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมา แต่ผมเคยเหวี่ยงแล้วไง ชีวิตผมก็เหวี่ยงมาจนไม่รู้จะเหวี่ยงยังไงแล้ว
วิจักขณ์: ถึงแม้มันจะเหวี่ยง พี่ก็ยังพอใจที่ได้ขีดเส้นของตัวเอง ได้ทำอะไรออกมาที่เป็นรูปธรรม เป็นประสบการณ์ตรง
สมบัติ: ได้ครึ่งหนึ่ง ในบทละครเรื่องนี้ผมเขียนบทได้ครึ่งหนึ่ง
วิจักขณ์: ชีวิตที่พี่เลือกแบบนี้ เป็นที่ที่พี่ค้นพบจิตวิญญาณของตัวเอง ไม่ใช่ที่วัด หรือสถานปฏิบัติธรรม?
สมบัติ: ผมไม่ได้คิดเรื่องที่จะออกจากความทุกข์ ออกจากประเด็นปัญหาทางสังคม ไม่ได้คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น แต่วันนึง ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นเรื่องศาสนาหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ผมสนใจเรื่องจิตวิญญาณ เรื่องภายใน ผมเชื่อว่าในสภาวะบางสภาวะจำเป็นที่จะต้องมีความเงียบพอสมควร เพื่อจะได้คุยกับตัวเอง
วิจักขณ์: พี่ยังมองว่า ช่วงวัยหนุ่มสาวยังเป็นช่วงของการเก็บทุนอยู่หรือเปล่า
สมบัติ: ไม่ใช่เก็บทุน ผมใช้ทุนที่ผมมี พลังงาน เงื่อนไขทางสังคม มันเป็นทรัพยากรที่เราใช้ได้ในเวลานี้
วิจักขณ์: แล้วมันถือว่าเป็นการเก็บต้นทุนทางจิตวิญญาณรึเปล่า
สมบัติ: ไม่ใช่เลย ผมไม่คิดแบบนั้น หนุ่มสาวเป็นช่วงเวลาทองของชีวิต มันจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ที่มันแร๊งงส์ มันจะมีพลัง ความแรงของผมตอนนี้ก็ลดลงไปมากนะ ถ้าเทียบกับสมัยสิบ ยี่สิบปีก่อน ที่ผมสุดโต่งมาก เรียกได้ว่า hardcore เลยแหละ แรงส์เลยฮะ (หัวเราะ)
วิจักขณ์: แต่ถึงพี่จะบอกว่าเป็นช่วงของการใช้ทุนที่มี ใช้พลังหนุ่มสาวกระทำต่อสังคม แต่เท่าที่ฟังดูมันก็เหมือนจะมีอะไรที่เชื่อมโยงกับเรื่องทางจิตวิญญาณอยู่
สมบัติ: ผมอธิบายอย่างนี้ ผมคิดว่าผมเติบโต และเรียนรู้เรื่องจิตวิญญาณภายในจากสถานการณ์ที่เป็นสถานการณ์วิกฤต หรือการเดินเข้าสู่การปะทะกับปัญหาทางสังคม หรือปัญหาของผู้อื่น ...ซึ่งมันก็ทำให้ตัวเองก็มีปัญหาไปด้วย แต่ถ้าเราสามารถที่จะอยู่ตรงนั้นได้ สำหรับผมมันจะเป็นโอกาสของการเติบโตทางจิตวิญญาณมาก
มนุษย์มันมีช่องทางทางจิตวิญญาณที่ไม่ต้องใช้ภาษา มีอยู่จริงเลย คุณใช้สมองสั่งไม่ได้เลย มันอธิบายไม่ได้ มันไม่ใช่การสื่อสารกันในระดับคำพูด คุณอาจจะฟังดนตรี หรือเข้าถึงงานศิลปะ มันเป็นการเชื่อมต่อกันทางจิตวิญญาณ ที่ก้าวข้ามข้อจำกัดทุกอย่าง เหมือนกัน ในทางสังคม ในบางสภาวะ เหมือนเวลาคุณเข้าไปในป่าดงดิบ ไม่เคยมาที่นี่นะ แต่ทำไมเราขนลุกวะ มันแปลกๆ มีคนอธิบายว่ามันเป็นการสื่อสารของธรรมชาติกับเซลล์ มันเคยเป็นของประเภทเดียวกัน มันเคยกลมกลืนกันอย่างที่สุด มันไม่ใช่ความคิด แต่เป็นความรู้สึก ภาวะแบบนี้มันมีอยู่จริง คือตัวจิตวิญญาณมันทำงาน
วิจักขณ์: พี่เคยรู้สึกอย่างนี้ เวลาที่ทำกิจกรรม พูดคุย หรือปฏิสัมพันธ์กับคนมั๊ย
สมบัติ: ผมพยายามทำให้มิติทางจิตวิญญาณกับสิ่งที่ผมทำเป็นสิ่งเดียวกัน คือถ้าผมพบว่าจิตวิญญาณของผมเป็นเช่นนี้ ผมก็จะพยายามใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงกับสิ่งสิ่งนั้น เพื่อที่ผมจะได้มีชีวิตไม่ขัดแย้งกับตัวเอง ถ้าเรามีชีวิตที่ไม่ขัดแย้งกับจิตวิญญาณของเรา เราจะปลดปล่อยพลังของตัวเองได้อย่างมหาศาล คนที่สามารถเข้าถึงตัวเองได้ เข้าถึงจิตวิญญาณของตัวเองได้ มันจะมีพลังมหาศาล
มันเป็นเรื่องของคุณค่า เป็นการตอบคำถามตัวเองได้ว่าเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไร เรื่องเกิดมาทำไมผมไม่สงสัยแล้ว คำถามก็คือเมื่อตอนนี้เราเกิดมาแล้ว แล้วเราจะใช้วันนี้ให้มีคุณค่าสูงสุด จนถึงวันที่เราไม่มีได้อย่างไร เราจะดำรงอยู่อย่างไร อันนั้นเป็นโจทย์สำคัญ
วิจักขณ์: ซึ่งการตอบคำถามนั้นมันเหมือนเป็นสัญญาณของการเริ่มต้น
สมบัติ: มันทำให้ทิศทาง หรือเข็มมุ่งนี้มันชัด มีทิศ มีทาง มีเข็มมุ่งก่อน ทำได้ไม่ได้นี้อีกเรื่องนึง พอโตขึ้น เราก็ได้เรียนรู้ว่า แค่ความตั้งใจดีอย่างเดียวนั้นไม่พอ มันต้องการความสามารถ มันต้องการการวางแผน การเตรียมการ ทรัพยากร เพื่อเข้าสู่เป้าหมายนั้น ซึ่งตรงนั้นก็เป็นเรื่องของความรู้ ความเฉลียวฉลาดที่จะเรียนรู้ระหว่างทาง สำหรับผู้ที่ต้องการสร้างผลกระทบ หรือสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
พอเราได้ค้นพบคุณค่าบางอย่างของเรา มันเป็นการยอมรับว่าเราจะตายยังไง คนที่มีทัศนะของนักปฏิวัติ คนที่มองเรื่องของการปลดแอก การเปลี่ยนแปลงทางสังคม มันจะต้องยึด เกาะเกี่ยวกับอะไรบางอย่าง ไม่งั้นเราจะตอบคำถามตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมเราจะต้องเอาตัวเองไปใกล้ความเจ็บปวด หรือความเสี่ยงตาย ทำไมต้องเอาตัวเราเข้าไปใกล้กับความทุกข์ที่หนักหนา มันจะต้องมีอะไรที่มีความหมายมากกว่าความตายใช่มั๊ย เราถึงจะเอาตัวเองเข้าไป แล้วถ้าความตายมันเป็นที่สุด มันมีอะไรที่มีความหมายมากกว่าความตาย? ตัวอัตตามันก็ต้องอธิบายว่าอะไรที่จะมีความหมายมากกว่าความตาย อย่างเช่น โอเค บอกว่าเพื่อความรักเนี่ยเราตายได้ ฉันรักเธอนะ ฉันสามารถตายแทนเธอได้ สำหรับคนที่มีความกตัญญู ก็อาจจะบอกว่าฉันตายได้เพื่อพ่อแม่ เพื่อครอบครัว
วิจักขณ์: แล้วจุดที่ความบ้าของพี่เพิ่มสูงขึ้น จนไปถึงการเป็นนักปฏิวัติ จู่ๆมันคงไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใดใช่มั๊ย
สมบัติ: ใช่ คือ ผมเห็นโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างทางการเมือง ก็เรียนรู้สั่งสมมาเรื่อยๆ ถามคำถาม มีประสบการณ์มากขึ้น วันๆมันก็เอาแต่ตั้งคำถาม แล้วเราก็ใช้ชีวิตอยู่ในแวดวงที่มีการตีโจทย์เรื่องเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา งานของผมก็ค่อนข้างว่าง ไม่ยุ่งกับเอกสาร เราก็ใช้ชีวิตอยู่กับเรื่องของความคิดหรือตัวที่เป็นประเด็นปัญหา เป็นข้อเท็จจริงมาก มันก็มีโอกาสสั่งสม เห็นเรื่องพวกนี้ ผมก็เคยนะที่คิดว่า คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน ขลุกอยู่ ๕ ปี ๗ ปี จนมีพี่คนนึงมาเคาะประตูบ้านผม ไปนอนคุยกัน “หนูหริ่ง สิ่งที่เธอทำน่ะดีนะ ชาวบ้านแถวนี้ได้สัญชาติ” ผมแม่งโคตรภูมิใจ ตอนนั้นผมทำงานตำบลเดียว เอ็นจีโอต่างจังหวัดแม่งทั้งภาคเหนือ ของผมตำบลเดียว ตำบลเดียวจริงๆ ผมช่วยให้ชาวบ้านที่ไม่มีสัญชาติเข้าสู่กระบวนการสัญชาติ แล้วได้สัญชาติ ผมตั้งเป้าไว้สามถึงสี่พันคน มันเป็นความภูมิใจในชีวิตได้แล้ว จากวันแรกที่คิดว่าจะทำยังไงให้เด็กคนนึงได้สัญชาติ พอทำงานแล้วยกกำลังเป็นพันนะ แต่คำถามก็คือว่า ไอ้ความรู้ที่เรามีอยู่ทั้งหมดกับปัญหาสังคมที่มันกว้าง ทำยังไงเราถึงจากสร้าง impact ที่มากขึ้นได้ ถ้าเรายังคงอยู่แต่ในหมู่บ้าน เราก็จะไม่สามารถสร้างผลกระทบเหล่านั้นได้
วิจักขณ์: ช่วงชีวิตที่กระจกเงาทำให้พี่ได้เรียนรู้อะไรบ้าง
สมบัติ: การทำกระจกเงาทำให้ผมเรียนรู้ว่า ปัญหาในระดับจุลภาคนั้นมันเชื่อมโยงไปในระดับมหภาค ตอนแรกเราคิดว่าไปทำการจัดการพื้นที่เล็กๆที่นึงได้ก็จบ แต่ความจริงมันไม่ใช่ ปัญหามันเชื่อมโยงกัน ไม่มีชุมชนใดที่สามารถหลีกเร้นจากโลกาภิวัตน์ แล้วไม่ต้องสัมพันธ์กับสังคมภายนอก ไม่มีเลย คุณจะไปหาชุมชนที่ว่านี้ที่ไหน เผ่าตองเหลืองอะไรงี้ เค้าจะวิวัฒนาการไป มึงยังต้องไปบอกเค้า อย่าเปลี่ยนนะ อย่าไปเปลี่ยน ซึ่งมันก็ไปกระทบเค้าอยู่ดี คือ คนเหล่านั้นถูกค้นพบหมดแล้ว ถูกกระทำหมดแล้ว แล้วเรื่องนโยบายมันก็ตามมาหมด เรื่องสัญชาติแต่ก่อนไม่สำคัญ แต่วันนึงมันสำคัญ เรื่องที่ดินทำกิน แต่ก่อนสำหรับชาวเขาไม่สำคัญ แต่วันนี้สำคัญ
วิจักขณ์: มันเริ่มไม่โรแมนติคอย่างที่คิดไว้ตอนแรกหรือเปล่า
สมบัติ: มันได้ไปค้นพบความจริง เช่น ตอนอยู่เชียงรายตอนแรกนี่ชอบมาก มันหนาว ชาวบ้านเค้าบอกว่ามันเย็น ซึ่งในความรู้สึกผมตอนฟังเค้าดูแล้วความเย็นของเค้านี่มันยิ่งกว่าหนาว แล้วความเย็นของเค้ามันไม่ใช่แบบคนกรุงเทพฯที่ในปีนึงจะมีช่วงเวลาหนาวๆซักสองสามวัน เราก็หยิบเอาเสื้อหนาวที่มีฮู้ดมาใส่ ตอนผมเป็นนักเรียนก็จะเก็บเสื้อตัวนี้เอาไว้ ดีใจมากเวลาหนาว เราจะได้เอาเสื้อตัวโปรดออกมาใส่ ...มันไม่จริงน่ะ
ความงามมันมีอยู่ แต่ขณะเดียวกันมันก็มีความจริง และความจริงบางทีมันก็ท้าทาย ขมขื่น ยากลำบาก พอเป็นความจริงนั้นเราจะปัดได้ยังไง เราจะอยู่ได้ยังไงในโลกที่ไม่มีความจริง เราจะใช้ชีวิตแบบไหน โอเคเราอาจจะอยู่ได้ บางคนอาจจะสามารถเลือกสร้างเงื่อนไขของตัวเองให้ไปอยู่ในภาวะที่ไม่ต้องไปเผชิญความจริงที่เจ็บปวดได้
ความทุกข์นี่เป็นความจริงแบบนึงหรือเปล่า หรือไม่ใช่ความจริง?
วิจักขณ์: (หัวเราะ) เป็นดิพี่ ความทุกข์นะ
สมบัติ: เป็นใช่มั๊ย? (ทำหน้าใสซื่อ)
วิจักขณ์: (หัวเราะ) นี่มุขป่าวเนี่ย (หัวเราะ)
สมบัติ: ไม่ ไม่ ไม่ ไม่ บางคนเค้าบอกเอาทุกข์ออกได้ แล้วมันเป็นความจริง สัจจะอะไรบางอย่าง ผมก็งงๆ แต่คำถามของผมก็คือว่า มีคนอีกกี่คนล่ะที่ออกไปไม่ได้ แม่งเยอะมากกก... คนจำนวนมากเลยที่อยู่ในความทุกข์
อย่างอาสาสมัครของผมที่ทำงานอยู่ที่เชียงราย ทำงานไปซักพักก็เดินมาบอกผม หนูประทับใจพี่มาก งานที่พี่ทำน่ะค่ะ แต่หนูไม่สามารถมาทำอย่างพี่ได้ เพราะหนูต้องกลับไปอยู่ในโลกของความเป็นจริง (หัวเราะ) แม่ง กูอยู่นี่หลายปี มึงจะกลับแล้วมาบอกกูว่า กูไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริง แล้วนี่กูอยู่ที่ไหนวะเนี่ย (หัวเราะก๊าก)
เมื่อว่ากันด้วยโลกของความเป็นจริงเนี่ย ผมก็สงสัยว่าอะไรคือโลกของความเป็นจริง เวลาผมเจอคำพวกนี้นะ แม่ง..มันชิบหายเลย มันก็จะนำไปสู่การขบคิด ตั้งคำถาม อะไร ยังไง มันจริง ไม่จริงยังไง หรือมันจริงทั้งนั้น อ้าวถ้ามึงจริง กูไม่จริง หรือจริงเหมือนกันยังไง แล้วเราก็คิดไปเรื่อยว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เป็นจริงขึ้นมาได้ยังไง
ที่กระจกเงาผมค้นพบเรื่องงานอาสาสมัคร พบว่ามันเป็นเครื่องมือหนึ่ง ตอนนั้นผมตีโจทย์ออกแล้ว ว่าเราไม่มีทางไปได้สุดทาง มันเป็นเรื่องของกระบวนการ วิวัฒนาการทางสังคม และสิ่งที่เราต้องทำคือ “ส่งไม้ต่อ” แต่เวลาส่งไม้ต่อ อย่าไปส่งหนึ่งต่อหนึ่ง มันต้องส่งทีนึงแบบแจกไม้ไปเลย แจกไม้แล้ววิ่งกันออกไป อันนี้แหละคือสิ่งที่ต้องทำ ชวนคนให้เข้ามามีส่วนร่วม เป็นอาสาสมัคร หรือมีวิธีคิดที่อยากจะเห็นบางสิ่งบางอย่างเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องทุกอย่างหรอก ไม่ต้องเรื่องใหญ่ๆก็ได้ เท่าที่เค้าพอจะมีศักยภาพ หรือมีการปลดปล่อยอะไรบางอย่างในตัวเอง ณ ขณะนั้น แล้วเราก็เชื่อมกับเค้าเท่านั้นเอง เพียงแต่ว่า ถ้าเราผ่านกระบวนการปลดปล่อยตัวเองมาอย่างต่อเนื่อง เราก็อาจจะทำเรื่องอะไรที่ซับซ้อนขึ้นได้ หรือมี impact ที่มากขึ้นได้
วิจักขณ์: ดูเหมือนแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของพี่ พี่ไม่ได้เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ลักษณะของการส่งไม้ต่อก็ไม่ใช่ว่าชั้นต้องเก่ง มีเพื่อนเยอะ เป็นที่ยอมรับ มีชื่อเสียง แต่พี่ได้สร้างตัวงานของพี่ให้มันเป็นที่เชื่อมต่อกับคนได้
สมบัติ: ใช่ คือถ้าทัศนะของเราเป็นทัศนะของคนที่อยากมีชื่อเสียง คุณต้องวาง positioning ของคุณอีกแบบนึง คุณต้องขาย คุณต้องโชว์ ชิบหายวายป่วงหมด แต่มันก็จะซ้อนทับกันระหว่างประโยชน์ของตัวเองกับประโยชน์สาธารณะ ถ้าทัศนะของเราเป็นทัศนะของคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม คุณก็จะต้องเลยจากตัวเองให้ได้ แต่คุณต้องใช้ตัวเองเป็นทุนนะ คือถ้าคุณไม่มีทุนของตัวเอง คุณจะทำสิ่งนั้นลำบาก [วิจักขณ์: จะไปยืมมือคนอื่น มันก็ไม่ได้] ใช่ คืออย่างผมเนี่ยก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ตลอด กับเพื่อนผมหลายคนเวลาทำงานมากๆเข้าก็จะถูกพูดถึงว่า ไอ้ที่ทำเยอะๆเนี่ยอยากเอาหน้า อย่างผมก็โดนมาก หลังจากรัฐประหาร ๓๕ ผมเดินเข้ามาทำงานการเมือง ก็จะโดนวิพากษ์วิจารณ์มาก คือมันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เพื่อนหรือคนในสังคมจะตั้งคำถามว่า เฮ้ย ไอ้หนูหริ่งมันเตรียมสร้างตัวเองเข้าสู้เส้นทางทางการเมือง มันง่ายที่จะถูกอธิบายไปแบบนั้น แต่เมื่อเป็นแบบนั้น คุณต้องกลับมาถามตัวคุณเองก่อนว่า คุณกำลังเดินเข้าสู่เส้นทางทางการเมืองแบบไหน ใช่มะ คุณอาจจะถูกกล่าวหาว่า มึงถูกซื้อไปแล้ว เปลี่ยนไปแล้ว ...มันง่ายน่ะที่จะพูดเรื่องแบบนี้ แต่ว่าผมอยู่ยาวพอที่จะพิสูจน์สิ่งที่คนพูดได้ ผมคิดว่าผมอยู่ยาวได้และผมมั่นคงพอที่ผมจะบอกได้ว่าสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดนั้นเป็นไปเพื่ออะไร
วิจักขณ์: พี่ช่วยขยายความอีกนิด ตรงที่บอกว่าเราเริ่มต้นด้วยการเอาตัวเองเป็นทุน
สมบัติ: ในการประกอบการทางสังคมนี่ เราต้องเอาตัวเองเป็นทุนด้วย คุณต้องสะสมทุนในเรื่องของความรู้ สติปัญญา ความเข้าใจ ความคิดสร้างสรรค์ คุณทำอะไรไปคุณต้องสะสมทุนตลอด เวลาคุณคิดอะไรขึ้นมาอย่างนึง คุณก็ต้องดูทุนที่มี อย่างเช่นตอนนี้ผมไม่มีเงิน คนคิดว่าผมแม่งรับเงินทักษิณ แต่เรื่องจริงคือผมไม่มีเงิน ประเด็นก็คือผมไม่มีทุน ผมไม่มีห่าอะไร ผมไม่มีคนมาช่วยอะไร แค่ตอนนี้จะเอาเสื้อไปส่งต่อ ยังไม่มีมือไม้เลย แต่ถ้าผมมีทุน ผมมีอะไรล่ะ ผมมีเฟซบุ๊คในฐานะช่องทางการสื่อสาร ผมมีเครดิตบางอย่าง เครดิตก็เป็นทุนอย่างหนึ่ง ผมก็บริหารทุนที่ผมมีจากตรงนี้ แล้วก็สร้างimpact ที่นี้ในแง่การจัดการ การเป็นผู้ประกอบการทางสังคมนั้นไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเป็นผู้ประกอบการคนเดียว โจทย์ของผมก็คือว่า ผมอยากจะทำเป็นตลาด เหมือนตลาดมอเตอร์โชว์ ผมชอบมากเลย ไอ้คนทำมอเตอร์โชว์เนี่ย มันไม่ได้เอารถมาขายนะ มันทำแค่ตลาด เหมือนทำตลาดไทเงี้ยะ คุณเปิดพื้นที่ พื้นที่ตลาด แล้วคุณให้ผู้ประกอบการมาทำ โจทย์ผมก็คือว่าทำยังไงมันถึงจะมีผู้ประกอบการทางสังคมจำนวนมากที่ไปใช้พื้นที่ตรงนั้น คุณเห็นคนอื่นทำ คุณก็อยากทำด้วย ผมกำลังพยายามตีโจทย์นี้อยู่ ว่าทำยังไงให้คนเล็กคนน้อย ที่แม่งวันๆเอาแต่ไปนั่งฟังเค้าปราศรัย นี่เลยคือจุดที่แย่ที่สุดจุดหนึ่งในขบวน คือ ช่วงเวลาสามสี่ปีในการต่อสู้เนี่ย มันไม่ได้ส่งสัญญาณหรือสร้างความรู้ในการเป็นผู้นำของตัวเอง ในการสร้างกิจกรรมของตัวเองขึ้นมา ผมพยายามจะบอกว่า คนเล็กคนน้อยต้องสร้างกิจกรรมของตัวเอง ผมจะเชียร์ให้คนตั้งวงแชร์ ส่งเสริมให้คนคิดทำโน่นทำนี่ ผมกำลังจุดประกายให้เกิดสิ่งนี้อยู่ แล้วก็ทำตลาด สร้างตลาดนัดของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือเพื่อประชาธิปไตย ให้คนได้มาปะทะสังสรรค์กัน
ในมุมมองของผู้ประกอบการทางสังคม คุณจะต้องจัดการตัวเอง ทุกคนต้องฝึกที่จะเป็นผู้นำของตัวเอง ผมเพียงแค่จุดประกาย แล้วคนก็รับเอาไปต่อยอด
วิจักขณ์: ทุนที่พี่มี ทุกอย่างที่มี สามารถให้คนเอาไปใช้ต่อได้ ให้เค้าเอาไปเป็นทำทุนได้ โดยที่เราไม่ได้ผูกมัดเค้าไว้
สมบัติ: ใช่ ผู้ประกอบการทางสังคม กับผู้ประกอบการทางธุรกิจต่างกันตรงนี้ ผู้ประกอบการทางธุรกิจจะคิดเรื่องที่ว่าตัวเองจะครอบ จะมีทัศนะเรื่องการครอบตลาดสูง แต่การเป็นผู้ประกอบการทางสังคมมันกลับตาลปัตรเลย เรามีทัศนะของการให้ คุณต้องปลดปล่อย ทัศนะของเราเป็นทัศนะของการปลดปล่อย คุณต้องปลดปล่อยคน จากมวลชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนไม่กล้าทำอะไร ไม่กล้าเขียน ไม่กล้าแสดงตัว ไม่กล้าไปเข้าร่วมทางการเมือง ไม่เคยไปร่วมชุมนุมเลยแม้แต่ครั้งเดียว คุณจะทำยังไงที่จะยกระดับ ส่งเสริมศักยภาพของเค้าให้เค้าได้ปลดปล่อยพลังในตัวเองออกมา
วิจักขณ์: การส่งไม้ของพี่ มันเป็นการถ่ายทอดเรื่องจิตวิญญาณอย่างหนึ่งด้วยมั๊ย
สมบัติ: โอ แน่นอน ส่วนหนึ่งผมก็จะสื่อสารสิ่งที่อยู่ข้างในออกมาด้วย
วิจักขณ์: ซึ่งนั่นก็คือทุนของพี่ ที่คนสามารถเอาไปต่อยอดได้
สมบัติ: ถูก ถูก ส่วนใหญ่คนก็จะก็อปปี้ข่าว นอกจากก็อปปี้ข่าว ผมก็จะมีเขียนเรื่องทัศนะต่อข่าว ปรากฏการณ์ทางสังคม หรือบางทีก็สื่อสารภาวะข้างใน ผมนั่งอยู่นิ่งๆ จู่ๆมันก็ปรากฏ ผมก็เล่าเป็นเรื่องราวออกมา ถ่ายทอดให้คนได้ร่วมรับรู้ไปกับผม
วิจักขณ์: แล้วในทัศนะของผู้ประกอบการทางสังคม คนรับไม้อาจจะถูกจุดประกาย หรือได้รับแรงบันดาลใจจากพี่ไป แล้วพอเค้าออกไปทำด้วยตัวเอง เค้าก็อาจหลงลืมจิตวิญญาณตรงนั้นไป หรือเค้าอาจจะเอาไปต่อยอดคนละทิศคนละทาง ไม่ได้เคารพที่มาคือตัวพี่ซักเท่าไหร่ ถ้าเป็นอย่างนั้นพี่จะรู้สึกอะไรมั๊ย
สมบัติ: คือ มันก็มีสิทธิ์ที่เค้าจะไปตกผลึกในภาวะของตัวเค้าเองได้ เราต้องเข้าใจว่าความคิดของเรามันไม่ได้เป็นของเรา ความคิดของเราเกิดจากความคิดของคนจำนวนมากที่เรารับเข้ามา และมันมาตกผลึกเป็นความคิดของเราในภาวะนั้นๆ สิ่งที่เป็นตัวผมเองจริงๆมันก็ไม่ได้มาจากตัวผม เท่านั้นเอง ผมเพียงแค่รับอิทธิพลทางความคิดของผู้อื่นมา แล้วมันก็มาตกผลึกในตัวผม แล้วผมก็ตอบโต้ออกไปในสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน ในบริบทแบบนี้ เท่านั้นเอง
วิจักขณ์: ตัวคนจุดประกายก็ยังคงพัฒนาต่อไป คือเราไม่ต้องไปนั่งกอดความคิดแจ๋วๆของเราไว้ หวงว่าคนอื่นจะเอาไปใช้ เพราะตัวของนักประกอบการทางสังคมก็ยังคงพัฒนาตัวเองต่อไปท่ามกลางเหตุปัจจัยที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
สมบัติ: อันนี้เป็นความมันส์ส่วนตัวเลยนะ ในฐานะเป็นคนที่ชอบแข่งขันกับตัวเอง ผมไม่แคร์หรอกว่าใครจะเอาความคิดของผมไปทำอะไร หรือว่าเก็ทไอเดียอะไรจากผม เพราะผมก็เชื่อว่าผมก็เก็ทไอเดียมาจากคนอื่น มันไม่ได้เกิดจากเราโดยลำพัง นวัตกรรมที่ว่า มันมีได้สองอย่างคือ ใหม่เลย ซึ่งผมไม่เชื่อ แต่ผมเชื่อว่ามันจะเกิดจากการต่อยอด แล้วก็จัดวางในพื้นที่ที่เหมาะสม ถ้าคุณวางผิด ก็จบ ขณะเดียวกัน อย่างที่คุณพูดก็คือว่า เราก็ยังสนุกกับการต่อยอด คือ ผมไม่สนใจหรอก (หัวเราะ) เดี๋ยวผมก็จะไปทำสิ่งใหม่ มันก็เป็นความสนุกส่วนตัว แต่มันก็ไม่ได้ทำเพื่อความสนุกอ่ะนะ ความสนุกเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่เป้าหมาย เป้าหมายคือเป้าหมาย
วิจักขณ์: สิ่งที่ทำให้สนใจ คือสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากกว่า
สมบัติ: ....จดจ่อ ผู้ประกอบการสังคมข้อแรกคือคุณต้องจดจ่อ คุณล็อคเป้าเลย ปัญหาของผมก็คือ ผมดันมีเป้าเยอะ มันเลยล็อคลำบากหน่อย (หัวเราะ) แต่พอมาช่วงหลังผมเรียนรู้ว่า ถ้าผมจะสร้างimpact ผมต้องสร้างคนที่ทำ ผมไม่ใช่คนทำแล้วต่อไปนี้ ผมสร้างคนที่ทำ แต่ถ้าถึงจุดหนึ่งผมต้องทำ ผมจะพิสูจน์ให้ได้ว่าผมทำได้ ผมพิสูจน์กับการทำองค์กรมาหลายรอบ คือผมออกมาตัวเปล่าๆได้เลย ต้นทุนที่ผมมีอยู่ผมเชื่อว่าผมมาตัวเปล่าๆพอ ก็อาจจะใช้เวลานิดนึง แต่ถ้าผมจะทำการทดสอบอีกครั้ง ผมจะทำให้ดูว่าผมทำได้ แล้วมันจำเป็นมากเลย เพื่อจะดูว่าเรายังเป็นสิ่งนั้นอยู่รึเปล่า
วิจักขณ์: แต่ตอนนี้ก็เหมือนเป็นบททดสอบใหม่ ที่อยากจะลอง อาจจะไม่ได้เป็นการสร้างองค์กร แต่เป็นการสร้างคน
สมบัติ: สร้างขบวน ผมวิเคราะห์แล้วว่า การชุมนุมครั้งนี้มันจำเป็นต้องมีองค์กรอยู่หลายองค์กรนะ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ขาดไปมากที่สุดในการต่อสู้รอบนี้ก็คือ การบริหารจัดการขบวน การบริหารจัดการวัฒนธรรมของขบวน มันไม่มีการคิดเชิงขบวน คือมันเกิดขบวนแต่ไม่มีการบริหาร เมื่อเราไม่มีการบริหารปุ๊บ ทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่ ไม่สามารถปรากฏศักยภาพที่มีอยู่ภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด คือถ้าเราคิดตีโจทย์นี้แตกนะ คุณจะเห็นว่าดีไซน์ที่ผมทำกิจกรรมที่ผมทำในสองสามปีนี้ ไม่ใช่กิจกรรมทางการเมืองอย่างเดียว ไม่เลย เพราะผมจดจ่ออยู่กับเรื่องพวกนี้ ผมจดจ่ออยู่กับเรื่องขบวน ถ้าผมสนใจจะเอาชนะทางการเมือง วันนั้นผมต้องเข้าไปแล้ว เข้าไปชาร์จ เข้าไปตีแล้ว โจทย์ของผมที่ขบคิดมาโดยตลอด คือการปรับจากข้างล่างขึ้นมา ถ้าโจทย์นี้ถูกตีแตก ผมเชื่อว่ามันจะมีพลังมหาศาล
วิจักขณ์: เหมือนพี่กำลังปลุกอะไรบางอย่างในตัวคนที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้สร้างอะไรใหม่ขึ้นมายัดเยียดให้เค้า
สมบัติ: มันคือการปลดปล่อยตัวเอง ถ้าคุณไม่กลัว ไม่กลัวตาย ไม่กลัวจน ไม่กลัวคนอื่นดูถูก คุณลองนึกดู ถ้าคุณกล้าเปิดเผยตัวเอง โดยที่คุณไม่กลัวคนอื่นเค้าจะตำหนิคุณ เพื่อนฝูงจะตำหนิคุณ คุณไม่ได้อดตายหรอก ไปหาข้าวกินเอายังพอได้อยู่ คุณไม่มีที่นอน ไม่จริงหรอก คุณยังหาที่นอนได้อยู่ จริงๆเราเป็นอย่างนั้นน่ะ เราไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอกขนาดนั้น แต่ถ้าคุณไม่กลัวที่จะสูญเสียสถานะ หรือสภาพการณ์บางอย่าง คุณลองคิดดู พลังของคุณจะขนาดไหน คุณแค่ปลดปล่อยกรอบ กำแพง เพดาน เอามันออกไป แล้วคุณก็แสดงพลังที่คุณมี คุณปล่อยไปได้อีกชั้นนึง คุณก็โตขึ้นได้อีก
วิจักขณ์: ฟังดูไม่ต่างกับมิติทางศาสนาเท่าไหร่ แต่ที่เราเห็นอยู่บ่อยๆศาสนากลับพยายามไปสร้างกรอบเรื่องความดี การปลดปล่อยศักยภาพก็เลยถูกจำกัดแค่ตรงที่ภาพของความดีนั้น มันไม่ได้ไปต่อถึงสิ่งที่เป็นเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม แล้วข้ามพ้นไปสู่ความจริงบางอย่างที่เป็นพื้นฐานกว่า ฟังดูแล้วพี่ทำงานกับอะไรที่มันพื้นฐานกว่านั้นเยอะ ...มันคือความดีมั๊ย (หัวเราะ)
สมบัติ: ไม่ใช่ มันคือภารกิจ เมื่อเราพบว่าเราเป็นใคร เราเป็นมนุษย์ เราเป็นสิ่งมีชีวิต ต้นไม้ก็เหมือนกัน คือ มันมีหน้าที่ มันมีภารกิจ มันมีภารกิจตายด้วยนะ การเกิดมาแปลว่าอะไร ผู้มาใหม่คือคือผู้รับไม้ และผู้ต่อยอด แล้วคุณจะต้องดำรงอยู่ถึงจุดหนึ่ง แล้วคุณต้องตายนะ การตายเป็นภารกิจอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นความผิดพลาดของธรรมชาติไม่ใช่ เพราะถ้าคุณไม่ตาย โลกหรือสังคมไม่สามารถที่จะมีผู้มาใหม่ได้ [วิจักขณ์: หรือถ้ามีมันก็ไม่โต] ใช่ ไม่โต คุณต้องรู้จักตาย รู้จักถอยออกมา เปิดทางให้เกิดการงอกใหม่ อย่างในป่าเนี่ย เราดูไม่ออกเลย มีไม้ใหญ่ล้ม ก็มีไม้อื่นโผล่ขึ้นมาเป็นไม้ใหญ่ต่อได้เลย คุณต้องตาย คุณต้องตาย มันถึงจะมีพื้นที่ให้คนข้างหลังได้ คนมักจะบอกว่าเรามีภารกิจแค่การมีชีวิตอยู่ ถูก เราใช้พลังชีวิตกระทำในภารกิจนี้จนถึงที่สุดเลย ทุกคนดิ้นรนเพื่อที่จะมีชีวิตรอด คนส่วนใหญ่แล้วใช้ทัศนะนี้ ทำภารกิจนี้ คือทำเพื่อให้ตัวตนมีชีวิตรอด ทำภารกิจนี้เพื่อจะมีชีวิตรอด แต่ว่าภายใต้การมีชีวิตรอดนั้น มันมีภารกิจการส่งต่อ คุณต้องไม่ลืม ซึ่งภารกิจส่งต่อนี้คนมักจะคิดออกตอนแก่
วิจักขณ์: ก็จริงนะที่เป็นภารกิจของคนแก่ แต่สำหรับคนหนุ่มสาวที่ทำอะไรบางอย่างถึงขนาดที่ยอมตายเพื่อสิ่งนั้นได้ มันก็ส่งไม้ตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว
สมบัติ: ถูก ถูก ถูก ไอ้ภารกิจนี้มันถูกฝังไว้ในตัวคนทุกคนเลยนะ ผมเคยเจอชาวบ้านคนนึงที่สึนามิ เค้าเล่าให้ฟังว่า วันนั้นเค้าวิ่งหนีน้ำนะ คลื่นแม่งมา ก็วิ่งหนีน้ำไปไกลมากตอนคลื่นลูกแรก พอมีคนบอกว่าคลื่นลูกสองกำลังจะมา แต่ว่ามีคนเจ็บอยู่ตรงนั้น เค้าเล่าให้ผมฟังนะ พี่ หนูนะแม่ค้าคนนึง ชีวิตเกิดมานะไม่เค้ยคิดเรื่องงานที่จะไปช่วยเหลือชีวิตคนอื่น ทัศนะของหนูนะคือทำยังไงให้เลี้ยงผัวเลี้ยงลูกเนี่ยให้รอด หนูนะไม่เคยคิดจะไปช่วยเหลืออะไรสังคมเล้ย ทั้งชีวิตนี้เอาแค่ชีวิตตัวเองรอดเท่านั้นแหละ แต่วันนั้นหลังจากลูกแรกแล้ว หนูวิ่งหนีตาย แต่พอหันหลังกลับไป แม่งเห็นคนเจ็บอยู่ แล้วมีข่าวลือว่าจะมีลูกสอง ไม่น่าเชื่อ ไม่รู้หนูทำไปได้ไง หนูวิ่งกลับไป ไปเอามันออกมา
คุณจะวิเคราะห์ว่ายังไง คนที่ไม่ได้ผ่านกิจกรรมทางสังคม ผ่านกิจกรรมทางการเมือง ผ่านการศึกษาทางปรัชญา ศึกษาทางพุทธศาสนา คุณที่ใช้ชีวิตอีกแบบนึง เอาแค่ตัวเองรอด สถานการณ์แบบนั้น คือภาวะที่ปะทะ มันเข้าตีความเป็นมนุษย์ที่อยู่ข้างในที่สุด มันเกิดการต่อสู้กันข้างใน ว่ากูกับไอ้นั่นคนเดียวกันรึเปล่า เมื่อไรก็แล้วแต่ที่อยู่ในสถานการณ์แบบนั้น มันเกิดความเป็นร่วม ความเป็นเรา ภาวะร่วม นี่คือสาระสำคัญ เราเกิดภาวะนี้ขึ้น ภาวะร่วม เมื่อไรก็ตามที่มันเกิดภาวะร่วมนี้ขึ้นได้ คุณค้นพบว่ามันเป็นสิ่งที่ร่วมกันได้ มีความเป็นเรา เราต่างเป็นกันและกัน
เมื่อมันมีแรงกดดันถึงจุดนึง อย่างตอนนี้เนี่ย ความทุกข์ที่เกิดขึ้นคุณไม่ควรไปเสียใจที่มันเกิดขึ้น หรือบอกว่าเลิกคิดเถอะ ถ้าคิดแบบนั้นงี่เง่ามาก
วิจักขณ์: ในช่วงเวลาปะทะ หรือวิกฤต ผมว่ามันก็เป็นช่วงของการช่วงชิงด้วย ถ้าเราสัมผัสถึงจุดที่ว่าเรากับเค้าเป็นคนเหมือนกันแล้วรู้สึกร่วมได้ มันก็มีพลังบางอย่างเกิดขึ้น แต่ถ้าในจุดที่วิกฤตแล้วเราถูกทำให้คิดไปอีกแบบ ว่ามันต่าง มันไม่เหมือนเรา จนถึงกับว่ามันไม่ใช่คนเหมือนเรา จนกลายเป็น เกลียดมัน ฆ่ามันเลย ปราบมันซะ วินาทีของการปะทะนั้นมันก็เป็นจุดของการช่วงชิง
สมบัติ: ถูก ผมจะมีขีดจำกัด เรื่องของการรักษาไว้ซึ่งความแตกต่าง หรือการปะทะ เพราะว่ามันเป็นการต่อสู้ มันก็ต้องมีการปะทะกันเป็นธรรมดา ผมเชื่ออย่างที่ปริญญา (ปริญญา เทวานฤมิตรกุล)เค้าพูดไว้นะ เค้าบอกว่าเหลืองแดงเป็นคุณูปการต่อสังคม ถ้าดำรงอยู่ต่อไปโดยที่ไม่ฆ่ากันจะเป็นคุณูปการอย่างสูง เราต้องใช้ทั้งเหลืองทั้งแดง ผมว่าจริง ความขัดแย้งนี่ก็จริง เสียดายที่มันมีการสูญเสีย ถ้าไม่สูญเสียแล้วเนี่ย ผมคิดว่าถ้ามองระยะยาว มันมีประโยชน์มาก ผมพร้อมที่จะชวนคนทะเลาะ ผมว่าเราต้องชวนกันทะเลาะ แต่ว่าเราจะทะเลาะกันยังไง นี่ก็หาทางทะเลาะอยู่ (หัวเราะ)
ส่วนพวกแนวร่วมเดียวกัน ก็ต้องมีการปะทะให้เกิดการเรียนรู้ หรือการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ฝึกหลักการ ความรู้ ความคิดให้แหลมคม อันนี้มันต้องปะทะกัน งานที่ผมทำก็คือทำในมิติแบบนี้
วิจักขณ์: คือชวนคนทะเลาะยังไง ให้มันสร้างสรรค์ มองความขัดแย้งเป็นเรื่องดี โดยที่ยังสามารถมองกันเป็นมนุษย์ ไม่เกลียดกันจนถึงต้องฆ่ากัน
สมบัติ: ใช่
วิจักขณ์: แต่คนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจ ก็ต้องมองการชวนทะเลาะแบบนี้ว่าเป็นการคุกคามถูกมั๊ย [สมบัติ: ถูก] เป็นการก่อความไม่สงบ ก่อการร้ายอะไรก็ว่าไป ซึ่งมันก็จริงของเค้า แต่ในมุมมองของผู้ประกอบการทางสังคม ก็คือการปะทะกันทางความคิดนั้นก็เป็นสิ่งที่พี่ต้องการอยู่แล้ว เพราะพี่ต้องการความเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับความตื่นของคน
สมบัติ: ถูก เค้าก็ต้องคิดอย่างนั้นแหละ คือทั้งสองฝ่ายก็มีพวกสุดโต่ง และพวกที่ล้าหลังอยู่ด้วย คุณต้องฉุดดึงเค้าให้กลับมาให้ได้ แม้แต่ในปีกของเสื้อแดงเอง ผมก็พยายามดึงเค้ากลับมา แต่ผมยอมรับเลยว่าคราวนี้ผมโกรธชิบหายเลย ผมป่วยเลย ความมั่นคงทางจิตวิญญาณภายใน กับการตอบคำถามในสถานการณ์แบบนี้ ผมเขวเลย แม่ง เหี้ยมจริงๆ อย่างตอนนี้ก็ไล่ฆ่า ไล่เก็บ แบบนี้มันเกินไป มันไม่ใช่การต่อสู้ทางการเมืองแล้ว คือความสกปรกทางการเมืองมันเรื่องนึง ถ้าคุณจะเล่นกันทางกฎหมาย คุณจะจับ มันก็ยังพอรับได้ คุณใช้คำบิดเบือน ปกปิด โกหก ใส่ร้ายอะไรกัน นั่นก็ยังพอทน แต่นี่มันถึงฆ่ากัน ไล่ล่ากันแบบนี้ มันเป็นขีดที่ผมรับไม่ได้
วิจักขณ์: เวลาเห็นพี่ในเฟซบุ๊คสื่อสารกับคนเสื้อแดง ผมชอบอย่างนึงคือ การสอนให้คนคิดเอง ไม่ได้ให้เชื่อในความดีของพี่หรือของใครนะ ที่สำคัญคือตัวละครที่เล่นอยู่ตอนนี้ก็ไม่ได้ดูดีเท่าไหร่ ไม่มีใครที่มีภาพของความดีความงามอยู่แล้ว แล้วภาพที่สื่อออกมาของเสื้อแดงก็เสียดสีด้วยความต่ำต้อยทางสังคมในทุกๆทาง แต่ผลก็คือมันได้ปลุกให้คนที่มาร่วมชุมนุมกลับมาตระหนักถึงศักดิ์ศรีของตัวเอง ในสิทธิเสรีภาพของคนธรรมดาๆคนหนึ่งมากขึ้น
สมบัติ: โดยหลักการแล้ว ผมคิดว่ามีความชอบธรรมอย่างไม่ต้องสงสัยเลย กับการที่คนจะลุกขึ้นมาเรียกร้องและต่อสู้ อันนี้หมายถึงของคนทุกคนนะ ถึงแม้ขบวนเสื้อแดงจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เยอะ และมีความจริงอยู่ไม่น้อยทีเดียวเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลในบางเรื่อง เช่น เรื่องการมีอาวุธอยู่ การที่มีโครงข่ายอำนาจที่เข้าไปจัดการ อาศัยเจตนาดี ความมีอุดมการณ์ของผู้คน เอาไปร่วมกับผลประโยชน์ของฝ่ายการเมือง แต่ว่าบวกลบแล้วผมก็ยังคิดว่ามีความชอบธรรม แต่ถึงยังไงก็แล้วแต่ผมก็คิดว่าต้องมีการปรับขบวน
วิจักขณ์: คืออย่างน้อยให้รูปขบวนมันนำไปสู่การเรียนรู้ พัฒนาตัวเองขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ไหลไปตามความดำมืด
สมบัติ: ถูกๆ
วิจักขณ์: ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ค้างคาใจกับพวกผมที่ทำงานเพื่อสังคม หรืองานด้านการศึกษามาก คืออย่างพวกผมเนี่ย จะเลือกทำงานอะไร เราก็จะต้องดูว่างานนี้มันเป็นงานที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคมจริง คนที่ทำเป็นคนที่ต้องมีจิตใจที่ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาผลประโยชน์เข้าตัวเอง ทำเพื่อคนอื่นจริง ผู้นำเราก็ต้องเป็นแบบอย่างการอุทิศตน เป็นแรงบันดาลใจแบบพระไพศาล หมอประเวศ อ.สุลักษณ์ ประมาณนี้
แต่อย่างพี่ที่มาต่อสู้ทางการเมืองเนี่ย [สมบัติ: มีคนได้ประโยชน์ สู้ไป เราไม่ได้อะไรมาก คนอื่นเอาไปกิน] เออ เออ...คือมันไม่ pure นะ ทัศนะเรื่องการเป็นแนวร่วม การต่อรองผลประโยชน์อะไรต่อมิอะไร รับได้ยังไงตรงนี้ จากที่ทำงานกระจกเงา งานอุดมคติมา พี่ปรับทัศนคติตรงนี้ยังไง
สมบัติ: เวลาเจอเรื่องแบบนี้ คุณต้องตอบคำถามตัวเองให้ได้ คุณต้องตอบคำถามตัวเองก่อน ว่าคุณทำเพื่ออะไร คือเราขัดเกลาตัวเองก่อน เราบริสุทธิ์ใจพอมั๊ยที่จะเข้าไปร่วม กลับมาคำถามแรกเลยว่า ตกลงมึงไปทำเพื่อมึงจะไปตอบสนองให้กับนายใหญ่ หรือพวกต้องการป้อนอำนาจให้นักการเมืองหรือพวกอยู่ในอำนาจหรือยังไง อย่างตอนที่ผมกา ผมก็ต้องกาเพื่อไทย ถูกมั๊ย จะไปกาไม่ออกเสียงอะไรก็ไม่ได้ ผมต้องไปกาเพื่อไทย ผมก็ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าผมกาไปเพื่ออะไรวะ กาไปเพื่อให้มันไปมีอำนาจหรือยังไง แต่อย่าลืมว่าระหว่างทางนี้คือขบวน สิ่งที่มันขาดจริงๆก็คือเรื่องของขบวน มันก็มีการเติบโตอยู่นะ กระบวนการทางความคิดอะไรก็เติบโต แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่เป็นเป้าหมายจริงๆ เป็นประโยชน์จริงๆ ก็คือประสบการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทาง คุณก็ใส่ฟืนไปเรื่อยๆ เติมไปเรื่อยๆ แล้วรอบนี้นะ ผมเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนหมดเลย เรื่องซื้อเสียง ที่ชนชั้นกลางรังเกียจ และก็เป็นข้อเท็จจริงด้วย มันถึงพร้อมที่จะเปลี่ยน เรื่องทัศนะว่าอำนาจสูงสุดเป็นของใคร รอบนี้จะเปลี่ยน เรื่องการคิดเชิงยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับอำนาจส่วนบน มันมีโอกาสที่จะโยงกันได้หมด การถกเถียงรอบนี้ มันเป็นโอกาสของการเข้าห้องเรียนครั้งใหญ่ เราไม่เคยดีเบตเรื่องนี้กันอย่างจริงจังเลยในประวัติศาสตร์ชาติไทย นี่เป็นครั้งแรกที่เราได้ดีเบตในระดับชาติ ก่อนหน้านี้มันจบแล้วจบกัน รบกันทียิงกันตายแล้วก็เลิก แต่นี่ไม่ใช่ มันยืดเยื้อยาวนานพอที่จะทำให้เกิดการศึกษา ซึ่งเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย มันยืดเยื้อยาวนานจนทำให้เกิดความรู้หรือทัศนะ ซึ่งอาจจะถูกอาจจะผิดบ้างไปตามเรื่อง เนื่องจากมันซับซ้อนมาก แต่มันก็ทำให้เกิดสิ่งนี้ขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน มันเป็นการดีเบตครั้งใหญ่ในสังคมไทยว่าอะไรคือประชาธิปไตย อ.สุลักษณ์เคยเล่าให้ฟังว่า ทั่วโลกเคยผ่านช่วงนี้หมด ช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม มันต้องผ่านช่วงนี้ ผมถึงถือหางปริญญาเรื่องการดำรงไว้ซึ่งเหลืองแดง และเรื่องการคงความขัดแย้ง (หัวเราะ)
ความขัดแย้งสำหรับผมไม่ใช่ปัญหา ตราบใดที่คุณยังไม่ฆ่ากัน และถ้ามีกติกา ถ้าเห็นต่างไม่เป็นไร ก็ว่ากันไป
วิจักขณ์: ในภาวะความขัดแย้งมันอุดมสมบูรณ์ด้วย
สมบัติ: (หัวเราะ) ใช่มั๊ย มันไหล ข้อมูลมันไหล มีแง่มุม ได้มาถกเถียงกัน ผมก็เติบโตมาในภาวะแบบนี้ มันจริงดี
วิจักขณ์: ต่อสู้มาถึงตรงนี้ ผ่านความสูญเสีย ความเจ็บปวดมา พี่เยียวยาตัวเองยังไง ธรรมะหรือศาสนาจะช่วยเยียวยาพี่หรือคนเสื้อแดงได้ยังไงบ้าง
สมบัติ: ศาสนาต้องเป็นเรื่องอะไรที่คนยึดเหนี่ยวได้ ที่นี้ชีวิตผมไม่ได้มีคัมภีร์แบบนั้น คือผมไม่ได้มาจากพวกอ่านหนังสือธรรมะ ผมยึดหลักการของผม ไม่รู้ว่ามันตรงกับอะไรนะ มันเป็นหลักการเรื่องการเคารพความเป็นมนุษย์ ศาสนา คำสอนใด หรือหนังสือเล่มไหน ที่พูดถึงการเยียวยาคนที่อยู่ในฝ่ายที่เจ็บปวดนี้ได้ จะต้องสะท้อนถึงความเคารพในความเป็นมนุษย์ของทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายคนที่ได้รับผลกระทบ คนชั้นกลางที่ไม่เกี่ยวข้องด้วย แล้วได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของเสื้อแดง แล้วก็ละเลยต่อการมีอยู่ การดำรงอยู่ หรือการจะมีชีวิตต่อไป หรือจะสู้ต่อไป ธรรมะที่ไม่เปิดให้เราสู้เลยผมคิดว่านั่นไม่ใช่ธรรมะ ไม่น่าจะเป็นหลักการที่เรายอมรับได้ แค่นี้แหละ ถ้าเคารพความเป็นมนุษย์ได้ก็จบ ผมเคารพถึงความสูญเสียของทหาร ผมเคารพถึงความสูญเสียของเจ้าของห้าง เจ้าของธุรกิจ ผมฟังได้ ปัญหาของผมตอนนี้ก็คือเสียงพวกนี้มันไม่ได้ครอบคลุมทุกกลุ่มเท่านั้นเอง ถ้าคุณครอบคลุมทุกกลุ่มเมื่อไหร่ปุ๊บเนี่ย โอเค แต่สิ่งที่ถูกเอามาใช้ในตอนนี้ มันได้ถูกเว้นวรรค หรือไม่ถูกนำมาพูดในบางเรื่อง ด้วยเหตุผลว่าต้องปรองดอง แต่จริงๆมันเป็นการกดขี่ กดทับ บอกให้เราเห็นความมนุษย์ของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่เขาไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเราเลย นั่นไม่ใช่การปรองดอง เมื่อคุณไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของเรา คุณพูดกับเราในฐานะอะไร แล้วเราอยู่ในฐานะอะไร ในการที่จะต้องยอมรับหลักการของคุณ จำเลยหรือ?
วิจักขณ์: อันนี้เป็นสาเหตุนึงที่ทำให้คำว่าความสงบสุข หรือความดีมันใช้ไม่ได้เลยกับคนเสื้อแดงในตอนนี้
สมบัติ: เป็นยุคที่ความดีเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เป็นยุคที่ความดีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือ เมื่อไรก็ตามที่ความดีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อกระทำกับอีกฝ่าย ไอ้ธรรมาธิปไตยส้นตีน คำพวกนี้น่ารังเกียจ คุณเป็นพวกเผด็จการความดี หยาบกว่านั้นคือคุณเป็นความชั่ว คุณไม่ได้เชื่อเรื่องความดี แล้วคุณพูดความดีได้ยังไง คุณพูดปรองดองได้ยังไง มันไม่จริง อ้างคำพระ น่าสะอิดสะเอียน คุณจะอ้างทำไม ในเมื่อมันไม่จริงอย่างที่คุณเชื่อ แล้วคุณละเว้นด้วย คุณกำลังทำลายสิ่งที่เรียกว่าความดี อย่าใช้เลย พูดมาตรงๆดีกว่า ให้หยุด มิฉะนั้นราชการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการปราบปราม อย่างนี้ซะยังจะน่าสะอิดสะเอียนน้อยกว่า
วิจักขณ์: สุดท้ายนี้อยากให้พี่หนูหริ่งฝากธรรมะทิ้งท้ายจากใจคนเสื้อแดงหน่อย
สมบัติ: เราไม่ได้แกล้งที่จะมีความทุกข์โศก ความเจ็บปวด เราไม่ได้แกล้งและเราไม่ได้ปัด เรามีสิ่งนั้นอยู่เป็นเพื่อน คือ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่ความเจ็บปวดของคุณ คุณก็อย่าได้มาขโมยความเจ็บปวดของเราทิ้ง คือเรายังมีสิทธิ์ที่จะเจ็บปวด คุณเคยเห็นแม่ตีลูกมั๊ย ตีแม่งแตกเป็นแนว “หยุดร้องเดี๋ยวนี้ มึงไม่หยุดกูจะตีมึงอีก” จะทำกันอย่างนี้รึ... คุณไม่มีสิทธิ์เอาไม้ออกมาหวดใคร คุณไม่เข้าใจความเจ็บปวดของเรา แล้วคุณยังจะขโมยความเจ็บปวดของเราไปทิ้งส้วมอีก
___________________________________________