ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 26 June 2010

‘ฉุกเฉิน’คนใช้ลืมตัว ทำชาติวุ่นวาย!

ที่มา บางกอกทูเดย์


ไม่รู้ว่า...เสียงเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้มีการประกาศ “ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” จะเข้าไปถึงโสดประสาทของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่? ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยออกประกาศ ฉบับที่ 1 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 11 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 ซึ่งกฎหมายนี้ได้กำหนดเงื่อนไข

และเงื่อนเวลาในการยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินไว้ใน ตัวบทในมาตรา 5 วรรคสอง มาตรา 5 (วรรคสอง) การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้บังคับตลอดระยะเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสามเดือนนับแต่วันประกาศ ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาให้นายกรัฐมนตรี

โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปอีกเป็นคราวๆ ละไม่เกินสามเดือน (วรรคสาม)เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลงแล้ว หรือเมื่อคณะรัฐมนตรีไม่ให้ความเห็นชอบหรือเมื่อสิ้นสุดกำหนดเวลาตามวรรคสอง ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น

ประเด็นเพิ่มเติม คือ หากหลังจากสิ้นสุดการกำหนดระยะเวลาการประกาศในวันที่ 7 ก.ค.53 หรือครบสามเดือนแล้วรัฐบาลมีความจำเป็นอะไรที่ต้องขอขยายระยะเวลา เพราะเงื่อนไขในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ผ่านพ้นไปแล้ว และผู้ชุมนุมก็ถูกคุมขังสลายตัวไปหมดแล้วตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. 53 อย่างไรก็ตาม

ในสถานการณ์ที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก. สถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อให้สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ได้เข็มข้นขึ้นกว่าอำนาจที่กฎหมายให้ไว้ในมาตรา 5 ทำให้มีอำนาจในการจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่า...เป็นผู้ร่วมกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน

และสามารถใช้กำลังทหารเข้าระงับเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ โดยการใช้อำนาจตามมาตรานี้เป็นการใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.ที่มีลักษณะเข้มข้น...ทำให้รัฐบาลสามารถ “ก้าวล่วงสิทธิเสรีภาพ” ของประชาชนได้มากกว่าสถานการณ์ฉุกเฉินแบบธรรมดา ซึ่งในมาตรา 11 วรรคท้ายได้กำหนดเงื่อนเวลา

การใช้อำนาจตามมาตรา 11 นี้โดยให้ประกาศยกเลิกประกาศตามมาตรานี้โดยเร็วเมื่อสถานการณ์ร้ายแรงตามวรรคหนึ่งยุติลงแล้ว มาตรา 11 (วรรคท้าย) เมื่อเหตุการณ์ร้ายแรง ตามวรรคหนึ่งยุติลงแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกประกาศตามมาตรานี้โดยเร็ว หากวิเคราะห์กันตามเจตนารมภ์ของตัวบทยอมเห็นว่า...

กฎหมายได้วางหลักให้ “นายกรัฐมนตรี” ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงโดยเร็วเมื่อเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยไม่มีบทให้สามารถขออนุมัติต่ออายุหรือขอขยายระยะเวลาได้เหมือนกับมาตรา 5 เพื่อไม่ให้รัฐบาลสามารถใช้อำนาจอย่างเข็มข้นในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หากรัฐบาลไม่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในเรื่องนี้ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติตามกฎหมาย เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอย่างชัดเจน ซ้ำร้ายหากผู้ปฏิบัติงานมุ่งสร้างสถานการณ์ที่มีความร้ายแรงขึ้นในกรุงเทพมหานครจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมทำลายประเทศอย่างร้ายแรงเหมือนเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้

นายกรัฐมนตรีกล่าวเสมอว่า...บ้านเมืองต้องปกครองโดย “นิติรัฐ” ซึ่งหมายความว่าบ้านเมืองต้องปกครองด้วยหลักกฎหมาย ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย รัฐบาลก็ต้องยอมตนอยู่ภายใต้กฎหมายเช่นกัน การปฏิบัติหน้าที่ทางราชการที่เกินกว่าขอบเขตของกฎหมาย...ย่อมแสดงออกถึงความไม่เป็นนิติรัฐโดยรัฐบาลเอง

เป็นการกระทำที่เรียกว่า “ลุแก่อำนาจ” รัฐบาลพึงตระหนักว่า...การตีความการบังคับใช้กฎหมายที่มีบทบัญญัติขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ต้องกระทำโดยเคร่งครัด จะตีความอย่างกว้าง โดยไม่สนใจต่อเสรีภาพของประชาชน ย่อมเป็นความไม่ชอบธรรมที่ฝ่ายปกครองไม่พึงกระทำ

สรุปได้ว่า...การที่รัฐบาลจะขอขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงตามมาตรา 11 ย่อมกระทำไม่ได้เพราะกฎหมายไม่มีบทบัญญัติให้ขยายระยะเวลาในมาตรา 11 ซ้ำยังต้องประกาศยกเลิกโดยเร็วเมื่อสถานการณ์ผ่านพ้นไปแล้ว ซึ่งสถานการณ์ชัดเจนว่าได้ผ่านพ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. 53