ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 28 June 2010

เสรีภาพที่ทับกัน นิธิ เอียวศรีวงศ์

ที่มา มติชน


"ประชาธิปไตยเห็นต่างกันได้ แต่ไม่แตกแยก"


ปัญญาชนบางท่านย้ำเรื่องนี้มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ พธม.ชุมนุมใหญ่เป็นเดือนๆ และก็คงย้ำเรื่องนี้อยู่ในสมัยที่ นปช.ชุมนุมใหญ่ เพียงแต่เพิ่มประเด็น ม.28 ในรัฐธรรมนูญ "บุคคลย่อมใช้...สิทธิเสรีภาพของตนได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น"


เพราะ นปช.ชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์เป็นเดือน จึงละเมิดต่อสิทธิการช็อปปิ้งของคนอื่น


อันที่จริงก็เรื่องเดียวกัน คือการใช้สิทธิเสรีภาพนั้นต้องไม่ละเมิดความเห็นต่างของผู้อื่น และในขณะเดียวกัน ก็ไม่ละเมิดที่สาธารณะ ซึ่งผู้อื่นใช้ประโยชน์อยู่


คงไม่มีใครคัดค้านความเห็นนี้ได้ เพราะดูจะสอดคล้องกับ "ความชอบธรรม" (Law-แอลตัวใหญ่) ซึ่งมนุษย์ในอารยธรรมต่างๆ ย่อมมีในสำนึกอยู่แล้ว และแน่นอนสอดคล้องกับ " กฎหมาย" (law -แอลตัวเล็ก) ดังที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ

แต่เนื่องจากผมไม่เคยเรียนกฎหมาย ผมจึงไม่เชื่อว่ามีความถูกต้องชอบธรรมอะไรในโลกนี้ ที่ลอยอยู่อย่างเป็นอิสระจากเงื่อนไขแวดล้อมทางสังคม และเราอาจบัญญัติขึ้นเป็นความถูกต้องชอบธรรมสากล สำหรับเป็นบรรทัดฐานตัดสินการกระทำของคนทั่วไปได้หมด


ผมไม่ปฏิเสธว่า การใช้เสรีภาพของตนไปละเมิดเสรีภาพของผู้อื่นนั้นย่อมไม่ถูกต้อง แต่ความรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูกนั้น มีความสำคัญแก่สังคมโดยรวมน้อยกว่าความรู้ว่า ผู้กระทำ ได้กระทำผิดท่ามกลางเงื่อนไขอะไร เพราะความรู้เกี่ยวกับเงื่อนไขแวดล้อมต่างหาก ที่สังคมจะสามารถจัดการเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดเช่นนั้นได้อีก


มิฉะนั้นแล้ว เราก็ต้องวนกลับมาสู่การบัญญัติความผิด-ถูกให้เข้มข้นขึ้น เช่นเพิ่มโทษผู้กระทำ "ผิด"ให้แรง แต่อำนาจของกฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่เคยพอที่จะปรามหรือกำกับควบคุมพฤติกรรมมนุษย์ได้ เพราะแรงผลักดันที่ใหญ่กว่าของพฤติกรรมของคนมาจากเงื่อนไขแวดล้อมทางสังคมต่างหาก

ผมจึงอยากให้เรามามองการชุมนุมที่ผ่านมา ทั้งของ พธม.และ นปช. แต่ไม่ใช่มองว่าได้ละเมิดเสรีภาพของคนอื่นอย่างไร หรือผิดกฎหมายอย่างไร หากมองไปที่เงื่อนไขแวดล้อมทางสังคมที่ผลักให้คนจำนวนมาก เข้าร่วมชุมนุม และฝ่าฝืน "กฎหมาย" ทั้งๆ ที่รู้ว่าได้ฝ่าฝืนกฎหมาย


พื้นที่การชุมนุมของทั้งสองฝ่ายล้วนเป็นพื้นที่สาธารณะ เมื่อจัดการชุมนุมขึ้นย่อมกีดขวางการใช้ประโยชน์พื้นที่นั้นของบุคคลอื่น


เหตุใดจึงต้องใช้พื้นที่สาธารณะในการชุมนุมทางการเมือง? ก็เพราะพื้นที่สาธารณะเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่มีพลังที่สุดในสังคมไทย เป็นพื้นที่ซึ่งการเรียกร้อง, การประท้วง, การระบายความเดือดร้อนอันเกิดจากความไม่ชอบธรรม (ย้ำไม่ชอบธรรมไม่ได้แปลว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย), ฯลฯ ได้การรับฟังจากสังคมโดยรวมได้เร็วและกว้างที่สุด


ทำไมสังคมจึงรับฟังได้เร็วและกว้าง ก็เพราะชีวิตปกติของคนจำนวนหนึ่งถูกกระทบ (ไม่ได้ช็อปปิ้ง, เสียงดังจนสอนหนังสือไม่ได้, เดินทางไม่สะดวก ฯลฯ) คนจึงพร้อมจะเงี่ยหูฟังเสียงที่ดังมาจากพื้นที่ทางการเมืองตรงนั้น ฟังโดยตรงหรือฟังจากคนอื่นอีกทีก็ตาม ฟังแล้วเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่ได้ฟังสิ่งซึ่งปกติแล้วก็ไม่สนใจจะฟัง


เพราะคนอยากฟัง สื่อจึงเสนอข่าวมาก (ไม่ว่าจะเสนออย่างเที่ยงตรงหรือไม่) เมื่อเสนอมาก ก็ทำให้ "พื้นที่" ทางการเมืองนั้นกว้างออกไปกว่าพื้นที่ชุมนุม จนอาจครอบคลุมสังคมทั้งสังคมได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ฝ่ายผู้มีอำนาจในรัฐจะไม่ฟังเลยก็ไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องตอบสนองในทางใดทางหนึ่ง ที่เก็งว่าจะได้ความเห็นชอบของคนนอกพื้นที่ชุมนุม"พื้นที่" ทางการเมืองของผู้ชุมนุม จึงขยายเข้าไปแม้แต่ใน "พื้นที่" ทางการเมืองของฝ่ายปรปักษ์ด้วย


ด้วยเงื่อนไขเฉพาะของสังคมไทยเอง พื้นที่สาธารณะที่เหมาะจะใช้เป็น "พื้นที่" ทางการเมืองอย่างได้ผล ต้องเป็นพื้นที่ในกรุงเทพฯ สมัชชาคนจนเคยยึดหัวเขื่อนปากมูลเป็นปี แต่สื่อก็แทบไม่เคยพูดถึงความเดือดร้อนที่ประชาชนเหล่านั้นได้รับจากเขื่อนปากมูล กลายเป็น "พื้นที่" ทางการเมืองที่แทบจะไม่มีผลทางการเมืองอะไรเลย


"พื้นที่" ทางการเมืองของประชาชนไทย โดยเฉพาะในหมู่คนชั้นกลางระดับกลางลงไปถึงระดับล่าง มีไม่มากนัก เพราะ "พื้นที่" ทางการเมืองในสังคมไทยนั้น ถูกจับจองผูกขาดโดยคนสองจำพวก หนึ่ง คือผู้ถืออำนาจรัฐ อันได้แก่ข้าราชการระดับใหญ่ๆ ขึ้นไปถึงนักการเมือง, นักรัฐประหาร, สถาบันวิชาการ, สถาบันตุลาการ, และสถาบันอื่นๆ (อำมาตย์) และสอง คือทุนขนาดใหญ่ ซึ่งมีตัวพ่วงตามมาอีกมาก นับตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์, สภาพัฒน์, หอการค้า, นักวิชาการของมหาวิทยาลัยในสังกัด, นิตยสารทางธุรกิจทั้งไทยและเทศ, ฯลฯ (ทุนสามานย์)


คนชั้นกลางระดับกลางและล่างเคยอยู่กันมาได้ท่ามกลาง"พื้นที่"ทางการเมืองอันจำกัดนี้ แต่ในสองสามทศวรรษที่ผ่านมา โลกาภิวัตน์และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการผลิตเชิงพาณิชย์ ทำให้ "ทุนสามานย์" ขยายอำนาจเข้าไปกำกับ "พื้นที่" ทางการเมืองได้ไพศาลมากขึ้น "อำมาตย์" ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพลังคานอำนาจของ "ทุนสามานย์" บ้าง ก็ลดพลังลง สื่อซึ่งครั้งหนึ่งเคยยืนอยู่กับคนชั้นกลางระดับกลาง ก็ถูก "ทุนสามานย์" กลืนกินไป จนกระทั่งต้องลดความเป็น "พื้นที่" ทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ลงไปมาก


ในขณะเดียวกัน คนชั้นกลางระดับล่างซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในช่วงเดียวกันนี้ ก็กระหายจะได้ "พื้นที่" ทางการเมืองของตนเพิ่มขึ้น เพราะผลประโยชน์ของตนไปผูกพันกับนโยบายสาธารณะของรัฐในด้านต่างๆ มากขึ้น ในขณะที่เงื่อนไขแวดล้อมทางสังคมไม่ได้เปิด "พื้นที่" ทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา

ผมขอยกตัวอย่างการ picketting ในสหรัฐเป็นตัวอย่างของ "พื้นที่" การเมืองใหม่ๆ ในสหรัฐ คนอาจร่วมมือกันต่อต้าน (ยกตัวอย่างเช่น) บริษัทผลิตผลไม้ ที่ใช้แรงงานเด็กต่างชาติอย่างกดขี่ โดยผลัดกันเดินขบวนเล็กๆ หน้าซุปเปอร์ ถือป้ายต่อต้านบริษัทนั้น ไม่ได้ห้ามมิให้คนเข้าไปช็อปปิ้ง แต่แจกเอกสารชี้แจงว่า ไม่ควรซื้อผลไม้ยี่ห้อนั้นยี่ห้อนี้ เพราะใช้แรงงานต่างชาติอย่างไร้มนุษยธรรม


นักช็อปปิ้งก็ไม่เดือดร้อนอะไร รับเอกสาร (หรือปฏิเสธที่จะรับ) แล้วก็เดินเข้าไปซื้อของเป็นปกติ เป็นการใช้พื้นที่สาธารณะที่ไม่ละเมิดเสรีภาพของคนอื่น


แต่ "พื้นที่" ทางการเมืองเช่นนี้ของอเมริกันต่างจากไทย เนื่องจากคนอเมริกันที่รับเอกสารไปมักจะอ่าน แม้อย่างผาดๆ หากไม่สนใจก็ทิ้งไป หากสนใจก็อาจเก็บกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเองที่บ้าน เกิดคนที่มีสำนึกอย่างเดียวกันมากขึ้น และเผยแพร่ข้อมูลนั้นออกไปแก่ "เครือข่ายทางสังคม" ของตนเอง ยิ่งกว่านี้ หากการ picketting ทำได้กว้างขวาง สื่ออเมริกันก็อาจสนใจ ส่งผู้สื่อข่าวของตนออกไปดูการทำงานของบริษัทผลิตผลไม้นั้น แล้วเสนอข่าวความโหดร้ายทารุณของบริษัทให้รู้ทั่วไปในวงกว้าง "พื้นที่" ทางการเมืองจึงยิ่งขยายใหญ่ขึ้น และมีผลบีบบังคับให้บริษัทดังกล่าวต้องปรับเปลี่ยนนโยบายหากำไรที่สังคมพอรับได้ขึ้นมาใหม่


แต่อย่างที่รู้กันอยู่แล้วนะครับว่า คนไทยไม่อ่านหนังสือ จะบอกอะไรแก่ใครจึงต้องตะโกน และอาจต้องใช้คำหยาบบ้างเพื่อให้ฟัง (คำหยาบสร้างสภาวะอปกติขึ้นในภาษา) ส่วนสื่ออเมริกันนั้นมีกึ๋นกว่าสื่อไทย จึงกระตือรือร้นที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงกว่ากันมาก ก็ขนาดสมัชชาคนจนชุมนุมที่หัวเขื่อนเป็นปี ยังไม่มีใครส่งผู้สื่อข่าวของตนไปทำข่าวเลยสักฉบับหรือช่อง ในขณะที่มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศหลายฉบับลงพื้นที่เก็บข่าว


ถ้าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกดขี่แรงงานในสวนผลไม้ของบริษัทเป็นที่รู้แพร่หลายมากขึ้น พรรคการเมืองอเมริกันก็จะขยับตัว แต่ก็ไม่ขยับตัวเพียงเพื่อเก็บเกี่ยวคะแนนเสียงในระยะสั้น หากขยับตัวเพื่อค้นหาความจริงที่กว้างกว่าการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมของบริษัทเดียว แต่จะตรวจสอบว่าปรากฏการณ์เอารัดเอาเปรียบแรงงานเช่นนี้ ปฏิบัติกันอย่างกว้างขวางเพียงไรในแหล่งผลิตผลไม้ของประเทศ เพื่อที่จะผลักดันกฎหมายที่อาจมีผลต่อการห้ามหรือปรามการปฏิบัติเช่นนี้ทั่วทั้งประเทศ


ความสำเร็จของนักเดินขบวนประท้วงในการขยายพื้นที่ทางการเมือง จากหน้าซุปเปอร์ฯ ไปจนถึงสังคมวงกว้างและจนถึงรัฐสภา มาจากมูลเหตุขั้นพื้นฐานสองอย่าง หนึ่งคือความรู้สึก "อาทร" ต่อเพื่อนมนุษย์ และกลไกทางการเมืองของสังคมประชาธิปไตย


ทั้งสองอย่าง ไม่มีในประเทศไทย เราได้แต่โฆษณาให้คนไทยรักกัน แต่สังคมไทยเปลี่ยนไปแล้ว ความรักแบบมีช่วงชั้นทางสังคม คือคนชั้นสูงรักแบบเอ็นดูคนชั้นต่ำ ในขณะที่คนชั้นต่ำรักแบบเคารพนบนอบคนชั้นสูง ไม่สามารถใช้ในเมืองไทยได้อีกต่อไป สังคมไทยในปัจจุบันต้องการความรักแบบเสมอภาค ซึ่งก็คือความอาทรต่อกันและกัน


กลไกทางการเมืองของไทย (เช่นพรรคการเมือง) ไม่เคยทำงานอย่างที่ควรทำในสังคมประชาธิปไตย ได้แต่เล่นเกมส์การเมืองแบบระยะสั้น เพื่อหาเสียงไปวันๆ เท่านั้น จึงไม่เคยเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แก่คนชั้นกลางระดับกลาง และคนชั้นกลางระดับล่างจริง

โดยสรุปก็คือ ทั้งเหลือง (คนชั้นกลางระดับกลาง) และแดง (คนชั้นกลางระดับล่าง) ต่างก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วในสังคมไทย และต่างก็มีความจำเป็นต้องมีพื้นที่ทางการเมืองที่ขยายใหญ่ขึ้น พอจะทำให้การเคลื่อนไหวของเขามีผลต่อนโยบายสาธารณะทั้งคู่ แต่เราไม่มี "พื้นที่" ทางการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นเพื่อคนเหล่านี้ นอกจากการเลือกตั้ง 4 ปีครั้ง ที่เหลือคือกฎหมายประเภทต่างๆ ที่ปิดกั้นมิให้เกิด "พื้นที่"ทางการเมืองที่เป็นอิสระจากอำมาตย์และทุนสามานย์ได้
ดังนั้น ถึงแม้จะพร่ำเตือนว่าการใช้เสรีภาพของตนต้องไม่ละเมิดเสรีภาพของคนอื่นอย่างไร ก็ได้แต่ท่องจำกันไป หากในชีวิตจริงปฏิบัติไม่ได้


เพราะ "พื้นที่" ทางการเมืองซึ่งจะทำให้ไม่ต้องละเมิดเสรีภาพของคนอื่น ไม่มีในสังคมไทย