ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 29 June 2010

มูลเหตุการปฏิวัติฝรั่งเศสจุดควรคำนึงการปฏิรูปประเทศไทย

ที่มา โลกวันนี้

โต๊ะกลมระดมความคิด
จากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้
ปีที่ 11 ฉบับที่ 2829 ประจำวัน อังคาร ที่ 29 มิถุนายน 2010
โดย นารายณ์ พรหมพิษณุ

ไหนๆรัฐบาลก็ได้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตั้ง 2 ชุด เพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศไทย เป็นชุดของนายอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี...จะเสนอแนวคิดอะไรให้บ้างคงไม่เสียหาย?

การจะปฏิรูปประเทศนั้นอยู่ดีๆไม่ใช่จะปฏิรูปกันแบบสุ่มสี่สุ่มห้าได้ที่ไหน จำเป็นต้องตั้งต้นจาก “เหตุของปัญหา” ตรงนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เนื่องจากถ้าไม่เข้าใจโจทย์ต่างๆเสียแล้วก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะไปควานหาคำตอบหรือแก้โจทย์ได้อย่างไร?

เราลองมาย้อนมองมูลเหตุของประเทศฝรั่งเศสระหว่าง พ.ศ. 2332-2342 ตอนนั้นเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ยุโรปซึ่งมีความสำคัญมาก เป็นรัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กับพระราชินีมารี อังตัวเนต...แน่นอนว่าจู่ๆนั้นก็มิใช่จะมีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบเกิดขึ้นมาอย่างลอยๆ มันมีจุดหักเหและมูลเหตุที่เกี่ยวเนื่องทั้งสิ้น เป็นเรื่องน่าสนใจศึกษา อย่างน้อยที่สุดคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยอาจจะเฉลียวใจทำการศึกษา หาความคล้ายและความต่าง จับเอามูลเหตุเหล่านั้นมาเป็นแนวทางเทียบเคียง มีโอกาสกลายเป็นแว่นขยายเพื่อส่องดูสังคมไทย มองเห็นต้นตอของปัญหาซึ่งมีความจำเป็นตามลำดับขั้นเร่งด่วนเพื่อมุ่งเข้าปฏิรูป จะได้เกาอย่างถูกที่คัน?

สำหรับฝรั่งเศสนั้นมีมูลเหตุที่สะสมตัวและเกิดขึ้นหมักหมมมายาวนาน กลายเป็นปัญหาที่ฝังตัวลึกในสังคม...ปัญหาเรื้อรังดังกล่าวเห็นจะได้แก่ การแบ่งแยกทางฐานันดรภายในสังคมฝรั่งเศส แบ่งเป็นฐานันดรขุนนาง ฐานันดรนักบวช ซึ่งแต่ละฐานันดรก็ยังมีลำดับชั้นให้เป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย...คนส่วนที่เหลือของประเทศจำนวนกว่า 95% เป็นพวกฐานันดรที่สาม...นี่จึงเป็นปัญหาของความเหลื่อมล้ำ พวกสองฐานันดรแรกซึ่งมีเพียงหยิบมือเดียวกลับเป็นฝ่ายถือครองที่ดินส่วนใหญ่...

ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นจึงเป็นปัญหาเรื่องจริงของฝรั่งเศสที่ฝังตัวเอาไว้เป็นพื้นฐาน ย้อนเปรียบเทียบกับสังคมไทยสำหรับประเด็นของไพร่-อำมาตย์ น่าจะเป็นเรื่องที่คุณอานันท์ ปันยารชุน ไม่ควรใจร้อน ลองพิจารณาตรงนี้ในฐานะที่เป็นปัญหาประการหนึ่ง มันจะมีจริงมากน้อยแค่ไหนก็น่าไตร่ตรองหากคิดจะปฏิรูปประเทศเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำในทางสังคม ซึ่งก็ดูเหมือนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการอิสระชุดนี้อยู่แล้ว?

สิ่งสำคัญประการต่อมาที่ฝรั่งเศสประสบอยู่ในขณะนั้นเห็นจะได้แก่ ปัญหาที่จะจัดการบริหารประเทศ เพราะระบบบริหารประเทศของฝรั่งเศสมีการใช้ระบบกฎหมายที่ยุ่งเหยิง เช่น ดินแดนทางเหนือใช้กฎหมายจารีตประเพณีแบบอังกฤษ ดินแดนทางใต้ใช้กฎหมายแบบโรมัน มีการยกเว้นไม่เก็บภาษีพวกฐานันดรชั้นสูง เป็นระบบจัดเก็บภาษีไม่เป็นธรรม...

นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ไม่ทราบจะจัดให้เป็นระบบสองมาตรฐานได้หรือไม่? ย้อนมองเมืองไทยเรา สำหรับการพิจารณาปฏิรูปประเทศเห็นจะละข้ามไม่ได้ที่จะต้องแก้ไขหรือปฏิรูปครั้งใหญ่เกี่ยวกับระบบยุติธรรม เพราะปัจจัยตรงนี้ถือเป็นอิทธิพลที่สร้างความไม่พอใจให้เกิดขึ้นกับผู้คนในสังคม หมิ่นเหม่ที่จะถูกผลักดันให้กลายเป็นเงื่อนไขประการหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปประเทศไทยไม่ควรมองข้าม?

ยังมีอีกปัจจัยสำหรับการเป็นมูลเหตุที่ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติของฝรั่งเศส เป็นแรงผลักดันจากความสำเร็จของประชาชนชาวอเมริกันจากการปฏิวัติอเมริกานั่นเอง ฝรั่งเศสก็เข้าช่วยอเมริกาในการปฏิวัติครั้งนั้น ทั้งนี้ เพื่อประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ส่งทหารเข้าร่วมรบ...ซึ่งเข้าใจได้ว่ามีการซึมซับแนวความคิดและก่อให้เกิดความกระหายต่ออิสรภาพ ยังมีอิทธิพลของนักคิดจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้น ทั้งหมดนั้นจึงหลอมรวมและสร้างความเป็นไปได้ที่นำไปสู่การปฏิวัติของฝรั่งเศสในเวลาต่อมา...

ปัจจัยตรงนี้อาจเทียบเคียงได้กับกระแสของโลกโลกาภิวัตน์ที่แผ่ปกคลุมไปทั่ว แม้จะมีข้อดีข้อเสีย เป็นจุดอ่อนและจุดแข็ง แต่ภาพรวมแล้วเป็นกระแสของการเปิดออกเชื่อมโยงสู่ภายนอก ซึ่งตรงกันข้ามกับกระแสหรือแนวคิดที่จะปิดประเทศปิดสังคม ตรงนี้ยังเป็นคำถามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปประเทศไทยจะต้องเข้าใจเป็นเบื้องต้น...เรายังอาจมองเรื่องเหล่านี้ไปเป็นเรื่องเดียวกับการเปลี่ยนแปลงด้านวัฒนธรรม สำหรับสังคมไทยจึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับประกายความคิด วิธีคิดที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับเรื่องอิสรภาพและเสรีภาพ สรุปชัดเจนคือเป็นปัญหาของแนวคิดในทางประชาธิปไตยที่แตกต่างกัน เป็นปัญหาใหญ่ที่อาจตอบคำถามปัญหาทั้งหมดได้?

อีกสิ่งสำคัญที่คิดว่าเราคงมองข้ามกัน ได้แก่ มูลเหตุที่เกิดขึ้นมาอย่างฉับพลันทันด่วน ในฝรั่งเศสยุคนั้นเป็นเรื่องเศรษฐกิจตกต่ำ ประชาชนไม่พอใจการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ แล้วลุกลามส่งผลไปอย่างคาดไม่ถึง...คณะกรรมการปฏิรูปประเทศก็ลองพิจารณาให้ดีว่าอะไรกันที่อาจเกิดเป็นปัญหาอย่างฉับพลันทันด่วนของประเทศไทย...ดูให้ดี...ข้อนี้เป็นตัวชี้ขาดสุดท้าย?