ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 29 June 2010

แกนนำสตรีที่ชื่อ ‘รัตนา’ กับ 3 ปีที่ขังตัวเอง ชีวิตเหยื่อจากความไม่สงบ

ที่มา ประชาไท

สัมภาษณ์ “รัตนา ดือเระซอ” หรือ กะเจ๊ะ เหยื่อความรุนแรงจากสถานการณ์ความไม่สงบในชายแดนใต้ กับการก้าวข้ามความสูญเสีย และสามารถสยบคำว่า “แม่ม่าย” คำต้องห้ามสำหรับตัวเธอเอง จนกลายเป็นแกนนำสตรีที่นำพาคนในชุมชนสู่ความเข้มแข็งได้

พูดถึงเหยื่อสถานการณ์ความไม่สงบ หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว คนไทยทั่วไปก็มักนึกถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพมหานครในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา

แต่คงไม่ลืมไปว่า ประเทศไทยไม่ได้มีเหยื่อของความรุนแรงในกรุงเทพมหานครเท่านั้น เพราะสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ก็ได้สร้างยอดสะสมของเหยื่อมานับไม่ถ้วน มากกว่าความขัดแย้งแบ่งฝ่ายเลือกข้างสีเสื้อมาก

ซึ่งหากใครมีโอกาสได้ลองไล่เรียงดูผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว จะพบว่าแต่ละคนต้องประสบพบกับการทดสอบจิตใจแตกต่างกันไป หนักบ้างเบาบ้าง

นางรัตนา ดือเระซอ หรือ กะเจ๊ะ ประธานกลุ่มมะกรูดหวานกับเครื่องจักรสานภูมิปัญญาชาวบ้าน

จากสาวสระบุรีสู่แกนนำสตรีชายแดนใต้

นางรัตนา ดือเระซอ หรือ กะเจ๊ะ อายุ 52 ปี ชาวบ้านปากา ลีมาปูโระ (โคกมะกรู) ตำบลบาราเฮาะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องประสบกับเหตุการณ์ไม่สงบและกลายเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

แม้กะเจ๊ะเป็นคนต่างศาสนามาก่อน อีกทั้งยังเป็นคนต่างถิ่น แต่เธอก็ไม่คิดจะย้ายหนีไปไหน ซ้ำยังลุกขึ้นสู้จนสามารถเอาชนะความโศกเศร้าเสียใจ ที่กักขังตัวเองอยู่แต่ในบ้านถึง 3 ปีครึ่ง

เดิมกะเจ๊ะเป็นคนจังหวัดสระบุรี นับถือศาสนาพุทธ เมื่อต้องแต่งงานกับมุสลิมชาวจังหวัดปัตตานี จึงเข้ารับอิสลาม เมื่อปี 2520 หลังจากได้เจอกันครั้งแรกสมัยมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่กรุงเทพมหานคร จากนั้นได้ย้ายมาอยู่ที่จังหวัดปัตตานีบ้านเกิดสามี

กะเจ๊ะต้องเผชิญกับบททดสอบที่หนักที่สุดในชีวิต เมื่อสามีถูกยิงเสียชีวิตบริเวณชุมชนจาบังตีกอในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2548 ขณะขับรถจักรยายนต์ไปซื้อกับข้าวในตอนเย็น ซึ่งกะเจ๊ะอยู่ในเหตุการณ์ด้วย

บททดสอบแห่งชีวิต

กะเจ๊ะ เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า ได้ยินเหมืองเสียรถยางแตก 2 ครั้ง ยังไม่รู้ว่าสามีถูกยิง พอรถจักรยานยนต์ล้ม จึงรู้ว่าสามีถูกยิง

“ก็รู้สึกช็อกมาก ร้องขอให้คนช่วย แต่ไม่มีใครเข้ามาช่วยเลย มีแต่ขับรถผ่านไป แม้แต่คนในหมู่บ้านเองก็ยังปฏิเสธ บอกว่าของเต็มรถ”

“รู้สึกเหมือนอยู่ในทะเลทรายคนเดียว เพราะไม่มีใครมาช่วยเลย พยายามเรียกสามีตลอดว่า พ่ออย่าเพิ่ง แต่สามีก็เสียชีวิตตรงนั้น" นั่นคือความรู้สึกแรกที่เธอได้สัมผัส

กะเจ๊ะเล่าต่อว่า ตอนเกิดเหตุ ไม่กล้ามองหน้าคนร้าย เพราะกลัว แต่ต่อมาก็ทราบจากตำรวจว่า คนร้ายที่ยิงสามี ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตด้วย ตรงบริเวณเดียวกับที่สามีถูกยิงเสียชีวิต

สามีกะเจ๊ะชื่อ จ.อ.มากาตา ดือเระซอ เป็นข้าราชการบำนาญ โดยเป็นอดีตทหารเรือสงขลา ขณะเกิดเหตุสามีได้เออร์ลี่รีไทร์แล้ว ตอนนั้นเขาอายุ 49 ปี ส่วนกะเจ๊ะอายุ 47 ปี

3 ปีครึ่งที่กักขังตัวเอง

แน่นอนว่า หลังจากที่สามีเสียชีวิต กะเจ๊ะเสียใจมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังกลัวว่า คนร้ายจะกลับมาฆ่าตัวเองอีก และยังคิดว่าชาวบ้านรังเกียจที่เป็นตนเองกลายเป็นผู้หญิงหม้าย จึงเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านถึง 3 ปีครึ่ง

แม้ว่าหลังจากสามีเสียชีวิตไม่นาน ทางราชการได้นำเงินช่วยเหลือเบื้องต้นมามอบให้ก็ตาม ประกอบด้วยเงินช่วยเหลือจากกองทัพเรื่องที่ฝากมากับหน่วยทหารในพื้นที่มามอบให้ในวันแรกที่สามีเสียชีวิต จำนวน 9,000 บาท

ตามมาด้วยเงินช่วยเหลือจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จำนวน 40,000 บาท และเงินช่วยเหลือจากรัฐอีก 100,000 บาทก็ตาม

‘แม่หม้าย’คำต้องห้าม

“บางครั้ง เราเคยคิดจะฆ่าตัวตายด้วยซ้ำ แต่ลูกๆ ห้ามไว้ บอกว่าถ้าแม่ตายไปแล้ว แล้วลูกๆ จะอยู่อย่างไร”

สิ่งที่กะเจ๊ะยิ่งช้ำใจอีก เมื่อได้ยินใครเรียกตัวเองว่า แม่หม้าย จนถึงกับร้องไห้ทุกครั้ง

“เวลามีคนอยู่ตรงไหนก็ไม่กล้าเดินผ่าน เพราะกลัวเขาจะพูดตามหลังว่า แม่หม้าย”

คำถามก็คือ แล้วกะเจ๊ะอยู่ได้อย่างไรในบ้านคนเดียว ในขณะที่ลูกสาว 2 คนก็มีครอบครัวและมีหน้าที่การงานที่ต้องทำอยู่แล้ว และกะเจ๊ะเองก็ไม่ได้ทำงานอะไร

กะเจ๊ะ เล่าต่อว่า ช่วงนั้นไม่ได้ทำงานอะไร ทำอะไรไม่ถูกเลย เพราะยังทำใจไม่ได้ ญาติสามีกับเพื่อนบ้านนี่แหละที่คอยช่วยเหลือ มีอะไรก็เอามาให้กิน

“ตอนนั้นไม่รู้สึกตัวเลย ใครมาขออะไรก็ให้หมด มีคนมาขอเงิน บอกว่าทำบุญเพื่อให้สามีได้บุญ เราก็อยากให้สามีได้อยู่สบาย เราก็ให้ไป ใครขออะไรก็ให้ไปหมด”

สภาพเช่นนี้ก็คงไม่ต่างกับผู้ที่ได้รับผลกระทบรายอื่นๆ มากนัก แล้วแต่ว่าใครจะฟื้นตัวได้เร็วกว่ากัน โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่มีอยู่ของแต่ละคนด้วย

สำหรับกะเจ๊ะก็เช่นกัน สิ่งหนึ่งที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญและมีส่วนช่วยเยียวยาจิตใจได้ในระดับหนึ่ง นอกจากเครือญาติของสามีที่อยู่ในหมู่บ้านแล้ว ยังมีผู้นำศาสนา อย่างโต๊ะอิหม่ามประจำมัสยิดบ้านปากาลีมาปูโระแห่งนี้ ก็มีส่วนช่วยเหลือกะเจ๊ะด้วย โดยเฉพาะทางด้านจิตใจ

ครั้งหนึ่งโต๊ะอิหม่ามเอาหนังสือยาซีน (บทหนึ่งในคัมภีร์อัล – กุรอ่าน) ที่เขียนเป็นภาษาไทยมาให้อ่าน เพื่ออุทิศผลบุญให้กับสามีที่เสียชีวิต เนื่องจากกะเจ๊ะไม่ได้เป็นมุสลิมและไม่ได้เรียนภาษาอาหรับมาตั้งแต่ต้น จึงไม่สามารถอ่านยาซีนจากต้นฉบับภาษาอาหรับได้

“หลังละหมาดได้ขอดุอา (ขอพร) จากพระเจ้าและอ่านยาซีน อุทิศผลบุญให้สามี ครบทุก 5 เวลาทุกวัน ตอนนี้อ่านมาเกือบจำทั้งบทแล้ว รู้สึกว่าศาสนาเป็นตัวช่วยได้เยอะทีเดียว” คือคำยืนยันของกะเจ๊ะ

จุดเปลี่ยนและการก้าวข้าม

แต่จุดเปลี่ยนจริงๆ เริ่มต้นมาจากการได้เข้าร่วมเวทีประชุมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบด้วยกัน ซึ่งเสมือนหนึ่งว่า มีใครซักคนไปเปิดก๊อกน้ำที่ถูกปิดตายมานาน แล้วความอัดอั้นตันใจก็พรั่งพรูออกมาโดยมีเพื่อนผู้ได้รับผลกระทบด้วยกันคอยรับฟัง

แล้วต่างคนต่างก็ได้ระบายออกมา ใครเล่าจะเข้าใจความรู้สึกได้ดีกว่าคนที่ได้รับผลกระทบด้วยกัน

กะเจ๊ะ เล่าว่า ตอนนั้นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มอบหมายให้เขตพื้นที่การศึกษาดูแลเรื่องการเยียวยา ได้พาผู้ที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หลายคนไปเที่ยวที่จังหวัดเชียงใหม่

“การได้เจอกับผู้ที่ได้รับผลกระทบคนอื่นๆ ทำให้เรามีเพื่อนคุยในเรื่องที่คนอื่นไม่เข้าใจ หรือไม่ได้มีความรู้สึกเหมือนเรา ทำให้รู้สึกดีมาก และจะดีใจทุกครั้ง ถ้าจะมีเวทีประชุมของคนที่ได้รับผลกระทบ”

“จนกระทั่งเราคิดได้ว่า ความเสียใจเป็นเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็ต้องเจอเมื่อมีความสูญเสีย แต่จะทำอย่างไรที่จะให้ชีวิตที่ยังเหลือยู่ มีความสุข จะมัวนั่งเสียใจต่อไปไม่ได้ พวกเราผู้หญิงต้องช่วยตัวเองให้ได้ เพราะพวกผู้ชายก็ไม่ค่อยเหลือแล้วในจังหวัดชายแดนภาคใต้”

สาเหตุที่กะเจ๊ะตัดสินใจเดินทางไปประชุมครั้งนั้นด้วย ก็เพราะทุกครั้งที่มีเจ้าหน้าที่หรือนักเยียวยาเข้ามาเยี่ยมและพูดคุย เธอมักร้องไห้ทุกครั้ง เจ้าหน้าที่พวกนั้นจึงพยายามปลอบประโลม

พร้อมกับย้ำว่า ถ้ายังเป็นอย่างนี้อยู่ต่อไป อนาคตจะอยู่อย่างไร ไม่มีอะไรดีขึ้นแน่นอน จึงแนะนำให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ดีกว่า เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านที่มาคอยให้กำลังใจด้วย

จากนั้นจึงได้เข้าร่วมประชุมหรือทำกิจกรรมกับหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น เช่น สำนักงานสุขภาพจิตที่ 15 สงขลา รวมทั้งศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศวชต. เป็นต้น

กะเจ๊ะ บอกว่า การเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้ได้เจอกับผู้ที่ได้รับผลกระทบคนอื่นๆ ที่มีสภาพเหมือนกับกะเจ๊ะด้วย แต่บางคนแย่กว่าด้วยซ้ำ

“ตอนหลังเลยคิดใหม่ว่า ต้องเอาสิ่งที่เป็นปมด้อยของตัวเองมาเป็นปมเด่นให้ได้ ต้องทำอะไรก็ได้ที่ทำให้สังคมหมู่บ้านเราดีขึ้น”

กำเนิดกลุ่ม‘มะกรูดหวาน’

แน่นอนว่าการได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ นั้น ทำให้กะเจ๊ะรู้ว่า ตนเองยังมีโอกาส คนอื่นไม่ได้รังเกียจ เมื่อเข้มแข็งแล้ว จึงคิดว่า ต้องทำอะไรเพื่อช่วยเหลือเพื่อนผู้ได้รับผลกระทบด้วยกัน และตอบแทนชาวบ้านที่คอยให้กำลังใจ

จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “กลุ่มมะกรูดหวาน” ซึ่งเป็นกลุ่มจักรสาน โดยอาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านจากคนแก่ในหมู่บ้าน ให้เพื่อนผู้ได้รับผลกระทบและชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วม และยังถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนด้วย

กะเจ๊ะ เล่าว่า เดิมไม่ได้ตั้งชื่อกลุ่มมะกรูดหวาน แต่เป็นชื่อ “กลุ่มกระดังงา” เพราะเป็นดอกไม้ที่ทนทาน แข็งแกร่งเหมือนผู้หญิงที่เข้มแข็ง ไม่ได้หมายถึงหญิงหม้ายอย่างเดียวเท่านั้น

การตั้งกลุ่มกระดังงาเริ่มจากการที่ กะเจ๊ะ ได้เข้าร่วมประชุมกับ ศวชต. ซึ่งมีการประชุม 2-3 เดือนครั้ง โดยมีอาจารย์ศุภวรรณ พึ่งรัศมี จาก ศวชต.เป็นที่ปรึกษาและคอยให้คำแนะนำต่างๆ โดยได้แนะนำให้ของบสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการทำวิจัยแห่งชาติ หรือ สกว.

ทั้งนี้ เนื่องจาก สกว.มีโครงการสนับสนุนทุนวิจัยกิจกรรมทางเลือก (Alternative Activity Research: AAR) เพื่อเด็ก เด็กกำพร้า เยาวชน สตรี สตรีหม้าย และผู้นำศาสนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ อำเภอจะนะและเทพา จังหวัดสงขลา) ซึ่งให้การสนับสนุนเงินทุนมา 5,000 บาท

จากนั้นจึงชวนเพื่อนๆ มาร่วมกลุ่มด้วย โดยใช้สำนักงาน ศว.ชต. ที่... เป็นที่ตั้งกลุ่มชั่วคราว ก่อนจะย้ายมาตั้งที่บ้านเพื่อนในหมู่บ้าน

กลุ่มกระดังงาตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2551 ช่วงแรกมีสมาชิก 6 คน ที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบ แต่เป็นคนในตัวเมืองปัตตานี ส่วนคนอื่นๆ ในหมู่บ้าน ยังไม่กล้าเข้ามาเป็นสมาชิก เพราะเห็นว่า เป็นกลุ่มแม่หม้าย

หลังจากได้รับทุนจาก สกว.มา 5,000 บาท แล้ว ทางผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี ในฐานะที่ปรึกษาหน่วยประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง สกว. แนะนำให้ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนาเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

โดยผศ.ปิยะ เห็นว่า ผู้นำท้องถิ่นควรจะมีส่วนในการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านของตัวเองด้วย

นั่นจึงทำให้โต๊ะอิหม่ามได้เข้ามามีส่วนร่วมในกลุ่มกระดังงาด้วย โดยโต๊ะอิหม่าม แนะนำให้ทำกิจกรรมที่เป็นจุดเด่นของหมู่บ้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้าน

นั่นคือการทำเครื่องจักรสาน ได้แก่ การทำเสลียงรองหม้อ หรือที่ชาวมุสลิมชายแดนใต้ เรียกว่า “ลือกา” กระเชอ หรือ “บาโก” และกระด้ง หรือ “บาแด”

โต๊ะอิหม่ามยังได้เสนอให้ตั้งชื่อกลุ่มใหม่ที่แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของหมู่บ้าน จึงมีการปรึกษาหารือกันว่า ในเมื่อหมู่บ้านที่อาศัยอยู่มีชื่อว่า ปากาลีมาปูโระ แปลว่า โคกมะกรูด ก็น่าจะนำมาตั้งเป็นชื่อกลุ่มได้

ครั้งนั้นโต๊ะอิหม่ามอธิบายต่อว่า ถ้ามะกรูดเปรี้ยว คนก็รู้อยู่แล้วว่า มะกรูดต้องเปรี้ยวแน่นอน ถ้าจะให้เด่นขึ้นก็ต้องตั้งชื่อว่า “มะกรูดหวาน” จะทำให้มีความหมายที่ดีขึ้น

ปัจจุบัน กลุ่มมะกรูดหวาน มีสมาชิก 23 คน ส่วนเป็นแม่บ้าน มีกะเจ๊ะคนเดียวที่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน แล้วก็เพื่อนๆ ของกะเจ๊ะที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองปัตตานีอีก 5 คน

แต่ช่วงหลังๆ สมาชิกที่อยู่ในตัวเมือง ไม่กล้าเข้ามาทำกิจกรรมกลุ่มมากนัก บางคนก็มานอนเป็นเพื่อนกะเจ๊ะ ที่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากในพื้นที่ใกล้เคียงเกิดเหตุไม่สงบบ่อย ก่อนหน้านี้มีคนถูกทำร้ายเดือนละถึง 5 ราย แต่ตอนนี้ยังไม่มีเหตุการณ์มาหลายเดือนแล้ว

ปัจจุบันที่ทำการกลุ่มได้ย้ายไปตั้งที่อาคารเรียนร้างใกล้กับมัสยิด เพราะโรงเรียนได้ย้ายออกไปอยู่ริมถนนหน้าหมู่บ้านเพื่อหนีน้ำท่วม

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่กลุ่มผลิตได้ ได้แก่ เฉลียงหม้อ กระด้ง กระเชอซึ่งมีทั้งแบบโปร่งและแบบทึบ ที่รองแก้วน้ำ ที่ใส่ปากกา เป็นต้น ราคาขายชิ้นละประมาณ 40 บาท

สมาชิกกลุ่มมะกรูดหวานกำลังสาน “ลือกา” หรือเฉลียงรองหม้อจากก้านมะพร้าว

เครื่องจักรสานภูมิปัญญาชาวบ้าน

สำหรับวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตเครื่องจักรสาน ก็เป็นของหาได้ในหมู่บ้าน ได้แก่ ก้านมะพร้าวที่นำมาสานเฉลียงรองหม้อ ไม้ไผ่ที่นำมาสานกระเชอกับเครื่องใช้อื่นๆ รวมทั้งเถาวัลย์ที่นำมาใช้เย็บหรือร้อย

ส่วนสีที่ใช้ก็เป็นสีธรรมชาติ เช่น แก่นขนุน เปลือกประดู่ สีจากเปลือกไม้หลายชนิด

กะเจ๊ะ บอกว่า บางครั้งมีคนแนะนำให้ใช้สิ่งนั้นสิ่งนี้บ้าง ให้เอามาต้มกับเครื่องจักรสาน ใช้ทางบ้าง บางอย่างไม่ค่อยได้ผล แต่บางอย่างก็ผล เรียกว่าเป็นการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ก่อน

ครั้งแรกที่ผลิตได้ สินค้าจำนวนหนึ่ง ได้ลองนำไปขายในงานชักพระที่อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ปรากฏว่าขายได้หมด จึงผลิตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเฉลียงรองหมอที่ผลิตได้มากกว่าอย่างอื่น

โดยลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นพ่อค้าแม่ค้าที่นำไปจำหน่ายในงานต่างๆ รวมทั้งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่นำไปจำหน่ายในงานของดีชายแดนใต้ที่จัดขึ้นตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ร่วมกับผลิตภัณฑ์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดชายแดนภาคใต้

บางครั้งเวลามีการประชุมที่ไหน กะเจ๊ะก็มักจะพาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไปขายหรือไปประชาสัมพันธ์ด้วย เช่น ครั้งหนึ่ง กะเจ๊ะได้ไปพักผ่อนกับกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบที่เกาะยาว จังหวัดพังงา ก็ได้แนะนำที่รองแก้วน้ำให้กับเจ้าของรีสอร์ทที่พักด้วย ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นลูกค้าของกลุ่มมะกรูดหวานไปด้วย

สำหรับรายได้จากการขายของ นำมาแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเก็บเอาไว้ซื้อวัตถุดิบและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนที่สองเก็บไว้เป็นเงินสวัสดิการของสมาชิก และส่วนที่สามเอาไว้จัดเลี้ยงสังสรรค์ของสมาชิก

“รู้สึกว่าเงินส่วนที่สามนี้ถูกใช้ไปเกือบทุกสัปดาห์” กะเจ๊ะเล่าไปพร้อมกับหัวเราะไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกองทุนสัจจะวันละบาทด้วย ตอนนี้มีเงินในกองทุนเกือบ 10,000 บาทแล้ว

กะเจ๊ะบอกว่า ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มถือว่าขายดี มียอดสั่งซื้อเข้ามาตลอด ยังไม่เคยขาดทุน แต่ก็พออยู่ได้ รายได้ที่ได้สามารถช่วยจุนเจือครอบครัวของสมาชิกได้บ้าง เพราะเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

บางครั้งก็เอาสินค้าไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่นๆ ที่เป็นกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน หรือช่วยขายของคนอื่นให้ด้วย อย่างในงานของดีชายแดนใต้ เพราะกะเจ๊ะไปขายของในนามผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้ง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

กะเจ๊ะ เล่าต่อว่า ที่ผ่านมา หลังจากตั้งกลุ่มมะกรูดหวานขึ้นมาแล้ว มีคนนอกมาศึกษาดูงานกันมาก มาดูว่ากลุ่มสตรีที่ได้รับผลกระทบแต่สามารถตั้งกลุ่มขึ้นมาได้อย่างเข้มแข็งได้อย่างอย่างไร

จากนั้นก็มีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน นอกจาก ศอ.บต.แล้ว ก็มีศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดปัตตานี ก็ได้สนับสนุนวิทยากรมาช่วยสอนเรื่องการจักรสารผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้มีคุณภาพและประณีตมากขึ้น

ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บาราเฮาะให้มา 20,000 บาท แต่ได้จริง 15,000 บาท

นอกจากนี้เคยของบประมาณจากหน่วยทหารในพื้นที่ 25,000 บาท เนื่องจากเห็นว่ามีงบประมาณที่ลงมาจำนวนมาก แต่ได้มาจริงๆ 3,000 บาท ซึ่งการของบประมาณจากทหารมีปัญหาพอสมควร เนื่องจากชาวบ้านไม่ยอมรับ

ตอนนี้มีทุนจากสหภาพยุโรป หรือ อียู (EU) เข้ามาให้แกนนำกลุ่มต่างๆ กู้รายละ 5,000 บาท ซึ่งกะเจ๊ะบอกว่า อาจจะขอกู้เพื่อนำมาสนับสนุนการทำงานของกลุ่มด้วย

รวมทั้งโครงการไทยเข้มแข็งที่สนับสนุนค่าวิทยากรจากกลุ่มหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอท็อปที่มาสอนเรื่องการสานเครื่องใช้ต่างๆ ด้วย

สำหรับช่วงเวลาที่สมาชิกส่วนใหญ่สามารถเข้ามาทำกิจกรรมของกลุ่มได้ มักจะเป็นวันศุกร์ เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานโดยหยุดวันศุกร์ หรือช่วงสายๆ สำหรับคนที่ว่างเว้นจากงานบ้านแล้ว

ส่วนกะเจ๊ะเอง ก็ต้องสานด้วย แต่เจ้าตัวบอกว่า ทำเองไม่ค่อยสวย ไม่เหมือนพวกแม่บ้านคนอื่นๆ จะทำได้สวยกว่า ตัวเองจึงทำหน้าที่ประธานกลุ่มที่ช่วยหาลู่ทางการตลาด รวมทั้งหางบประมาณหรือโครงการมาสนับสนุน

การทำงานในกลุ่มทุกครั้ง จะมีการจดบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ ที่การจัดทำบัญชี บันทึกการประชุม การทำกิจกรรมของสมาชิกด้วย

เปิดมุมมองชาวบ้านสู่โลกกว้าง

กะเจ๊ะ บอกว่า การที่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมกับหน่วยงานต่างๆ หลายครั้ง เห็นว่า ควรต้องพาสมาชิกในหมู่บ้านมีโอกาสเข้าไปร่วมด้วย

“แรกๆ ชาวบ้านไม่กล้าไป เพราะคิดว่าโรงแรมหรือรีสอร์ทที่เขาจัดประชุมกัน เป็นที่ผู้ชายกับผู้หญิงไปนอนกัน จึงไม่อยากไปร่วม แต่พอได้ไปร่วมซักครั้งหนึ่งแล้ว ชาวบ้านก็เข้าใจว่า หน่วยงานต่างๆ เขาจัดประชุมกันอย่างไร ทำให้ชาวบ้านมีมุมมองที่กว้างขึ้น”

อีกตัวอย่างหนึ่งกะเจ๊ะยกขึ้นมา ก็คือ เมื่อครั้งพาของไปขายในงานของดีชายแดนใต้ที่จังหวัดอุดรธานี กะเจ๊ะ ได้พาเด็กผู้หญิงในหมู่บ้านคนหนึ่งไปช่วยขายของด้วย

“วันแรกแทบไม่พูดอะไรซักคำเลย พอวันที่สองเราบอกให้พูดบ้างว่า ช่วยซื้อของด้วย เป็นการทำบุญช่วยพี่น้องที่เดือดร้อนที่ชายแดนภาคใต้ ช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ ของที่ขายเป็นผลงานของผู้ได้รับผลกระทบ จะทำให้เขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้น ที่อาชีพที่ยั่งยืน”

ปรากฏว่าวันนั้นขายของได้ตั้ง 3,000 บาท !

บททดสอบครั้งที่สอง เครียดกับทหาร

แม้กลุ่มมะกรูดหวานจะไปได้สวย แต่ก็ไม่วายที่กะเจ๊ะถูกทดสอบอีกครั้ง

“ช่วงทำเรื่องของบประมาณจากทหาร เป็นช่วงที่เครียดมาก เพราะชาวบ้านกล่าวหาว่า เอาทหารเข้ามาในหมู่บ้าน”

อาจเป็นเพราะช่วงนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเกลียดทหารอยู่

กะเจ๊ะ บอกว่า ตัวเองเครียดจนตัวผอม ซ้ำยังต้องขายวัวที่เลี้ยงไว้ด้วย เพื่อเอามาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้านและของกลุ่ม แต่ก็ถูกกดราคาจากคนซื้ออีก เพราะเห็นว่า กะเจ๊ะต้องการเงินด่วน

“ตอนนั้น เราคิดในแง่ดีว่า ต้องการดึงทหารให้มาช่วยสอนชาวบ้านเรื่องการทำไม้กวาดฟรีๆ อาทิตย์ละครั้งเท่านั้น แต่ชาวบ้านไม่ชอบ สุดท้ายก็ไม่ได้ตามที่ขอ”

ที่เป็นเช่นนั้น อาจเป็นเพราะครั้งหนึ่งมีตัวแทนประเทศแถบตะวันออกกลางเดินทางมาเยี่ยมที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร กะเจ๊ะได้ไปร่วมต้อนรับด้วย แล้วก็มีโอกาสได้พูดต่อหน้านายทหารหลายคนว่า ได้ทำเรื่องของบประมาณมาตั้งนานแล้ว ยังไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทหารในพื้นที่ก็รับปากว่าจะให้

พูดเสร็จก็มีนายทหารในพื้นที่คนหนึ่งมาพูดเชิงตำหนิว่า ทำไมกะเจ๊ะถึงได้พูดอย่างนั้น

“เขาคงรู้สึกเสียหน้า เลยทำให้ทหารไม่ชอบเราไปด้วย”

ขณะที่ญาติๆ ของสามีก็บอกให้เลิกคิดเรื่องตั้งกลุ่มได้แล้ว แถมยังเตือนให้ระวังตัวด้วย

“ตอนนั้นเราก็บอกกับชาวบ้านไปว่า ไม่เอาแล้วกับทหาร” แล้วกะเจ๊ะก็ตั้งหน้าตั้งตาทำเรื่องกลุ่มต่อไป

“ส่วนพวกแม่บ้านบางคนที่มาแอบดูเวลาเราทำงานกลุ่ม ก็เริ่มเข้ามาเป็นสมาชิกหลายคน ซึ่งเราคิดว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ทำอย่างเปิดเผยและจริงใจต่อหมู่บ้านที่เราอยู่ เขาก็เลยเข้ามาร่วม”

“เราบอกชาวบ้านไปว่า เราจะทำความดีต่อหมู่บ้าน จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร”

สยบคำต้องห้าม ได้ใจที่เข้มแข็ง

สำหรับกะเจ๊ะแล้ว ดูเหมือนว่า ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างกับหน้ามือเป็นหลังมือ คำต้องห้ามสำหรับกะเจ๊ะอย่างคำว่า “แม่หม้าย” กลายเป็นคำที่สามารถฟุ้งออกมาจากปากของกะเจ๊ะเองได้แล้ว

“ตอนนี้อยู่ได้สบาย คำว่าแม่หม้ายนะหรือ ฟังได้ แถมยังพูดเองได้ด้วย” คือคำยืนยันที่สะท้อนถึงความเข้มแข็งที่ปรากฏออกมา

กะเจ๊ะ บอกต่อว่า ตอนนี้กล้าเผชิญปัญหามากขึ้น และคิดว่าสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ด้วย สิ่งที่ทำมาได้หลายอย่าง คุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยเฉาพะทางด้านจิตใจ กล้าคิดกล้าทำมากขึ้น กล้าเผชิญกับอุปสรรค รู้จักคิดและรู้จักแก้ปัญหามากขึ้น

“ที่สำคัญ เราได้กลุ่ม ได้รู้จักเพื่อนใหม่ มีประสบการณ์ใหม่ๆ อะไรที่เรายังทำไม่ดี ต้องแก้ไขปรับปรุง ก็มีคนมาแนะนำ มาบอกให้ ที่ประชุมต่างๆที่ เราไปเข้าร่วม เขาก็แนะนำให้”

ซึ่งนั่นหมายถึงองค์กรเครือข่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือกลุ่มมะกรูดหวาน และเธอเองก็ยืนยันว่า ไม่คิดจะย้ายหนีไปไหนด้วย เพราะมาอยู่ที่ปัตตานีถึง 30 ปี

ดูเหมือนว่าเธอจะผ่านบททดสอบครั้งนี้ได้แล้ว