ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 26 June 2010

24 มิถุนากับพระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะทหาร และลูกชาย ที่ชื่อประชาธิปไตย

ที่มา ประชาไท

24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระยาพหลพลพยุหเสนาได้ร่วมกับคณะราษฎรโดยเป็นหัวหน้าคณะราษฎรทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ได้รับฉายาว่า "เชษฐบุรุษประชาธิปไตย" และหลังจากที่คำว่าประชาธิปไตยได้ถูกบัญญัติและเผยแพร่ไป มีชาวบ้านบางคนคิดว่า เป็นชื่อของลูกชายของพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วยซ้ำ

การตีความ 24 มิถุนายน 2475
ผู้เขียนสนใจในประเด็นของการตีความ 24 มิถุนายน 2475 โดยเชื่อมโยงเรื่องเล่าการเข้าร่วมคณะราษฎรของพระยาพหลพลพยุหเสนาได้ร่วมกับคณะราษฎรโดยเป็นหัวหน้าคณะราษฎรทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และผู้เขียนอ้างอิงที่มาของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ๒๔ มิถุนา: การตีความ ๔ แบบ ซึ่งเริ่มต้นว่า เหตุการณ์ แบบไหนจัดว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์? วินาทีที่ผู้อ่านกำลังอ่านข้อความเหล่านี้ ที่ใดที่หนึ่งในประเทศไทย หรือในโลก มีเด็กกำลังเกิด ซึ่งสำหรับพ่อแม่ของเด็กนั้น คงทำให้ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย อาจจะเปลี่ยนแปลงชนิดตรงกันข้ามกับก่อนหน้านี้เลยก็ได้

ในแง่นี้ การเกิดของลูกย่อมเป็น “เหตุการณ์สำคัญ” ของพวกเขา แต่สำหรับคนอื่นๆ (“สังคม”) การเกิดของเด็กชายหรือเด็กหญิงคนนั้น จะถือว่าเป็น “เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์” ได้หรือไม่?

ปัญหาว่าอะไรคือ เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เป็นปัญหาที่นักประวัติศาสตร์เองและผู้สนใน ปรัชญาประวัติศาสตร์ถกเถียงกันอย่างไม่รู้จบมาเป็นเวลานาน นักปรัชญาผู้หนึ่งเคยเสนอว่า เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์คือเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในความ สัมพันธ์เชิงโครงสร้างที่ดำรงอยู่ (causes a mutation in the existing structural relations) แต่ก็มีนักปรัชญาบางคนแย้งว่า เหตุการณ์อย่างการตายของคาร์ล มาร์กซ แม้จะไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง แต่ก็นับว่าเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ . . . . .
เหตุการณ์ ในประเทศสยาม เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์หรือไม่? สำคัญแค่ไหน?อย่างไร? ในเวลา ๗๑ ปีที่ผ่านมา ความคิดเห็น ความรู้สึก (หรือพูดแบบวิชาการหน่อยคือ “การตีความ”) ต่อเหตุการณ์นั้นได้เปลี่ยนแปลงไป อาจกล่าวได้ว่าในระยะ ๗ ทศวรรษนี้ มีวิธีมอง “๒๔ มิถุนา” หรือ “๒๔๗๕” ได้ ๔ แบบ ถ้าจะยืมภาษาวิชาการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ความคิดที่ได้รับการ ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย ก็คือ มี “กระบวนทัศน์การตีความ” (interpretive paradigm) เกี่ยวกับ “๒๔ มิถุนา” อยู่ ๔ กระบวนทัศน์ คือ แบบที่หนึ่ง เชียร์คณะราษฎร โจมตีเจ้า แบบที่สอง เชียร์เจ้า โจมตีคณะราษฎร แบบที่สาม โจมตีทั้งเจ้า ทั้งคณะราษฎร และผู้เขียน ก็ขอเน้นที่มุมมองล่าสุดในการตีความ 2475 แบบที่สี่ เชียร์ทั้งเจ้า ทั้งปรีดี (คณะราษฎร) ในปัจจุบัน โดยเน้นชัดที่ปรีดี พนมยงค์ คือ

....กระบวนทัศน์ใหม่ได้ ขณะเดียวกัน การรื้อฟื้นเกียรติภูมิของปรีดี ก็มีลักษณะที่คล้ายกับการยกย่องผู้นำแบบจารีตของไทยในอดีตมากขึ้นทุกที (โปรดสังเกตการเรียกปรีดีว่า “พ่อ” ในกลอน “พ่อของข้าฯนามระบือชื่อปรีดี”) เราจึงอาจกล่าวถึง “การรองรับซึ่งกันและกัน” (mutual-accommodation) ระหว่างกระบวนทัศน์ทั้งสองต้นแบบ ของการรองรับซึ่งกันและกันนี้ เริ่มมีร่องรอยให้เห็นตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๓ ในหนังสือที่ระลึกพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระปกเกล้า ซึ่งนอกจากมีเนื้อหาที่เป็นราชสดุดีต่อรัชกาลที่ ๗ แล้ว ยังมีการตีพิมพ์ประกาศคณะราษฎร (ที่ประณามพระองค์) ฉบับเต็มด้วย ในทางกลับกัน ในงานฉลอง ๑๐๐ ปีปรีดี ที่ธรรมศาสตร์ในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๓ ในภาพสไลด์ชุดสดุดีปรีดี มีภาพหนึ่งเป็นพระราชหัตถเลขาสละราชย์ (ที่ประณามปรีดีและคณะราษฎร) แต่ที่อาจถือเป็นแบบฉบับของกระบวนทัศน์ใหม่นี้ คือบทความ (จากปาฐกถา) ของประเวศ วะสี เรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ กับรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์”

ที่สำคัญ กระบวนทัศน์การตีความ “๒๔ มิถุนา” ใหม่นี้ แสดงออกที่ ในปัจจุบัน รัฐได้ให้การสนับสนุนและดำเนินการจัดตั้งองค์การอย่าง สถาบัน และ พิพิธภัณฑ์ พระปกเกล้า ขณะเดียวกับที่ ทำการเสนอชื่อปรีดี ให้เป็นบุคคลสำคัญของยูเนสโก และจัดงานฉลอง ๑๐๐ ปีให้กับปรีดี (1)

คณะราษฎร:พระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะทหาร และลูกชาย ที่ชื่อประชาธิปไตย

พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นหนึ่งในคณะราษฎรฝ่ายทหารชั้นผู้ใหญ่ เป็น 1 ใน 4 ทหารเสือ ที่ประกอบด้วย ตัวท่าน, พระยาฤทธิ์อัคเนย์, พระยาทรงสุรเดช และ พระประศาสน์พิทยายุทธ ในระหว่างการประชุมวางแผนที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น พระยาพหล ฯ ได้เคยมีดำริถึงเรื่องนี้มาก่อนและเปรยว่า ทำอย่างไรให้อำนาจการปกครองอยู่ในมือของคนทั่วไปจริง ๆ ไม่ใช่อยู่ในมือของชนชั้นปกครองแค่ไม่กี่คน และเมื่อคณะราษฎรทั้งหมดยกให้ท่านเป็นหัวหน้า ท่านก็รับไว้

ในเช้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง ท่านได้สั่งเสียไว้กับภรรยา (ท่านผู้หญิงบุญหลง พลพยุหเสนา) ว่า หากทำการมิสำเร็จและต้องประสบภัยถึงแก่ชีวิตแล้ว ขอให้คุณหญิงจงเป็นพยานแก่คนทั้งหลายว่า "การที่คิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินครั้งนี้ มิได้หมายจะช่วงชิงเอาราชบัลลังก์ หรือคิดจะล้มราชบัลลังก์แต่อย่างใดเลย ความมุ่งหมายจำกัดอยู่แต่เพียงว่า ให้องค์กษัตริย์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และให้มีสภาการปกครองแผ่นดิน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้น้อยและประชาราษฎรได้แสดงความคิดเห็นในราชการบ้านเมืองได้บ้าง" และฝากให้เลี้ยงลูกให้เป็นคนดีด้วย ก่อนออกจากบ้านไปพร้อมกับพระประศาสน์พิทยายุทธที่ขับรถมา มุ่งหน้าไปยังกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ เพื่อสมทบกับพระยาทรงสุรเดชตามแผนที่วางไว้ พร้อมกับเหน็บปืนพกค้อลท์รีวอลเวอร์ที่เอว เป็นอาวุธข้างกาย

ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อทหารทุกหน่วยมาพร้อมแล้ว พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้เดินออกจากร่มเงาต้นอโศกข้างถนนราชดำเนิน เพื่อแสดงตนเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และอ่านประกาศฉบับแรกของคณะราษฏร (2) เป็นต้นธารของประวัติศาสตร์ แน่นอนว่า เมื่อเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งคนในสมัยปัจจุบัน ก็ประเมินเหตุการณ์นี้ไปคนละแบบ โดยแต่ละมุมมอง (3) ก็น่าสนใจผู้เขียน ก็เห็นว่าไม่มีการเสียเลือดเนื้อใด

ในการเปลี่ยนแปลง 2475 และก็สมควรกับการทำหน้าที่ของสิ่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนา มีคติประจำใจว่า ชาติเสือต้องไว้ลาย ชาติชาย ต้องไว้ชื่อ และบทบาทอันควรค่าของพระยาพหลพลพยุหเสนา ในฐานะทหาร กับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้ร่วมกับคณะราษฎรโดยเป็นหัวหน้าคณะราษฎรทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย จนได้รับฉายาว่า "เชษฐบุรุษประชาธิปไตย" จากบทบาทที่มีค่อนข้างสูงในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เพราะเป็นผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารบก และหลังจากที่คำว่าประชาธิปไตยได้ถูกบัญญัติและเผยแพร่ไป มีชาวบ้านบางคนคิดว่า เป็นชื่อของลูกชายของพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วยซ้ำ ซึ่งต่อมาชื่อของพระยาพหลพลพยุหเสนา ก็ปรากฏเป็นชื่อ ถนนพหลโยธิน ต่างๆ นานา

เมื่อชาวบ้านบางคนคิดว่า จุดเริ่มต้นคำว่าประชาธิปไตยนั้น สัมพันธ์เป็นชื่อของลูกชายพระยาพหลพลพยุหเสนา กับอุดมการณ์ของคณะราษฎร ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนวันชาติ คือ วันที่ 24 มิถุนา หายไปในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ที่มีการสถาปนาการเมืองระบบพ่อขุนอุปถ้มภ์แบบเผด็จการ ซึ่งทหาร ก็มาลบภาพความทรงจำของวันที่ 24 มิถุนายน 2475 จากความสำคัญของวันชาติในอดีต โดยสัญลักษณ์เชื่อมโยงวันต้นไม้ประจำปีของชาติ และวันเปิดสถานีโทรทัศน์ วิทยุ และตราสัญลักษณ์ของทีวี ในสมัยนั้น ซึ่งผู้เขียนเคยเขียนบทความไปก่อนหน้านี้ แล้วเวลาต่อมา พระยาพหลพลพยุหเสนา และปรีดี พนมยงค์ ก็ค่อยๆ จางหายไปจากประวัติศาสตร์ จนกระทั่ง หลังยุคสฤษดิ์ไปอีกหลายปีนั้น ชื่อของปรีดี พนมยงค์ ก็กลับมาเป็น“พ่อ” ในกลอน เช่นว่า “พ่อของข้าฯนามระบือชื่อปรีดี แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ” แต่ว่า สิ่งที่แตกต่างในการตีความ 24 มิถุนายน 2475 จนปัจจุบัน ก็คือ การชูปรีดีแบบประเวศ วะสี และต่อมา ประเวศ ก็คิดเห็นแตกต่างจากปรีดีในเรื่องประเทศเพื่อนบ้าน (4) แล้วประเทศตามระบอบประชาธิปไตยนั้น ก็เชื่อมโยงชาติไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม ทหารหายไปจากการระลึกถึงความทรงจำเชื่อมโยงชุมชนจินตกรรมแห่งชาติ ในความเป็นพ่อ หรือ ลุง (5) เฉกเช่นพระยาพหลพลพยุหเสนา ฉายาว่า "เชษฐบุรุษประชาธิปไตย" หลังจากที่คำว่าประชาธิปไตยได้ถูกบัญญัติและเผยแพร่ไป มีชาวบ้านบางคนคิดว่า เป็นชื่อของลูกชายของพระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งในแง่นี้ การเกิดของลูกย่อมเป็น “เหตุการณ์สำคัญ” ของพวกเรา เชื่อมโยงไม่ให้คณะราษฎร หรือทหารของราษฎรถูกลืมเลือนจางหายไป

อ้างอิง
1.ดูเพิ่มเติม สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ๒๔ มิถุนา: การตีความ ๔ แบบ
http://somsakwork.blogspot.com/2006/06/causes-mutation-in-existing-structural.html
2. ดูเพิ่มเติม วิกิพีเดีย th.wikipedia.org/.../พระยาพหลพลพยุหเสนา_(พจน์_พหลโยธิน)
3,ผู้เขียนเคยอ้างอิงในศิลปะกับการเมือง: มุมมองว่าด้วย รสนิยม ชนชั้น ประวัติศาสตร์ และการตีความ(19 กรกฎาคม 2551) และ
4. อรรคพล สาตุ้ม ปรีดี-ประเวศ กับทัศนะต่อประเทศเพื่อนบ้านต่างกัน (ดูในประชาไท หรือไทยอีนิวส์)
http://thaienews.blogspot.com/2009/12/blog-post_8771.html
5.อรรคพล สาตุ้ม ระลึกถึงลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ในฐานะญาติร่วมชาติไทยในเดือนตุลาคม(ดูในประชาไท หรือไทยอีนิวส์)
http://thaienews.blogspot.com/2009/10/blog-post_1945.html