ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 22 March 2010

The Economist:พ่อร่วงโรย ลูกๆสามัคคีเภท

ที่มา Thai E-News



โดย The Economist
แปลโดย แชพเตอร์ ๑๑ เวบลิเบอรัลไทย
เรียบเรียงโดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์

เบื้องหลังความวุ่นวายของประเทศไทยในทุกวันนี้ คือความกลัวอันฝังหัวเกี่ยวกับการสืบพระราชสันตติวงศ์ และบรรดาผู้คนเหล่านี้อาจจะไม่พูดออกมาให้ได้ยินกันทั่วไป

ภาพสำนักงานในลอนดอนของนิตยสารThe Economistที่ทรงอิทธิพลในโลกเศรษฐกิจ เมื่อวันศุกร์ทางดิอิโคโนมิสต์ประกาศว่า จะไม่วางจำหน่ายเผยแพร่นิตยสารฉบับล่าสุดในประเทศไทย เนื่องจากมีการตีพิมพ์เผยแพร่บทความอันอ่อนไหวเกี่ยวกับการสืบทอดพระราชบัลลังก์ของสถาบันกษัตริย์อันที่เป็นที่สักการะเทิดทูน-ภาพข่าวAFP


ทั้งรถบรรทุก ทั้งเรือ และรถโดยสารประจำทางที่หลั่งไหลเข้าสู่กรุงเทพอย่างไม่ขาดสาย เพื่อร่วมการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และถูกเรียกว่าเป็น “สงครามประชาชนต่อต้านอำมาตย์” ในวันที่ ๑๔ มีนาคม ผู้ชุมนุมที่ผ่านจำนวนหลักแสนทั้งหมดสวมเสื้อสีแดงสด แต่ละคนยิ้มแย้มด้วยความปรีดา บนเวทีปราศรัยนักพูดแต่ละคนต่างโจมตีรัฐบาล ทั้งแวดวงระดับสูงและกองทัพที่แต่งตั้งรัฐบาลนี้ขึ้นมา

ป้ายต่างๆอ่านได้ความว่า “ไม่มีความยุติธรรม ความสงบไม่เกิด” อีกยกหนึ่งที่บอบช้ำในการดิ้นรนเพื่ออำนาจอันยืดเยื้อของประเทศไทย ที่กำลังใกล้เข้ามาถึงซึ่งทางออกที่ยังคงมืดมน

จนกระทั่งถึงกลางสัปดาห์ ดูเหมือนเป้าหมายของเสื้อแดงในการขับไล่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้ออกจากตำแหน่ง และบังคับให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้นยังไม่สัมฤทธิ์ผล กองทัพยังคงยืนกรานในการปกป้องอภิสิทธิ์ ซึ่งเข้ามามีอำนาจเมื่อ ๑๕ เดือนก่อนโดยใช้วิธีจัดการทางสภา และเป็นรัฐบาลในดวงใจของชนชั้นเศรษฐีใจแคบของกรุงเทพ เช่นเดียวกับผู้ประท้วงเสื้อเหลืองซึ่งสนับสนุนรัฐบาลปัจจุบันนี้

สำหรับประชาธิปไตยซึ่งถือว่า หนึ่งคน ต่อหนึ่งเสียงนั้น ฝ่ายซึ่งขาดเสียงกลับกลายเป็นตัวกุมอำนาจ

อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งถึงสองครั้ง และขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการลี้ภัยเข้าใจเรื่องนี้ได้อย่างลึกซึ้ง ทักษิณไม่ยอมจากไปอย่างเงียบเชียบนับตั้งแต่การทำรัฐประหารของกองทัพที่ปล้นอำนาจของเขาในปี ๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ คำตัดสินของศาลในการยึดทรัพย์ ๔๖,๐๐๐ ล้านบาทของเขานั้น ยิ่งสร้างความโกรธแค้นให้ทักษิณเป็นทวีคูณ เสื้อแดงหลายคนมองทักษิณว่าคือผู้นำแท้จริงของประเทศ แม้เขาจะมีความมั่งคั่ง และมีชีวิตอย่างอภิสิทธิ์ชน ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดา

นักการเมืองพรรครัฐบาลเหน็บแนมเสื้อแดงที่ต่ำต้อยว่ารับจ้างมา และไม่ได้เป็นตัวแทนความเห็นของคนส่วนใหญ่ นักการเมืองเหล่านี้ต่างบ่ายเบี่ยงต่อความคิดที่ว่า การเลือกตั้งอาจจะเป็นหนทางเดียวที่จะพิสูจน์ในประเด็นนี้ และแถว่าในช่วงวุ่นวายแบบนี้ ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่การเลือกตั้งจะเป็นไปอย่างมีระเบียบ ที่สำคัญที่สุด นักการเมืองพวกนี้ประณามทักษิณว่า เป็นตัวการของความไม่สงบ

แต่ยังมีบุคคลสำคัญอีกพระองค์หนึ่งซึ่งในแวดวงทางการเมืองที่จะต้องคำนึงถึง: กษัตริย์ภูมิพล อดุลยเดช พระชนมายุ ๘๒ พรรษา ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในโลก ในสถานที่ชุมนุมนั้น มีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ขนาดใหญ่ซึ่งมีสายพระเนตรเรียบเฉยทอดลงมายังที่ชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดง

สำหรับการเคลื่อนไหวของพวกนิยมระบอบกษัตริย์ในประเทศไทยนั้น กษัตริย์ถือว่าเป็นพระบิดาของแผ่นดิน และ “การต่อสู้ของบรรดาลูกๆ” บนท้องถนนนั้นถือว่า เป็นการสร้างความโทมนัสให้กับพระองค์ บางคนถึงกับหวาดผวาว่า ปัญหาของประเทศไทยอาจจะเป็นตัวขัดขวางการหายจากอาการประชวร ซึ่งพระองค์ทรงเข้าประทับรักษาพระวรกายในโรงพยาบาลมาตั้งแต่เดือนกันยายน

นั่นเป็นเรื่องแน่นอน เพราะ “พ่อ” ทรงพระชราภาพและพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ และ “ลูกๆ” ของพระองค์กำลังต่อสู้ห้ำหั่นกัน

ทุกสมัยเมื่อเปลี่ยนรัชกาลจะเป็นเวลาแห่งโศกนาฏกรรมของชาติ และการครุ่นคิดคำนึงอยู่กับตนเอง ชาวไทยรู้สึกประหวั่นพรันพรึงในเรื่องนี้ หลายคนซึ่งรู้จักแต่เพียงกษัตริย์ภูมิพล ที่ทรงเสด็จขี้นครองราชย์ในปี ๒๔๘๙ จากสถาบันที่กำลังจะหมดความสำคัญ เมื่อกองทัพเข้าครอบครองโดยยื่นประชาธิปไตยให้เพียงครึ่งใบ พระราชวังจึงต้องรับหน้าที่เป็นตัวแทนแห่งอำนาจอันเป็นที่เคารพ แต่ความเหมาะสมชอบธรรมนั้นขี้นอยู่กับพระอัจฉริยภาพของกษัตริย์ภูมิพล และข้าราชบริพารซึ่งรับใช้ใกล้เบื้องพระยุคลบาท

ทางสำนักพระราชวังยืนยันว่า กษัตริย์ทรงสดชื่นและทรงแข็งแรง แต่คนไทยต่างวิตกกังวลในเรื่องความไม่แน่นอนแห่งการสืบพระราชสันตติวงศ์ ยิ่งโดยเฉพาะนักลงทุน ซึ่งหวาดวิตกหนักขึ้นไปอีกเพราะกฎหมายหมิ่นฯ ซึ่งห้ามมิให้มีการถกเถียงอย่างตรงไปตรงมาในเรื่องนี้

เมื่อบริษัทตัวแทนการสำรวจระดับยักษ์ใหญ่ของไทยทำการสำรวจความเห็นจากผู้จัดการกองทุนต่างๆ เกี่ยวกับปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองของปี ๒๕๕๓ ความเห็นร้อยละ ๔๒ เลือกข้อที่ตัวแทนตั้งว่า “การเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่สามารถระบุได้” ข่าวลือเกี่ยวกับอาการพระประชวรของกษัตริย์ภูมิพลเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ส่งผลให้เกิดการเทขายของกองทุนในระยะเวลาแค่สองวัน และรัฐบาลถึงกับหัวเสียไล่บี้หาตัวการปล่อยข่าวลืออย่างหนัก หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแล้ว ดูท่าว่าจะแซงหน้าเหตุการณ์ที่ผ่านมานี้แน่

ประเทศไทยยังคงยืนหยัดต่อความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในระยะสีปี จำนวนผู้เสียชีวิตยังถือได้ว่าต่ำ แต่ความโกรธแค้นได้ระเบิดออกมาในเดือนเมษายนที่แล้ว เมื่อเสื้อแดงปะทะกับกองทัพในกรุงเทพฯ เป็นเวลาเพียงแค่พริบตาเดียวแต่แสดงให้เห็นถึงอารมณ์อันบีบคั้นที่ถูกเก็บงำมาเนิ่นนาน กองทัพเองเริ่มแสดงให้เห็นถึงความแตกแยก แม้ว่าเรื่องที่น่ากลัวมากที่สุดคือ – สงครามกลางเมือง เป็นเรื่องที่ดูเว่อร์เกินไป จะมีเหตุผลดีกว่าหากกล่าวว่า ถ้าเป็นการเผชิญหน้าทางการเมือง และการเมืองที่เข้าขั้นอัมพาตในอีกหลายๆปีที่จะมาถึง

พระราชบัลลังก์คงผ่านพ้นไปด้วยดี สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ พระชนมายุ ๕๗ พรรษา ทรงเป็นพระราชโอรสองค์รัชทายาทที่จะสืบราชบัลลังก์ และไม่มีข้อสงสัยใดๆกับการอ้างในเรื่องนี้ การเปลี่ยนผ่านราชบัลลังก์ จะทำให้การต่อสู้ทางการเมืองถูกระงับลง ผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมืองบางคนอาจสำนึก และหาทางประนีประนอม การเปลี่ยนผ่านรัชกาลอาจเป็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยสำหรับประเทศไทย: อาจจะเริ่มได้ยินความคิดจากคนรุ่นใหม่

แต่กษัตริย์พระองค์นี้จะทรงรับพระราชภารกิจอันหนักอึ้งที่จะตามมา และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเองโดยทั่วไปแล้วไม่ทรงเป็นที่นิยม และทรงเป็นที่ยำเกรง คนไทยส่วนใหญ่พยายามที่จะไม่คิดถึงเรื่องการขี้นครองราชย์ของพระองค์ นักวิชาการคนหนึ่งกล่าวว่า รัชกาลใหม่จะต้องตามรอยเบื้องพระยุคลบาทแห่งปูชนียบุคคลผู้เปี่ยมด้วยบารมี ซึ่งพระเกียรติคุณได้รับการยกย่องเปรียบดังลัทธิบูชา บทบาทขององค์รัชทายาทในยุคสมัยที่ยิ่งใหญ่ และตกเป็นเป้าสายตาของประชาชนนั้นเป็นเรื่องไม่ง่ายในทุกที่ สำหรับในประเทศไทยแทบจะไม่มีทางเอาเสียเลย นักการทูตอาวุโสคนหนึ่งตั้งคำถามว่า “ใครจะตามรอยเท้าผู้วิเศษได้อย่างไร”

ความกังขาต่อรัชกาลต่อไป

เป็นปริศนาที่คุ้นเคยกันดี กษัตริย์วชิราวุธ รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงขี้นครองราชย์ในปี ๒๔๕๓ ทรงพบอุปสรรคกับการตามรอยพระบาทของพระราชบิดา กษัตริย์จุฬาลงกรณ์ ผู้ทรงคล่องแคล่วนำสมัย ทั้งนี้ ธงชัย วินิจกุล ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ไทย มหาวิทยาลัยวิสคอนซินแห่งสหรัฐอเมริกาได้กล่าวว่า แม้ก่อนเสด็จขี้นครองราชย์ พระองค์ทรงได้รับความเสื่อมเสียจากการซุบซิบที่ออกมาจากพระราชวังกล่าวหาว่า พระองค์ทรงมีพระราชจริยาวัตรที่ไม่งดงาม

กษัตริย์วชิราวุธทรงเป็น “นักกวี และนักประพันธ์อันเอกอุ” แต่ทรงไม่ประสบความสำเร็จในฐานะกษัตริย์ซึ่งทรงถูกบดบังบารมีจากความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์พระองค์ก่อน ธงชัยกล่าวในการสัมมนาที่เปิดกว้างให้ประชาชนได้รับฟังเมื่อไม่นานมานี้ว่า “ราชวงศ์นั่นเองทำให้สถาบันเผชิญกับความยุ่งยากเอง”

กษัตริย์ประชาธิปก รัชกาลที่ ๗ ทรงลำบากหนักขึ้น การทำรัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างไม่เสียเลือดเนื้อในปี ๒๔๗๕ ยุติการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และระบอบกษัตริย์เกือบจะหมดความหมาย กษัตริย์ประชาธิปกทรงเสด็จลี้ภัยไปประทับที่ลอนดอน และทรงสละราชสมบัติในปี ๒๔๗๘ สร้างความเคว้งคว้างอย่างหนัก พระองค์ทรงมอบราชสมบัติให้รัชกาลที่ ๘ พระเชษฐาในกษัตริย์ภูมิพล ซึ่งทรงสิ้นพระชนม์ในปี ๒๔๘๙ ด้วยการถูกยิงที่พระนลาฎอย่างมีเงื่อนงำ กษัตริย์ภูมิพลทรงขี้นครองราชย์ต่อมาในวันเดียวกันนั้นเอง และทรงเสด็จพระราชดำเนินกลับสวิสเซอร์แลนด์เพื่อทรงศึกษาให้สำเร็จ

ในปี ๒๔๖๙ กษัตริย์ประชาธิปกทรงมีพระราชนิพนธ์อย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับจุดอ่อนของการปกครองระบอบกษัตริย์ ในพระราชบันทึก พระองค์ทรงต่อสู้กับความขัดแย้งระหว่างสังคมที่เดินหน้า และกฎแห่งการสืบทอดราชาธิปไตย ซึ่งประเทศไทยในเวลานี้ดูเหมือนกำลังตกอยู่ในสภาพความขัดแย้งเช่นนี้ การปกครองของกษัตริย์เป็นหนึ่ง “ในอุปสรรคสำคัญ” เป็นความเห็นของสาธารณชนที่ต่อต้านการปกครองแบบเผด็จการ ทรงวิตกว่าใครที่จะขี้นครองราชย์องค์ต่อไป พระองค์ทรงบันทึกว่า “จะต้องมีหลักประกันทางอื่นเพื่อคานกับกษัตริย์ที่ไม่มีพระปรีชา”

เวลาผ่านไปเกือบศตวรรษ หลักประกันนั้นยังไม่ปรากฏ และคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาในอนาคตข้างหน้า

สมเด็จพระบรมฯทรงเป็นทหารอาชีพ และทรงเป็นนักบินเครื่องบินรบ ซึ่งทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจหลายอย่างแทนพระราชบิดา ในหลายปีมานี้ พระองค์ทรงว่างเว้นจากพระราชกรณียกิจเนื่องจากเสด็จประทับทางยุโรป ขณะนี้พระองค์ทรงพระราชดำเนินกลับประเทศไทย และทรงออกสู่สายตาประชาชน ซึ่งเป็นสัญญาณที่กึกก้องและชัดเจน สองอาทิตย์หลังจากพระบรมราโชวาทในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของกษัตริย์ภูมิพล บางกอกโพสต์ลงพระราชประวัติของพระองค์อย่างยกย่องภายใต้หัวข้อว่า: “กษัตริย์ที่ทรงรอคอย”

สำหรับคนไทยซึ่งคุ้นเคยกับพระราชทศพิธราชธรรมของกษัตริย์ภูมิพล ซึ่งรวมถึงการทรงมีพระมเหสีพระองค์เดียว ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา และทรงสมถะ สมเด็จพระบรมฯทรงมีพระจริยาวัตรที่แตกต่างไป เรื่องส่วนพระองค์กลายเป็นเรื่องซุบซิบต่างๆนานา นักการทูตกล่าวว่าสมเด็จพระบรมฯ ทรงมีพระจริยาวัตรที่เป็นพิเศษ: ตัวอย่างเช่น การฉลองให้กับสุนัขทรงเลี้ยง “ฟูฟู” ซึ่งมียศทางทหาร และในหลายโอกาสที่พระองค์แสดงถึงความรักเอ็นดูสุนัขทรงเลี้ยงด้วยการให้"ฟูฟู"นั่งร่วมกับบรรดาแขกรับเชิญในงานเลี้ยงฉลองพระกายาหารค่ำ

ในช่วงทศวรรษปี ๒๕๒๓ มีข่าวลือว่า ทรงเกี่ยวข้องกับธุรกิจบางประเภท ซึ่งต่อมาพระองค์ทรงประทานสัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน โดยทรงระบุด้วยว่าการที่มีใครไปเรียกพระนามแบบลำลองว่า “เสี่ยโอ”อันหมายความว่าทรงร่ำรวยมั่งคั่งจากธุรกิจบางประเภทนั้น เป็นเรื่องไม่จริง

ในทางตรงข้าม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรพระขนิษฐา ทรงมีภาพลักษณ์ประดุจเทพซึ่งทรงภารกิจด้านการกุศล คนไทยหลายคนหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวินาทีสุดท้าย ทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งได้ยินมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้คือ การมอบบัลลังก์ให้กับพระโอรสและธิดาในสมเด็จพระบรมฯ เช่นพระโอรสองค์สุดท้อง พระองค์เจ้าทีปังกรฯ และผู้สำเร็จราชการแผ่นดินอาจจะเป็นเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร

ข่าวในทางอัปมงคลที่ถูกปล่อยออกมานั้นคาดว่า จะเป็นการลดความน่าเชื่อถือของเจ้าฟ้าชาย และเพื่อหาทางเลือกอื่น ทั้งนี้ทั้งนั้น กษัตริย์ภูมิพลดูเหมือนจะทรงตัดสินพระทัยไว้แล้วว่า ผู้ที่จะขี้นครองราชย์องค์ต่อไปคือ สมเด็จพระบรมฯ

พอล แฮนด์เล่ย์ ผู้แต่งหนังสือพระราชประวัติที่ไม่ได้รับพระบรมราชานุญาต หนังสือของเขาถูกห้ามจำหน่ายในประเทศไทย เขาคิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่กษัตริย์ภูมิพลจะทรงตัดสินพระทัยในระหว่างทรงรักษาพระองค์ ในการที่จะยกเลิกสิทธิ์ในสมเด็จพระบรมฯ เพราะต้องออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร

เหตุผลหนึ่งซึ่งทำไมวงการกองทัพจึงไม่ไว้วางใจในสมเด็จพระบรมฯ เพราะในอดีตพระองค์ทรงเคยโปรดทักษิณ ซึ่งถูกทหารทำรัฐประหารปล้นอำนาจในปี ๒๕๔๙ ทักษิณมหาเศรษฐีด้านโทรคมนาคม ผู้หันชีวิตมาเป็นนักการเมืองที่ได้รับความนิยม เคยกล่าวว่าได้เคยรับใช้ใต้พระยุคลบาทพระองค์ นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่แท้จริงในการทำรัฐประหาร ซึ่งดูเหมือนจะได้รับการสรรเสริญจาก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและมีหน้าที่เป็นองคมนตรีให้คำปรึกษาต่อองค์กษัตริย์ ความจริงที่ว่า แม้ทักษิณจะลี้ภัยอยู่ที่ประเทศดูไบ แต่ยังคงติดต่อกับเจ้าฟ้าชาย ซึ่งสร้างปัญหาอย่างหนักให้กับพวกคลั่งเจ้ากลุ่มเดิม ในการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ของอังกฤษเมื่อไม่นานมานี้ อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวเทิดทูนสมเด็จพระบรมฯ อย่างหาที่เปรียบไม่ได้

ไม่มีใครทราบได้ว่าสมเด็จพระบรมฯ จะทรงเป็นนักปกครองแบบใด สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักสังเกตการณ์ผู้ช่ำชองเกี่ยวกับราชวงศ์ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม กล่าวว่า พระองค์ทรงมีวุฒิภาวะมากขึ้นในระหว่างการอภิเษกสมรสครั้งที่สาม และทรงเป็นที่เคารพมากขี้นกว่าในอดีต คนอื่นกล่าวว่า พระองค์ทรงเบื่อหน่ายกับงานพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งแตกต่างจากเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร ซึ่งทรงพระเกษมสำราญในการปฏิบัติภารกิจ ผู้สังเกตการณ์ราชวงศ์กล่าวว่า เหนืออื่นใด พระองค์ทรงต้องมีข้าราชบริพารที่มีความสามารถ ที่จะนำทางพระองค์ผ่านหนทางที่เต็มไปด้วยหลุมพรางทางการเมืองที่อยู่ข้างหน้า หลายคนเชื่อว่า สมเด็จพระบรมฯจะทรงแต่งตั้งองคมนตรีของพระองค์เองแทนคนเก่า สำหรับข้าราชบริพารรุ่นเก่าที่รับใช้กษัตริย์ และไม่ไว้ใจในการสืบบัลลังก์ของพระองค์ คงจะถูกเชิญให้ลาออก นักวิชาการต่างประเทศคนหนึ่งกล่าวว่า ข้าราชบริพารชุดใหม่ของพระองค์ “เป็นที่แน่นอนว่า จะไม่มีความสามารถ” เทียบเท่ากับชุดปัจจุบัน

ทรงพลัง แต่ขาดความสุขุม

การชิมลางในเรื่องนี้ เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว เมื่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ พยายามที่จะสลับขั้วอำนาจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บุคคลซึ่งอภิสิทธิ์เลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตินั้นถูกขัดขวางจากสมาชิกในพรรคเดียวกัน รวมถึง นิพนธ์ พร้อมพันธุ์ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่เคยเป็นนักเรียนร่วมชั้นสมเด็จพระบรมฯในต่างประเทศ ซึ่งวิ่งเต้นเสนอชื่อบุคคลอื่น มีรายงานข่าวว่า ผู้อยู่เบื้องหลัง “ที่มีอำนาจ และทรงพลัง” ได้ผลักดันให้มีการแต่งตั้งตัวเลือกอันดับสอง คืออดีต ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติสมัยรัฐบาลทักษิณขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ต่อมานิพนธ์ลาออกจากคณะรัฐบาล อภิสิทธิ์ยังไม่สามารถแต่งตั้ง ผบ.ตร. ได้ ตำแหน่งปัจจุบันนี้เป็นเพียงแค่รักษาการณ์แทน

แท้จริงแล้ว พระราชวังได้อุปถัมภ์ค้ำชูกองทัพ และข้าราชการมาเป็นเวลาเนิ่นนาน นี่คือวิธีการบริหารจัดการอำนาจในประเทศไทย อะไรที่ทำให้ทักษิณต้องเป็นตัวคุกคามของพระราชวัง ก็เพราะความหมายมั่นของทักษิณที่จะกุมอำนาจนี้ไว้เช่นกัน ต่อมานักการทูตเอเชียระดับสูงกล่าวว่า มีพระประสงค์ที่จะเข้าแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี เพื่อขยายฐานสนับสนุนของพระองค์ ยิ่งพระองค์ทรงประสบความสำเร็จมากเท่าไร จะเป็นตัวกำหนดได้ว่าพระองค์จะทรงอำนาจได้นานแค่ไหน

โอกาสอีกอย่างหนึ่งคือ การพระราชทานอภัยโทษให้ทักษิณ เพื่อที่ทักษิณจะได้เดินทางกลับมาบริหารประเทศในรัชสมัยกษัตริย์พระองค์ใหม่ ซึ่งจะสร้างความปรีดาให้กับคนเสื้อแดง แต่จะสร้างความขวัญหนีดีฝ่อให้กับชนชั้นนำในกรุงเทพ และสร้างความแตกแยกในกองทัพ สำหรับเสียงสนับสนุนจากสาธารณชนนั้น ผู้ใกล้ชิดทางการเมืองคนหนึ่งกล่าวว่า สมเด็จพระบรมฯ ทรงทราบว่าพระองค์ทรงไม่ได้รับความนิยมสูงนัก แต่ “พระองค์ทรงไม่เอามาใส่พระทัย”

ทางออกอีกทางหนึ่งสำหรับสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกแบบนี้ คือการปรับปรุงบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้มีสถานะเท่ากับเมื่อในอดีต การปรับปรุงสถาบันตั้งแต่ระดับสูงลงมาย่อมน่าพิสมัยมากกว่า การถูกผลักดันจากระดับล่างด้วยเสียงเรียกร้องให้มีการตั้งเป็นสาธารณรัฐ เพราะบทบาทในรัชสมัยกษัตริย์ภูมิพลเนื่องจากพระราชบารมีที่สูงยิ่ง ในตอนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองในเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ พระองค์ทรงสามารถจะออกคำสั่งให้เผด็จการทหารยุติการกระทำ และระงับเสีย ในไม่กี่ปีมานี้ ได้เปิดเผยให้เห็นพระราชอำนาจอันมีจำกัดของพระองค์ ในปี ๒๕๕๑ กษัตริย์ไม่ทรงสามารถยุติการกระทำของฝ่ายพันธมิตรในการก่อความวุ่นวายในนามของพระองค์ ข้าราชบริพารระดับสูง ถอนหายใจและกล่าวว่า “พวกเราคาดหวังจากพระองค์มากเกินไป”

เป็นที่แน่ชัดว่า ประเทศไทยต้องการความสมดุลใหม่ บางคนกลัวว่า เมื่อสุญญากาศแห่งอำนาจที่ถูกสถาบันอันอ่อนกำลังได้ละทิ้งไป จะถูกกองทัพเข้ามายึดแทน ซึ่งเป็นอำนาจชักใยเบื้องหลังของความสวยหรูที่ฉาบทองของพระราชวังอยู่แล้ว แต่นายพลทั้งหลายซึ่งยึดอำนาจด้วยการทำรัฐประหารปี ๒๕๔๙ นั้นบริหารประเทศอย่างไร้ฝีมือ และจำต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงในอีก ๑๕ เดือนต่อมา ตระกูลนักธุรกิจทั้งหลายไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย และต้องการให้นักการเมือง และมืออาชีพบริหารประเทศแทน ส.ส.หลายคนที่ถูกห้ามเล่นการเมือง ซึ่งบางคนหวังว่าจะได้เข้าเป็นพรรคเสียงข้างมาก จะได้กลับเข้าสู่เวทีการเมืองอีกในปี ๒๕๕๕ แต่กติกาการเล่นจะต้องได้รับการเปลี่ยนใหม่

เป็นเรื่องน่าเศร้า ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยเป็นแนวหน้าแห่งเสรีภาพในภูมิภาคซึ่งค่อนข้างถูกบีบคั้น การเมืองอย่างกระท่อนกระแท่นไม่ได้เป็นตัวการทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจหยุดยั้งลง เหมือนกับการที่ข้าราชการต่างๆ กุมบังเหียนแน่นในการบริหารประเทศแบบเช้าชามเย็นชามเช่นนี้ ในยุคทศวรรษปี ๒๕๓๓ (ค.ศ.๑๙๙๐) กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนทางตะวันตกหวังว่า ประชาสังคมไทยที่มีพลวัต (Dynamism) สูงอาจจะขยายไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านต่างๆ แต่กลับกลายเป็นว่า ขณะนี้บางคนมองประเทศไทยว่า เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นถึงความเป็นประชาธิปไตยแบบสุกเอาเผากิน

นั่นอาจจะเป็นการกล่าวที่รุนแรงเกินไป กลุ่มเสื้อแดง และกลุ่มเสื้อเหลืองที่เป็นอริกันในประเทศไทยนั้นแม้มีความเห็นไม่ลงรอยกันในเรื่องประชาธิปไตย แต่ทั้งสองฝ่ายต้องการระบบการเมืองที่มีความยุติธรรม ปีที่แล้วเพื่อที่จะวัดเรื่องความอดทน มูลนิธิเอเชียซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในแคลิฟอร์เนียได้ออกสำรวจความเห็นของคนไทยในเรื่องนี้ และผลสำรวจพบว่าร้อยละ ๗๙ ยอมให้พรรคการเมืองต่างๆซึ่งไม่ได้รับความนิยมเข้าเยี่ยมพื้นที่ตัวเองได้ เพียงร้อยละ ๖ เท่านั้นที่กล่าวว่า พวกเขาจะเลิกคบเพื่อนซึ่งเข้าร่วมพรรคฝ่ายตรงข้ามกับตัว นับว่าเป็นตัวเลขที่น่าชื่นชมมากกว่าอีกหลายประเทศที่เป็นประชาธิปไตยของเอเชีย เกือบจะทุกคนต่างเห็นด้วยว่า รัฐบาลประชาธิปไตยเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด แม้ว่าร้อยละ ๓๐ จะยอมรับการปกครองแบบเผด็จการในบางสถานการณ์

ประเทศไทยยังไม่ยอมแพ้ในเรื่องประชาธิปไตย แต่การสะสางปัญหาที่สะสมทางการเมืองนั้นจะต้องรวมไปถึงการกล่าวถึงสถาบันกษัตริย์ แน่นอน สำหรับความเชื่อของคนไทย การพูดเรื่องการเปลี่ยนผ่านรัชกาล ถือว่าเป็นเรื่องไม่บังควร – และเป็นเรื่องอัปมงคล แต่เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ เป็นการเสี่ยงมากเกินไป ความเคารพยำเกรง และความหวาดกลัวเป็นตัวปิดตายต่อการแสดงความคิดเห็น ใครก็ตามหากเปิดปากในเรื่องนี้จะเสี่ยงต่อการถูกจับตามกฎหมายหมิ่นฯ หรือกฎหมายคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งออกใหม่และมีบทลงโทษที่หนักพอกัน ประชาชนหลายคนได้ถูกดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมไปถึงชาวออสเตรเลียซึ่งถูกจำคุก (ต่อมาได้รับอิสรภาพด้วยการรับพระราชทานอภัยโทษ) จากนวนิยายที่เขาแต่งขึ้นมา มีเนื้อหาเกี่ยวพันไปถึงองค์รัชทายาทในทางไม่บังควร

เบื้องหลังประตูที่ปิดตายนั้น มีการถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ถึงอนาคตของสถาบันกษัตริย์เมื่อเปลี่ยนรัชกาล จากคำพยากรณ์ในอดีตที่ว่า ราชวงศ์จักรีจะสิ้นสุดเพียงรัชกาลที่ ๙ กษัตริย์ภูมิพลทรงเป็นพระรามาที่ ๙ มีเสียงเล็ดรอดออกมาในเรื่องเป็นสาธารณรัฐ – ซึ่งสื่อเลือกข้างในประเทศไทยไม่เคยรายงานในเรื่องนี้ บางกอกโพสต์โจมตีด้วยสำนวนแบบเดิมที่มีทั้งความภาคภูมิใจ และการข่มขู่ในคำสดุดีเฉลิมพระเกียรติพระพรชัยมงคลในวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาในเดือนธันวาคมว่า: “ความรักของชาวไทยที่มีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯนั้นช่างฝังแน่นในจิตใจของคนทั้งชาติ เจตนารมณ์อย่างอื่นนั้นให้เลิกคิดไปได้”

ในวงในของพระราชวัง เริ่มตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเริ่มต้นขึ้น พวกนิยมเจ้าระดับอาวุโสทราบดีว่า พระราชจริยาวัตร และพระบารมีไม่สามารถถ่ายทอดไปยังรัชทายาทได้ง่ายๆ นี่คือประเด็นสำคัญที่ถึงทางตันของราชวงศ์ไทย สุลักษณ์กล่าวว่า กษัตริย์ภูมิพลทรงทราบในเรื่องนี้ สุลักษณ์กล่าวไว้ว่า กษัตริย์ “ทรงปรารถนาที่จะเห็นรัชสมัยหน้า จะไม่มีการนองเลือด”

สุดท้ายนี้ อันเนื่องมาจากสุลักษณ์ที่ว่า เมื่อไม่นานมานี้กษัตริย์ภูมิพลทรงเชิญนักการทูตที่ทรงไว้พระทัยสามคนให้ร่วมเสนอความคิดที่จะปรับปรุงสถาบัน นักการทูตคนหนึ่งได้ขอคำแนะนำจากสุลักษณ์ โดยอธิบายว่า การวินิจฉัยนั้นจะเสนอแด่องค์กษัตริย์เท่านั้น สุลักษณ์ตอบว่า พระราชวังจะต้องโปร่งใสในด้านการเงิน รวมถึงพระราชทรัพย์ประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท (หนึ่งล้านสองแสนล้านบาท) ซึ่งบริหารโดยสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, แยกพระองค์จากกองทัพ และเปิดรับการวิจารณ์ของสาธารณะ สุลักษณ์แย้งว่า การเป็นประมุขในทางสัญลักษณ์อย่างทางยุโรป จะช่วยให้กษัตริย์องค์ต่อไปในอนาคตคงดำรงอยู่ได้

เก็บรักษาต้นไม้

สุลักษณ์ถูกกล่าวหาว่า หมิ่นฯ เสมอ เขายืนยันว่าเขาเป็นผู้นิยมสถาบันกษัตริย์อยู่เต็มสายเลือด เขากล่าวว่า “การจะโค่นต้นไม้นั้นเป็นเรื่องง่าย แต่ผมคิดว่า จะเป็นการดีกว่าถ้าจะเก็บรักษาไว้” การเลือกก้าวเดินดังกล่าวอาจจะช่วยราชวงศ์จักรีไว้ได้ แต่การทบทวนแบบวิธีสุดโต่งนี้ ดูจะเป็นไปได้ยาก การยอมให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตีผู้ปกครองที่ขาดความมั่นคงนั้น อาจจะทำให้เกิดการขยายไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในรัชสมัยกษัตริย์ภูมิพล การปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์เป็นดาบสองคม หลายคนยอมอดทนแต่ขาดซึ่งความเคารพเทิดทูนจากใจ สมเด็จพระบรมฯ ทรงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะพบปัญหานี้เช่นกัน

สถาบันกษัตริย์ยังมีความผูกพันกับประเทศไทย ในสเปน งบประมาณสำหรับพระราชวังต่อปีนั้นเป็นจำนวน ๔๒๐ ล้านบาท และถูกตรวจสอบโดยรัฐบาล นอร์เวย์ใส่บัญชีของราชวงศ์ทางเว็บไซต์ ไม่มีทางที่จะค้นหาว่าค่าใช้จ่ายของราชวงศ์อย่างเริดหรูนั้นจะเป็นจำนวนเท่าไร ญี่ปุ่นอาจจะเป็นแบบที่เหมาะกว่า ซึ่งสื่อแห่งชาติให้ความเคารพโดยการไม่แตะต้อง

ผลแห่งความปราชัยในสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อการเข้ายึดครองของสหรัฐฯได้จำกัดอำนาจของจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น พระราชวังแห่งราชวงศ์อื่นๆ ก็ถูกสภาลดขนาดลงเช่นกัน และได้เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี ๒๔๗๕ แต่ต่อมากษัตริย์ภูมิพลได้ทรงเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเก่า เป็นที่แน่นอนว่า จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางข้อ เพื่อลดบทบาทแห่งความมีอำนาจสูงสุดของประเทศ อำนาจในประเทศไทยเป็นเครือข่ายแบบอุปถัมภ์ซึ่งเริ่มต้นที่สถาบันเบื้องสูง นั่นคือสาเหตุว่าทำไมบรรดารัฐมนตรีผู้มาจากการเลือกตั้งทั้งหลาย จึงสนใจแต่ตำแหน่งของตัวเอง และคอยเหลือบมองสัญญาณจากวัง นักการทูตอาวุโสชาวตะวันตกคนหนึ่งกล่าวว่า อภิสิทธิ์เอาแต่ร่วมงานตัดริบบิ้นต่างๆของราชวงศ์ จนสุดที่จะคิดว่า อภิสิทธิ์จะหาเวลาที่ไหนมาบริหารประเทศ

การเซ็นเซอร์ในเรื่องราชวงศ์ทำให้การถกเถียงต้องมีการปิดบัง เป็นเรื่องที่น่าสมเพช พระราชดำรัสที่มีชื่อเสียงของกษัตริย์ภูมิพลเมื่อปี ๒๕๔๘ ที่ว่า พระองค์ไม่ได้อยู่เหนือการวิจารณ์ แต่ไม่มีใครกล้าพร้อมจะทดสอบในเรื่องนี้ แม้ว่าอินเตอร์เน็ตจะระดมด้วยความเห็นต่างๆ แต่ข้อห้ามนั้น ยังคงถูกยืนยัน

และเนื่องจากประเทศนี้ไม่เคยเปิดโอกาสให้มีการพูดอย่างอิสระ ประชาชนจึงไม่มีโอกาสเตรียมตัวเพื่อรับมือกับหนทางอันขรุขระ ซึ่งทอดยาวอยู่ข้างหน้า