ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 5 November 2009

อย่าเอาแต่สะใจ

ที่มา มติชน

บทนำมติชน



ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ประกอบด้วยยะลา นราธิวาส ปัตตานี และอีก 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาเวลานี้กำลังกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองที่มีตำแหน่งทางการเมืองและไม่มีตำแหน่งทางการเมืองเพื่อชิงไหวชิงพริบ เอาดีเอาเด่นและมุ่งจะทำลายความน่าเชื่อถืออีกฝ่ายหนึ่ง จากนั้นก็หวังว่าตนเองและฝ่ายของตนจะได้ชื่อว่า เก่งและฉลาดกว่าอีกฝ่าย ดังจะสังเกตได้จากทันทีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย อดีตนายกรัฐมนตรีออกมาแถลงเปิดตัวนโยบายด้านความมั่นคงและต่างประเทศของพรรคเพื่อไทย ภายใต้ชื่อ "ไทยร่มเย็น เป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน" ในวันที่ 2 พฤศจิกายนพร้อมกับเสนอแนวทางแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการจัดรูปแบบการกระจายอำนาจเป็น "นครปัตตานี" ปรากฏว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ออกมาตอบโต้ทันที ในจำนวนนั้นมีนายเจเอามิง โต๊ะจาหยง ส.ส.นราธิวาส รวมอยู่ด้วยซึ่งได้กล่าวว่า พล.อ.ชวลิตอย่าจุดไฟเพิ่ม อีกคนคือนายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่บอกว่า ถ้าเป็นรัฐอิสระจะเข้าข่ายมีความผิดฐานเป็นกบฏในราชอาณาจักร

ดูเหมือนการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อคัดค้าน ขัดขวางจะกระทำได้ง่ายยิ่งกว่าปอกกล้วยเข้าปาก หรือว่านี่คือธรรมชาติถาวรของนักการเมืองไทยที่ถนัดแต่การใช้วาจาหักหาญ เชือดเฉือนจิตใจผู้คนมากกว่าการใช้เหตุผลและสติปัญญามาขบคิด หาทางแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ทั้งๆ ที่ พล.อ.ชวลิตยังไม่มีรายละเอียดว่า นครปัตตานีที่ควรจะจัดตั้งขึ้นมีโครงสร้างแบบใด เพียงแต่พูดคร่าวๆ ว่านครปัตตานีจะมีลักษณะเช่นเดียวกับนครเชียงใหม่และกรุงเทพมหานครซึ่งจะต้องออกพระราชบัญญัติ "เป็นการให้เกียรติ ให้มีขอบเขตและขีดความสามารถในการดูแลตัวเองได้ระดับหนึ่ง โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชาวมุสลิม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าศึกษา ไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นโทษต่อประเทศไทยเลย ทั้งนี้ การดำเนินการจะต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายของไทยและรัฐธรรมนูญ"

จึงเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของ พล.อ.ชวลิตและรวมถึงพรรคเพื่อไทยที่จะต้องอธิบาย ชี้แจงต่อสังคมอย่างเป็นทางการถึงที่มาที่ไปของการจัดตั้งนครปัตตานีเพื่อให้ข้อเสนอดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ ในฐานะได้ผ่านการศึกษา วิเคราะห์วิจัยอย่างมารอบคอบแล้ว มิใช่เสนอออกมาจาก พล.อ.ชวลิตแล้วก็เหมารวมเอาว่านี่คือนโยบายของพรรคเพื่อไทย เพราะดูจะง่ายไปสักหน่อยกับการเสนอนโยบายเพื่อนำไปสู่การสร้างความสงบและสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สะสมและหมักหมมกันมานานเกือบจะครบ 6 ปีเต็ม

การนำเสนอนโยบายในด้านรูปแบบการปกครองที่จะให้ประชาชนได้เลือกตัวแทนมาเป็นผู้บริหารและการพัฒนาท้องถิ่นเป็นวิธีการหนึ่ง กระนั้นก็ตาม ควรจะมีการยอมรับของคนในพื้นที่และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มบุคคลที่ก่อความไม่สงบซึ่งมีแผนจะแบ่งแยกดินแดนไปเป็นรัฐอิสระเพื่อปกครองตนเองจะต้องไม่ปฏิเสธ นั่นหมายความว่า พล.อ.ชวลิตและพรรคเพื่อไทยต้องมีข้อเท็จจริงมาประกอบเพื่อทำให้ข้อเสนอนี้มีน้ำหนักมากพอที่จะได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ ฝ่าย ที่สำคัญคือคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ในด้านกลับกัน สำหรับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อตอบโต้ข้อเสนของ พล.อ.ชวลิตก็ชอบที่จะมีคำตอบในทางนโยบายและยุทธศาสตร์ว่าสิ่งที่ทำอยู่จะดับไฟใต้ลงได้อย่างไร ใช้เวลาอีกนานแค่ไหน สิ่งที่เคยพูดว่าจะใช้ "การเมืองนำการทหาร" ก็ดี "จะให้ผู้ที่หลงผิดกลับมามอบตัวแล้วจะไม่ดำเนินคดีก็ดี การใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯแทน พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในบางพื้นที่ก็ดี การจะออกกฎหมายว่าด้วยศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ดี ฯลฯ ได้บังเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างไร เหนืออื่นใดหน่วยงานด้านความมั่นคงไม่ว่าจะเป็นกองทัพ ตำรวจ หรือฝ่ายปกครองที่เป็นข้าราชการประจำก็ควรจะมีข้อเสนอระดับนโยบายและวางยุทธศาสตร์ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติและมีหน้าที่โดยตรง แต่น่าเสียดายที่หน่วยงานเหล่านี้ไม่มีข้อเสนอ ทำให้เกิดคำถามว่า ในภาวะที่ไฟใต้โหมกระพือเผาบ้านเรือนและชีวิตผู้คนในพื้นที่นั้น หน่วยงานด้านความมั่นคงมีศักยภาพมากพอที่จะดูแลบ้านเมืองหรือไม่