กบฎหรือคือผู้นำชัย เข่นฆ่าโพยภัยหมดสิ้นดินทอง-ขบวนการนักศึกษาที่เร่าร้อนต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศให้พ้นสภาพเผด็จการไปเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ถูกทำลายลงในการล้อมปราบ6ตุลาคม2519 แต่การเข้าป่าร่วมกับพคท.พวกเขาก็กลายเป็นกบฎต่อพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีสภาพเผด็จการอีกแบบหนึ่ง(ภาพประกอบ:จากภาพยนตร์เรื่อง14ตุลาสงครามประชาชน)
โดย วันลา วันวิไล
ที่มา หนังสือตะวันตกที่ตะนาวศรี
4 พฤศจิกายน 2552
แนวทาง, นโยบาย, เข็มมุ่ง และคำชี้แนะของพรรคฯจะถูกต้องเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ดังนั้นเมื่อนำมาสอนและศึกษาให้อภิปรายได้ว่า “ถูกต้องอย่างไร” ห้ามสงสัยว่า “ถูกต้องหรือไม่” นี่เป็นความคิดแบบเผด็จการอย่างหนึ่ง
อันที่จริงไม่เพียงแต่ในป่า แต่เราจะพบเห็นความคิดแบบเผด็จการแอบแฝงแทรกซึมอยู่ทั่วไปในสังคมไทย
16. 3 วัน 7 คืน
มีนาคม 2523 ผมได้กลับกรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมทางบ้านเป็นครั้งแรกที่ได้พบเพื่อนที่ออกจากป่าเขตอีสาน เขาชักชวนไม่ให้ผมกลับเข้าป่าอีกและพูดถึงปัญหามากมายที่แก้ไม่ได้ ผมบอกว่าทำไมไม่พยายามให้มากกว่านี้ ผมจะกลับไปอีกและจะไม่ออกมาตราบที่ไม่เข้าใจว่าปัญหาคืออะไร
เพื่อนสนิทผมคนหนึ่งถูกส่งไปปฏิบัติงานในเขตงานภาคใต้ ได้พบเห็นรับรู้ปัญหาหลายอย่างจนตัดสินใจบอกกับผมในวันหนึ่งในขณะที่นอนซุ่ม ต.ช.ด. อยู่ว่าจะออกจากป่าแล้ว
เพื่อนอีกสองคนที่ไปรักษาอาการป่วยไข้เรื้อรังในเมืองก็เขียนจดหมายมาเป็นนัย ๆ ว่าจะไม่กลับเข้าป่าอีกแล้ว ข่าวการคืนเมืองของนักศึกษาเขตภาคใต้และภาคอีสานเริ่มทะลักเข้ามาหนาหูทั้ง ๆ ที่เรื่องเหล่านั้นเกิดขึ้นเป็นปีมาแล้ว แต่เหมือนกับเป็นนโยบายของพรรคฯที่ไม่ให้แพร่งพรายอะไรที่จะมีผลต่อกำลังใจ
นอกจากจะกรอกหูอย่างเดียวว่า “สถานการณ์ดีขึ้นทุกวัน”
ความรู้สึกผิดหวังเริ่มเข้ามาเกาะกุมในใจด้วยคำถามง่าย ๆ 2 ข้อ คือ มีปัญหาขัดแย้งอะไรกันระหว่างพรรคฯและนักศึกษา และทำไมต้องปิดบัง สำหรับตัวผมเป็นเพียงผู้ปฏิบัติงานในระดับล่าง มีความเข้าใจกระง่อนกระแง่นในการปฏิวัติ
นอกเหนือจากการทำตามที่พรรคฯสั่งแล้ว ก็มีเพียงหัวใจเท่านั้นที่เสรี ด้วยข้อตรรกะทีไม่ซับซ้อนอะไรนัก ผมบอกตัวเองว่าไม่อาจรับได้เลยถ้าให้อยู่ในขบวนการนี้ไปเรื่อย ๆ 5 ปี 10 ปี แล้วอยู่ๆวันหนึ่ง พรรคฯก็มาบอกว่าทุกคนกลับกันหมดแล้วเราไปกันเถอะ
พวกเรา(นักศึกษา)เริ่มแสวงหาความจริงหรือคำตอบโดยจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์และบอกเล่าข่าวคราวกัน ซึ่งเป็นการสั่นคลอนวินัยเหล็กเพชรข้อหนึ่งของพรรค คือการพูดคุยให้ข่าวกันข้ามหน่วยที่อาจทำให้การจัดตั้งอ่อนแอลงและเกิดความเสียหายได้ เรียกว่า “การไร้จัดตั้ง”
เริ่มมีการแบ่งแยกเป็น 2 พวก คือนักศึกษาเป็นพวก “สหายใหม่” และพวก “สหายเก่า” มีคนอธิบายว่าการที่นักศึกษาคืนเมืองก็เพราะปรับตัวไม่ได้ และทนความยากลำบากไม่ได้ พวกเราไม่เชื่อในคำตอบนี้เพราะเชื่อมั่นในอุดมการณ์อันเด็ดเดี่ยวของนักศึกษา(ส่วนใหญ่)ด้วยกัน แต่มองว่าพรรคฯต้องมี “จุดอ่อน” บางอย่างแน่นอน
เมื่อฝ่ายนำของพรรคฯรับไม่ได้กับ “จุดอ่อน” ที่พวกเราสงสัยจึงเปิดการประชุมขึ้นเพื่อทำความกระจ่างกับปัญหาและสถานการณ์ ช่วงนั้นต้องดายหญ้าในไร่ข้าว เมื่อการประชุมยืดเยื้อถึง 3 วันเต็มๆยังไม่อาจยุติ จึงต้องใช้เวลากลางคืนจาก 1 ทุ่มถึง 4-5 ทุ่มติดต่อกันอีกถึง 7 คืน เราจึงเรียกกันว่า การประชุม 3 วัน7 คืน
เมื่อผ่านการประชุมแทนที่เรื่องราวจะเป็นที่เข้าใจมากขึ้นกลับส่อเค้าเลวร้ายลง “สหายเก่า” ส่วนหนึ่ง เริ่มตั้งข้อระแวงและยั่วยุกันให้ร้าวรานมากขึ้น กระทั่งมีคนพูดว่า อยากออกไปก็ไปเลย ไม่ต้องอยู่ให้เปลืองข้าวสาร
มีการตั้งข้อหาเปรียบเทียบทำนองเดียวกับการค้านพรรคบอลเชวิค ในสมัยปฏิวัติรัสเซีย พวกเราเริ่มก่อตัวกันเหนียวแน่นและใช้ห้องสมุดเป็นที่จับกลุ่มนั่งคุยกัน
ห้องสมุดเป็นเพียงเพิงเล็ก ๆ มีตู้ไม้เก่า ๆ 2 ใบ ในนั้นมีหนังสือเรื่องราวทฤษฎีการปฏิวัติทั้งหมด ส่วนมากเป็นของ เหมาเจ๋อตุง มีสรรนิพนธ์ครบทั้ง 8 เล่ม มีสรรนิพนธ์ของเลนิน ว่าด้วยปรัชญาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของมาร์กซ์และแองเกล นอกนั้นก็เป็นนิยายปฏิวัติของจีน เช่น วีรชน จางซือเต๋อและหลิวหูหลาน
ด้วยเหตุนี้พวกเราทุกคนจึงมีปัญญาเล็ก ๆ เพียง 2 อย่างเท่านั้นคือ อย่างแรก รู้แต่เรื่องปฏิวัติ เรื่องอื่นไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นการเมือง, การปกครอง, กฎหมาย, เรื่องราวของต่างประเทศ, เศรษฐกิจ, การศึกษา และสังคม อย่างที่สอง รู้แต่การปฏิวัติแนวทางนี้, วิธีคิด, วิธีมองปัญหาเป็นอย่างเดียวกันหมด คุยกันไปคุยกันมาทำให้รู้สึกว่าถ้าห้องสมุดนี้เป็นผลพวงหนึ่งของความคิดแบบเหมาเจ๋อตง ความคิดแบบนั้นก็ดูจะไม่ฉลาดหลักแหลมอะไรเลย
ผมอ่านหนังสือน้อยมาก ในสรรนิพนธ์ 8 เล่ม ได้ผ่านตาเพียงเรื่อง “จิ่งกังซาน” และ “เยนอาน” เท่านั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผมเขลาเกินไปที่อ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง พวกเรานั่งกันที่ห้องสมุดจนดึกดื่นทุกคน โดยไม่ได้หยิบหนังสืออ่านแม้แต่เล่มเดียว แต่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนซักถามกัน มีการเอาปัญหารูปธรรมที่แต่ละคนได้ประสบมาทั้งในอดีต 3-4 ปีและที่ยังดำรงอยู่มาเล่า ตีแผ่และวิพากษ์ ทำให้ได้มีการประมวลผลเห็นผิดถูกชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ
บทกวี “ค้านพรรค” และเพลงก็เกิดขึ้นที่นี่ เรียกว่าเป็นบทกวีใต้ดินของใต้ดินเนื่องจากไม่ได้พิมพ์ผ่านหนังสือพิมพ์กำแพง ชื่อ รวมพลัง ซึ่งส่วนหนึ่งเคยเป็นหนังสือพิมพ์ใต้ดินออกมาเผยแพร่ในเมือง เพื่อนบางคนไม่เคยจับปากกาเขียนเลยกลับเขียนกลอนแปดและกลอนเปล่ามาอ่านกัน สิ่งที่แสดงออกมันเจ็บปวดและปลอดโปร่งระคนกัน
ผมและเพื่อนอีก2 คน ได้เทปเพลงของ Simon & Garfunkel มาไปเปิดฟังที่โรงผลิตน้ำเกลือ บางคืนก็ไปนอนเปิดเพลงฟังที่โรงนา เพลงเหล่านี้ก่อนหน้านั้นถือเป็นวัฒนธรรมของจักรพรรดินิยมอเมริกา ใครร้องใครฟังจะถูกวิจารณ์ว่า “เสรี”
แต่เวลานั้นเราฟังด้วยความรู้สึกปิติและสมใจ
ก่อนหน้านั้นผมบันทึกข้อสงสัยไว้หลายข้อโดยไม่กล้าเอ่ยปากกับใคร ทั้งการเสี่ยงกับงานทหารโดยไม่ได้ผลอะไรเลยและงานมวลชนที่ไม่เคยเป็นรูปเป็นร่าง
ที่ห้องสมุด เดือนสิงหาคม 2523 ผมสรุปปัญหาหลายอย่างที่เกิดจากกระบวนการคิดอันมาจากการบ่มเพาะของพรรคฯ เช่น ความโน้มเอียงในการเข้มงวดตนเอง มาจากการมองว่าอัตวิสัยชี้ขาด ดังนั้นเมื่อทำงานไม่ประสบความสำเร็จก็ให้ค้นหาที่ตัวเองแทนที่จะหาปัจจัยภายนอก
ขณะเดียวกันทุกคนมีพรรคนำอย่างเบ็ดเสร็จทั้งทางความคิดและการปฏิบัติ แต่มองกันว่าคนทำดีและมีผลงานได้ก็เพราะการอบรมและชี้แนะของพรรค นี่กลับตรงกันข้ามกับวิธีคิดข้างต้น หรือเมื่อนักศึกษาส่วนหนึ่งคืนเมืองก็มองว่าเป็นปัญหาจุดยืนทางชนชั้น(ชนชั้นนายทุนน้อยที่โลเลต่อการปฏิวัติ) ไม่ยักมองว่าเพราะพรรคฯสอนไม่ดี
แนวทาง, นโยบาย, เข็มมุ่ง และคำชี้แนะของพรรคฯจะถูกต้องเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพ ดังนั้นเมื่อนำมาสอนและศึกษาให้อภิปรายได้ว่า “ถูกต้องอย่างไร” ห้ามสงสัยว่า “ถูกต้องหรือไม่” นี่เป็นความคิดแบบเผด็จการอย่างหนึ่ง
อันที่จริงไม่เพียงแต่ในป่า แต่เราจะพบเห็นความคิดแบบเผด็จการแอบแฝงแทรกซึมอยู่ทั่วไปในสังคมไทย ระบบอุปถัมภ์ทำให้เกิดผู้ใหญ่และผู้น้อยซึ่งต้องเกรงใจและไม่กล้า มีการควบคุมและรักษาอำนาจโดยการปิดบังข้อมูล และหลอกลวงโดยการแบ่งแยกหน้าที่แบบเบ็ดเสร็จ รวมทั้งมีกฎและค่านิยมของสังคมที่ไร้เหตุผล
ถึง พ.ศ. นี้ เด็กนักเรียนไทยตัวเล็ก ๆ ยังถูกสั่งให้ตัดผมเกรียนเพื่อแสดงว่าเคารพคำสั่ง คนไทยก็ถูกสั่งทั้งโดยทางตรงและอ้อมให้เคารพศรัทธาในสถาบันหลักที่มีอำนาจโดยไม่มีสิทธิตั้งคำถามดังๆ มิฉะนั้นอาจถูกตั้งข้อหาร้ายแรงหรือถูกตราหน้าจากสังคมทั้งๆที่บอกว่าประเทศเราเป็นประชาธิปไตย
เช่นเดียวกันกับในป่า ที่ก่อนนั้นทฤษฎีทั่วไปของการปฏิวัติไทยของ พ.ค.ท.เริ่มต้นวิเคราะห์สังคมไทยว่าเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา (เหมือนกับที่เหมาเจ๋อตุง วิเคราะห์สังคมจีนก่อนการปฏิวัติ)ดังนั้นการต่อสู้จึงกำหนดให้ทำลายระบบเมืองขึ้น
แบบใหม่ที่มีจักรพรรดินิยมอเมริกาเป็นตัวแทน และระบบศักดินาที่มีนายทุนใหญ่ ขุนศึก และเจ้าที่ดินเป็นตัวแทน ให้กำลังหลักคือชาวนา กรรมกร โดยมีนายทุนน้อยเป็นกำลังส่วนหนึ่งที่ไว้ใจได้ ให้มีขอบเขตปฏิบัติงานในป่าเขาและชนบทอันกว้างใหญ่ไพศาล และรูปแบบหลักเป็นการปลุกระดมมวลชนให้เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธโดยมีพ.ค.ท.นำโดยเด็ดขาด
ฟังดูแล้วน่าจะเป็นแนวทางที่มีเหตุผล แต่ตลอดระยะเวลา 20 กว่าปีที่พ.ค.ท.ดำเนินงาน ไม่เคยมีใครถามถึงจุดเริ่มต้นการวิเคราะห์เช่นนี้ ถ้าการวิเคราะห์สังคมเป็นกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาได้มาจากความสัมพันธ์ระหว่างพรรคฯกับจีนหรือจีนเป็นผู้ชี้นำทางทฤษฎี การยอมรับและคิดเช่นนั้นก็คือลัทธิคัมภีร์ ที่มักจะชอบสวมหมวกให้คนอื่นนั่นเอง
กระบวนการคิดดังกล่าวแม้บางเรื่องไม่มีการเขียนเป็นกฎหรือข้อห้ามอะไร แต่คำว่าลัทธิหลายๆลัทธิทำให้เราตัวลีบ วิธีคิดเช่นนี้แทรกซึมและครอบงำทุกคนจนเป็นสำนึกในการปฏิบัติตลอดมา พวกเราบางคนตั้งประเด็นคำถามถึง “การสร้างคน” ของพรรคฯ ที่ทุกคนถูกสร้างและเหนี่ยวนำให้คิดและมองปัญหาคล้ายกันหมด เหมือนถูกแกะออกจากพิมพ์เดียวกัน
เดือนกันยายน 2523 ความร้าวฉานหนักหน่วงขึ้นจนฝ่ายนำท่านหนึ่งล้มป่วยลง มีการตั้งกลุ่มเจรจากันเพื่อหาทางไกล่เกลี่ยให้ความหมางเมินผ่อนคลายลง หัวหน้าหน่วยถามผมว่า จะวางอาวุธแล้วหรือ ผมตอบเลี่ยง ๆ เบี่ยง ๆ ในขณะที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าจะไปยืนตรงไหนต่อไป
พวกเรายังนั่งที่ห้องสมุดทุกคืน แสงจากตะลือบ๊อ(ขี้ไต้) จับที่ใบหน้าขาวซีดของทุกคน ควันดำ ๆ ลอยขึ้นรำไร จนดึกดื่น
สิ่งที่ตกผลึกที่ห้องสมุดก็คือ ที่นี่ไม่ใช่ที่ ๆ เราจะพบกับความสำเร็จในการต่อสู้เพื่อประชาชน ในการสร้างสังคมใหม่และไม่ใช่ที่จะอยู่ร่วมกันได้อีกแล้ว
หลังจากนั้นไม่นานห้องสมุดก็เงียบร้าง เขตป่าตะนาวศรีมีกองกำลังติดอาวุธอาศัยอยู่อีกหลายปี มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง การประชุม 3 วัน 7 คืน เป็นเพียงความเปลี่ยนแปลงครั้งหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับผมมันมากพอที่จะให้จดจำ
***********
บันทึกในตอนที่ผ่านมา:
บันทึกอดีตสหายเดือนตุลา:ตะวันตกที่ตะนาวศรี