ภาพบรรยากาศการชุมนุมจากยูเอ็นถึงทำเนียบฯ
วันนี้ (7 ต.ค.52) เวลา 10.00 น. หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN) ถนนราชดำเนินนอก แรงงานร่วม4,000 คน จากสภาองค์การลูกจ้าง 12 แห่ง ร่วมกับสหพันธ์แรงงาน 18 แห่ง กลุ่มสหภาพแรงงาน 9 แห่ง สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสหพันธ์แรงงานสากล (Global Union Federations) ในประเทศไทย รวมตัวเนื่องในวันรณรงค์โลกเพื่อการจ้างงานที่ดีและมั่นคง (World Day for Decent Work) วันที่ 7 ตุลาคม 2552 โดยมีการขึ้นกล่าวปราศัยบนรถติดตั้งเครืองขยายเสียง และชูแผนป้ายรณรงค์เพื่อเร่งรัดให้มีการแก้ปัญหาของแรงงาน อาท กรณีการถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม การจ้างเหมาค่าแรง และการคุ้มครองสิทธิแรงงาน
จากนั้นในเวลาประมาณ 12.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนเดินเท้าไปยังบริเวณทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยหนังสือดังกล่าวระบุข้อเรียกร้องขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยเรื่องการรวมตัวร่วมเจรจาต่อรอง อย่างเร่งด่วนที่สุด เนื่องในวาระครบรอบ 90 ปี ของการก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศและการเข้าเป็นประเทศภาคีสมาชิกของประเทศไทย ในปี 2552
หนังสือระบุด้วยว่า อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ เป็นอนุสัญญาหลัก 2 ใน 8 ฉบับ ที่ประเทศสมาชิกขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ต้องให้สัตยาบรรณรับรอง แต่รัฐบาลไทยยังไม่ได้มีการดำเนินการดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาข้อจำกัดในการรวมตัวจัดตั้งองค์กรของคนงาน และข้อจำกัดในการเจราจาต่อรอง
อารายา แก้วประดับ รองประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจองค์การเภสัชกรรม และประธานสตรีภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของขบวนการแรงงานสากล/สหพันธ์แรงงานนานาชาติในกิจการเคมีภัณฑ์ พลังงาน เหมืองแร่ และแรงงานทั่วไป (ICEM) กล่าวว่า ในวันนี้ (7 ตุลาคม) องค์กรแรงงานต่างๆ หลายภาคส่วน จัดให้มีการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงความมั่นคงในการจ้างงาน หรืองานที่ดีมีคุณค่า หรือ “Decent Work” ซึ่งในปัจจุบันรูปแบบการจ้างงานสัญญาจ้างระยะสั้น การจ้างงานผ่านนายหน้าจัดหาแรงงาน การจ้างงานแบบเหมาช่วง (Outsource) รวมถึงการจ้างแรงงานนอกระบบ ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
การจ้างงานในลักษณะนี้ ส่งผลกระทบต่อลูกจ้างทุกระดับ นับตั้งแต่ ค่าจ้างและสวัสดิการที่ลดลงเมื่อเทียบกับพนักงานประจำ ความไม่มั่นคงและการวางแผนชีวิตของลูกจ้าง การไม่ต่อสัญญาจ้างหรือการถูกเลิกจ้างเมื่อลูกจ้างใช้สิทธิในการรวมกลุ่มเข้าร่วมสหภาพแรงงาน รวมถึงการจ้างงานรูปแบบดังกล่าวยังส่งผลกระทบกับสังคมโดยรวมซึ่งทำให้ลูกจ้างจำนวนมากไม่มีความมั่นคงในการทำงาน ขาดรายได้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต และตกอยู่ในสถานะการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม โดยที่นายจ้างไม่ต้องรับผิดชอบกับผลกระทบทางสังคมนี้
ในเบื้องต้น การจ้างงานที่มั่นคงจะเกิดขึ้นได้ในเงื่อนไขที่ลูกจ้างทุกประเภทต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมอย่างชัดเจน ตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ดังนั้น ในวันนี้ สภาแรงงานและสหพันธ์แรงงานทั้งหมดรวมทั้งสภาองค์การนายจ้างจึงเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิในการเข้าร่วมสหภาพแรงงานของคนงานทุกภาคส่วนในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นคนงานในสัญญาจ้างระยะสั้น คนงานจ้างเหมาค่าแรง คนงานในบริษัท Outsource ตลอดจนแรงงานอกระบบรวมทั้งลูกจ้างภาคราชการ และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยสิทธิการรวมกลุ่ม ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมเพื่อการทำข้อตกลงสภาพการจ้าง และฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิความเป็นมารดาและการลาคลอดโดยได้รับค่าจ้างของคนงานทุกคนในสังคมไทย
“หลังจากวันนี้ เราจะรอดูท่าทีของรัฐบาลว่าให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานหรือไม่ โดยการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญา ILO ดังกล่าว หากรัฐบาลปฏิเสธข้อเรียกร้องของแรงงาน ทางองค์กรแรงงานจะกำหนดรูปแบบการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าวต่อไป นอกจากนั้น องค์กรแรงงานต่างๆ ทุกภาคส่วนจะร่วมกันผลักดันให้เกิดการจ้างงานที่ดีมีคุณค่าหรือ Decent Work ซึ่งเป็นฐานของการอยู่ร่วมกันในสังคม ให้เป็นผลสำเร็จ” นางอารายา กล่าว
ทั้งนี้ ความหมายของ Decent Work โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organisation) ประกอบด้วย 1) Labour Rights: เสรีภาพในการสมาคม/สิทธิการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานของคนทุกคนและการเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดสภาพการจ้างงาน; การไม่ใช้แรงงานบังคับ; การไม่ใช้แรงงานเด็ก และการไม่เลือกปฏิบัติในการจ้างงาน 2) Productive Employment: การจ้างงานประจำ 3) Social Security: การประกันสังคม 4) Social Dialogue ระบบการปรึกษาหารือตามหลักมาตรฐานแรงงานสากล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการชุมนุมที่บริเวณประตู 3 ข้างทำเนียบรัฐบาลและรอการประสานงานเรื่องการรับหนังสือข้อเรียกร้อง นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานที่ปรึกษาพรรคกิจสังคม ได้ลงมาพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนจะเดินทางกลับเข้าไปภายในอาคารโดยไม่มีการยื่นหนังสือใดๆ
ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเตรียมเครื่องขยายเสียงระดับไกล หรือ LRAD (Long Range Acoustic Device) มาไว้ใกล้บริเวณที่ชุมนุม ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมต้องเตรียมเอาสำลีมาอุดหูในขณะที่บางส่วนได้ตะโกนร้องไล่ พร้อมกล่าวว่าเครื่องดังกล่าวเป็นเงินภาษีของประชาชนแต่กลับถูกนำมาใช้ทำร้ายประชาชน อย่างไรก็ตามทางเจ้าหน้าที่ตรวจได้การประกาศให้กลุ่มแรงงานงดใช้เครื่องขยายเสียงโดยอ้างว่าพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมารับประทานอาหารในทำเนียบรัฐบาล และไม่พบว่ามีการใช้เครื่องดังกล่าวเพื่อสลายการชุมนุม
จนกระทั่ง เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น.พล.ต.สนัน ขจรประสาท รองนายกรัฐมนตรี ได้ลงมาพบผู้ชุมนุมเพื่อรับหนังสือข้อเรียกร้องจากผู้แทนแรงงาน พร้อมรับปากที่จะเร่งดำเนินการให้ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมระบุให้เวลารัฐบาล 1 เดือน แล้วจะเดินทางมาติดตามความคืบหน้าอีกครั้ง ก่อนที่จะแยกย้ายกันเดินทางกลับ
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มีกลุ่มผู้ชุมนุมราว 200 คน ซึ่งเป็นกลุ่มลูกจ้างชั่วคราวของกระทรวงสาธารณะสุข ได้เดินทางต่อไปยังบริเวณหน้ากระทรวงสาธารณะสุข เพื่อชุมนุมเรียกร้องให้มีการพิจารณาบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำ
ในส่วนของรูปแบบการจ้างงานของบริษัทข้ามชาติในประเทศไทย จากผลของงานวิจัยล่าสุดเรื่อง “รูปแบบการจ้างงานในกรณีศึกษาบริษัทข้ามชาติ 3 แห่งในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับเคมีภัณฑ์” ซึ่งสนับสนุนโดย ICEM ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของรูปแบบการจ้างงานระยะสั้นของบริษัทข้ามชาติ 3 แห่ง ซึ่งปรับเปลี่ยนวิธีการจ้างงานที่ส่งผลกระทบกับความมั่นคงในการจ้างงานของลูกจ้างเป็นอย่างมาก รวมถึงการตัดหรือลดสวัสดิการที่จำเป็นของลูกจ้างออกไปเมื่อเทียบกับลูกจ้างประจำ เช่น บางบริษัทไม่ได้จัดให้มีการประกันคุ้มครองลูกจ้างเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ไม่จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่นายจ้างต้องสมทบ เป็นต้น
งานวิจัยระบุว่า บริษัทข้ามชาติแห่งหนึ่งได้ใช้รูปแบบการจ้างงานโอนย้ายคนงานกลุ่มหนึ่งไปสังกัดบริษัทจัดหางานถึง 2 แห่งในช่วงเวลา 1 ปี และมีการโอนย้ายคนงานบางส่วนกลับเข้ามาทำสัญญาจ้างงานกับบริษัทฯ อีกครั้งแต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขในสัญญาจ้างที่ลิดรอนสิทธิของลูกจ้างมากกว่าในสัญญาจ้างของบริษัทในอดีต เช่น การไม่ระบุถึงสวัสดิการต่างๆ ไว้ในสัญญาจ้าง การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็นต่อสาธารณะ และการห้ามเรียกร้องสิทธิประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากที่อยู่สัญญาจ้างงาน เป็นต้น
ส่วนบริษัทข้ามชาติอีก 2 แห่งในช่วงต้นปี 2552 ได้หันมาใช้รูปแบบของสัญญาจ้างงานระยะสั้นมาใช้แทนการจ้างงานผ่านบริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานที่บริษัทเคยทำอยู่ กล่าวคือ บริษัททั้งสองแห่งได้ทำสัญญาจ้างกับพนักงาน โดยกำหนดระยะเวลาการจ้างงาน 6 เดือนและ 11 เดือน ซึ่งระบุไว้ในสัญญาจ้างงานว่า บริษัทสามารถเลิกจ้างพนักงานได้ โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า
ทั้งนี้ สหภาพแรงงานในบริษัทข้ามชาติทั้งสองแห่ง ชี้ว่า บริษัทหลีกเลี่ยงการรับคนงานเป็นพนักงานประจำ โดยใช้วิธีการต่อสัญญาจ้างไปเรื่อยๆ ซึ่งสัญญาจ้างงานดังกล่าวเป็นสัญญาจ้างที่รายได้และสวัสดิการของคนงานในสัญญาจ้างระยะสั้นจะต่ำกว่าคนงานประจำ และได้คาดการณ์ว่า หากเป็นเช่นนี้ต่อไป เมื่อบริษัทฯ เร่งนำพนักงานสัญญาจ้างระยะสั้นเข้ามาแทนที่พนักงานประจำ จะส่งผลให้ในอนาคตจะไม่มีพนักงานในสายการผลิตที่เป็นพนักงานประจำเหลืออยู่
จากปัญหาข้างต้น งานวิจัยพบว่า ในการจ้างงานระยะสั้น บริษัทข้ามชาติได้ละเมิดข้อตกลงสภาพการจ้างที่บริษัททำไว้กับสหภาพแรงงาน และยังมีการละเมิดกฏหมายแรงงานไทยและมาตรฐานแรงงานสากลอีกด้วย