ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 21 October 2009

มาตรฐานในการตัดสิทธิทางการเมือง

ที่มา ประชาไท

คำถามที่อยากชวนใหช่วยกันขบคิด เฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่าง กกต.ถ้าให้คำตอบที่มีเหตุผลได้ก็จะเป็นประโยชน์แก่สังคมการเมืองไทยไม่น้อย รวมทั้งทำให้ผู้เขียนหายความคับข้องใจได้

ในท่ามกลางการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากทางด้านรัฐสภา นายกรัฐมนตรีได้เชิญบรรดาบุคคลเป็นจำนวนมากให้มาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าควรจะดำเนินการไปในลักษณะเช่นไรบ้าง การประชุมจัดขึ้นที่บ้านพิษณุโลกในช่วงเย็นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม 2552 และเมื่อเย็นวันที่ 13 ตุลาคม 2552

บุคคลสำคัญที่ได้มาเข้าร่วมการประชุมนี้ส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองจากพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลที่ต้องใส่ใจก็คือมีหลายคนเป็นผู้ที่ได้เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เพิกถอนสิทธิในทางการเมือง เช่น คุณเนวิน ชิดชอบ คุณสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และอีกหลายคนที่แม้จะไม่ได้มีสถานะเป็นผู้บริหารพรรคในทางนิตินัยก็ตาม

สื่อมวลชนรายงานข่าวไม่แตกต่างกันว่าเป็นการพบปะเลยประชุมร่วมกันของแกนนำของแต่ละพรรคการเมือง คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ดูเหมือนจะยอมรับความสำคัญของบุคคลเหล่านี้ในพรรคการเมืองต่างๆ เพราะไม่ได้มีการปฏิเสธเกิดขึ้นแต่อย่างใด ภายหลังการประชุมคุณอภิสิทธิ์ก็ยังได้ชี้แจงถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งตกลงกันระหว่างผู้ประชุม

ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากเป็นคำถามว่าในฐานะที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง บุคคลที่เข้าร่วมการประชุมกับคุณอภิสิทธิ์ในฐานะแกนนำหรือตัวแทนของพรรคการเมืองสามารถจะกระทำเช่นนั้นได้หรือไม่

การเพิกถอนสิทธินักการเมืองหรือที่เรียกกันว่าการตัดสิทธิทางการเมืองของนักการเมืองจำนวนมากด้วยคำวินิจฉันของศาลรัฐธรรมนูญ ได้นำมาซึ่งข้อถกเถียงว่าการตัดสิทธิทางการเมืองนั้นมีความหมายครอบคลุมกว้างขวางเพียงใด สำหรับการกระทำบางอย่างมีบทบัญญัติที่กำหนดเอาไว้อย่างชัดเจน เช่น เพิกถอนสิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 5 ปี ห้ามดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง

แต่การกระทำหลายอย่างก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะสามารถกระทำได้หรือไม่ หรือหากกระทำไปแล้วจะมีขอบเขตจำกัดเอาไว้ในลักษณะเช่นไร ดังการมีบทบาทในการช่วยผู้อื่นหาเสียงในการเลือกตั้งจะสามารถกระทำได้หรือไม่ หรือหากเป็นเพียงแค่การถ่ายรูปคู่กับผู้รับสมัครเลือกตั้งเท่านั้นโดยไม่มีการพูดอะไรแม้แต่สักคำเดียว

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ได้กลายเป็นข้อถกเถียงในคราวเลือกตั้งครั้งล่าสุด และได้มีคำวินิจฉัยไว้อย่างน่าสนใจจากทาง กกต.ว่าการช่วยหาเสียงให้กับบุคคลผู้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญของกรรมการบริหารพรรคการเมือง ดังนั้น บุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองย่อมไม่สามารถทำหน้าที่ในลักษณะเช่นนี้ได้

ประเด็นสำคัญของการวินิจฉัยก็คือ การพิจารณาจากบทบาทที่เป็นจริงของบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองว่ามีอยู่ในลักษณะเช่นไร หากทำหน้าที่ในแบบเดียวกับที่กรรมการบริหารพรรคกระทำก็ควรต้องถูกห้าม แม้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองด้วยการระบุชื่ออยู่ในทะเบียนอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม

เหตุผลแบบที่กล่าวมานี้ก็น่าจะรับฟังเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากไปมองแค่ชื่อในทะเบียนพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียว เราก็อาจเห็นบรรดาผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองทั้งหลายเข้าไปยุ่มย่ามในพรรคการเมืองเต็มไปหมดแต่ไม่ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริหารของพรรค รวมถึงอาจไปชี้นิ้วสั่งซ้ายหันขวาหันในพรรคการเมืองได้

แต่พอมานึกถึงการประชุมระหว่างคุณอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีกับผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเพื่อคุยกันเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ชวนให้สงสัยเป็นอย่างยิ่ง

บุคคลต่างๆ เหล่านี้มาประชุมในฐานะแกนนำของพรรคการเมืองสถานะดังกล่าวเป็นที่ยอมรับและรับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองก็ตาม การกำหนดแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันระหว่างพรรคการเมืองก็ย่อมต้องให้บุคคลที่มีพลังอยู่ในพรรคมาร่วมประชุม ส่วนหนึ่งก็คงต้องเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ปรากฏรายชื่อเป็นตัวหนังสือชัดเจนแต่อีกหลายคนซึ่งอาจใหญ่กว่าชื่อที่ถูกเขียนอย่างเป็นทางการก็ได้มาเข้าร่วมด้วย

เมื่อตกลงเป็นที่เข้าใจร่วมกันแล้ว ก็จะนำไปสู่ปฏิบัติการในทางการเมืองซึ่งแต่ละพรรคต่างก็ล้วนต้องปฏิบัติตามตามแนวทางที่ได้ตกลงกันเอาไว้

จะปฏิเสธหรือว่าการประชุมที่บ้านพิษณุโลกที่ร่วมด้วยบรรดาผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเพียงลูกกระจ๊อกปลายแถว เอาเข้าจริงนี่คือเจ้าของพรรคการเมืองตัวจริงเสียงจริงมากกว่าที่ถูกอุปโลกน์กันเสียอีก

ไม่แน่ใจว่าทาง กกต.จะมีคำอธิบายอย่างไรกับเหตุการณ์เหล่านี้ ดูเหมือนจะไม่มีความเห็นใดๆ ออกมาแม้แต่น้อย ทั้งที่การประชุมที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเรื่องแอบทำกันในห้องนอนเหมือนแอบมีเมียน้อย แต่โจ่งแจ้งและบอกกล่าวล่วงหน้ามาอย่างชัดเจน จึงมีความหมายไปอย่างอื่นไม่ได้นอกจากเดาว่าเพราะเห็นว่าการกระทำนี้ไม่ได้ขัดต่อข้อห้ามในเรื่องตัดสิทธิทางการเมือง

อันนี้เป็นปัญหาสำคัญที่ควรต้องตอบเพราะหากยึดเอาหลักการที่ กกต.วางเอาไว้ในการวินิจฉัยกรณีหาเสียงโดยผู้ตัดสิทธิทางการเมืองแล้ว บทบาทในการประชุมครั้งนี้โจ๋งครึ่มไม่น้อยไปกว่าการช่วยหาเสียงด้วยซ้ำ

คุณอภิสิทธิ์จะเชิญคุณเนวินมาร่วมประชุมในฐานะอะไรหรือ จะตอบว่าเป็นเพราะคิดถึงอ้อมกอดที่ทำให้ก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็คงยากจะเชื่อได้

ได้เคยมีข้อกล่าวหาแบบนี้เกิดขึ้นบางแล้ว แต่คำชี้แจงที่เคยเกิดขึ้นก็คือว่าข้อเท็จจริงแตกต่างกันดังนั้นผลของการวิจัยจึงมีความแตกต่าง จำเป็นต้องกล่าวไว้ล่วงหน้าเลยว่ากรณีที่กำลังกล่าวถึงนี้ผู้เขียนก็ตระหนักถึงความแตกต่างระหว่างการช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งกับการร่วมประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน ข้อสงสัยที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ที่มาตรฐานในการวินิจฉัยการกระทำที่มีสาระในลักษณะเดียวกันว่าจะให้ผลอย่างไร

อยากรู้เหมือนกันว่าจะมีความเห็นอย่างไรเกิดขึ้นกับองค์กรที่ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในกรณีที่เกิดขึ้นกับฝ่ายที่ยืนตรงกันข้ามกับพรรคประชาธิปัตย์ จำได้ไหมครับว่าในคราวถกเถียงเรื่องการมีบทบาทช่วยในการหาเสียงของผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง มีการให้ความเห็นทั้งส่วนตัวและองค์กรเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาสอบสวนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวอย่างรวดเร็ว

แต่กลับกรณีการประชุมในครั้งนี้ทำไมถึงได้เงียบสนิทราวกลับว่าไม่มีองค์กรนี้อยู่ในสังคมไทย

ในท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังไม่ยุติลง การทำหน้าที่ของหน่วยงานรัฐที่ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือและการยอมรับจากทุกฝ่ายเป็นเงื่อนไขหนึ่งจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการนำสังคมไทยกลับสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่นำเอาความขัดแย้งทางการเมืองเข้าสู่การวินิจฉัยขององค์กรทางการเมืองได้

ขอให้เข้าใจว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นกล่าวหาว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือสองมาตรฐานเกิดขึ้น

แต่ต้องการตั้งคำถามถึงหลักการในการวินิจฉัยกรณีเรื่องตัดสิทธิทางการเมืองจะวางอยู่บนมาตรฐานอย่างไรต่างหาก

...............................
เผยแพร่ครั้งแรกใน มติชนรายวัน วันที่
19 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11545