ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 8 September 2009

'ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล' ตัวอย่างของชีวิตที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้

ที่มา ประชาไท

“ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล” หรือ “ดา ตอร์ปิโด” ถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่ามีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และสั่งจำคุก 18 ปี เป็นคดีที่น่าสะเทือนใจในสังคมการเมืองที่เรียกตัวเองว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย แต่ชีวิตของคุณดารณี เป็นเพียงตัวอย่างของชีวิตจำนวนมากที่ไม่สามารถเป็นชีวิตที่ดำรงอยู่ได้ (livable life) ในสังคมการเมืองนี้

ความคิดเห็นจากเว็บไซต์ข่าวในคดีของคุณดารณี มักเป็นไปในทางเดียวกัน คือกล่าวโจมตี เย้ยหยัน ด้วยความสะใจ ดังตัวอย่างในเว็บไซต์ผู้จัดการ [1]
“เห็นหน้าแต่ละตัว...คล้ายพวก...สัตว์นรกมาเกิด... อย่าหวังว่า..ชาติหน้าจะมีสำหรับพวกแกอีก....จำไว้...อย่าให้เจอบนท้องถนนนะ...โดนตีบแน่..”
“น่าจะเอาไปฉีดยาพิษให้ตายให้หมดไปเลยจะดีกว่า อยู่ไปก็เปลืองงบประมาณเปล่าๆ”
คำถามที่น่าสนใจ คือ ทำไมชีวิตของคน ๆ หนึ่งซึ่งอยู่ในสังคมการเมืองเดียวกันจึงไม่ถูกนับรวมว่าเป็นชีวิต? ทำไมความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับชีวิตหลายชีวิตกลับถูกเย้ยหยัน ไม่ใส่ใจ เพียงเพราะเขามีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างจากคนส่วนใหญ่เท่านั้นหรือ?
หากอธิบายตามแนวคิดของจูดิต บัทเลอร์ (Judith Butler) การที่ชีวิตอย่างชีวิตของคุณดารณี ไม่ถูกนับรวมว่าเป็นชีวิต เพราะการกระทำ จุดยืน ของคุณดารณี ไม่ได้สอดคล้องกับบรรทัดฐาน (norm) ที่เป็นสิ่งกำหนดว่าอะไร คือ ชีวิต และอะไรไม่ใช่ ในเมื่อไม่ใช่ชีวิต ย่อมไม่สามารถรับความโศกเศร้าได้ (grievability) เมื่อโศกเศร้าไม่ได้ ย่อมไม่ใช่ชีวิตที่สามารถดำรงอยู่ได้
นอกจากนั้นบรรทัดฐานยังสามารถลบความรุนแรงที่ปรากฎให้หายไปได้ ดังเช่น กรณีการทำร้ายผู้ไม่ยืนเคารพเพลงสรรเสริญฯในโรงหนัง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการทำงานของความรุนแรงเชิงบรรทัดฐานที่ทำให้ความรุนแรงเชิงกายภาพหายไปได้ [2]
อาจกล่าวได้ว่าบรรทัดฐานที่กล่าวไปข้างต้น ก็คือ แนวคิดราชาชาตินิยม (Royal Nationalism) หรือ อีกนัยหนึ่งก็คืออุดมการณ์กระแสหลักของสังคมการเมืองไทย ดูเหมือนว่าสิ่งที่กำลังดำเนินไปในสังคมการเมืองนี้ ไม่ได้ต่างอะไรจากการล่าแม่มด หรือ บุคคลนอกรีตในยุคกลาง
กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้สังคมการเมืองไทย ไม่ต่างจากสังคม CCTV ที่ทุกชีวิตที่ดำรงอยู่ และสิ่งที่ดำรงอยู่แต่ไม่ถูกนับรวมว่าเป็นชีวิต ต้องคอยระแวดระวังกันโดยเฉพาะในอาณาบริเวณสาธารณะ เพราะเสมือนว่ามีกล้อง CCTV จับตาดูอยู่ตลอดเวลา ในแง่นี้สังคมนี้จึงเป็นสังคมที่ไม่สามารถพูดความจริงได้ในอาณาบริเวณสาธารณะ
ชีวิตของคุณดารณี เป็นเพียงตัวอย่างของชีวิตที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ไม่สามารถได้รับความเศร้าโศกได้ ผู้เขียนหวังว่า สักวันชีวิตที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้เหล่านี้จะสามารถกลับมาดำรงอยู่ได้ตามจุดยืนทางการเมืองที่เขาและเธอปรารถนา และหวังว่า อย่างน้อยคนกลุ่มเล็ก ๆ จะไม่ลืมชื่อ ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล ตัวอย่างของชีวิตที่ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสังคมการเมืองไทย
อ้างอิง
[2] โปรดดูรายละเอียดใน ภูวิน บุณยะเวชชีวิน. “อำนาจของความโศกเศร้า,” วิภาษา, ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 ลำดับที่ 20 (1 สิงหาคม – 15 กันยายน 2552), 53-56.