1
“เมื่อมองเรื่องความรักใคร่ที่มีต่อ ‘ทักษิณ’
ความรักใคร่อาจไม่ใช่ถ้อยคำที่ถูกต้อง
มันเรียกว่าเป็นความแน่วแน่มากกว่าที่จะยืนกรานลงคะแนนให้กับพรรคนี้
แม้เลือกมาทีไร จะมีใครคนอื่นคอยกำจัดออกไปทุกคราวไป ไม่ว่าจะโดยทหาร หรือศาล
พวกเขาก็ยืนยันจะเลือกคนเหล่านี้
ปฏิกริยาของพวกเขาจึงเป็นไปในทำนองการยืนกรานแน่วแน่
ยืนกรานที่จะบอกว่า “เฮ้ย คุณต้องฟังพวกเรา”
2
“ถ้ามองปี 2540 ที่มีรัฐธรรมนูญ
เราอาจจะพูดง่ายๆ ได้ว่า
นั่นคือการตกลงของชนชั้นสูงที่จะลองแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มคนที่กว้างขึ้นในเมืองไทย
ดังนั้น กลุ่มผู้ปกครองเดิม จะไม่ผูกขาดอำนาจ
มันเป็นข้อตกลงทำนองเสรีนิยม
แต่ตอนนี้ กลุ่มผู้ปกครองเดิมไม่ต้องการแบ่งปันอำนาจกับใครอีกแล้ว”
0 0 0
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ – วันนี้ เราจะมาคุยกันเรื่องทักษิณ ตอนนี้ดูเหมือนว่าทักษิณจะกลับมาอยู่ในโฟกัสของการเมืองไทยอีกแล้ว อ.เควินเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ทำวิจัยมามากมายเกี่ยวกับทักษิณในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เควิน ฮิววิสัน – ใช่ครับ ตอนที่ทักษิณขึ้นมามีอำนาจ ผมก็เป็นรายแรกๆ ที่วิจารณ์ทักษิณกับรัฐบาลของเขา
ในแง่วิชาการ มีบทเรียนอะไรจากทักษิณ บทบาทของเขาในการเมืองไทย ในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าทักษิณหลุดจากการเมืองไปหรือยัง เราจะมองกิจกรรม[ทางการเมือง] การบริหารประเทศของเขาเป็นยุคสมัยหนึ่งที่โดดเด่นในการเมืองไทยได้หรือไม่? หรือว่าเราให้ค่าเขาสูงเกินไป จริงๆ แล้วก็เป็นแค่นักการเมืองคนหนึ่ง หรือนักธุรกิจคนหนึ่งที่เข้ามาเล่นการเมืองเท่านั้นเอง?
ผมมองว่า เราต้องพูดถึงทักษิณในแง่ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการเมืองไทย เราสามารถพูดได้ว่า... หรือเราอาจเรียกมันได้ว่าเป็นมรดก (legacy) ของทักษิณ ถึงแม้เขาอาจจะยังไม่ได้จากไปแล้วไปเลยก็ตาม แต่มีหลายอย่างที่มองเห็นแล้ว ซึ่งผมคิดว่ามันได้เปลี่ยนวิถีทางที่การเมืองไทยจะดำเนินไปในอนาคต และบางอย่างเป็นบวก บางอย่างเป็นลบ
การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เป็นความตั้งใจของเขาหรือเปล่า? อะไรที่อยู่ในใจเขาจริงๆ ตอนที่เขาเข้ามาสู่การเมือง? อาจารย์มองว่าเขามีกรอบความคิดหรือภาพหรือโครงการใหญ่ที่จะเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยแต่แรกที่เข้าสู่การเมืองหรือเปล่า?
ที่จริง ผมไม่คิดว่าเขามีนะ มีบางคนที่เห็นว่า เขาเข้ามาพร้อมกับแผนการใหญ่ ผมไม่คิดว่าเขามี คุณลองนึกย้อนไปตอนที่เขาเข้าวงการการเมืองตอนแรกก่อนจะมีพรรคไทยรักไทย เขาไม่ได้เป็นนักการเมืองที่ประสบความสำเร็จอะไรมากนัก เขาเข้ามาเล่นการเมือง หลักๆ แล้ว เป็นส่วนสืบเนื่องจากธุรกิจของเขา
ทักษิณเข้าสู่การเมืองด้วยการเชื้อเชิญจากจำลอง ศรีเมือง พรรคพลังธรรม
แล้วมันก็พังพาบไปขณะเขาเป็นหัวหน้าพรรค ถ้ายังจำได้ เขาแถลงในสิ่งที่ผู้คนพากันเยาะเย้ย เช่น จะแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ ภายในหกเดือน แต่ผมคิดว่าพอเขากลับมา สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก ประเทศไทยผ่านการเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองขนานใหญ่ ผมหมายถึง ถ้ามองดูการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เราก็จะเห็นว่าคนไทยโดยเฉลี่ยร่ำรวยขึ้นมากในช่วงสิบปีก่อนหน้า แต่ก็กระจายอย่างไม่เท่าเทียม
อาจารย์คิดยังไงกับการที่คนมักมองทักษิณไม่เป็นพระเอกก็ผู้ร้าย?
นั่นเป็นการมองอย่างเป็นขาวกับดำเกินไป อย่างที่บอก เราต้องมองถึงเงื่อนไขเวลาที่เขาขึ้นสู่อำนาจ และรัฐธรรมนูญ 2540 ก็มีอะไรใหม่ๆ เขาเป็นนายกฯ คนเดียวที่ได้รับการเลือกตั้งมาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 ถูกสร้างมาเพื่อเปลี่ยนวิถีทางการเมืองในไทย และผมคิดว่ามันก็เป็นไปอย่างนั้นจริงๆ ทักษิณเข้ามาและก็เดินไปตามนั้น
ในปี 2540 ก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทักษิณถูกกล่าวหา เขารอดจากวิกฤตโดยมีเรื่องที่น่ากังขา...ได้รับข้อมูลวงใน [เรื่องการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทของรัฐบาล – ประชาไท]
เควิน – ใช่ มีการเล่าลือเรื่องนี้ คุณจะเห็นจุดเริ่มของภาพขาวดำเกี่ยวกับทักษิณ ว่าเขาเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย เขาเป็นตัวละครสีเทาๆ มากกว่า อยู่กลางๆ มีแง่มุมด้านบวกมากมายเกี่ยวกับทักษิณ และด้านลบก็มากด้วย ผมคิดว่าเราจำต้องมองเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นเราจึงไม่มองเขาเป็นพระเอกหรือผู้ร้าย ผมไม่ได้มองเขาเป็นนักการเมืองโดยกำเนิด เขาเข้ามาโดยไม่มีแผน อย่างที่ผมบอก ไม่มีแผนการเฉพาะเจาะจง แต่เขาตอบสนองต่อสภาพการณ์ของวิกฤตเศรษฐกิจ และรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนที่เขาตั้งพรรคไทยรักไทย และเขาก็ใช้ประโยชน์จากสภาพเหล่านั้น อย่างนโยบายประชานิยม หรืออะไรต่างๆ เป็นผลมาจากสภาพการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้น เขารวบรวมมันเข้าไว้ด้วยกัน เขาเป็นนักฉวยโอกาสด้วย บางครั้งเขาเป็นนักชาตินิยม บางครั้งเป็นเสรีนิยมใหม่โลกาภิวัตน์ บางครั้งเป็นนักประชานิยม โอกาสไหนโผล่ขึ้นมา เขาก็ยึดฉวยโอกาสนั้น
ถ้าไม่มองเขาเป็นขาวกับดำเกินไป อาจารย์มองเขาอย่างไร?
เขาเป็นนักการเมืองที่ฉลาดมาก ตอนแรก เขาเป็นนักการเมืองที่เอาแนวปฏิบัติแบบธุรกิจมาสู่วงการการเมือง ผมคิดว่า ก้าวแรกของเขาก็คือเมื่อเขาตั้งพรรคของเขาเอง เขาใช้เครือข่ายธุรกิจของเขาเพื่อค้นหาว่า ประชาชนต้องการอะไร แล้วจึงมีแนวนโยบายที่เรียกว่าประชานิยม เขาก้าวออกมาและพบว่า ตลาดการเมืองต้องการอะไร เขาต้องได้รับการเลือกตั้ง งานของเขาตอนที่เข้ามาในปี 2544 คือการช่วยชนชั้นนายทุนในประเทศที่กำลังจะตาย เขาไม่ได้มาเพื่อช่วยเหลือคนยากคนจน เขาต้องมีสิ่งที่ผมเรียกว่าสัญญาประชาคมใหม่กับผู้ลงคะแนนเสียงเพื่อจะได้รับเลือกตั้ง เพื่อเขาจะได้ช่วยชีวิตชนชั้นธุรกิจในประเทศ นั่นคือก้าวแรก และเขาก็คิดค้นสิ่งที่เราเรียกว่านโยบายประชานิยม 30 บาทรักษาทุกโรค การพักหนี้เกษตรกร ฯลฯ เขาก็ใช้ประโยชน์จากแนวทางนี้ แนวทางการเลือกตั้ง
แล้วการสร้างสัญญาประชาคมอย่างนี้จะส่งผลอย่างไร?
สิ่งที่เกิดคือนโยบายการหาเสียง ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ในอดีตไม่ค่อยทำ มันจึงเป็นเรื่องใหม่ และพรรคการเมืองที่ดำเนินรอยตามพรรคไทยรักไทยก็ต้องคิดมากขึ้นเรื่องนโยบาย ซึ่งพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่เคยทำ ทักษิณให้คำมั่นสัญญาตอนหาเสียง แล้วก็ทำตามสัญญา ซึ่งก็เป็นเรื่องใหม่อีกเช่นกัน เพราะคำสัญญาในการหาเสียงเมื่อก่อนนั้น มักเป็นเรื่องจิบจ้อย...
[เมื่อก่อน] พรรคการเมืองต่างๆ ก็มีนโยบาย แต่ก็ไม่สามารถทำตามที่หาเสียงไว้ได้
หรือไม่เคยกังวลที่จะต้องทำตามนโยบายที่ตัวเองหาเสียงไว้จริงๆ พวกเขาเพียงแต่ต้องการเข้ามามีอำนาจ ก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 สิ่งสำคัญสำหรับการเมือง คือการมีเก้าอี้ เจรจาต่อรองเก้าอี้ในรัฐบาล ตอนนั้นมีพรรคการเมืองเยอะแยะ แล้วก็พยายามถอนทุนคืนให้ได้มากที่สุด เพราะคาดเดาได้เลยว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมีขึ้นเร็วกว่าสี่ปี เนื่องจากรัฐบาลผสมมีความอ่อนแอ
นั่นเป็นเพราะระบบราชการที่แข็งแกร่งด้วยหรือเปล่า?
นั่นก็ด้วย ระบบราชการตอนนั้นเข้มแข็ง และอันที่จริงราชการกับทหารที่อยู่หลังฉากค่อนข้างพอใจกับรูปแบบโครงสร้างอย่างนี้ เพราะนักการเมืองไม่ได้กุมอำนาจจริงๆ มีบรรดาผู้คนที่อยู่หลังฉากที่เป็นผู้กุมอำนาจจริงๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย ตำรวจ ทหาร เป็นต้น
อย่างนั้นในการที่จะดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ ทักษิณจึงต้องเผชิญกับแรงต้านมากมาย
ใช่ แน่นอน เขาพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบราชการ จำได้ไหมว่า เขาริเริ่มมาตรการจูงใจหลายอย่าง ผู้ว่าซีอีโอ ทูตซีอีโอ อะไรต่างๆ ระบบราชการก็ต้องให้บริการแก่ประชาชนอย่างสมควรแก่กาล และระบบราชการไทยก็ไม่คุ้นเคยกับการทำอะไรอย่างนี้ เป็นระบบราชการที่อืดอาดเชื่องช้า ที่เมื่อก่อนสนใจแต่จะควบคุมประชาชน ทักษิณเน้นหนักในเรื่องนี้ เขาเน้นนโยบายเหล่านี้เพราะอยากได้รับเลือกตั้งเข้ามาอีกทุกครั้งไป จำได้ไหมว่าเขาบอกว่า เขาจะอยู่ยี่สิบปี
ดูเหมือนว่าเรากำลังชมทักษิณอยู่นะ ข้อกล่าวหาใหญ่สำหรับทักษิณคือคอร์รัปชัน อาจารย์มองอย่างไรในเรื่องนี้?
เรามองด้านบวกและด้านลบ สิ่งหนึ่งที่ทักษิณทำคือ การนำนักธุรกิจเข้ามาสู่การเมืองหน้าฉาก ก่อนหน้านั้น นักธุรกิจอยู่หลังฉาก โดยเฉพาะนักธุรกิจใหญ่ระดับชาติ ทักษิณนำนักธุรกิจเข้ามาในรัฐบาล คณะรัฐมนตรีชุดแรกของเขาเต็มไปด้วยนักธุรกิจใหญ่ๆ ของไทย แล้วด้านลบก็คือ มันทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย ความล้มเหลวที่สำคัญประการหนึ่งของทักษิณคือ เขาไม่สามารถ (ดูเหมือนว่า) แยกแยะผลประโยชน์ของครอบครัวหรือผลประโยชน์ทางธุรกิจของตัวเองกับผลประโยชน์ของรัฐได้ มันสับสนปนเปกันอยู่ เลยมีผลประโยชน์ทับซ้อนมากมาย มีข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชันมากมาย
เขาเลยถูกต่อต้านจากระบบเดิม รวมถึงชนชั้นนายทุนด้วย
ความรู้สึกและทัศนะของผมก็คือ มีอยู่ไม่กี่คนในชนชั้นนายทุนที่ถูกทักษิณเขี่ยออกไป มีความขัดแย้งกับเขาในอดีต แต่โดยทั่วไปแล้ว ชนชั้นธุรกิจให้การสนับสนุนทักษิณเป็นเวลาค่อนข้างนาน อาจจะมีความขัดแย้งเล็กๆ ต่างๆ มีคนที่ถูกผลักออกไป มีคนที่อ้างว่าถูกทักษิณโกง แต่โดยรวมแล้ว ผมคิดว่าในสภาพการณ์หลังวิกฤต 2540-41 นักธุรกิจในประเทศส่วนใหญ่แฮ็ปปี้กับนโยบายประชานิยมของทักษิณที่เอาเงินออกมาเข้ากระเป๋าชาวบ้าน พวกเขาบริโภค แล้วเศรษฐกิจก็กระเตื้องขึ้น ไม่ถึงระดับที่เคยเป็นก่อนเกิดวิกฤต แต่ก็เติบโต 4-5-6% และนักธุรกิจส่วนใหญ่ก็ชอบ
อาจารย์ทำวิจัยมามากในภาคอีสานของไทยที่ดูเป็นฐานที่มั่นของทักษิณ มีความเห็นอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างทักษิณกับคนอีสาน? มันเป็นปรากฏการณ์ใหม่หรือเปล่า? หรืออะไรคือส่วนสำคัญที่ทำให้ทักษิณยังคงแน่นแฟ้นอยู่กับคนอีสาน? ก่อนหน้านี้ใครต่อใครพากันโทษคนอีสานว่า ซื้อได้ มีอะไรที่เป็นคุณภาพใหม่หรือเปล่าในความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับฐานเสียงในช่วงทักษิณ? กระทั่งเขาหลุดจากอำนาจไปแล้ว ก็ยังมีผู้สนับสนุนจำนวนมากในอีสาน
ผมคิดว่ามีคำตอบอยู่สองประการสำหรับเรื่องนี้ ผมอาจจะลืมคำตอบที่สองไปก่อนที่จะทันได้พูดถึง อันแรกคือสิ่งที่เขาทำในช่วงมีอำนาจ อันที่สองเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เกิดขึ้นนับแต่เกิดรัฐประหารที่ทำให้เขาหล่นจากอำนาจ ผมคิดว่าไม่เฉพาะแต่อีสานนะ คนเหนือ คนอีสาน และที่อยู่ตามโรงงานต่างๆ รายรอบกรุงเทพฯ ที่ตั้งแต่ทักษิณไปแล้ว มีความรักใคร่ในตัวทักษิณ มีความรักใคร่ในช่วงเวลาที่เขามีอำนาจ ที่พวกเขารู้สึกว่า ตัวเองมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ซึ่งไม่จำเป็นต้องหมายความว่า พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าจริงๆ แต่พวกเขารู้สึกแน่นอนว่ามันดีกว่า และสิ่งที่สำคัญกว่าคือ เขาทำให้คนเหล่านั้นรู้สึกว่า เสียงของพวกเขามีความหมาย ลงคะแนนเสียงให้นโยบายเหล่านั้น และได้รับประโยชน์จากนโยบายเหล่านั้น พวกเขารู้สึกว่าพรรคไทยรักไทยยึดถือพวกเขาเป็นจริงเป็นจัง ดังนั้นพอมีเลือกตั้งอีก ก็เลยถล่มทลาย มันจึงไม่ใช่ความสัมพันธ์ส่วนตัวแบบเก่าระหว่างนักการเมือง หัวคะแนน ผู้ออกเสียง และการแจกจ่ายเงิน หรือกระทั่งการหาเสียงว่าจะสร้างถนนในหมู่บ้านอะไรอย่างนั้น มันต่างออกไปมาก นี่เป็นการให้คำมั่นสัญญาที่ใหญ่กว่า แล้วทำตามสัญญา ประชาชนก็ได้เห็นว่า พวกเขาสามารถมีส่วนกำหนดได้
ผมคิดว่าเมื่อมองเรื่องความรักใคร่ที่มีต่อทักษิณ ความรักใคร่อาจไม่ใช่ถ้อยคำที่ถูกต้อง มันเรียกว่าเป็นความแน่วแน่มากกว่าที่จะยืนกรานลงคะแนนให้กับพรรคนี้ แม้เลือกมาทีไร ก็จะมีใครคนอื่นคอยกำจัดออกไปทุกคราวไป ไม่ว่าจะโดยทหาร หรือศาล พวกเขาก็ยืนยันจะเลือกคนเหล่านี้ ผมจึงบอกว่า ปฏิกริยาของพวกเขาเป็นไปในทำนองการยืนกรานแน่วแน่มากกว่า ยืนกรานที่จะบอกว่า “เฮ้ย คุณต้องฟังพวกเรานะ” ผมมองอย่างนี้ในตอนนี้
พอบอกว่าบางสิ่งบางอย่างดีขึ้นในอีสาน ในแง่เศรษฐกิจ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ แล้วมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างไหมในความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในอีสานกับเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น?
คิดว่ามี นี่ก็เป็นเรื่องด้านบวกด้านลบอีกเหมือนกัน จริงๆ แล้ว มันไม่ใช่เป็นผลจากทักษิณมากเท่ากับวิกฤตเศรษฐกิจ จำได้ไหม มีเจ้าพ่อเยอะแยะ เวลาพูดถึงเจ้าพ่อ เราพูดถึงคนที่มีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจในท้องถิ่น คนเหล่านี้มีอยู่มากที่หาเงินได้สบายๆ ได้เงินกู้ สร้างโรงแรม ลงทุนอะไรใหญ่โต พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ พวกเขาก็ตกที่นั่งลำบาก ก็อย่างที่คุณบอกว่าเขาไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตมากนัก ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อทักษิณเข้ามาก็คือ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เขามีเงิน เขากำลังสร้างพรรคการเมืองและสามารถสยบอิทธิพลท้องถิ่น หรือเอาพวกนั้นเข้ามาในพรรคไทยรักไทยได้ เขาจึงมีอำนาจควบคุม อิทธิพลของเจ้าพ่อท้องถิ่นถดถอยลงไปมาก
แต่เมื่อด้วยทักษิณก็ไปแล้ว รัฐธรรมนูญก็เปลี่ยนกลับไปจนระบบการเมืองแทบจะเป็นเหมือนก่อน เกิดรัฐบาลผสมอะไรอย่างนี้ คนเหล่านี้ก็กำลังจะกลับมา พวกเขากำลังจะมีอิทธิพลอีกครั้ง คุณก็เลยได้เห็นคนอย่างเนวิน เสนาะ ฯลฯ บรรดาคนที่เคยถูกตราว่าเป็นไดโนเสาร์เมื่อไม่นานมานี้ กำลังกลับมา
อีกประเด็นหนึ่งที่ผมคิดมาเป็นเวลานาน และไม่ค่อยแน่ใจว่าเรามี หลายอย่างที่ทักษิณทำ บวกและลบ แต่คำถามคือ กระบวนการประชาธิปไตยในเมืองไทย สามารถรับมือกับทักษิณ หรือควบคุมทักษิณได้ไหม? ที่เราประสบมาในช่วง 2-3 ปีมานี้คือ ผู้คนเลิกมีศรัทธาต่อการใช้ประชาธิปไตยในการควบคุมทักษิณ หลายคนเลยหันไปหาหนทางที่ไม่เป็นประชาธิปไตย อย่างการรัฐประหาร หรือการใช้กฎหมายแบบของตัวเองในการจัดการทักษิณ โดยเชื่อว่านี่คือวิธีการที่ดีกว่าในการจัดการทักษิณ เพราะประชาธิปไตยได้ถูกทักษิณไฮแจ็คไปแล้ว หรือถูกทักษิณยึดไปแล้ว
นั่นเป็นคำถามที่ตอบยากมาก จริงๆ แล้ว ผมไม่คิดว่าเรารู้ ผมไม่คิดว่าประเทศไทยได้ให้โอกาสประชาธิปไตยได้ทำงานกับทักษิณ ทักษิณไม่ได้เป็นนักประชาธิปไตยโดยธรรมชาติ เขาต้องการอยู่ในอำนาจนานๆ เขาทำหลายสิ่งที่น่าตำหนิในแง่สิทธิมนุษยชน เขาจึงไม่ใช่วีรบุรุษประชาธิปไตย และมันเป็นเรื่องน่าขำแต่ไม่ขัน ที่ตอนนี้เขาเป็นอะไรทำนองสัญลักษณ์ประชาธิปไตย แต่ในขณะเดียวกัน ปฏิกริยาเชิงลบที่คุณพูดถึงนั้นก็ค่อนข้างน่ากังวล เพราะมันไม่ใช่เป็นแต่เพียงอนุรักษ์นิยม ไม่ใช่เพียงไม่เป็นประชาธิปไตย มันค่อนข้างอำนาจนิยมในหลายๆ อย่างด้วย ทหาร กระทรวงมหาดไทย สถาบันที่มีอำนาจควบคุมเป็นชั้นๆ เหล่านั้น มีอำนาจเพิ่มขึ้นอย่างมาก
อีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้ามองปี 2540 ที่มีรัฐธรรมนูญ เราอาจจะพูดง่ายๆ ได้ว่า นั่นคือการตกลงของชนชั้นสูงที่จะลองแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มคนที่กว้างขึ้นในเมืองไทย ดังนั้น กลุ่มผู้ปกครองเดิม (old oligarchy หรืออาจจะเทียบเคียงเป็นอำมาตยาธิปไตยในสถานการณ์ปัจจุบัน – ประชาไท) จะไม่ผูกขาดอำนาจ มันเป็นข้อตกลงทำนองเสรีนิยม ตอนนี้ ผมมองว่าผลลบประการหนึ่งจากยุคทักษิณนั้นชัดเจนมากว่า กลุ่มผู้ปกครองเดิมไม่ต้องการแบ่งปันอำนาจกับใครอีกแล้ว แล้วก็ยันกันอยู่ นี่เป็นสถานการณ์ที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และยังไม่ชัดว่าจะไปต่ออย่างไร เพราะการเป็นประชาธิปไตยต้องอาศัยการประนีประนอม และไม่ได้หมายถึงการสมานฉันท์
เพราะการสมานฉันท์หมายความว่า ทุกคนกลับมาอยู่ร่วมกัน ทุกคนชื่นมื่นด้วยกัน แต่ในสังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่ว่าทุกคนจะชื่นมื่น ผู้คนแข่งขันกันเพื่อสิ่งต่างๆ ผู้คนสนับสนุนผลประโยชน์ของตัวเอง โดยมีคนเสียประโยชน์ด้วยในบางครั้ง ตอนนี้กลุ่มอำมาตย์จะไม่แบ่งกับใครแล้ว และได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางที่กลัว หวาดผวา พวกเขากลัวว่าชาวบ้านจากต่างจังหวัดอย่างในสงกรานต์ จะมาเผาบ้าน เผาโรงงานของพวกเขา แล้วพวกเขาก็หันเหไปจากประชาธิปไตย พวกเขาเป็นนักประชาธิปไตยตามสถานการณ์ (contingent democrats)
เมื่อก่อน หรือปี 2535 ชนชั้นกลางถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตย ตอนนี้ดูเหมือนว่า พวกเขาเป็น ‘นักประชาธิปไตยตามสถานการณ์’ คือจะสนับสนุนประชาธิปไตยหรือระบอบอื่นใดเมื่อสนองผลประโยชน์ของพวกเขา และพวกเขากลัว พวกเขายังรู้สึกว่า ทักษิณเอาภาษีจากพวกเขาไปเกื้อหนุนคนจนที่ทำให้ทักษิณและพวกพ้องกลับเข้ามามีอำนาจ หมุนเป็นวงรอบอยู่อย่างนี้ โดยชนชั้นกลางเป็นผู้จ่าย พวกเขาก็ไม่ชอบ นั่นก็เลยผลักพวกเขาเข้าหาการเมืองแบบอำนาจนิยมที่สถาบันอำนาจนิยมต่างๆ ปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา
ทฤษฎีที่อ้างกันมากว่า ชนชั้นกลางมีบทบาทสำคัญในประชาธิปไตย แต่สถานการณ์ในเมืองไทยตอนนี้ ชนชั้นกลางไทยไม่ต้องการประชาธิปไตย และถ้าชนชั้นกลางต้องการประชาธิปไตย พวกเขาก็ดูจะต้องยอมทนกับทักษิณ กับสัญญาประชาคมระหว่างทักษิณกับคนจน แล้วอนาคตของประชาธิปไตยไทยจะเป็นอย่างไร? เราจะมองข้ามชนชั้นกลางและสร้างประชาธิปไตยในรูปแบบอื่นที่ไม่ต้องสนใจชนชั้นกลางได้หรือไม่?
ผมคิดว่าเรายังคงต้องมองชนชั้นกลาง ชนชั้นนี้เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ต้องมองว่าพวกเขาเป็นผู้ปกปักรักษาประชาธิปไตย พวกเขาเป็นเพียงชนชั้นที่ส่งเสริมประชาธิปไตย ชนชั้นอื่นๆ ในสังคมก็สามารถส่งเสริมประชาธิปไตยได้ด้วยเช่นกัน อย่างที่บอกก่อนหน้านี้ ผมไม่คิดว่าเราจะสามารถละเลยชนชั้นกลางไปได้ สิ่งที่ต้องทำคือ การประนีประนอมจากทุกฝ่าย คนชั้นล่างสุดของสังคมจะต้องรู้สึกว่า ตัวเองมีสิทธิมีเสียงที่มีความหมายในสังคม และประชาธิปไตยคือหนทางหนึ่งที่จะทำให้เป็นอย่างนั้น และชนชั้นกลางก็สามารถไปได้อย่างสบายโดยไม่ต้องมีระบอบประชาธิปไตย เรามีตัวอย่างมากมาย เช่น สิงคโปร์ จีน ชนชั้นกลางมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนรัฐบาลอำนาจนิยมอย่างนี้ ตราบใดที่สามารถสนองประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การบริโภค ฯลฯ ให้แก่พวกเขา สร้างงานให้แก่พวกเขา
ดูไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่สำหรับเมืองไทย แล้วอาจารย์ก็กลับไปอยู่สหรัฐฯ
กระทั่งในสหรัฐฯ ก็ดูไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่เมื่อไม่กี่ปีก่อน แต่สิ่งต่างๆ เริ่มเปลี่ยน ผมไม่มีสิทธิออกเสียงในสหรัฐฯ เพราะเป็นออสเตรเลียน แต่ผมคิดว่าประชาธิปไตยไทยมีอนาคตที่สดใส อยู่ที่ว่าคุณจะข้ามพ้นการปฏิเสธที่จะประนีประนอม การปฏิเสธที่จะแบ่งปันอำนาจในขณะนี้ได้อย่างไร และถ้าประเทศไทยสามารถผ่านพ้นขั้นนี้ไปได้ นั่นอาจหมายถึงการลุกฮืออีกหลายครั้งอย่างที่เราได้เห็นมา อาจหมายถึงการสัประยุทธ์ทางการเมืองมากขึ้น การเชือดเฉือนทางการเมืองมากขึ้น แต่ถึงที่สุดแล้วประชาชนจะต้องเชื่อว่า จำต้องมีการประนีประนอม คุณอาจจะไม่ชอบ แต่คุณจำต้องประนีประนอม ผมคิดว่าประเทศไทยอาจจะสามารถทำได้ เคยทำมาแล้วหลัง 2535 และอาจจะทำได้อีก นอกจากนี้ ผมไม่คิดว่าประชาชนที่อยู่ต่างจังหวัด หรือชนชั้นผู้ใช้แรงงานตามชานเมืองกรุงเทพฯ จะสามารถถูกควบคุมได้ง่ายๆ อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต อุดมการณ์เก่าๆ จะไม่มีความหนักแน่นอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต
กลุ่มต่างๆ ที่ต่อต้านทักษิณก็ยังไม่สามารถหาอุดมการณ์ใหม่แทนที่ของเดิมได้
ยังไม่มี พวกเขายังคงอ้างประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ย้อนยุคไปหาระบอบทหารในอดีต ไม่ใช่ความคิดใหม่ ดังนั้นจะต้องหาหนทางที่จะไปข้างหน้า ตรวจสอบและถ่วงดุล อะไรต่างๆ ที่จะทำให้กลุ่มต่างๆ รู้สึกว่า ผลประโยชน์ของตนได้รับการตอบสนอง