ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 9 September 2009

ระหว่างบันทัดจากกกต.:ฝันไปเถอะยุบพรรคปชป.

ที่มา Thai E-News

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ
8 กันยายน 2552

สัมภาษณ์พิเศษ:ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.):ไขรหัสคดียุบพรรค ประชาธิปัตย์ ? ในวิกฤตศรัทธา-ไม่เป็นกลาง

คดีเงินบริจาค 258 ล้านให้พรรคประชาธิปัตย์ ผมมองแล้วเหมือนกับมีแรงกดดันจากฝ่ายตรงข้ามพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล อยู่ๆ ดีเอสไอก็ร้อนรนโยนเรื่องนี้มาให้ กกต. ในความเห็นส่วนใหญ่ผมและ กกต.ทุกท่าน และอีกหลายคนในประเทศไทยก็คงอยากเห็นพรรคการเมืองมีความมั่นคง เป็นสถาบัน ไม่ใช่พรรคเกิดแล้ววันดีคืนดีก็ถูกยุบ



เป็นหนังหน้าไฟรับแรงร้อน-แรงหนาวจากพายุ-มรสุมการเมืองทุกระลอกทั่วสารทิศ

"ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ" ในหัวโขนเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องเปิดตำรา-พลิกกฎหมาย ทุกมาตรา

ในวาระที่ต้องเชื่อมั่นประเทศไทย ด้วยคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท ของนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ที่ไหลจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ไปปรากฏตัวเลขบนบัญชีที่อาจพัวพันถึงอดีตผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์บางคน

แถมท้ายด้วยแฟ้มคดีเงินสนับสนุนพรรคการเมืองอีก 29 ล้านบาท ซึ่งทำให้ "ประชาธิปัตย์" ต้องร้อนยิ่งกว่าที่เคยร้อนในรอบ 63 ปี


เมื่อนักการเมืองทั้งรัฐสภาล้วนรอฟังการตัดสินความ "44 นักการเมือง" ที่อาจ "ไม่มี" คุณสมบัติการเป็น ส.ส. และคดีความสำคัญเรื่องเงินๆ ทองๆ ของพรรคแกนนำรัฐบาล

"ดร.สุทธิพล" ที่ชาชิน-ชำนาญกับการเป็นคนหน้าไมค์-ไฟส่องหน้า-มาตั้งแต่อยู่ในร่มเงาศาลยุติธรรม เมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตศรัทธา ความไม่เชื่อมั่นต่อองค์กรอิสระ สิ่งที่เขาเป็นห่วงและแคร์ คือ "ความรู้สึกของชาวบ้าน"

- ช่วง 3 ปีที่ทำงานมามีปัญหาอะไรบ้าง

อันดับแรกคือ วิกฤตศรัทธา เป็นผลจากการทำงานของกรรมการการเลือกตั้งก่อนที่ กกต.ชุดนี้จะเข้ามา วิกฤตทางการเมืองเกิดขึ้นก่อนที่จะมีการปฏิวัติ แล้วปัญหาที่เกิดจากการทำงานของ กกต.โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นองค์กรอิสระแต่ไม่อิสระจริง ไม่เป็น กลางทางการเมือง

วิกฤตศรัทธานั้นก็เป็นผลทำให้ กกต.ชุดก่อนถูกศาลพิพากษาจำคุก และขณะนี้ก็ยังอยู่ในขั้นตอนระหว่างอุทธรณ์ ฎีกาอยู่ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อผมเข้ามาแล้วประชาชนหลายคนมององค์กร กกต.เป็นลบ แล้วส่งผลถึงกำลังใจของพนักงานที่เป็นบุคลากรในองค์กร รวมทั้งแขนขาของ กกต.ที่ กกต. มอบให้ปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาคก็คือ กกต. จังหวัด และปัญหา คุณภาพของบุคลากร พนักงานที่อยู่ภูมิภาคก็รู้สึกว่าเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม คนไหนอยู่ใกล้ชิดผู้ใหญ่ก็จะได้ดิบได้ดี ผมเข้ามาก็เห็นว่าผู้บริหารหลายคนผิดฝาผิดตัว...ทำงานที่ไม่ถนัด

- ในฐานะเลขาฯ กกต. มองวิกฤตการเมืองขณะนี้อย่างไร

ผมมองว่าเป็นปัญหาของการไม่เคารพกฎกติกา อาจจะกล่าวได้ว่า บางทีประชาชนถูกใช้เป็นเครื่องมือ เขาไม่รู้ว่าฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิด ทุกคนอ้างว่าตัวเองถูกหมด ทุกคนอ้างประชาธิปไตยหมด ก็เลยไม่รู้ว่าประชาธิปไตยที่ถูกต้องคืออะไร ประชาชนถูกดึงไปเป็นพวก วิกฤตของเราอาจจะไม่ได้เกิดจากระบบการเมือง ผม คิดว่าวิกฤตของเราเกิดจากกลุ่มบุคคลมากกว่าที่เขาไม่ยอมกัน
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ผมเห็นว่าถ้าเราไม่รีบแก้ไขให้มันเข้ารูปเข้ารอยมันก็จะส่งผลกระทบต่อหลายสิ่งหลายอย่างไม่เฉพาะระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ขณะนี้มันลามไปถึงสถาบันเบื้องบน
ลามไปถึงการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ไม่สามารถที่จะจับมือก้าวเดินเพื่อทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้

พอคำตัดสินวินิจฉัยออกมาไปกระทบต่อประโยชน์ของขั้วการเมืองขั้วใดขั้วหนึ่ง ผมก็สังเกตว่ามักจะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ บางครั้งผมคิดว่าเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่ ไม่ได้ตั้งอยู่บนเหตุผล แต่ตั้งอยู่ในความรู้สึกที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของ กกต.

- 5 เสือ กกต.มาจากการสรรหา ควรแก้รัฐธรรมนูญให้มาจากการเลือกตั้งหรือไม่

ในองค์กรที่ดูแลกรอบกติกา ระบบเลือกตั้งอาจจะไม่เหมาะ ในลักษณะบางอย่างที่จะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วต้องเป็นกลาง ระบบเลือกตั้งอาจจะไม่เหมาะ ไม่เช่นนั้นเราก็ต้องมีผู้พิพากษาที่มาจากการเลือกตั้ง ประเทศเยอรมนี กกต.มาจากสภา ในหลายๆ ประเทศประธานาธิบดีเป็นคน แต่งตั้ง ซึ่งก็ทำงานได้ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามาประเทศไทยแล้วบอกว่าให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้ง ผมคิดว่าจะเกิดปัญหาทันที

- อำนาจในมือ กกต.มีมาก ใช้หรือไม่ใช้ก็โดนด่า กกต.ควรจะอยู่ตรงไหนของการใช้อำนาจ

ในสถานการณ์ความขัดแย้งขณะนี้ กำหนดภารกิจให้ กกต.มีความรับผิดชอบมาก ขณะนี้ดูเหมือนว่าภารกิจต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งมันจะมาอยู่ที่ กกต. ซึ่งเรื่องของการขาดคุณสมบัติการเป็นสมาชิกภาพ ซึ่งมันผ่านกระบวนการเลือกตั้งไปเรียบร้อยแล้ว บทบาทอย่างนี้ บางครั้งทำให้ประชาชนก็ไม่เข้าใจนักการเมืองก็ไม่เข้าใจ ก็ไปคิดว่า กกต. จ้องจะจับผิด ซึ่งจะเป็นอันตรายเพราะผมคิดว่าการทำงานของ กกต.จำเป็นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

- คดีเงินบริจาค 258 ล้านบาท กับคดีเงินสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท คือการสร้างวิกฤตศรัทธาให้กลับมาอีกครั้งหรือไม่

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนแล้วก็เป็นเรื่องใหญ่
ซึ่งผมมองแล้วเหมือนกับมีแรงกดดันจากฝ่ายตรงข้ามพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล
เรื่องอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้วอยู่ๆ ดีเอสไอก็ทำเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งอยู่ๆมันก็มีการร้อนรนโดยโยนเรื่องนี้มาให้ กกต. ทำ เรื่องนี้มันก็ไม่ปกติตั้งแต่แรกแล้ว เพราะฉะนั้นเราก็ต้องระมัดระวัง แล้วเรื่องยังมาไม่ถึงเราก็เกิดเป็นข่าวเป็นประเด็นขึ้นมา มีความพยายามที่จะนำเรื่องนี้เข้ามาในช่วงที่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล แล้วการทำงานของบางหน่วยงานก็ไปสอดรับกัน แล้วก็มีการเร่งส่งเรื่องมาให้ กกต.

เอกสารที่เข้ามาเราก็ถามทางดีเอสไอว่ามีการสอบอะไรเสร็จเรียบร้อยไหม ทาง ดีเอสไอบอกว่ามีการสอบประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ก็เลยถามว่าแล้วทำไมไม่สอบให้เสร็จก่อน โดยดีเอสไอตอบว่าเรื่องนี้คิดว่าสามารถที่จะส่งมาให้ กกต.ได้แล้ว พอดูเอกสารที่ส่งมาแล้วมันก็ไม่ได้สมบูรณ์ที่เราจะดูจากเอกสารแล้วก็สอบดำเนินการไปได้ เพราะว่าเอกสารที่ส่งมาเป็นการสอบเนื่องจากเรื่องของคดีปัญหาความผิดต่อหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถเอาเอกสารที่เขาสอบมาเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเขาก็ให้ข่าวออกมาว่าสอบเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่พอเข้าไปจริงๆ แล้วเราถาม เขาก็บอกว่าสอบเสร็จแค่ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่ง 70 เปอร์เซ็นต์นี้เอกสาร 3,000-4,000 หน้า พอเรามาตรวจดูแล้วก็เป็นการสอบเพื่อที่จะให้มันเข้าองค์ประกอบความผิดหลักทรัพย์หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมันเป็นคนละองค์ประกอบของความผิด

เพราะฉะนั้น เมื่อเรื่องเข้ามาถึง กกต.ต้องใช้เวลา เคยถามดีเอสไอว่าพยานปากสำคัญทำไมคุณไม่ไปดำเนินการสอบเอกสารที่เกี่ยวกับเรื่องภาษีเงินได้ ทำไมคุณไม่ไปขอจากสรรพากร ทำไมไม่ไปประสานกับสรรพากรให้เรียบร้อย ซึ่งผมมองว่าท่าน กกต.ที่ผ่านมาเป็นผู้พิพากษามา 30 ปี อีกท่านเป็นอัยการ การมองพยานหลักฐานท่านย่อมมีความรอบคอบมากกว่า จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา อาจจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่พอเรามีคำวินิจฉัยออกไปแล้วเราสามารถที่จะชี้แจงโดยอาศัยหลักการและเหตุผลได้ ผมคิดว่ามันน่าจะเป็นการรอบคอบกว่า

เรื่องที่นำไปสู่การยุบพรรคผมคิดว่าเป็นเรื่องความมั่นคง เป็นความมั่นคงในระบอบประชาธิปไตย
ในความเห็นส่วนใหญ่ผมและ กกต.ทุกท่าน และอีกหลายคนในประเทศไทยก็คงอยากเห็นพรรคการเมืองมีความมั่นคง เป็นสถาบัน ไม่ใช่พรรคเกิดแล้ววันดีคืนดีก็ถูกยุบ
แต่ว่าบางครั้งถ้ามันเข้าองค์ประกอบของความผิด มันมีเหตุ แล้วกฎหมายกำหนดให้เป็นเช่นนั้น ข้อเท็จจริงมันนำไปสู่การยุบ มันก็ต้องดำเนินการ ทั้งๆ ที่เราไม่อยากให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น