สถานการณ์ของอำมาตย์+ศักดินา วันนี้ อยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่า "ร้อนรนไม่รู้จะรักษาอำนาจและศรัทธา" ได้อย่างไรแล้วครับ ศรัทธายิ่งเสื่อมลงเรื่อยๆ ก็ยิ่งพยายามคุกคามประชาชนมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งใช้พระเดชมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อใช้พระเดช มากกว่าพระคุณ ศรัทธาก็ยิ่งเสื่อมลงรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเป็นอัตราแบบทวีคูณ หรือตรีคูณ ก็ทำให้ยิ่งรนมากยิ่งขึ้น
เรียกว่าอยู่ในภาวะอับจนปัญญา น่าสงสารเสียจริงๆ
ผมเคยได้ยินถึงขั้นที่ อำมาตย์จะมีแผนการที่จะรื้อฟื้นให้มีการอบรมลูกเสือชาวบ้าน และส่ง ทหารหน่วย กอ.รมน. หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ที่ไม่รู้ว่ารักษาความมั่นคงของประเทศชาติ หรือระบอบอำมาตรยาธิปไตยกันแน่ ส่งทหารหน่วยนี้ ออกไปทำสงครามจิตวิทยาในชนบทมากยิ่งขึ้น แต่ยิ่งทำผมก็ยิ่งรู้ว่าพวกเขา เดินทางมาถึงภาวะที่เรียกว่า "อับจนปัญญาสิ้นหนทาง" ขึ้นไปทุกที ไม่ได้เข้าใจโลกสมัยใหม่เลย กลยุทธ์ต่างๆ ถอดพิมพ์เขียวออกมาจาก "สงครามเย็นยุคปราบคอมมิวนิสต์” ในทศวรรษ 1980 ทั้งสิ้น ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้มันใช้กับสังคมกึ่งอุตสาหกรรม หรือสังคมเมืองไม่ได้ และยิ่งยุคอินเตอร์เน็ตยิ่งใช้ไม่ได้มากขึ้น เพราะชาวบ้านไม่ได้โง่ ทั้งหมู่บ้านจบแต่ ป.4 และรับฟังได้แต่สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เหมือนในยุคปี 2520 โน้น ตรงกันข้าม ฝ่ายที่โง่ และไม่ทันโลกคือฝ่ายทหาร และอำมาตย์ต่างหาก ที่ไม่พัฒนาตนขึ้นเลย หลังสิ้นยุคสงครามเย็น
หากเราวิเคราะห์การต่อสู้ทางการเมืองในประวัติศาสตร์โลกยุคต่างๆ เราจะเห็นได้ว่า การที่จะชนะสงครามการต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นสงครามการแย่งชิงประชาชนให้ได้นั้น ต้องเอาชนะทางด้านอุดมการณ์และแนวความคิดก่อน เพราะหากเอาชนะทางอุดมการณ์ได้ ก็จะทำให้ประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายตรงกันข้ามเริ่มถอนตัวออกมาอยู่ฝ่ายเรา และสุดท้ายฝ่ายตรงข้ามก็จะไม่มีมวลชนสนับสนุน และพ่ายแพ้ในสงครามประชาชนในที่สุด
แต่ในสงครามประชาชนหากยิ่งใช้กำลังปราบปราม กดขี่ประชาชน มวลชนก็จะยิ่งไหลไปอยู่กับฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นๆ สุดท้าย ฝ่ายเราก็จะกลายเป็นชนกลุ่มน้อย และพ่ายแพ้ในที่สุด เช่นกัน ประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองมันเป็นเช่นนี้ ไม่มีประเทศ หรือชาติใด ที่ผู้ปกครองเพียงหยิบมือ จะทำสงครามชนะกับประชาชนของตนได้ตลอดกาล สุดท้ายก็จะถูกกระชากลงมา และโดนโค่นล้มไป ไม่ว่าจะเคยมีอำนาจยิ่งใหญ่ป่านใดก็ตาม
เมื่อวิเคราะห์อุดมการณ์ทางการเมืองในการต่อสู้ ของทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดงในความขัดแย้งทางการเมืองไทยครั้งนี้ให้ถ่องแท้ไปถึงรากฐานแนวคิดแล้วเราจะเห็นได้ว่า
ฝ่ายเสื้อเหลืองหรือฝ่ายอำมาตย์นั้น คือกระแสอนุรักษ์นิยม ที่มีแนวความคิดทางการเมืองคือ การกันอำนาจไว้กับกลุ่มคนชั้นสูงและคนชั้นนำของประเทศ สนับสนุนแนวคิดแบบเทวราชา และระบบการแต่งตั้ง เส้นสาย เครือข่าย ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าก่อนมีการทำรัฐประหาร มีการเสนอให้ถวายคืนอำนาจให้กับพระเจ้าอยู่หัวบ้าง อะไรบ้างเป็นต้น ซึ่งเรารวมๆ เรียกแนวคิดนี้ว่าเป็น ลัทธิอำมาตรยาธิปไตย ส่วนแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจนั้น ฝ่ายนี้สนับสนุน แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ต่อต้านระบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ซึ่งถือว่าเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างก้าวกลับไปข้างหลัง สวนทางกับแนวทางของโลกยุคใหม่ในปัจจุบัน
ส่วนฝ่ายเสื้อแดงนั้น คือฝ่ายก้าวหน้า หรือเสรีนิยม สนับสนุนแนวคิดประชาธิปไตยมวลชน ความเท่าเทียมกัน เสรีภาพ เป็นต้น มีคนรากหญ้าและคนชั้นกลางหัวก้าวหน้าในเมือง เป็นกำลังสนับสนุนส่วนใหญ่ ฝ่ายนี้สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลกาภิวัฒน์ ต่อต้านการใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานเป็นต้น
เมื่อเราพิจารณาแนวคิดและอุดมการณ์ของทั้งสองฝ่าย เราจะเห็นได้ว่า ฝ่ายเสื้อแดงนั้นมีความก้าวหน้ากว่ามาก ทั้งอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง ดังนั้น ชัยชนะเป็นของฝ่ายใด เราคงพอมองเห็นได้ไม่ยาก
ฝ่ายอำมาตย์ยังคงได้เปรียบที่กุมอำนาจรัฐเบื้องหลังมานาน แต่ก็เหมือนกับอาณาจักรต่างๆ หรือเผด็จการทั้งหลายที่ถูกโค่นล้มไปในอดีต เพราะแม้จะกุมอำนาจมานาน เมื่อประชาชนไม่เอาด้วย สุดท้ายก็จะกลายเป็นเสียงข้างน้อยและถูกปราบไปจนได้
ตอนนี้ฝ่ายอำมาตย์ไม่มี ความสามารถที่จะต่อสู้ทางด้านอุดมการณ์แล้ว จึงเน้นไปในการใช้กำลัง เข้าปราบปรามฝ่ายเสื้อแดงอย่างเดียว เช่น การไล่ปิดเว็บไซต์ต่างๆ การคุกคามวิทยุชุมชน การออกสื่อประโคมข่าวโฆษณาชวนเชื่อแต่เพียงฝ่ายเดียว ปิดกั้นการแสดงความเห็นของฝ่ายตรงข้าม การใช้กฎหมายหมิ่นฯ แบบเหวี่ยงแห ตีความครอบคลุมทั้งหมด เพื่อปิดปากฝ่ายตรงข้ามให้ได้
ยิ่งใช้กำลัง ก็ยิ่งนำไปสู่ความเป็นทรราษฎร์ ประชาชนก็ยิ่งต่อสู้กับการกดขี่ ยิ่งกดคนยิ่งต้าน
ตอนนี้ฝ่ายมวลชนของอำมาตย์ไม่มีเพิ่มขึ้นมีแต่ลดลง อยู่ในภาวะถอยทางยุทธศาสตร์ แต่รุกด้านกำลังทหาร สุดท้ายการรุกด้วยกำลัง ก็จะหมดแรงโมเมนตัมในที่สุด และก็จะถูกประชาชนปราบลงไปในที่สุด เหมือนกับเผด็จการทรราษฎร์ทั้งหลายในอดีต ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของโลกทางหลาย
มันเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนอยู่แล้วที่จะลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจอันกดขี่
ยิ่งกดขี่ ขมเหงน้ำใจชาวบ้าน การต่อสู้ของชาวบ้านก็จะยิ่งขยายตัวกว้างขึ้นไปเรื่อย ๆ เพราะแกนนำและประชาชนทั้งหลาย ย่อมคิดว่าพวกเขาได้ต่อสู้กับเผด็จการอย่างแท้จริง มันเป็นสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่ปลุกเร้ามวลชนไม่ว่าสังคมใด ตลอดมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ
สงครามต่อต้านอำนาจเผด็จการทรราษฎร์ย่อมเป็นการต่อสู้ในสงครามศักดิ์สิทธิ์ สงครามทางอุดมการณ์