ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 1 September 2009

สำรวจ "ภาวะผู้นำ" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ บริหารประเทศด้วย"กฎหมาย"

ที่มา มติชน



ยังคงแข็งกร้าว ดุดัน ในท่าทีของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เมื่อถูกซัก ถูกถาม เกี่ยวกับการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เพื่อคัดสรร ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่

ที่ขับเคี่ยวกันอยู่ 2 คน

พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจ

และ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร.

นายกฯอภิสิทธิ์พูดชัด เหมือนปัดข้อเสนอ กลายๆ ของกลุ่มผู้สนับสนุน พล.ต.อ.จุมพล ที่ยื่นข้อเสนอให้ "เสนอชื่อ 2 คน" เพื่อให้ที่ประชุม ก.ต.ช.เลือก

"ผมมีความเห็นว่าตามกฎหมายให้เสนอชื่อเดียว เพราะถ้อยคำที่ใช้ในกฎหมายนั้น น่าจะเป็นการเสนอชื่อเดียว และผมต้องทำตามกฎหมาย"

เขาเลือกที่จะสร้าง "จุดยืน" โดยการใช้ "กฎหมาย" นำหน้า

เช่นเดียวกับการตัดสินใจประกาศใช้ พ.ร.บ. ความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่ใช้ "กฎหมาย" เป็นแนวหน้าในการปรามผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง ที่ประกาศชุมนุมใหญ่วันที่ 30 สิงหาคม

แต่กลับกลายเป็นการเดิน "ตกหล่ม" แห่งความหวาดกลัว ที่ฝ่ายตรงข้ามได้ "ขุดล่อ" เอาไว้

เช่นเดียวกับ การตามจับ 2 ผู้ต้องสงสัยในการ "ปล่อยคลิปเสียงนายกฯ" ที่สั่งปราบปรามกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อช่วงเหตุการณ์สงกรานต์เลือด ตามหมายจับศาลอาญา

หากแต่การใช้ "กฎหมาย" ครั้งนี้ดูจะไร้ความรอบคอบ เพียงแค่มี "ความเชื่อว่า" พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ คือ บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งอยู่ อาคารชินวัตร 3 ถนนวิภาวดีรังสิต "อยู่เบื้องหลัง" การปล่อยคลิปทั้งหมด

ทั้งที่ ในความเป็นจริง ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 2 คน อาจเป็นเพียงแค่ "คนส่งสาร" ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดต่อคลิปเสียง

จริงอยู่ ในฐานะ "คนส่งสาร" ตามกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ต้องมีความผิดเพราะเป็นการเผยแพร่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชน

แต่ในฐานะผู้ถือกฎหมาย ต้องพยายาม "แยก" เรื่องทางกฎหมายออกจากเรื่องการเมือง

อย่าให้คนอย่าง เทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัว หน.พรรคประชาธิปัตย์ ลากเรื่องลงสู่ปักโคลนที่พำนักอาศัยอยู่

เพราะเมื่อไหร่ ที่นำกฎหมาย (ความเที่ยงตรง) ไปผูกโยงกับการเมือง (ความแค้น) อาจจะส่งผลให้ "ผู้ส่งสาร" ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ "กฎหมาย" ร้ายแรงกว่าที่คิด

แน่นอนว่า ในมุมหนึ่ง "ผู้นำ" อาจใช้กฎหมาย หรือหลักเกณฑ์ เป็นตัวกำหนดชะตากรรมประเทศ เพื่อให้สังคมร่มเย็น เป็นสุข

แต่บางเรื่อง บางมุม หรือบางครั้งการใช้กฎหมายหรือหลักนิติศาสตร์อย่างเดียว ก็ไม่สามารถนำพาให้ประเทศชาติร่มเย็น เป็นสุขได้

นักกฎหมายมหาชนหลายคน ถึงบอกว่าจะต้องใช้หลักการปกครอง หรือรัฐศาสตร์ ควบคู่กันไปด้วยกับหลักนิติศาสตร์

แต่ดูเหมือนว่า เวลานี้นายกฯอภิสิทธิ์ จะอ้างทุกเรื่อง ทุกอย่างว่า "กระทำตามกฎหมาย"

ไม่มีใครปฏิเสธว่า ใครคนใดก็ตาม กระทำผิดกฎหมาย จะต้องถูกลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

หากแต่บางเรื่อง การป่าวประกาศว่ากระทำตามกฎหมายของนายกฯอภิสิทธิ์ ถูกมองไปอีกแบบ

อย่างกรณี การแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ ต้องยอมรับว่า นินพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขา ธิการนายกรัฐมนตรี และพรรคภูมิใจไทย มองว่า "ดันทุรัง" ทั้งที่เสนอทางออกให้มีการเสนอชื่อ 2 ชื่อ เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุม ก.ต.ช.แล้วก็ตาม

หรืออย่างกรณี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์ สุวรรณ ผบ.ตร. ที่อาจมองว่านายกฯใช้กฎหมาย "กลั่นแกล้ง" ในการออกมาพูดแทนว่า "พล.ต.อ. พัชรวาท ลาพักร้อนไปจีน 10 วัน" ก่อนที่ พล.ต.อ.พัชรวาท จะเล่นเกม "ดื้อตาใส" กลับก่อนกำหนด แต่ก็ถูกเตะโด่งไปราชการที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายกฯอภิสิทธิ์บอกเป็นการกระทำตามมาตรา 72(1) พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 ในฐานะประธาน ก.ต.ช.

เช่นเดียวกับ ความไม่พอใจผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กรมประชาสัมพันธ์ช่อง 11 ที่ทำให้รายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ต้องสะดุด คลื่นสัญญาณหายไปถึง 3 ครั้ง ก่อนจะมีคำสั่งย้ายจากเมืองหลวงลงไปยังภาคใต้

หรือการใช้มาตรการทางกฎหมายกับวิทยุชุมชน ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และอีกหลายพื้นที่ ด้วยข้อหา "ทำลายความมั่นคงของชาติ" ที่บางครั้งดูรุนแรง และกระทำเกินกว่าเหตุ

ในภาวะที่ประเทศตกอยู่ใน "หล่ม" แห่งความขัดแย้ง เช่นนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ "ผู้นำ" จะต้องชั่งน้ำหนักในการวางตัว และการบริหารงานบนพื้นฐานความขัดแย้งให้ดี

อาจต้องมีลักษณะของ "ผู้นำเผด็จการ" ที่มีความเด็ดขาด ถือเรื่องระเบียบวินัย และกฎเกณฑ์ ข้อบังคับเป็นหลัก บวกเข้ากับ "ผู้นำประชาธิปไตย" ที่ให้สิทธิในการออกความคิดเห็น สิทธิในการเรียกร้อง รวมไปถึงการเคารพสิทธิของผู้อื่น

ฉะนั้น หากนายกฯอภิสิทธิ์ จะบริหารประเทศโดยยึดหลักกฎหมาย ในภาวะที่สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ก็อาจต้องบวก "ศิลปะ" เข้าไปด้วย

ศิลปะในการรับฟังความคิดเห็น เคารพสิทธิผู้อื่นเพื่อเป้าหมายความสมานฉันท์

เพราะหากยังคงกระทำในลักษณะเดิมๆ จะยิ่งตอกย้ำ "ภาวะผู้นำ" ที่เด่นชัดขึ้น เด่นชัดขึ้นว่า "พวกข้าปล่อยวาง พวกเอ็งถึงตาย"