ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Tuesday, 1 September 2009

จดหมายหลังตัดสินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ: ‘พี่ดารณี เราอยากชวนพี่มาที่บ้านของเรา’

ที่มา ประชาไท

หลังคำพิพากษาของศาลอาญาให้จำคุก ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เป็นเวลา 18 ปี ในความผิดตามมาตรา 112 ประชาชนผู้ให้ความสนใจกับคดีนี้ได้ร่วมกันเขียนจดหมาย ส่งโปสการ์ดเข้าไปให้กำลังใจเธอถึงในเรือนจำ หลังจากที่สมัชชาสังคมก้าวหน้าเป็นผู้เปิดประเด็นรณรงค์ในเรื่องนี้
หลังจากนั้นจึงมีการคิดคำขวัญ “ดารณี เราอยากชวนคุณมาเที่ยวบ้านของเรา” ส่งต่อกันในอีเมล โดยไม้หนึ่ง ก.กุนที ผู้ริเริ่มการณรงค์นี้ระบุว่า นำแนวคิดนี้มาจากเรื่องของ “กั๊วเบ่าฟง” ที่ถูกทางการจีนจับอย่างไม่เป็นธรรม และเขาได้ทวีต (ในเว็บไซต์ www.twitter.com) ข้อความขอความช่วยเหลือจากเพื่อน นำไปสู่การส่งไปรษณียบัตรจากทั่วโลกเขียนข้อความเดียวกันว่า “กั๊วเบ่าฟง แม่คอยกินข้าว รีบกลับบ้าน” ส่งถึงเขาที่เรือนจำ ต่อมาทางการจีนได้ปล่อยตัวเขากลับไปกินข้าวกับแม่ได้จริงๆ
รายละเอียดของจดหมายฉบับต่างๆ มีดังนี้

เช้าวันที่ 28 ที่ผ่านมา ผลการตัดสินของศาลในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อพระมหากษัตริย์ และพระราชินี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมาย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพฯ ซึ่งคุณดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโดเป็นจำเลย ก็ปรากฎเป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลกแล้ว ผลการตัดสินอาศัยข้อมูลหลักฐานปรากฎในช่วงที่เธอกล่าวปราศรัยต่อต้านการรัฐประหาร ทำให้เธอต้องถูกจำคุกเป็นเวลาถึง 18 ปี
ภาพข่าวจากสื่อหนังสือพิมพ์ และจากคำบอกเล่าของกลุ่มเพื่อนดาที่ไปให้กำลังใจที่ศาล ทำให้เรารับรู้ได้ถึงจิตใจที่หนักแน่นมั่นคงของเธอ ซึ่งอาจทำให้เราหลายคนอาจต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า หากเราตกอยู่ในฐานะแบบเดียวกับเธอ เราจะยังคงความเข้มแข็งแบบนั้นได้อยู่อีกหรือ?
พี่ดารณี
เราอยากชวนพี่มาที่บ้านของเรา
มากินน้ำ มากินข้าว
และช่วยเล่าความเป็นไป

น้ำพริก ปลาทู หน้าหัก
กินแกล้มกับผัก ไม่ต้องร้องไห้
แบ่งปัน เปิบมือ ข้าวไทย
แม้ว่าข้างใน เศร้าใจก็ตาม

พี่ พี่ อิ่มข้าวแล้วมีขนม
ชีวิตมันขม เพราะสิทธิ์ถูกหยาม
ยิ้มนะพี่ พวกเรานี้จะพยายาม
ช่วยตั้งคำถาม ความผิดอะไร

ข้าวแดงมันแข็งกว่าข้าวขาว
ต้องขืนกินคราวทุกข์ยากยิ่งใหญ่
ร่วมมื้อ ร่วมมือ ร่วมใจ
ร่วมกันเป็นไท มื้อใหม่ยังรอ

แล้วมากินข้าวด้วยกันนะพี่ จะรอ จะรอ
น้องคนหนึ่ง

มะม่วง - เขียน
๒๖ สิงหา ๕๒
1
เว้นเสียแต่ว่าข้าฯไม่พูดถึงข้อเขียนของข้าฯ ไม่พูดถึงอำนาจ ไม่พูดถึงลัทธิ
ไม่พูดถึงการเมือง ไม่พูดถึงศีลธรรม ไม่พูดถึงบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง ไม่พูดถึงคณะบัลเลต์ของเศรษฐี
ไม่พูดถึงอุปรากร ไม่พูดถึงมหรสพอื่นๆ ไม่พูดถึงคนที่ถือนั่นจับนี่
ข้าฯคงเขียนทุกอย่างได้เสรี แต่ภายใต้การเซ็นเซอร์อีกสักสองถึงสามหน
บทละครเรื่อง “Le Mariage de Figaro” องก์ที่ ๕ ฉากที่ ๓
จดหมายถึงคุณดาของปิยบุตร แสงกนกกุล

๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๒
สวัสดีครับคุณดารณี...

ในขณะที่ผมเขียนจดหมายถึงคุณดาอยู่นี้ ผมอยู่ในดินแดนแห่งเสรี มีเสรีภาพซึ่งเราสัมผัสได้ถึงมันจริงๆ ถ้าโลกนี้มีเทคโนโลยีวิเศษ ผมอยากเอาลมแห่งเสรีภาพของดินแดนแห่งนี้ใส่ในจดหมาย ฝากเอาไปให้คุณดาได้รับรู้ว่า ลมแห่งเสรีภาพที่แท้จริงนั้น ช่างสดชื่นยิ่งนัก

ตรงกันข้าม ณ เวลานี้ คุณดาต้องอยู่ในที่ปราศจากเสรีภาพ และแม้นว่าวันหนึ่งคุณดาได้ออกมาจากที่นั่น ก็ยังไม่ได้อยู่ในดินแดนที่มีเสรีภาพจริงๆอยู่นั่นเอง แต่แม้ในสถานการณ์เช่นนี้ ผมก็เชื่อว่าเสรีภาพยังคงอยู่ในจิตสำนึกของคุณดาตลอดเวลา

ผมส่งโปสการ์ดนี้มาให้ ภาพนี้เป็นภาพกำแพงเบอร์ลิน ถ่ายเมื่อเดือนสิงหาคม ๑๙๖๑ สมัยที่มหาอำนาจเอาสิ่งสมมติมาตีเส้นแบ่งเยอรมนีเป็นสองส่วน ทั้งๆที่พลเมืองก็มีสัญชาติเดียวกันแท้ๆ

คุณดาเห็นมั้ยครับ ภาพพ่อและแม่อุ้มทารกน้อย ให้มองข้ามกำแพงไปยังฝั่งเยอรมนีตะวันตก ให้ได้เห็นเสรีภาพที่อยู่อีกฟากหนึ่ง

พวกเราจะช่วยกัน อุ้มคุณดา และอุ้มสังคมของเราให้ได้เห็นเสรี

ปิยบุตร แสงกนกกุล
2
จดหมายของ บ.ก.ลายจุด
ดา ได้ถูก บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ช่วงที่บ้านเมืองคล้ายจะกลียุค และ ล่มจม
เรื่องราวของ คนตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ภายใต้ท้องฟ้าที่มืดครึ้ม

ถ้าไม่มีรัฐประหาร เราคงไม่ได้เห็นผู้หญิงที่ดูจะแข็ง ๆ คนนี้ออกมายืนจับโทรโข่ง ตะโกน ด่าทอคณะรัฐประหารและผู้เกี่ยวข้องในสนามหลวง

ประโยคด่าทอ อธิการบดี ธรรมศาสตร์ สถาบันที่เธอเรียนจบด้านรัฐศาสตร์มาจากที่นั่น ลั่นสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ เพราะอธิการบดีคนนี้ สนับสนุนขุนนางและเหล่าทหารที่ออกมาฉีกรัฐธรรมนูญ

แม้ไม่ค่อยคุ้นชินกับท่วงทำนองของ พี่ดา แต่นี่คือที่มาของฉายา ดา ตอปิโด


ดา ถูกจับกุมเพราะปราศรัยที่สนามหลวง และตำรวจกล่าวหาว่า ข้อความที่เธอพูดไปดูหมิ่นสถาบันฯ
เธอถูกจับกุมโดยไม่ได้รับประกันตัว แม้ว่าจะมีความพยายามกี่รอบ ภายใต้หลัก รธน ที่ว่า ผู้ต้องหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ศาลวินิฉัยยกคำร้องขอประกัน เพราะเป็นคดีความมั่นคง และ เกรงว่าเธอจะหลบหนี

ดา ไม่ได้โชคดีเหมือนกับหลาย ๆ คนที่ถูกคดีในลักษณะเดียวกัน แต่เพราะคนเหล่านั้นเป็นนักการเมืองและเป็นผู้มีชื่อเสียงทางสังคม แม้คดีประเภทเดียวกัน แต่คนเหล่านั้นได้รับการประกันตัว

ดา ถูกไตร่สวน โดยศาลไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอก ยกเว้นทนาย เข้าร่วมในการพิจารณา นี่เป็นเรื่องที่ผมรู้สึกอึดอัด ผมเคยนั่งอยู่ในห้องพิพากษา ซึ่งมีทั้งคดีค้ายาเสพติด ฆ่าคนตาย แต่พวกเขามีญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง มานั่งรับฟังให้กำลังใจอยู่ในห้องนั้น แต่ ดา ไม่ได้รับโอกาสนั้น

ผมตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับหนึ่ง จริง ๆ มันอาจไม่ใช่จดหมายก็ได้ แต่มันเป็นสิ่งที่ผมอยากพูดถึง "ดา" ในอีกรูปแบบหนึ่ง จะเรียกว่า ตะโกนด้วยข้อความ หรืออะไรก็แล้วแต่ ผมรู้สึกเช่นนั้น ตอนเริ่มเขียน


ดา ได้ถูก บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ ช่วงที่บ้านเมืองคล้ายจะกลียุค และ ล่มจม
เรื่องราวของ คนตัวเล็ก ๆ ที่อยู่ภายใต้ท้องฟ้าที่มึดคลึ้ม

ขอให้เรียกยังตะโกน และ เรียกชื่อของเธอ "ดา"

3
Postcard จากอเมริกาของคุณ Macnacarta (นามแฝง)


Postcard จากคุณบุหลันแรม (นามแฝง)