ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 20 August 2009

ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน: น้ำท่วมท้ายเขื่อนศรีนครินทร์ VS ท่อก๊าซพม่า VS อองซานซูจี: ราคาที่สังคมไทยและชนกลุ่มน้อยในพม่าต้องจ่าย

ที่มา ประชาไท

เนื่องจากบ้านฉันอยู่ติด “น้ำแม่กลอง” เสาบ้านกว่าครึ่งตั้งอยู่ในน้ำ สมัยที่ยังเด็ก น้ำท่วมบ้านจนกลายเป็นเรื่องปกติ ความทุกข์ทรมานจากโคลนเลนกลายเป็นความสนุกสนานที่ได้เล่นน้ำและไม่ต้องไปโรงเรียน เวลาฉันถามที่บ้านว่า “ทำไมน้ำท่วมบ้านเราทุกปี” คำตอบเดิมๆ ที่ได้รับจนฝังหัวมาทุกวันนี้คือ “น้ำล้นเขื่อนที่เมืองกาญจน์ พอฝนตก กระแสน้ำจะแรง เจ้าหน้าที่ต้องปล่อยน้ำออกมา ไม่อย่างนั้นเดี๋ยวเขื่อนจะพัง รับน้ำไม่ไหว” คนท้ายน้ำอย่างฉันจึงรู้สึกธรรมดาๆ เวลาน้ำล้นตลิ่งท่วมบ้านทุกๆ ปีในหน้าฝน

เช่นเดียวกับตอนเช้าตรู่วันที่ 15 สิงหาคม 52 คนที่บ้านริมน้ำส่งเสียงผ่านสายโทรศัพท์มาถึงคนที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวงว่า “เขื่อนปล่อยน้ำ จนน้ำท่วมแถวเมืองกาญจน์ ไม่รู้จะมาถึงบ้านเราเมื่อไหร่” ฉันก็ยังรู้สึก “เฉยๆ และเห็นเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง” อย่างไรก็ตามน้ำเสียงของอาทรร้อนรนจนผิดปกติ ซักไปซักมาจนได้ความกระจ่างกว่าเดิมว่า “น้าโรจน์ เพื่อนสนิทของอาฉัน เจ้าของรีสอร์ตริมน้ำแควใหญ่ ตอนนี้น้ำท่วมหมดแล้ว ไม่มีใครแจ้งล่วงหน้า เช็คข่าวให้หน่อยว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะปกติถ้าเขื่อนปล่อยน้ำ จะแจ้งชาวบ้านก่อนสองสามวัน แต่ครั้งนี้ไม่มีวี่แววอะไรเลย แจ้งก่อนชั่วโมงเดียว ขนของไม่ทัน มันต้องมีอะไรแน่ๆ ! ”

ข้อสังหรณ์จากคนท้ายน้ำอย่างอาฉันและน้าโรจน์ ที่หาอยู่หากินกับน้ำมาค่อนชีวิต เมื่อเห็นน้ำมาแบบไม่ปกติ ก็คาดการณ์ล่วงหน้าได้ไม่ยากว่า น้ำท่วมครั้งนี้มีความไม่ชอบมาพากลแอบแฝงอยู่อย่างแน่นอน

และเหตุการณ์นี้ก็เป็นจริงอย่างที่คนท้ายน้ำสังหรณ์

เพราะความไม่ปกติที่เกิดขึ้นครั้งนี้ไม่ใช่แค่ “เขื่อนศรีนครินทร์ ปล่อยน้ำ” แต่สัมพันธ์กับ “ท่อก๊าซพม่า หยุดจ่ายไฟ”

กิตติ ตันเจริญ ผู้อำนวยการเขื่อนศรีนครินทร์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนไทยหลายสำนักว่า สาเหตุที่ต้องเปิดระบายน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เพราะวันที่ 13 สิงหาคมที่ผ่านมา แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติบงกชในอ่าวไทย ท่อส่งก๊าซรั่ว ต้องปิดซ่อมทั้งระบบ ทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไปถึง 650 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติยาดานาในพม่า ก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไป 1,100 ล้านลูกบาศก์ฟุต รวมก๊าซ 2 แหล่งที่หายไปสูงถึง 1,750 ล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้า 10,000 MW ซึ่งเกินความสามารถของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ผลิตขนานอยู่ในประเทศไทยจะรับมือได้ทัน

ฉะนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าในประเทศไทยดับ กฟผ. จึงให้เขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งมีกำลังผลิตไฟฟ้ามากเป็นอันดับ 2 รองจากเขื่อนภูมิพล เดินเครื่องปั่นไฟฟ้าทั้ง 5 เครื่อง ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม แปดโมงเช้าจนถึงตีสองของอีกวัน เพื่อป้อนไฟเข้าระบบอย่างกะทันหัน ทำให้ไม่มีเวลาเตือนให้ประชาชนที่อยู่ท้ายเขื่อน รู้ล่วงหน้าว่าน้ำจะท่วม เพราะต้องใช้ปริมาณน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ จนส่งผลให้กระทบต่อระดับน้ำในแม่น้ำแควใหญ่

คำอธิบายเชิงวิชาการแบบนี้ คนท้ายน้ำอย่างฉันรู้สึกฉาบฉวยเกินไปหน่อย คล้ายกับคำพูดเดิมๆ ที่ว่า “เพื่อให้คนเมืองหลวงมีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านปากมูนต้องเสียสละบ้านตนเอง เพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า”

จากการที่ตามข่าวประเด็นพม่ามานาน ฉันอดคิดเล่นๆ ไม่ได้ว่า หรือนี้คือการตอบโต้ของรัฐบาลพม่าต่อรัฐบาลไทยผ่านจุดอ่อนเรื่อง “การพึ่งพาพลังงาน”

เพราะวันที่แหล่งผลิตก๊าซยานาดาในพม่าหยุดจ่ายไฟอย่างกะทันหันนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียน ได้แสดงท่าทีตำหนิ ประณาม และกดดันรัฐบาลพม่า กรณีการคุมขังนางอองซานซูจีต่อเนื่องออกไปอีก

ช่วงเวลาเดียวกับที่ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยกำลังร่างหนังสือเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ในระหว่างการประชุมในกรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียสัปดาห์นี้ เพื่อเรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนางอองซานซูจี โดยให้เหตุผลว่าตราบใดที่นางอองซานซูจียังไม่ได้รับอิสรภาพ ประชาคมโลกคงไม่เห็นว่าพม่าจะมีเสรีภาพอย่างแท้จริง แม้จะมีการเลือกตั้งในปีหน้าก็ตาม

คงจำกันได้ ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีท่าทีแข็งกร้าวต่อรัฐบาลพม่าเพียงครั้งเดียว คือ สมัยที่นายกรัฐมนตรีสุรยุทธ์ จุลานนท์ ประณามผ่านเวทีที่ประชุมสหประชาชาติ ตอนที่ทหารพม่าใช้กำลังเข้าปราบปรามพระสงฆ์อย่างเหี้ยมโหดเมื่อเดือนกันยายน 2550 ที่ผ่านมา ตลอดเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยยึดถึงนโยบายไม่แทรกแซงกิจการภายในพม่ามาโดยตลอด

ครั้งใดที่รัฐบาลไทยเล่นบทแข็งกร้าวหรือนอกบทกับรัฐบาลพม่า ราคาที่สังคมไทยต้องจ่ายเสมอมา คือ การปิดด่านการค้าชายแดนไทย – พม่า วันนี้รัฐบาลพม่ารู้แล้วว่ารัฐบาลไทยมีช่องทางการค้าชายแดนช่องทางอื่นๆ เช่น จากด่านมุกดาหาร สระแก้ว ตราด หรือเชียงราย เป็นต้น ทำให้รัฐบาลพม่าจึงเลือกใช้ “จุดอ่อน” ด้านอื่นมาต่อรองแทน

ในสมัยก่อนการปิดด่านชายแดน ไม่ได้กระทบแค่เพียงพ่อค้าแม่ค้าหรือนักธุรกิจเพียงเท่านั้น แต่หมายถึงประชาชนตาดำๆ ฝั่งพม่าผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ด้วยเช่นกัน การปิดด่านชายแดนทุกครั้ง มาพร้อมกับการหยุดชะงักการขนส่งอาหารของกลุ่มบรรเทาทุกข์ที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านกะเหรี่ยง ชาวบ้านมอญในฝั่งพม่าที่หลบหนีทหารพม่าซ่อนตัวอยู่ในป่า

หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วชาวบ้านกะเหรี่ยง ชาวบ้านมอญ เกี่ยวอะไรกับประเทศไทยและประชาชนไทย

ถ้ายังจำกันได้ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2537 ที่รัฐบาลไทยภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีการตกลงซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากรัฐบาลพม่า เพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย ซึ่งก๊าซธรรมชาติที่ซื้อในครั้งนี้ ปตท.จะนำไปใช้ เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟผ.ต่อไป

การก่อสร้างท่อส่งก๊าซจากพม่ามาประเทศไทยในครั้งนั้น ชาวบ้านชนกลุ่มน้อยในรัฐมอญ รัฐกะเหรี่ยง ต้องหลบหนีหัวซุกหัวซุน เพราะถูกทหารพม่าบีบบังคับ ใช้กำลัง ทำสงครามปราบปราม เพื่อให้ชาวบ้านโยกย้ายออกจากพื้นที่วางท่อส่งก๊าซ ชาวบ้านอีกหลายคนต้องกลายเป็นลูกหาบ ถูกบังคับใช้แรงงานก่อสร้างถนน ทางรถไฟ เพื่อขนวัตถุดิบเข้าในพื้นที่

รัฐบาลพม่านำแผนปฏิบัติการธุยา (Thuya Operation) มาใช้กับชาวบ้านที่นั่น เป็นการบังคับให้ชาวบ้านย้ายออกนอกพื้นที่สร้างท่อก๊าซ และถ้าชาวบ้านคนใดย้อนกลับมาจะถูก “ยิงโดยไม่ต้องสอบสวน” (Free Fire Zone) คือ การที่ทหารพม่าสามารถยิงชาวบ้านที่ฝ่าฝืนกลับเข้าไปในหมู่บ้านได้ทันที โดยไม่ต้องทำการสอบถามใดๆ ทั้งสิ้น

ความโหดร้ายดังกล่าวที่เกิดขึ้น จึงส่งผลให้มีชาวบ้านกะเหรี่ยง ชาวบ้านมอญจำนวนมากหลบหนีมายังประเทศไทย หลายคนหลบซ่อนตัวอยู่ในป่าฝั่งพม่า และจำนวนมากหลบหนีมาที่ประเทศไทยกลายเป็นผู้ลี้ภัยในค่ายแถบชายแดนไทย-พม่า ไม่สามารถกลับบ้านตนเองมาจนทุกวันนี้ และสังคมไทยต้องรับผิดชอบอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

นอกจากนั้นแล้วอีกประการหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล มีท่าที “หน่อมแน้มเหลือเกิน” ต่อการรับมือหรือจัดการกับปัญหานี้ เขากล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 52 ว่า “ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการปล่อยน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์แล้ว เพื่อตรวจสอบว่ามีสาเหตุจากอะไร กระบวนการตัดสินใจปล่อยน้ำมีความเหมาะสมหรือไม่ ตลอดจนตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก”

“รัฐมนตรีคะ” ท่านรู้ไหมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ “เขื่อนปล่อยน้ำ และการเยียวยาผู้เสียหาย” แต่คือเรื่อง การจัดการระบบพลังงานในประเทศไทยทั้งระบบ ว่ารัฐบาลไทยจะมียุทธศาสตร์ที่ยั่งยืนอย่างไรมากกว่า เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีหลักประกันใดๆ เลยว่า “รัฐบาลพม่า” จะไม่เล่น “การเมืองแบบต่อรองตัวประกัน” แบบนี้อีกในวันข้างหน้า และคนท้ายน้ำอย่างฉันก็ต้องกลายเป็น “ผู้เสียสละ” ต่อไป

..................................................
ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน เป็นศูนย์ข่าวออนไลน์ภาคภาษาไทย ทำหน้าที่รวบรวมข่าวภาษาไทยและนำเสนอบทวิเคราะห์ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านแรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทย (แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ) รวมถึงผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่า ตลอดจนสถานการณ์การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ภายในประเทศพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่น ดำเนินการผ่านเงินทุนส่วนตัว และการลงแรงกาย แรงใจ ของกลุ่มเพื่อนสนิท 4 คน คือ พรสุข เกิดสว่าง, อดิศร เกิดมงคล, บัณฑิต แป้นวิเศษ และบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ เริ่มต้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2552 พวกเราเชื่อว่า “สังคมไทยต้องมีพื้นที่เรียนรู้ มากกว่าในห้องเรียนเพียงเท่านั้น การเรียนรู้มาพร้อมกับความเข้าใจและความอดกลั้นในความต่าง รวมถึงการเคารพคนอื่นที่ต่างจากเรา”

ติดต่อเรา: crossborder.newsagency@gmail.com

อ่าน CBNA ฉบับที่ 1-38: http://gotoknow.org/blog/crossborder-newsagency/toc