ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Saturday, 22 August 2009

นิรโทษกรรมที่ถูกเมิน

ที่มา ไทยรัฐ

บทบรรณาธิการ

การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ประชาชนผู้กระทำผิด ในการชุมนุมทางการเมือง อันได้แก่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) หรือกลุ่มคนเสื้อเหลือง และแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือกลุ่มคนเสื้อแดง กับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยให้เป็นเรื่องด่วนที่สุดแบบสายฟ้าแลบ ของพรรคภูมิใจไทย กลายเป็นข่าวการเมืองที่ฮือฮา และมีเสียงวิจารณ์หลากหลาย

แกนนำพรรคภูมิใจไทยชี้แจงว่า เป็นการเสนอร่างกฎหมาย โดยไม่ได้หารือพรรครวมรัฐบาลอื่นๆ โดยมีเหตุผลสำคัญเพราะว่าประเทศไทยเกิดความไม่สงบทางการ เมือง แตกแยกกันทางความคิด มีการชุมนุมประท้วง มีการกระทำความผิดทางอาญา และขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการแสดงออกทางการเมืองโดยสุจริต จึงสมควรได้รับนิรโทษกรรม ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและอาญา

แต่น่าแปลกใจ ที่คนสองกลุ่มที่จะได้ประโยชน์โดยตรงจากกฎหมายนิรโทษกรรม คือกลุ่มคนเสื้อเหลืองและกลุ่มคนเสื้อแดง กลับไม่ปลื้มหรือเห็นดีเห็นงามไปด้วย ทั้งยังตั้งข้อสงสัยว่าพรรคภูมิใจไทยมีวาระซ้อนเร้นอะไร ต้องการช่วยเหลือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้พ้นจากความผิดทั้งทางอาญาและวินัยหรือไม่? มุ่งหวังประโยชน์ทางการเมืองอะไร?

พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นแกนนำรัฐบาล ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญ ถ้าต้องการผลักดันให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ยังไม่ได้แสดงท่าทีที่ชัดเจน ประธานวิปรัฐบาลบอกว่าจะต้องรอฟังเสียงสังคมก่อน ขณะที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงว่าการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย อาจทำให้มีการทำผิดพร่ำเพรื่อ เพราะทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ

ในทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของพรรคภูมิใจไทย เป็นการชิงตัดหน้านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเป็นการชิงรุกทางการเมือง เพราะ นายกรัฐมนตรีเคยประกาศนโยบายสร้างความสมานฉันท์ในชาติ มอบให้รัฐสภาตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ

แต่ร่าง พ.ร.บ.ของพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้เป็นที่ประทับใจของนักการเมืองมากนัก เพราะไม่ได้เสนอให้นิรโทษกรรมที่ครอบคลุมถึงนักการเมือง โดยเฉพาะบรรดาอดีตกรรมการบริหารพรรค กว่า 200 คน ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี เมื่อพรรคถูกยุบ ซึ่งเป็นความผิดทางการเมือง และอาจจะมีนักการเมืองหลายคน ที่ไม่มีส่วนรู้เห็นในการซื้อเสียง อันเป็นเหตุให้พรรคโดนยุบ

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ ร่างกฎหมายนี้ จะเป็นชนวนใหม่ ที่นำไปสู่ความขัดแย้งอีกรอบหนึ่งหรือไม่? และกลุ่มคนเสื้อสีต่างๆ จะยุติการก่อเหตุรุนแรง หรือยุติการทำผิดกฎหมาย ในระหว่างชุมนุมหรือไม่? หรือว่าจะยิ่งได้ใจ เพราะมีคนคอยออกกฎหมายยกโทษให้ กลุ่มคนเสื้อแดงประกาศชัดว่าจะเดินหน้าล้มรัฐบาลต่อไป และคงจะไม่หยุด จนกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้กลับเมืองไทยอย่างผู้ชนะ.