ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 26 August 2009

ทิ้งไพ่ตาย

ที่มา ไทยรัฐ

เชื่อว่าคนไทยโดยรวมที่มองปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ คงคิดไม่ต่างกันเท่าใดนัก ว่ายังหาทางออกของประเทศไม่เจอ ไม่รู้ว่ามันจะลงเอยอย่างไร ยังเดินไปสู่ความขัดแย้งเดิมๆ เพียงแต่สร้างเงื่อนไขใหม่ เปิดประเด็นใหม่เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

แม้แต่ในรัฐบาลเองร่องรอยความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างประชาธิปัตย์กับพรรคภูมิใจไทย หรือแม้กระทั่งในประชาธิปัตย์เอง

กรณีตำรวจดูเหมือนจะทำให้เห็นภาพการเมืองชัดเจนยิ่งขึ้น ประชาธิปัตย์กับภูมิใจไทยยืนคนละข้าง โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ชายของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.เป็นจุดที่น่าสนใจว่าถึงเวลานี้

จะลงสนามการเมืองเต็มตัวหรือไม่

มีการตั้งคำถาม พล.อ.ประวิตรมาอย่างต่อเนื่อง ว่าจะเล่นการเมืองต่อไปหรือไม่ คำตอบจะเป็นว่าไม่เล่น ไม่เป็นหัวหน้าพรรค การเมือง ไม่เป็นหัวขบวนกลุ่มอำนาจใหม่

สำหรับกลุ่มอำนาจใหม่ที่มีการระบุกันว่า พล.อ.ประวิตรจะเป็นหัวขบวนใหญ่ มี เนวิน ชิดชอบ คนเบื้องหลังภูมิใจไทยคือพลังสนับสนุน อีกทั้งยังมีกองทัพเป็นแรงหนุนอยู่ข้างหลัง แม้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนแต่ถึงขั้นนี้แล้ว

เมื่อสถานการณ์ทำท่าจะพาไปไกลเสียแล้ว เมื่อน้องชายที่รู้สึก ว่าถูกการเมืองเล่นงาน ทั้งที่อยู่ในรัฐบาลมีตำแหน่งใหญ่โต แต่ ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองได้ ตรงนี้อาจจะใช้เป็นเหตุผลเพื่อเข้าสู่ถนนการเมืองที่ปูลาดล่วงหน้าเอาไว้แล้ว

ทำนองว่าครอบครัวถูกรังแก

จริงๆแล้วหากว่ากันให้ถึงที่สุดแล้ว รัฐมนตรีกลาโหมคนนี้น่าจะมี "ใจ" ให้กับการเมืองมาตลอด เพราะหลังจากปลดเกษียณอายุราชการในตำแหน่งใหญ่ ผบ.ทบ. ก็ยังคลุกการเมืองโดยเฉพาะในพรรคไทยรักไทยแต่ก็เป็นแบบเงียบๆ

มีแต่ชื่อเป็น "รัฐมนตรี" แทบทุกโผ แต่เอาเข้าจริงแล้วก็ไม่มี อะไรเกิดขึ้น นอกจากความเคลื่อนไหวการเมืองแบบลับๆมากกว่า

มาถึงจุดพีกทางการเมืองก็เลยดัง ได้ตำแหน่งทางการเมืองเป็นรัฐมนตรีกลาโหม แม้จะไม่มี ส.ส.ในมือ แต่ก็มีกองทัพและพรรค ภูมิใจไทยอยู่ข้างหลัง

นั่นเพราะการตั้งรัฐบาลชุดนี้เอาเข้าจริงแล้ว พล.อ.ประวิตรน่าจะเป็นผู้จัดการตัวจริงมากกว่า เนื่องจากสามารถจับทหารกับนักการเมืองจนสามารถตั้งรัฐบาลแบบพลิกขั้วพลิกค่ายเลยทีเดียว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นนายกฯ ประชาธิปัตย์โผล่ขึ้นมาจากหุบเหวฝ่ายค้านที่ยาวนานมาเป็นรัฐบาล

การขบเหลี่ยมในลักษณะนี้ดูท่าจะยากและคงไม่มีใครยอมใครง่ายๆแน่ ปฏิกิริยาจากการประชุม ก.ต.ช. ที่นายกฯ เสนอชื่อนายตำรวจคนหนึ่ง แต่มติ ก.ต.ช.ออกมา 5 ต่อ 4 ไม่ยอมรับ แน่นอนว่าจะมีเงื่อนไขและตัวแปรหลายอย่าง

แต่การตีโต้ผู้บังคับบัญชากลางแจ้งเยี่ยงนี้ ถือว่าเป็นการประลองกำลังกันกรายๆ ว่าใครจะแน่กว่าใคร นายกฯกับรัฐมนตรีกลาโหม

อย่างไรก็ดี นายกฯก็คงต้องคิดหาทางออกเพราะถอยไม่ได้เช่นกัน หากเสนอชื่อ "คนเก่า" แต่แพ้มติอีกครั้งก็ไม่ต้องพูดกันแล้ว ครั้งแรกก็แทบจะแย่ถึงขั้นคิดจะโบกมือลาเหมือนกัน แต่มันก็เท่ากับปิดอนาคตทางการเมืองโดยปริยาย

ดีที่ว่าในสถานการณ์ที่เป็นจริงทุกพรรคร่วมรัฐบาลยังต้องการจะบริหารประเทศต่อไป เนื่องจากงบก็ยังไม่ผ่าน เงินกู้ก็ไม่ใช่น้อย การโยกย้ายแต่งตั้งก็ยังไม่เรียบร้อย หากเปลี่ยนแปลงการเมืองมันก็ไม่คุ้มสู้ถูลู่ถูกังกันไปก่อนดีกว่า

เหลือไพ่ในมืออีกใบพอจะใช้ "กำราบ" เท่านั้น.