ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Sunday, 30 August 2009

ชัยชนะของดา:คดีหมิ่นฯฉาวโลก-องค์กรสิทธิฮึ่ม

ที่มา Thai E-News


โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
ที่มา สื่อต่างประเทศ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนสากล
29 สิงหาคม 2552

สื่อมวลชนต่างประเทศ และองค์การทางด้านสิทธิมนุษยชนให้ความสนใจเผยแพร่ข่าวศาลตัดสินจำคุกดาตอร์ปิโด 18 ปี คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างมาก นอกจากสำนักข่าวรอยเตอร์จะเผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว สื่อมวลชนระดับสากลที่มีชื่อเสียงอย่างนิวยอร์กไทม์สของอเมริกา ไฟแนนเชียลไทม์สของอังกฤษ ซิดนีย์มอร์นิ่งเฮอรัลด์ของออสเตรเลีย รวมทั้งองค์กรนานาชาติสนับสนุนเสรีภาพการแสดงออกความคิดเห็นอย่างเสรี ( International Freedom of Expression eXchange -IFEX)ก็แสดงความวิตกต่อกรณีนี้ด้วย


IFEX:องค์กรนานาชาติวิตกกฎหมายหมิ่นละเมิดเสรีภาพในการแสดงออก

IFEXนำเสนอข่าวพาดหัวว่า นักกิจกรรมถูกตัดสินจำคุก 18 ปีคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ พร้อมทั้งชี้ว่าองค์กรที่รณรงค์ทางด้านสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นอย่างมีเสรีภาพกำลังวิตกว่ากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอาจถูกนำมาบังคับใช้อย่างไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุผลทางการเมือง โดยระบุว่านายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์เพิ่งพูดเมื่อไวๆนี้ว่าจะพิจารณาดูเรื่องการบังคับใช้กฎหมายให้ไม่ถูกใช้อย่างไม่ยุติธรรม

นิวยอร์กไทม์ส:สาเหตุที่กฎหมายหมิ่นฯถูกนำมาใช้มากในช่วงนี้

ส่วนนิวยอร์กไทม์ส สื่อยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ รายงานในตอนหนึ่งว่า สำหรับโทษฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประเทศไทยยังคงใช้กฎหมายที่รุนแรงที่สุดกฎหมายหนึ่งของโลก เพื่อต่อต้านการหมิ่นฯ และได้มีการนำมาใช้อย่างมากเมื่อไม่กีปีมานี้

คดีที่เพิ่มขี้นนั้นอาจเกี่ยวข้องกับการวิตกกังวลในพระพลานามัยของกษัตริย์พระชนมายุ 81 พรรษา และอนาคตของพระราชวงศ์ เช่นเดียวกับความยุ่งเหยิงต่อเนื่องของการเมืองในประเทศ

นอกจากกรณีดา ตอร์ปิโดแล้ว ผู้ต้องหารายอื่นก็เช่น ใจ อึ๊งภากรณ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ได้หนีไปประเทศอังกฤษ โดยโดนข้อหาดูหมิ่นพระราชวงศ์จากบทความในหนังสือที่เขาแต่งขี้น

นอกนั้นก็มีคดีของนายโชติศักดิ์ อ่อนสูง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 28 ปี ซึ่งปฎิเสธที่จะยืนตรงในระหว่างเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนต์ น.ส.จิตรา คชเดช เพื่อนของนายโชติศักดิ์ นักเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน ถูกไล่ออกจากงานหลังจากที่ออกทีวีโดยสวมเสื้อยืดมีตัวหนังสือบนเสื้อว่า “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม”

เมื่อเดือนเมษายน นายสุวิชา ท่าค้อ วิศวกรเครื่องกลวัย 34 ปี ทำงานให้กับบริษัทขุดเจาะน้ำมัน ได้ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี เมื่อตำรวจได้ตามรอยการโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ต ที่คาดว่าเป็นการหมิ่นราชวงศ์

ไฟแนนเชียลไทม์ส:ดาเลือกที่จะต่อสู้แทนการยอมรับผิดและขออภัยโทษ

ไฟแนนเชียลไทม์ส สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ รายงานตอนหนึ่งว่า มีจำเลยในคดีหมิ่นฯ เพียงไม่กี่คน ที่เลือกจะต่อสู้คดีอย่างที่ น.ส.ดารณีได้กระทำ ทนายหลายคนต่างพูดว่า กฎหมายมีความคลุมเครือและเกือบจะไม่มีทางที่จะต่อสู้คดีได้ จำเลยส่วนใหญ่เลือกที่จะยอมรับสารภาพผิด และขอพระราชทานอภัยโทษต่อกษัตริย์ กฎหมายไทยกำหนดเงื่อนไขเอาไว้ว่า จำเลยที่สารภาพผิดจะได้รับการผ่อนปรนโทษ

เมื่อต้นปีนี้ นักเขียนชาวออสเตรเลีย แฮรี่ นิโคไลด์ส ถูกตั้งข้อหาว่าหมิ่นพระรัชทายาท จากนวนิยายซึ่งขายได้ไม่ถึง 10 เล่ม ยอมรับสารภาพผิด และได้รับโทษจำคุก 6 ปี และถูกปล่อยตัวหลังจากได้รับการพระราชทานอภัยโทษในอีกหนึ่งเดือนต่อมา เขาถูกจำคุกทั้งหมดเป็นเวลา 6 เดือน

เว็บไซต์โพลิติคอลพรีซันเนอร์อินไทยแลนด์ ซึ่งติดตามคดีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รายงานว่า มีอีกอย่างน้อย 15 คน ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาหรือกำลังอยู่ระหว่างการสอบสวนในคดีหมิ่นฯ รวมถึงชายคนหนึ่งที่ปฎิเสธจะยืนตรงเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีในโรงภาพยนต์ และโจนาธาน เฮด อดีตผู้สื่อข่าวของบีบีซี ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัดสัมมนาแบบเปิด ซึ่งอาจจะไปละเมิดกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือไม่ก็ได้

เมื่อนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเลือกให้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากการลงเสียงของสภาที่อื้อฉาวเมื่อเดือนธันวาคมที่แล้ว เขากล่าวว่างานหลักของเขาคือ การปกป้องราชวงศ์

เขาได้พูดตั้งแต่แรกว่า เขาต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงการนำกฎหมายหมิ่นฯมาใช้ แต่อภิสิทธิ์แทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย พระราชดำรัสของกษัตริย์ในปี พ.ศ.2548 ได้ตรัสว่า พระองค์ไม่ได้ทรงอยู่เหนือคำวิจารณ์

ซิดนีย์มอร์นิ่งฯ:ย้อนรอยนักเขียนออสซี่โดนคุก

สื่อยักษ์ใหญ่ออสเตรเลีย คือ ซิดนีย์มอร์นิ่งเฮอรัลด์ก็ไม่พลาดข่าวสำคัญนี้ โดยชี้ว่านอกจากดารณีแล้วก็มีนักเขียนชาวออสเตรเลียเคยโดนจำคุกคดีเดียวกัน แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษออกมาแล้ว และกล่าวถุงเหยื่อคดีนี้รายอื่นๆด้วยเช่นกัน

รอยเตอร์:ดารณีเผยไม่มีเจตนาล้มล้าง แต่อยากเห็นสถาบันเป็นแบบอังกฤษกับญี่ปุ่น

รอยเตอร์ ชี้ว่าผลการตัดสินล่าสุดให้ดารณีติดคุก 18 ปี ถือเป็นการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกำหราบฝ่ายต่อต้านรัฐบาล และเสรีภาพในการแสดงออก ในประเทศไทย ประเทศซึ่งยกฐานะกษัตริย์พระชนมายุ 81 พรรษาเสมือนพระนายรายณ์เสด็จลงมาอวตาร และมีสถานะทรงอยู่เหนือการเมือง

ดารณีซึ่งเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ฝ่ายสนับสนุนอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกทำรัฐประหารโค่นอำนาจถูกจับกุมและพิจารณาคดีเป็นการลับ โดยอ้างเรื่องความมั่นคง เรื่องนี้องค์การนิรโทษกรรมสากลได้ทำจดหมายเปิดผนึกคัดค้านมาแล้ว โดยอ้างว่าจะทำให้จำเลยได้รับการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นธรรม

ดา ตอร์ปิโดกล่าวกับรอยเตอร์ว่า เธอไม่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองที่จะเคลื่อนไหวให้ยกเลิกสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใด แต่สนับสนุน"ความยั่งยืนของสถาบันกษัตริย์แบบเดียวกับที่ดำรงอยู่ในสหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น"

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยเปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีกับใครก็ได้ โดยที่ไม่ต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรง ประเด็นนี้ทำให้ได้รับการคัดค้านจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยว่าจะเป็นเครื่องมือทำลายล้างกันทางการเมือง

เคยมีนักวิชาการ นักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงทั่วโลกเคยส่งจดหมายเปิดผนึกให้รัฐบาลไทยทบทวนการบังคับใช้กฎหมายนี้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าเขาจะพยายามจัดสมดุลระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก หลังจากนั้น

รอยเตอร์ได้นำเสนอ FACTBOXนำเสนอถึงเหยื่อผู้ถูกดำเนินคดีหมิ่นนอกเหนือจากดารณีด้วย โดยระบุว่าประกอบไปด้วย จักรภพ เพ็ญแข,สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย,ใจ อึ๊งภากรณ์,สุวิชา ท่าค้อ,แฮรี่ นิโคไลด์ส,ส.ศิวรักษ์,จิตรา คชเดช,โอลิเวอร์ จัฟเฟอร์ เป็นต้น