ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Thursday, 13 August 2009

บริหารแบบแปลกๆ

ที่มา มติชน

บทนำมติชน



กว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้กำกับควบคุมดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะตอบคำถามกรณีความไม่ชัดเจนในการปฏิบัติงานของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมก็ต้องซักถามกันไปมาหลายครั้ง หลายรอบ กว่าจะหลุดคำพูดออกมาว่า ได้สั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาทไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดภาคใต้ 7-8 วันเพื่อติดตามคดีสำคัญหลายคดีและไปเตรียมความพร้อมการจัดประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จังหวัดภูเก็ต นายสุเทพมีอารมณ์หงุดหงิดอยู่บ้างที่ถูกผู้สื่อข่าวซักไซ้แต่เรื่องของ พล.ต.อ.พัชรวาท แต่ถ้า นายสุเทพ หรือแม้แต่ นายอภิสิทธิ์เข้าใจหน้าที่และการทำงานของผู้สื่อข่าวว่าต้องหา "ความจริง" และเบื้องหลังของข่าวและเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อส่วนรวมก็จะต้องพยายามบริหารราชการให้ดีและตอบคำถามผู้สื่อข่าวอย่างตรงไปตรงมา

จะดำเนินการอย่างไรกับ พล.ต.อ.พัชรวาทเป็นปัญหาของ นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพมาเป็นเดือน การให้สัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพไม่มีความชัดเจน ปากบอกว่า พล.ต.อ.พัชรวาทไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำคดีลอบสังหาร นายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่ง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีลอบสังหารนายสนธิก็ยืนยันเช่นเดียวกัน แต่นายอภิสิทธิ์และนายสุเทพกลับพูดจาและแสดงออกไปคนละทางสองทาง จน พล.ต.อ.พัชรวาทลาไปปฏิบัติราชการที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 5-14 สิงหาคม แต่พอถึงค่ำวันที่ 8 สิงหาคมก็เดินทางกลับมาอ้างว่า จะมีพายุฤดูร้อนเข้าสู่พื้นที่การปฏิบัติภารกิจ ประกอบกับจะเข้าร่วมงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จึงจำเป็นต้องเดินทางกลับมาก่อน ครั้นกลับมาถึงประเทศไทยก็เกิดความสับสนว่า พล.ต.อ.พัชรวาทจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปจนเกษียณซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 50 วัน ซึ่งงานสำคัญคือ การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับรองผู้บังคับการลงมาถึงสารวัตรหรือจะถูกแขวนไม่ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายดังกล่าว

หากการบริหารราชการของฝ่ายการเมืองในฐานะผู้บังคับบัญชามีความตรงไปตรงมา แสดงเหตุผลจน พล.ต.อ.พัชรวาทยอมรับได้ ทั้งนายอภิสิทธิ์ นายสุเทพ และ พล.ต.อ.พัชรวาทก็ควรจะตอบคำถามผู้สื่อข่าวสอดคล้องและตรงกัน ไม่ใช่พูดกันคนละเรื่อง เสมือนกับว่าไม่เคยคุยกันและถ้าจะถูกเข้าใจจากผู้สื่อข่าวและคนทั่วไปว่า ทั้งสองฝ่ายมีความขัดแย้งกันก็ไม่ใช่ความผิดของผู้ที่คิดและเข้าใจเช่นนั้น ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้มีความสับสนอย่างมาก มีปัจจัยต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็เผชิญมรสุมหลายด้าน จึงเป็นที่มาของข่าวลือ

ในเมื่อนายอภิสิทธิ์ไม่ย้าย พล.ต.อ.พัชรวาทมาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก็แสดงว่า พล.ต.อ.พัชรวาทยังเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่จะให้มีอำนาจในตำแหน่งหรือไม่ อย่างไรก็เป็นเรื่องที่จะต้องคำนึงถึงขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ตำรวจนับแสนๆ คน ต้องให้ความใส่ใจกับความรู้สึกนึกคิดของประชาชนทั้งประเทศที่ติดตามข่าวสารบ้านเมือง ยิ่งประชาชนในยามนี้แบ่งออกเป็นฝักฝ่าย มีการถือเขาถือเรา นี่พวกเดียวกัน นี่ฝ่ายตรงข้าม ความรู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมมีหลายมาตรฐานหรือไร้มาตรฐาน มีทั้งชื่นชอบและเกลียดชังรัฐบาล รัฐบาลจำเป็นจะต้องยึดหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการทำงานในหน่วยงานภาครัฐ ที่สำคัญ คือความสุจริต ความโปร่งใส

ประชาชนจะคลายความสับสนและงุนงงในกรณี พล.ต.อ.พัชรวาทจะอยู่ตรงไหน มีสถานะเช่นไรก็อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาจะสร้างความกระจ่าง ด้วยการพูดจากับสาธารณชนผ่านสื่อมวลชนให้รู้เรื่อง เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.พัชรวาทก็มีหน้าที่จะต้องชี้แจง การคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่อยากพูดชี้แจงใดๆ เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะการบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติซึ่งมีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดกระทบต่อความสงบสุข ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การกระทำใดๆ จึงไม่อาจปกปิดซ่อนเร้นได้ มีแต่จะต้องตอบกับสังคมให้ได้ถึงจะทำให้ประชาชนมองหน่วยงานแห่งนี้ด้วยความรู้สึกที่ดี