#ความสบายอกสบายใจของภาคประชาชนสายปฏิรูปในการล้มล้างทักษิณก็คือ พวกเขาไม่ได้ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยเลย เพราะประชาธิปไตยนั้นถูกล้มล้างไปโดยทักษิณก่อนหน้านั้นแล้ว...สิ่งที่พวกเขาโค่นล้มมันลงไปคือ"ระบอบทักษิณ"ต่างหาก..?!!
โดย คุณรักในหลวงห่วงลูกหลาน
ที่มา บอร์ดชุมชนฟ้าเดียวกัน
23 สิงหาคม 2552
หมายเหตุไทยอีนิวส์:ผู้ใช้นามปากกา"รักในหลวงห่วงลูกหลาน"ซึ่งเคยเขียนซีรีส์ยอดฮิต"ลากไส้สื่อเหี้ย"อันลือลั่น กลับมาอีกครั้งด้วยซีรีส์ชุดใหม่ลากไส้แวดวงNGO,นักวิชาการ,นักสิทธิมนุษยชน,นักกิจกรรมสังคม,นักศิลปิน,นักธุรกิจ,ศาล,องค์กรอิสระ และฝ่ายซ้ายเก่า ซึ่งเขาได้ตีแผ่วงการด้วยสำนวนฮาร์ดคอร์ดิบเถื่อนให้เห็นว่า เพราะเหตุใดแวดวงดังกล่าวจึงได้ผิดเพี้ยนเปลี่ยนจุดยืนมาสนับสนุนขบวนการอำมาตย์ได้อย่างน่าพิศวงอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งไทยอีนิวส์ได้รับอนุญาตจากผู้เขียนให้เผยแพร่เป็นตอนๆนับแต่บัดนี้
เนื่องจากว่ามีคนถามเรื่องเงินเดือนของNGO
ผมเลยจะบอกว่า เงินไม่ได้เป็นปัจจัยผลักดัน หรือแรงดึงดูดใจของคนที่มาประกอบอาชีพนี้หรอกครับ น่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายด้วยซ้ำ
เพื่อตอบคำถามนี้ผมเลยขอปูภาพรวมด้วยข้อเขียนของ"ใต้หล้า" ซึ่งที่น่าแปลกใจมากคือใต้หล้าได้เขียนบทความนี้ลงเผยแพร่ครั้งแรกในเวบปฏิกริยาล้าหลังอย่างเสรีไทยบอร์ด
ผมคิดว่าผมรู้จัก"ใต้หล้า"ดีว่าหมอนี่เป็นใคร? แต่เอาเถอะเห็นแก่ว่าเขียนบทความได้ภาษาสวยดี เลยจะเว้นโทษตายให้ซักคน ไม่ขอแฉว่ามันเคยมีกิ๊กเป็นแอร์สายการบินอาหรับเอมิเรตส์...อุ๊บส์!(NGOเหี้ยอะไรวะแดกของสูงเชียวนะสัดด)
ข้างล่างนี่คืองานเขียนของใต้หล้า ผมก๊อปมาจากเสรีไทย
000000000000000000000000000
ยอยศการเมืองภาคประชาชน,นาฏกรรมบนลานกว้าง:ชีวายอมพลีให้มวลชนผู้ทุกข์ทน ขอยอมตนไม่ว่าจะตายกี่ครั้ง
องค์ที่1:สายธารของภาคประชาชน:ต้นธารปฏิรูปVSต้นธารการปฏิวัติ
หากเทียบกับสายน้ำใหญ่แล้ว ประเทศไทยย่อมเคลื่อนไหวในกระแสธารหลัก(Main stream)อันมั่งคั่งเด่นอุดมด้วยสภาพแห่งความเป็นอนุรักษ์นิยม+จารีตนิยม+อำนาจนิยม+บริโภคนิยม
ทว่าก็มีอีกสายที่ประดุจดั่ง"น้ำแยกสาย" เราเรียกมันว่า"สายธารทางเลือกของประชาชน" หรือที่เรียกขานกันทั่วไปว่า"ภาคประชาชน"
ในบทความนี้ผมจะไม่กล่าวถึงสายธารหลักของสังคมไทย เนื่องจากกล่าวไว้ในบทความอื่นของบทความชุดนี้ไปแล้ว แต่จะเจาะจงลงไปที่สายธารของภาคประชาชน หรือจะเรียกสายธารกระแสทวน หรือสายธารทางเลือกก็ตามใจ และตามที่เป็นจริง(ดังจะกล่าวต่อไป)
#ปรีดี พนมยงค์
หลังการปฏิวัติ2475 ของคณะราษฎร์แล้ว ปรีดี พนมยงค์ ผู้นำทางสติปัญญาของคณะฯต้องล้มเหลวในการปฏิวัติประชาชาติด้านเศรษฐกิจโดยสิ้นเชิง เมื่อต้องเผชิญแรงปฏิกิริยาต่อต้านการปฏิวัติจากพลังจารีตนิยมและอนุรักษ์นิยม+อำนาจนิยม เขาจำต้องกลายเป็นนักปฏิรูปสังคมด้วยข้อจำกัดดังกล่าวในระยะต่อมา
ภายหลังการถึงแก่การอสัญกรรมของแกนนำปฏิวัติ2475คือนายพันเอกพระยาทรงสุรเดช อย่างอนาถาในอินโดจีน ก็นับเป็นการขจัดเสี้ยนหนามสำคัญทางทหารของจอมพลป.ผู้เผด็จการ เหลือหอกข้างแคร่ก็เพียงผู้นำสายพลเรือนคือปรีดี พนมยงค์ ซึ่งต้องเผชิญข้อหาร้ายแรงที่สุดในคราวสวรรคต9มิถุนายน2489
หลังรัฐประหาร8พ.ย.2490 ซึ่งพลิกผันชะตาจอมพลป.จากอาชญากรสงครามกลับสู่บัลลังก์นายกรัฐมนตรีนั้น... ความพยายามการรื้อฟื้นตำนานคณะราษฎร์ของปรีดีต้องประสบความล้มเหลวลงหลายครั้ง หลายคราว ทั้งกรณีกบฏวังหลวง พ.ศ.2492 ทั้งกรณีกบฏเสนาธิการในระยะถัดมา และกรณีกบฏแมนฮัตตันในปี2494 เป็นการปิดฉากของปรีดี พนมยงค์อย่างเบ็ดเสร็จ และเปิดศักราชใหม่ของเผด็จการเต็มคราบ
การกวาดล้างใหญ่ของฝ่ายเผด็จการหลายครั้งหลายระลอกเต็มไปด้วยบาดแผลและเลือดเนื้อของสานุศิษย์ปรีดี ทั้งกรณี4รัฐมนตรีอีสาน เตียง ศิริขันธ์ -จำลอง ดาวเรือง-ทองอินทร์ ภูริพัฒน์-ถวิล อุดล และกรณีนักหนังสือพิมพ์อารีย์ ลีวีระ ทั้งกรณีของการเหวี่ยงแหจับกบฏสันติภาพนำโดยกุหลาบ สายประดิษฐ์-ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ และบุตรชาย
การกวาดล้าง ดำเนินต่อไปอีกหลายระลอก กระทั่งการกวาดจับนักหนังสือพิมพ์ และปัญญาชนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์ ,ทองใบ ทองปาวด์ ,รพีพร ,อุธรณ์ พลกุล เป็นอาทิ
หลังการอสัญกรรมของผู้เผด็จการสฤษดิ์ในปี2506 ความคลี่คลายขยายตัวของ"ภาคประชาชน"เหล่านี้ก็แยกสายธารอย่างเด่นชัดเป็นแม่น้ำ2สาย คือสายการปฏิวัติ อันเป็นสายกระธารกระแสทวนกับสายธารกระแสหลัก กับสายธารทางเลือก หรือเน้นการปฏิรูป
ทว่าทั้งสองสายล้วนมีต้นธารมาจากแหล่งเดียว ต้นน้ำนั้นชื่อปรีดี พนมยงค์...
องก์ที่2.ว่าด้วยสายธารกระแสทวน-สายธารการปฏิวัติของภาคประชาชนยุคเมื่อแรก
#สฤษดิ์ ธนะรัตน์
ครูครอง จินดาวงศ์ แห่งสกลนคร ผู้สืบสายธารของเตียง ศิริขันธ์ (ขุนพลภูพานตำนานเสรีไทยสายอีสาน และMissionลับสหพันธรัฐอินโดจีน หรือหน้าตาคล้ายๆสหภาพยุโรปเวลานี้ สานุศิษย์ปรีดี)ถูกสฤษดิ์ยิงเป้าในพ.ศ.2506 ย่อมยังผลสะเทือนต่อไขแสง สุกใส นักการเมืองหนุ่มน้อยนครพนม ผู้ชมชื่นทั้งเตียงและครอง สะเทือนไปถึงเปลื้อง วรรณศรี แห่งสุรินทร์,แคล้ว นรปติ-ทองปักษ์ เพียงเกษ แห่งขอนแก่น
การสังหารโหดทั้งนอกกฎหมายและในนามมาตรา 17 นอกจากผลักดันให้นักการเมืองหนุ่มภาคอีสานหันมาสมาทานลัทธิสังคมนิยมอันเป็นสถานการณ์สากลเวลานั้นที่มีให้เลือกคือประชาธิปไตยในนามเผด็จการที่อเมริกา ชี้ชัก กับผลสะเทือนของการปฏิวัติอินโดจีนของโฮจิมินห์ และขบวนประเทดลาว กับขบวนการรักชาติในกัมพูชา) ก็เป็นแรงผลักดันให้ปัญญาชนอย่างจิตร ภูมิศักดิ์-อัศนี พลจันทร(นายผี),อุดม ศรีสุวรรณ-(พ.เมืองชมพู) และพันโทโพยม จุลานนท์(ส.คำตัน) เดินทางสู่เขตป่าเขาร่วมทัพการต่อสู้กับพรรคการเมืองนอกกฎหมายอย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.)
อีกบางส่วนเดินทางลี้ภัยในประเทศสังคมนิยมอย่างกุหลาบ สายประดิษฐ์(ศรีบูรพา) แม้กระทั่งปรีดีและครอบครัว
ต้นสายปลายธารของภาคประชาชนสายการปฏิวัติดำเนินสืบเนื่องมาสู่เจเนชั่นที่ 2 เมื่อไขแสง สุกใส เข้าไปมีการนำต่อผู้นำนักศึกษายุคก่อน14ตุลาฯอย่างธีรยุทธ์ บุญมี-เสกสรร ประเสริฐกุล-ธัญญา ชุณชฎาธาร-สมคาด สืบตระกูล-ประสาร มฤคพิทักษ์-พิรุณ ฉัตรวนิชกุล แม้กระทั่งไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ-ๆไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม และฯลฯ
และ หลัง14ตุลา2516ก็ผลิตซ้ำอุดมการณ์ผ่านไปยังคนรุ่นเกรียงกมล เลาหไพโรจน์-คำนูณ สิทธิสมาน-พิเชียร อำนาจวรประเสริฐ-หมอมิ้งพรหมินทร์,ภูมิธรรม เวชยชัย,สุธรรม แสงปทุม,สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล,ธงชัย วินิจกุล ,นักศึกษาแพทย์จาตุรนต์ ฉายแสง-จิ้นกรรมาชน-หงาคาราวาน-พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ-เสถียร จันทิมาธร และขบวนการนักศึกษาขนาดใหญ่พอสมควร กระทั่งขบวนการนักศึกษานั้นหันมาสมาทานในลัทธิสังคมนิยมอย่างลึกซึ้ง
#6ตุลาคม2519
จึงไม่น่าแปลกใจที่ว่าพอเกิดกรณี6ตุลาคม 2519แล้ว นักศึกษากว่า3,000คนได้เข้าร่วมกับพคท.จับอาวุธขึ้นสู้ในเขตป่าเขา ยกเว้นแต่สายที่นิยมการลุกฮือในเมือง อย่างสายของผิน บัวอ่อน(อันมีคำนูณเป็นแก่นแกนสายนี้)
การปฏิวัติในเขตป่าเขาปิดฉากลงด้วยความขมขื่นพ่ายแพ้ของ"ภาคประชาชน"สายนี้ เมื่อเจเนเรชั่นนี้ต้องไปเกิดCultural gapกับเจเนเรชั่นแรกอย่างวิรัช อังคถาวร และหัวขบวนคอมมิวนิสต์นิยมจีน หรือใครต่อใครประการหนึ่ง
อีกประการหนึ่งสถานการณ์ในทางสากลพลิกผันอย่างรวดเร็ว จีนแตกคอกับโซเวียต และจีนเปิดฉากรุกรานเวียดนามในนามของสงครามสั่งสอน ลาวที่ให้ที่พักพิงกับพคท.ตัดสัมพันธ์กับพรรคไทย เพราะต้องเดินตามเวียดนาม ขณะที่พรรคไทยเดินตามจีน...วิทยุสปท. หรือ"วิทยุปักกิ่ง"(ทางการไทยเรียกยังงั้น)โดนปิดตัวลง
และนั่นก็เป็นการสิ้นสุดตำนานภาคประชาชนในสายธารการปฏิวัติ
องก์ที่3.ว่าด้วยสายธารทางเลือก-สายธารการปฏิรูปของภาคประชาชนเมื่อแรก
ขณะ ที่การคลี่คลายขยายตัวของภาคประชาชนสายปฏิวัติดำเนินไปดังกล่าวข้างต้น อีกสายก็เริ่มแตกหน่ออ่อนเป็นภาคประชาชนที่เน้นการปฏิรูปสังคม น่าพิจารณาก็คือล้วนมีต้นสายจากปรีดี พนมยงค์
ผู้ให้กำเนิดNGO-ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นผู้ให้กำเนิดNGOในไทยเป็นครั้งแรกราวพ.ศ.2512 ในภาพนำลูกศิษย์ลงจากหอคอยงาช้างไปย่ำโคลนเพื่อพัฒนาชนบทที่ชัยนาท แต่NGOทุกวันนี้ผิดเพี้ยนไปจาก ณ เริ่มแรกอย่างสุดจะคาดคิดถึง คือจากจุดเริ่มที่เห็นศักยภาพคนเล็กคนน้อยคนยากคนจน กลายเป็นอำมาตย์ขุนนางตัวใหม่ที่หมิ่นแคลนรากหญ้าขึ้นมา
ผู้นำการปฏิรูปย่อม เป็นนายเข้ม เย็นยิ่ง-ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตเสรีไทยสายอังกฤษ มิตรร่วมรบสหายศึกของ"รูธ"ปรีดีเมื่อครั้งสงครามโลก และกลายมาเป็นผู้ว่าการธนาคารชาติ
ป๋วยนั้นไม่คิดจะถอนรากถอนโคน สังคมแบบรุนแรงดังสายปฏิวัติ ด้านหนึ่งเขาส่งนักเรียนทุนแบงก์ชาติไปเรียนยุโรปหรืออเมริกา แล้วกลับมามีหน้าตาแบบไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม-วิจิตร สุพินิจ +เอกกมล คีรีวัฒน์ แห่งแบงก์ชาติ
อีกสายหนึ่งป๋วยได้เปิดมูลนิธิบูรณะชนบทอันเป็นองค์การพัฒนาเอกชน(NGO)แห่งแรกๆ ของไทย และมีพื้นที่ปฏิบัติงานในเขตชัยนาทในปี2512 อันมีพิภพ ธงชัย,บำรุง บุญปัญญา(เปี๊ยก),บุญเรือง สุขสวัสดิ์ ,พิศิษฐ์ ชาญเสนาะ แห่งสมาคมหยาดฝน จังหวัดตรัง หรือครูแดง-เตือนใจ ดีเทศน์ เป็นอาทิ
ขณะที่ครูประทีป อึ๊งทรงธรรม ก็เริ่มมูลนิธิดวงประทีป ในสลัมคลองเตย ในอีกหลายปีต่อมา
ด้านหนึ่งนักเรียนเก่าอังกฤษคือสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือส.ศิวรักษ์ ผู้ศรัทธาในปรีดีและป๋วย ก็สร้างตำนานผ้าม่วง หวนโหยหาภูมิปัญญาไทยในอดีตมาปฏิรูปสังคมไทยในยุคนั้น มีลูกศิษย์ลูกหามากหลาย และเข้าไปซึมแทรกเป็นนักกิจกรรมนักศึกษาสายปฏิรูป หรือสายพุทธอยู่หลายคน อาทิสุชาติ สวัสดิ์ศรี,(ต่อมาเป็น)พระไพศาล วิสาโล,ประชา หุตานุวัตร,สันติสุข โสภณศิริ,เทพศิริ สุขโสภา,วีระ สมบูรณ์,รสนา โตสิตระกูล เป็นอาทิ
ขณะที่ในเขตป่าเขา พคท.ได้รับการต้อนรับอันอบอุ่นและขนานใหญ่จากนักศึกษาฝ่ายซ้าย สายธารภาคประชาชนสายการปฏิวัติหลังเหตุการณ์6ตุลาฯ ในพื้นที่ชนบทอันซ้อนทับกันนั้นคนอย่างพิภพ ธงชัย-เตือนใจ ดีเทศน์-พิศิษฏ์ ชาญเสนาะ และโกมล คีมทอง แห่งสายธารการปฏิรูปก็กำลังเข้าสู่ชนบทในนามของการ?พัฒนา?
ทว่าโชคร้ายที่โกมล คีมทอง ไม่ได้กลับมาจากพื้นที่สุราษฎร์ ว่ากันว่าเขาโดนภาคประชาชนสายการปฏิวัติสังหาร เพราะสงสัยเป็นจารชนของรัฐบาล...
หลังเหตุการณ์6ตุลาฯ ขณะที่ภาคประชาชนสายการปฏิวัติขึ้นสู่กระแสสูง แต่กลับเป็นกระแสต่ำของภาคประชาชนสายการปฏิรูป เนื่องเพราะว่าป๋วยผู้นำการปฏิรูปต้องถูกให้ร้ายจากฝ่ายขวาว่าเขาเป็นผู้นำสายการปฏิวัติ และโดนเนรเทศในกรณี6ตุลาฯ ขณะที่บทบาทของส.ศิวรักษ์ก็เป็นไปในแวดวงจำกัดพอสมควร
สายการปฏิรูปกลับสู่กระแสสูงอีกครั้งหลังเหตุการณ์"ป่าแตก"ในราวปี2524-2525 และถือเป็นการขึ้นสู่กระแสสูงอย่างต่อเนื่องของสายนี้ จนมาเป็นภาคประชาชนที่เราเห็นและรู้จักกันในทุกวันนี้
องก์ที่4.การคลี่คลายขยายตัวของสายธารกระแสทวน กับสายธารทางเลือก
4.1สายการปฏิวัติที่วิวัฒนาการเข้าสู่ทำเนียบไทยคู่ฟ้า
หลัง"ป่าแตก"ในปี2525อย่างเด็ดขาด ภาคประชาชนสายกระแสทวนกลับสู่นาครด้วยสภาพของ"ชิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์"แบบ เสกสรรค์ บ้างก็ในสภาพของ"กรวดเม็ดร้าว-ใบไม้ที่หายไป"แบบจิระนันท์ พิตรปรีชา บ้างก็"นกสีแดง-ตำนานนกสีเหลือง"อย่างวัฒน์ วรรลยางกูล หรือ"แผ่นดินของเขา"แบบศิวะ รณชิต(สุวัฒน์ วรดิลก)
ทุกคนกลับสู่สายธารกระแสหลักที่พวกเขาเคยเห็นเป็น"สังคมเก่า-สังคมทราม"ที่ต้องโค่นล้มเปลี่ยน แปลง ต้องมาเข้าห้องเรียน กลายเป็นดร.เสกสรรค์ กลายเป็นอาจารย์ธีรยุทธ กลายเป็นอาจารย์ดร.สมศักดิ์ เจียมฯ อาจารย์ดร.เกษียร ศ.ดร.ธงชัย กลายเป็นคนหนังสือพิมพ์แบบเสถียร จันทิมาธร มาออกเทปขายแบบหงาคาราวาน หรือ"ชีวิตฉันมีแต่หมานำ"แบบพงษ์เทพ กระโดนชำนาญ
อีกส่วนหนึ่งก็กลับกลายเป็นนักการเมืองอย่างอดิศร เพียงเกษ,จาตุรนต์ ฉายแสง,จตุรนต์ คชสีห์,พินิจ จารุสมบัติ,การุณ ใสงาม และหมอพรหมมินทร์ เลิศสุริย์เดช ในเวลาหลายปีต่อมา รวมทั้งภูมิธรรม เวชยชัย หรือเกรียงกมล ที่เป็นแมนบีไฮด์เดอะซีนของทักษิณ
เมื่อการปฏิวัติในเขตป่าเขาล้มเหลว หนทางการยึดทำเนียบจึงเป็นคูหาเลือกตั้งแทน
ส่วนเจเนเรชั่นที่3ของ สายธารกระแสทวนเป็นไปอย่างกระปลกกระเปลี้ย กว่าจะรื้อฟื้นศูนย์นิสิตกลับมาใหม่ในนามของสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศ ไทย(สนนท.)ก็ล่วงถึงปี2524 โดยนักศึกษาแพทย์มหิดลนามภูษิต ประคองสาย ส่งไม้ต่อให้อภิชาติ ขำเดช ล่วงมาถึงอนุสรณ์ ธรรมใจ,นักศึกษาแพทย์หญิงวิลาสินี หมอกเจริญพงศ์ กว่าจะมาเป็นปริญญา เทวานฤมิตรกุล+กรุณา บัวคำศรี ในยุคพฤษภาทมิฬ2535 และกลายมาเป็นสุริยะใส กตศิลา และในยุคหลังปี2540 ตามติดด้วยอุเชนทร์ เชียงเสน แห่งยุคต้านโรงไฟฟ้าหินกรูด หรือท่อก๊าซไทย-มาเลย์ และยุคปัจจุบันร่วมสมัยที่กำลังงัวเงียถามหาวิญญาณประชาธิปไตยจากรุ่นพี่
ส่วน หนึ่งก็กระจัดกระจายไปทำงานสื่ออย่างเสถียร จันทิมาธร,คำนูณ สิทธิสมาน,พิรุณ ฉัตรวนิชกุล หรือกระทั่งชัชรินทร์ ไชยวัฒน์(ที่มาพลอยฟ้าพลอยฝนโดนจับคดีคอมมิวนิสต์ร่วมกับพิรุณในปี2527) หรือ สำราญ รอดเพชร ไพศาล พืชมงคล เป็นอาทิ
4.2สายธารการปฏิรูปคลี่คลายไปเป็นNGO..ภาคประชาชน
ขณะที่สายธารการปฏิรูปค่อยคลี่คลายเป็นองค์การพัฒนาภาคเอกชนอย่างเป็นทางการในหลังยุค6ตุลาฯ เริ่มต้นจากงานมนุษยธรรมด้วยการช่วยเหลือเขมรอพยพในช่วงปี2521ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ และเมื่อหมดยุคเขมรอพยพ ค่อยเข้าสู่การำงานพัฒนาชุมชนในเขตชนบท อันเป็นรูปธรรมเช่น
#อภิชาต ทองอยู่
-ญัค#อภิชาต ทองอยู่ (ซึ่งต่อมาจะเป็นเลขาธิการและโฆษกพรรคมหาชนของเสธ.หนั่น และบอร์ดTPBS)ไปฝังตัวในพื้นที่ขอนแก่น
-เปี๊ยก#บำรุง บุญปัญญา ซึ่งไปเป็น?กูรู?ในวงการพัฒนาภาคเอกชนแถบอีสานใต้ และต่อมาอีสานเหนือ
-สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งเคลื่อนไหวขบวนการครูในพื้นที่โคราชและบุรีรัมย์ สมทบด้วยสุชน ชาลีเครือ ในพื้นที่เขตชัยภูมิ
-เปี๊ยก#พิภพ ธงชัย ซึ่งปักหลักสร้างซัมเมอร์ฮิลล์ขึ้นในพื้นที่ป่าเมืองกาญจน์ ก่อตำนาน?หมู่บ้านเด็ก?
-ครูแดง#เตือนใจ ดีเทศน์ เข้าไปใน?หมู่บ้านด้วยหัวใจอันเบิกบาน?ในพื้นที่สูงจังหวัดเชียงราย
-ครูประทีป อึ๊งทรงธรรม บุกเบิกพัฒนาสลัมคลองเตย จนคว้ารางวัลแม็กไซไซ
-โย#บำรุง คะโยธา กรรมกรดีกรีเยอรมัน ซึ่งบุกเบิกงานพัฒนาชุมชนในเขตสายนาวัง กาฬสินธิ์
-สมภพ บุนนาค เชื้อสายขุนนางเก่าไปเปิดงานพัฒนาชุมชนในชื่อองค์การแพลนในย่านขอนแก่น-มหาสารคาม ร่วมกับ?ปู่?เดช พุ่มคชา
-บุญเรือง สุขสวัสดิ์ สืบสานพื้นที่พัฒนาชัยนาทต่อจากยุคเริ่มต้นที่ดร.ป๋วยสร้างเอาไว้
-พิศิษฏ์ ชาญเสนาะ ไปบุกเบิกงานพัฒนาในเขตเกาะแหลมสนแหลมมะขาม อ.สิเกา จังหวัดตรัง
-บรรจง นะแส ซึ่งพกดีกรีปริญญากลับบ้านด้วยวัวตัวหนึ่ง เพื่อเปิดพื้นที่งานพัฒนาในเขตนครศรีธรรมราช
-สุลักษ์ ศิวรักษ์กับสานุศิษย์ ที่เปิดพื้นที่อาศรมวงศ์สนิทนครนายกฯ
-จอน อึ๊งภากรณ์ เปิดพื้นที่เมืองรณรงค์ในโครงการเข้าถึงเอดส์
-เสน่ห์ จามริก ที่เปิดมูลนิธิท้องถิ่นไทย เชื่อมโยงสายใยไปหาศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ในตอนเป็นประธานNGO เชื่อมสายโยงยาวมาเป็น สสส.ในเวลาต่อมา
-รสนา โตสิตระกูล แห่งมูลนิธิโกมลคีมทอง ที่ต่อมารณรงค์เรื่องทุจริตยา
-กวิน ชุติมา และดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ แห่งคณะกรรมการรณรงค์เผยแพร่งานพัฒนา
-พิศิษฏ์ ณ พัทลุง และศรีสุวรรณ ควรขจร ในนามมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ
-ไพโรจน์ พลเพชร สมชาย หอมละออ แห่งสมาคมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพประชาชน
-แม้กระทั่ง บก.ลายจุด หรือสมบัติ บุญงามอนงค์ แห่งมูลนิธิกระจกเงาในยุคหลังๆ
-บรรจบบรรสานกับนักวิชาการ+ข้าราชการสายปฏิรูปอย่างร.ต.อ.มรว.ศ.ดร.อคิน รพีพัฒน์ แห่งRDI มหาวิทยาลัยขอนแก่น,ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ และคณะแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่,ศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง แห่งรายการเวทีชาวบ้าน,ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวนิช แห่งสำนักจุฬาฯ และสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าหวยขาแข้ง และยืนยง โอภากุล ผู้รณรงค์"ไทยนิยม"ผ่านงานเพลง เป็นอาทิ
สิ่งที่ผมพบเจอในขบวนการภาคประชาชนที่ชื่อ NGO โดยรวมๆก็คือ
-พวกเขาล้วนแต่แน่วแน่ในอุดมคติที่จะเสียสละเพื่อผู้อื่น แต่เนื่องจากไม่ได้รับทุนจากภาครัฐ ส่วนใหญ่ก็ต้องขอทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นองค์การสาธารณกุศล หรือองค์การด้านศานา(โบสถ์คริสเตียน) หรือองค์กรด้านแรงงาน ดังนั้นข้อเรียกร้องต้องการต่อคนในขบวนจึงเคร่งครัดไม่ต่างกันนักคือ คนในขบวนต้องมักน้อย ได้เงินเดือนพอยังชีพ ทว่าต้องอุทิศตัวเสียสละอย่างสูง จะหวังความสะดวกสบายหาไม่ได้เลย แล้วยิ่งหวังว่าจะตั้งตัวได้ก็อย่าหวัง ก็เลยกลายเป็นว่าเอาไปเอาก็จะคัดกรองเหลือเฉพาะคนที่มีฐานะทางบ้านดี หรือไม่เป็นภาระจะอยู่ในขบวนการได้ยืดเยื้อหน่อย
-พวกเขามีวิธีคิดที่แข็งตัวไม่ค่อยยืดหยุ่น คือทำตัวเคร่งครัดยิ่งกว่าพระ อาจเป็นเพราะจะได้ทนทานต่อสภาพงานการ คิดภาพเป็นดำเป็นขาว ดังนั้นไม่แปลกนักหากในเวลาต่อมาเมื่อผมพ้นจากการเป็นNGOมาทำงานข่าว หรือกระทั่งกลายเป็นนักธุรกิจแล้วจะถูก?รุ่นใหญ่?บอกว่า?ไอ้นี่มันเปลี่ยนไปแล้ว?(กล่าวคือเปลี่ยนสีแปรธาตุในทัศนะของรุ่นใหญ่เหล่านั้น)
-พวกเขาปฏิเสธและออกจะชิงชังสังคมบริโภคนิยม ทุนนิยม หรือต่อต้านโลกาภิวัตน์ ดังมีเรื่องว่าเมื่อผมไปหาสุลักษณ์ที่บ้านนั้น ที่นั่นไม่มีทีวีให้ดู ลูกเขาต้องไปดูทีวีที่ข้างบ้าน ,เมื่อผมไปเยี่ยมญัค-อภิชาตนั้น เขานอนอยู่ที่?ตูบต่อเล้า?หรือบ้านปั้นดินเหนียวติดฉางข้าว แล้วจุดไต้หรือตะเกียง แทนไฟฟ้า,หรือเมื่อผมไปหาเปี๊ยก-บำรุง บุญปัญญาเพื่อโน้มน้าวให้เขามาเป็นแม่ทัพหน้าในการขับเคี่ยวกับภาครัฐที่กำลัง แย่งชิงทรัพยากร ไล่ที่ทำเขื่อนปากมูล ไล่ที่ปลูกป่ายูคา ไล่ที่ทำนาอุตสาหกรรมนาเกลือนั้น บำรุงกำลังรณรงค์เรื่อง?ภูมิปัญญาชาวบ้าน?อยู่อย่างเอาการเอางาน และเมื่อผมไปเยี่ยมพิภพ ธงชัย ที่หมู่บ้านเด็กนั้น ผมเห็นเด็กที่นั่นกำลังเป็น?สิ่งแปลกแยกกับโลกภายนอกที่มันเป็นจริง? หรือเมื่อผมไปหาโย-บำรุง คะโยธา ในหมู่บ้านที่กาฬสินธุ์นั้น เขากำลังหั่นมันสำปะหลังเลี้ยงหมูอยู่ เพราะเขาต่อต้านรำข้าวจากโรงสีไฟฟ้าฯลฯ
-พวกเขาเน้นการรณรงค์ประชาชนให้กลับไปใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ต่อต้านกระแสทุนสมัยใหม่ที่กำลังเชี่ยวกราก ดังนั้นเขื่อนทุกเขื่อนจึงเป็นเรื่องที่ต้องต่อต้าน เพราะไฟฟ้าไปสู่เมืองและไปสู่โรงงานอุตสาหกรรมของกลุ่มทุน หรือบรรษัทข้ามชาติ ดังนั้นสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ก็จึงรณรงค์ตั้งสหกรณ์ครูและชาวนาให้เป็นเกียรติแก่ครูที่เสียสละในการต่อสู้ กับกลุ่มทุนท้องถิ่น,ญัค-อภิชาตจึงเขียนหนังสือ?คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน?, บำรุง บุญปัญญา ก็จึงรณรงค์ชาวนาให้ทำเกษตรผสมผสาน และทำเกษตรแบบทำอยู่ทำกิน(ก่อนจะกลายเป็นเศรษฐกิจพอเพียงในวาระต่อมาอีก2ทศวรรษ),พิศิษฏ์ ชาญเสนาะ ก็พาชาวมุสลิมในสิเกา ฟื้นฟูป่าชายเลน,เตือนใจ ดีเทศน์ ฝังตัวในหมู่บ้านด้วยหัวใจอันเบิกบาน,ครูประทีปก็อยู่ในสลัมด้วยหัวใจอาสาสมัคร เช่นเดียวกับสุวิทย์ วัดหนู
-พวกเขาไม่ได้ค่อยสนใจในสิ่งที่เรียกว่า"การต่อสู้ในเชิงโครงสร้าง" คือการขับเคี่ยวทางการเมืองนัก และออกจะปฏิเสธวิถีนั้น เพราะได้เห็นแล้วว่าพวกภาคประชาชนสายปฏิวัติก็ทำล้มเหลวมาแล้ว
อย่างไรก็ตามโครงสร้างด้านบนบุกมาเยือนภาคประชาชนสายปฏิรูปอย่างไม่ตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐจะสร้างเขื่อนน้ำโจน จนสืบต้องพลีชีพเพื่อปกป้องป่าผืนนั้น,ไม่ว่าจะเป็นกรณีเขื่อนปากมูลที่รัฐใช้ความรุนแรงกับช่าวนาเจ้าของพื้นที่อย่างไม่ไยดี,ไม่ว่าจะเป็นการที่รัฐและทุนเข้าไปทำลายพื้นที่นาข้าว3จังหวัดอีสานด้วยการหนุนกลุ่มทุนท้องถิ่นทำอุตสาหกรรมเกลือสินเธาว์,การไล่ชาวนาออกจากพื้นที่ให้ทหารไปปลูกไม้ยูคาลิปตัส,การรุกไล่ชาวบ้านในกรณีท่อก๊าซเมืองกาญจน์,การรุกไล่ชาวบ้านกรณีเหมืองแม่เมาะ,กรณีมลพิษนิคมอุตสาหกรรมลำพูน,กรณีโรงไฟฟ้าหินกรูด และท่อก๊าซไทย-มาเลย์
เมื่อชาวนาอยู่ไม่สุข ใครเล่าจะมีแรงทำเกษตรผสมผสาน ทำเกษตรพออยู่พอกิน ฟอกย้อมหม่อนไหมด้วยสีธรรมชาติ รักษากันด้วยสมุนไพรยาป่า หรือจุดตะเกียงแข่งกับแสงนีออนกันต่อไป ก็จำเป็นอยู่เองที่NGOที่มีลักษณะต่อต้านการบริโภคนิยม ต่อต้านโลกภิวัตน์ จำต้องเข้าเป็นพลังหนุนชาวนา
#บำรุง คะโยธา
กระทั่งก่อรูปขบวนขึ้นเป็นสมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน(สกยอ.)ใต้การนำของโย-บำรุง และอโศก ประสานสอน อดีตผู้นำกรรมกร ที่ตอนนี้เป็นชาวนาที่ขอนแก่นบ้าง,สมัชชาคนจนใต้ธงนำของNGOทั้งประเทศบ้าง มีสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์-บำรุง บุญปัญญาหนุนเนื่องบ้าง,กลุ่มต่อต้านเขื่อนปากมูลใต้การนำของวนิดา ตันติพิทักษ์บ้าง,ต่อต้านท่อก๊าซเมืองกาญจน์ใต้การนำของสุลักษณ์ และพ่วงเอาศิษย์สำนักในอดีตอย่างพิภพ ธงชัยออกมาบ้าง
กระทั่งวันหนึ่งพวกเขาก็ได้ข้อสรุปที่จัดเจนว่าต้องมีคนของภาคประชาชนไปอยู่ใน สภา นั่นเองครูประทีป,ครูแดง,อาจารย์จอน,อาจารย์เจิม,ครูสุชน,ครูหยุย,ครูยุ่น และใครต่อใครจึงพาเหรดเข้าสภาสูงในยุคทักษิณทรงอำนาจเหนือตึกไทยคู่ฟ้า
องก์ที่5.การบรรจบของ2สายธารในกรณีรัฐประหาร19กันยาฯ
#สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
ส่วนภูมิธรรมที่เคยอยู่สายปฏิรูปด้วยการปลุกปั้นมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม(มอ ส.)ที่จุฬาฯปลุกปั้นคนรุ่นใหม่ออกไปเป็นอาสาสมัครในชนบท เป็นNGOหน่อใหม่มาหลายสิบรุ่นนั้น ผันแปรมาผนึกกับมิตรเก่าสายปฏิวัติในอดีต โดยการไปเป็นกุนซือทางการเมืองให้นายทุนชาติที่ชื่อทักษิณ แล้วก็พ่วงพรรคพวกจากจุฬาฯอย่างสุธรรม แสงปทุม ดึงเอาเกรียงกมล-หมอมิ้ง-จาตุรนต์(ซึ่งทิ้งชีวิตนักศึกษาแพทย์ไว้ในป่า แล้วมาเอาดีด้านรัฐศาสตร์)-พินิจ จารุสมบัติ-สุธรรม แสงปทุม-อดิศร เพียงเกษ-ไอ้ก้านยาว ประพัฒน์ แซ่ฉั่ว(ปัญญาชาติรักษ์)-ผดุงศักดิ์ พื้นแสน หรือใครต่อใครในเวลาต่อมา
กล่าวได้ว่าขณะที่ภาคประชาชนสายปฏิวัติใน อดีตกลมกลืนไปได้ดีกับนายทุนชาติ และพยายามยิ่งยวดในการเปลี่ยนเจ้าพ่อธุรกิจสื่อสารให้"เท้าติดดิน"ด้วยการ"แปลงภูมิปัญญาNGOให้เป็นทุน"ทั้ง30บาททุกโรค,พักหนี้เกษตรกร,ธนาคารคนจน,OTOP
ทว่าด้านหนึ่งฝ่ายประชาชนสายปฎิรูปยังเดินหน้าต่อต้านโลกาวัตน์อย่างแข็งขืน และยืนท้าทายกระแสบริโภคนิยมอย่างทระนง มีบ้างบางส่วนที่เข้ามาเป็นสว.ภาคประชาชน(ซึ่งก็ยืนตรงข้ามกับทักษิณทั้งนั้น)
กระแสขับเคี่ยวโค่นล้มทักษิณมาถึงก็ต่อเมื่อพลังกระแสหลักของสังคมไทย คือพลังจารีตนิยม+อนุรักษ์นิยม+อำนาจนิยม ไฟเขียวเต็มที่ให้กับสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นนายทุนชาติด้านสื่อและอดีตพันธมิตรผู้แนบแน่นกับทักษิณ "หัก"ทักษิณด้วยข้อหา"ทุนสามานย์"และทรราชย์แห่ง"ระบอบทักษิณ"
ไม่ว่าจะเพราะทักษิณเป็นหรือไม่เป็นทุนสามานย์ หรือสนธิลิ้มฯเป็นทุนบริสุทธิ์ผุดผ่อง ทว่าพลพรรคร่วมค่ายซ้ายเก่าอย่างคำนูณ-ไพศาล-สำราญก็ออกศึกรำดาบพุ่งทวนไป ใส่ร่างทักษิณอย่างพร้อมเพียง พร้อมเพรียกหาพันธมิตรที่คุ้นเคยอย่างอาจารย์สมเกียรติ-พิภพ-ส.ศิวรักษ์-หงา คาราวาน-แอ๊ด คาราบาว-เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง-แก้วสรร อติโพธิ์ หนุนเนื่องด้วยประเวศ วะสี และฯลฯออกรบอย่างคับคั่ง
ภาคประชาชนสายปฏิรูปทั้งมวลหรือเกือบทั้งหมดก็ว่าได้ต่างร่วมเป็นพันธมิตรทั้งจงใจ และไม่ตั้งใจในการขับเคี่ยวโค่นล้มทักษิณในบริบท และบาทก้าวที่แตกต่างกันไป...
อาจกล่าวได้ว่าภาคประชาชนสายปฏิรูปได้ลุกขึ้นมาโค่นล้มในสิ่งที่ฟากประชาชนสายการปฏิวัติกำลังฟูมฟักว่าเป็นชิ้นงานมาสเตอร์พีซของพวกเขา นั่นก็คือเศรษฐกิจประชาธิปไตยแบบ"ทักษิโนมิกส์"
มาถึงตรงนี้คงพอเดากันออกแล้วว่า ทำไมภาคประชาชนสายปฏิรูปจึงก่อตัวขึ้นสู่กระแสสูงยิ่งในการต่อต้านทัดทานและ โค่นล้มทักษิณ ชินวัตร ก็เนื่องเพราะรากฐานเป็นมานั้นพวกเขารังเกียจกระแสบริโภคนิยม-ทุนนิยม-ทุน ข้ามชาติ กระทั่งเกิดนิยามศัพท์"ทุนสามานย์"ในเวลาต่อมา
ความสบายอกสบายใจของภาคประชาชนสายปฏิรูปในการล้มล้างทักษิณก็คือ พวกเขาไม่ได้ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยเลย เพราะประชาธิปไตยนั้นถูกล้มล้างไปโดยทักษิณก่อนหน้านั้นแล้ว...สิ่งที่พวกเขาโค่นล้มมันลงไปคือ"ระบอบทักษิณ"ต่างหาก
ทว่าเนื่องจากประสบการณ์ของภาคประชาชนสายปฏิรูปในสายงานด้านการเมืองหรือโครง สร้างด้านบนนั้นมีข้อจำกัดมาก ทำให้พวกเขากำลังงุนงงสับสนกับตัวเองอยู่มากว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในการรัฐประหาร19กันยาฯนั้นคืออะไร? ผลพวงที่ตามมานั้นมันเป็นอะไรแน่? ตกลงมันเป็นเผด็จการ หรือแค่"ช่วงเปลี่ยนผ่านหลังยุคทักษิณ"(Post Thaksin)ไปสู่ประชาธิปไตยที่ชาวบ้านพลเมืองจะได้ถึงยุคฟ้าสีทองผ่องอำไพจริงๆจังๆ?
คน ที่คิดได้ก่อนอย่างนักวิชาการอย่างศ.ดร.นิธิ,อาจารย์จอน,จรัล ดิษฐาอภิชัย,หมอเหวง,ครูประทีป ก็ออกโรงกลับลำมาต่อต้านผู้ยึดอำนาจรัฐประหารอย่างเอาการเอางานบ้าง หรือผ่อนหนักผ่อนเบาบ้าง
คนที่มีความหวังว่าหลังยุคทักษิณจะดีขึ้นอย่างหมอประเวศก็ให้ศีลให้พรคณะรัฐประหาร ไป เขาจะฟังไม่ฟังก็อีกอย่าง หรือกว่าจะหาที่ยูเทิร์นเจออย่างสุริยะใส ที่ออกมาค้านไม่ให้พลเอกสนธิสืบทอดอำนาจ พรรคพวกเพื่อนฝูงแวดวงก็กาหัวแล้วว่า"ต้องปล่อยเกาะโดดเดี่ยวมันแล้วไอ้ใส"
คนที่หลงเข้าไปเต็มแท่งเต็มลำอย่างแก้วสรร,เจิมศักดิ์,สำราญ,คำนูณ,ไพศาล,ศ. ดร.ภูวดล ทรงประเสริฐ(เลขาธิการสมาคมสังคมศาสตร์) ก็ต้องเลือกข้างไปชัดๆด้วยการปลอบใจตัวเองว่า?เผด็จการทหารก็แค่ชั่วคราว เดี๋ยวก็เลือกตั้งแล้ว ยังไง้ยังไงก็ยังดีกว่าทุนสามานย์อย่างระบอบทักษิณ?
องก์สุดท้าย:รูดม่านนาฏกรรมบนลานพระรูปฯ
สำหรับผมแล้ว ภาพของชาวบ้านที่แห่แหนนำดอกไม้ไปให้กำลังใจคณะรัฐประหาร พาเด็กๆไปร่วมกันถ่ายรูปกับรถถัง และไปทัวร์กันยังกับงานรื่นเริงประจำปีที่ลานพระรูปฯในเหตุการณ์รัฐประหาร 19กันยาฯ สลับกับภาพที่ลุงแท็กซี่นวมทอง ไพรวัลย์ขับรถแท็กซี่ชนรถถังพลีชีพเพื่อปลุกสติสังคมนั้น...ว่าไปแล้วมันก็เป็นนาฏกรรมบนลานกว้างดีๆนั่นเอง
ทว่า เป็นสุขนาฏกรรมของภาคประชาชนสายปฏิรูปที่ไร้เดียงสาทางการเมือง แต่เป็นโศกนาฏกรรมของภาคประชาชนสายปฏิวัติที่เคี่ยวกรำศึกงานการเมืองมาชั่วชีวิต
แต่ทั้งหมดมันก็คือนาฏกรรมที่มีพลเมืองของประเทศนี้ สอดบรรสานเป็นอุปรากรวงใหญ่
เพียงแต่สรรพสำเนียงแห่งเสียงเพลงบรรเลงของภาคประชาชนหนนี้ ฟังไม่เป็นสับปะรดขลุ่ยใดๆ และไร้รสนิยมอย่างน่าชัง...ท่ามกลางเสียงกลบเย้ยของพลังสายธารกระแสหลักอย่างหยามหยัน
อีกคำรบหนึ่ง!
หมายเหตุอย่าพลาดบทความชุดในซีรีส์ชุดนี้:
ตอนที่1:ซีรีส์ลากไส้องค์กรซ่อนเงื่อน(ตอนที่1):เอ็นโตดี NGO พวกเขาไม่ได้โง่และไม่ได้บ้าแต่ว่าเพี้ยน...