ที่มา ประชาไท
16 มีนาคม 2552
นักวิชาการธรรมศาสตร์-เชียงใหม่-มหิดล-จุฬาร่วมจัดอภิปรายทางวิชาการครั้งสำคัญ “หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” 21-22 มี.ค. ที่คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เชิญวิทยากรทุกภาคส่วน ทุกแนวทาง รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจาก ม.112
โครงการประกาศนียบัตรกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่, สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาและการพัฒนาสังคม ม.มหิดล และภาควิชาปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันจัดการอภิปรายทางวิชาการ เรื่อง “หลากมิติกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ในวันที่ 21-22 มี.ค.นี้ที่ ห้องจี๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งนี้ ผู้จัดงานระบุเหตุผลของการจัดงานอภิปรายครั้งนี้ว่า ท่ามกลางวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ก่อตัวขึ้นนับตั้งแต่มีการขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จนนำไปสู่การรัฐประหารโดยคณะทหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 และเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ประเด็นสำคัญที่ก่อตัวขึ้นมาในระยะเดียวกันก็คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย อันได้แก่ อะไรคือบทบาทและพระราชอำนาจที่แท้จริงและที่ควรจะเป็นของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปจนถึงการใช้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นข้ออ้างเพื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนบางกลุ่ม และใช้ข้อหาไม่จงรักภักดีเป็นเครื่องมือเพื่อทำลายความชอบธรรมของฝ่ายตรงกันข้าม
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าการถกเถียงในเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยไม่สามารถกระทำได้อย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา เพราะมีกฎหมายมาตรา 112 ที่ระบุว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่ สามปีถึงสิบห้าปี ทำให้การถกเถียงส่วนใหญ่ไปปรากฏอยู่ในโลกไซเบอร์สเปซที่ยากจะควบคุมได้ และเพื่อจะหาทางควบคุม-ตอบโต้การถกเถียงในหัวข้อต้องห้ามนี้ จึงได้เกิดกระแสกดดันให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องหาทางจัดการกับปรากฏการณ์เหล่านี้ให้ได้โดยเร็ว ปฏิบัติการตามปิดเว็บไซต์ที่เข้าข่ายละเมิดมาตรา 112 จึงกลายเป็นภารกิจที่สำคัญของกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศของไทยไปในที่สุด ขณะเดียวกัน คดีที่เกี่ยวข้องกับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาของผู้มีอำนาจรัฐในปัจจุบันก็คือ การเพิ่มบทลงโทษให้รุนแรงมากขึ้น
กระนั้น การแก้ปัญหาที่มุ่งไปที่การจับกุมปราบปรามและลงโทษเป็นหลัก กลับก่อให้เกิดข้อกังขาตามมาอีกมากมาย เช่น วิธีการดังกล่าวจะนำมาซึ่งความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ได้จริงหรือ? อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับหลักการเสรีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน? เจ้าหน้าที่รัฐและระบบตุลาการของไทยปฏิบัติต่อผู้ต้องหาในคดีนี้อย่างโปร่งใสและคำนึงถึงหลักการสิทธิและเสรีภาพตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพียงใด? กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร? ควรมีการปรับปรุงการใช้กฎหมายนี้หรือไม่ อย่างไร? หากไม่มีกฎหมายหมิ่นฯแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์ควรได้รับการปกป้องคุ้มครองในลักษณะใด และด้วยกฎหมายใด? ฯลฯ
นอกจากนี้ คำถามเหล่านี้ไม่ได้จำกัดตัวอยู่เฉพาะแต่ในสังคมไทยเท่านั้น แต่กำลังกลายเป็นประเด็นที่ประชาคมโลกต่างให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ว่าจะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของสังคมไทยในระยะยาวหรือไม่อย่างไร ฉะนั้น สังคมไทยจึงไม่สามารถเก็บคำถามเหล่านี้ซ่อนไว้ในลิ้นชักหรือผลัดผ่อนที่จะไม่ตอบได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในภาวะที่ความแตกแยกของสังคมมีแต่จะลุกลายขยายตัวมากยิ่งขึ้น
ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อสังคมไทย และประเด็นปัญหาที่รายล้อมการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้เอง คณะผู้จัดในฐานะองค์กรทางวิชาการจึงเห็นร่วมกันว่าควรจัดให้มีการถกเถียงพูดคุยเชิงวิชาการอย่างรอบด้านจากบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิที่มีบทบาทสำคัญในประเด็นปัญหาดังกล่าว ด้วยความหวังว่าเวทีแห่งนี้จะเป็นก้าวแรกของการพิจารณาปัญหาที่มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนนี้อย่างเป็นวิชาการ รอบด้าน และมีวุฒิภาวะ เพราะหากปราศจากเงื่อนไขนี้แล้ว การแสวงหาทางออกที่จะนำสังคมไทยไปสู่ความมั่นคงในระยะยาวย่อมเป็นไปได้ยากยิ่ง
วันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๕๒
๐๘.๓๐-๐๙.๐๐ น. ลงทะเบียน
๐๙.๐๐-๐๙.๑๕ น. กล่าวเปิดงานโดย ผศ. ดร. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ผู้อำนวยการโครงการประกาศนียบัตร กฎหมายมหาชน นิติศาสตร์ มธ.
๐๙.๑๕-๑๒.๐๐ น. เรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมประชาธิปไตย”
- ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ
- รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มธ.
- ศ.ธงทอง จันทรางศุ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ
- นายทองใบ ทองเปาด์ ทนายความสิทธิมนุษยชน
ดำเนินรายการโดย ดร.พวงทอง ภวคร์พันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
๑๒.๐๐-๑๓.๓๐ น. พักรับประทานอาหาร (ตามอัธยาศัย)
๑๓.๓๐-๑๖.๓๐ น. เรื่อง “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความมั่นคงของรัฐ”
- นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
- นายวรินทร์ เทียมจรัส สมาชิกวุฒิสภา (แต่งตั้ง) คณะกรรมการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการเกี่ยวกับการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์
- รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ คณะนิติศาสตร์ มธ.
- รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มช.
ดำเนินรายการโดย อาจารย์ธีระ สุธีวรางกูร คณะนิติศาสตร์ มธ.
วันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๒
๐๙.๐๐-๐๙.๓๐ น. ลงทะเบียน
๐๙.๓๐-๑๒.๐๐ น. เรื่อง “ผลกระทบจากข้อกล่าวหากรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ”
- นางสาวจิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
- นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเวบไซด์ข่าวออนไลน์ประชาไท
- นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางสังคม
- ผศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
- นายวสันต์ พานิช อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
๑๒.๐๐-๑๓.๓๐ น. พักรับประทานอาหาร (ตามอัธยาศัย)
๑๓.๐๐-๑๖.๐๐ น. เรื่อง “สิทธิมนุษยชนกับความกลัวในสังคมไทย”
- ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี สำนักงานสิทธิมนุษยชนศึกษาฯ ม.มหิดล
- นายประวิตร โรจนพฤกษ์ สื่อมวลชน
- นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
- ศ. เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติหรือผู้แทน (รอการยืนยัน)
- รศ.จรัญ โฆษณานันท์ คณะนิติศาสตร์ มร.
ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล ผู้อำนวยการหลักสูตรปริญญาโท สาขาสิทธิมนุษยชน ม.มหิดล
๑๖.๐๐-๑๖.๓๐ น. ปัจฉิมกถา “หลากมิติว่าด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมราชานุภาพ"
โดย ศ. วิฑิต มันตราภรณ์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ