ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday, 19 January 2009

เชิญร่วมลงชื่อยุติการใช้กฎหมายหมิ่นฯกับผู้รักประชาธิปไตย

ที่มา Thai E-News

โดย ทีมข่าวไทยอีนิวส์
19 มกราคม 2552

หมายเหตุไทยอีนิวส์:นักวิชาการทั้งในไทย และต่างประเทศได้จัดการประชุมกันขึ้นที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อค่ำวันที่ 18 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา และมีมติร่วมกันรณรงค์ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผู้รักประชาธิปไตย โดยเห็นว่าเป็นการใช้กฎหมายนี้จัดการกับฝ่ายประชาธิปไตยคัดค้านเผด็จการ ผู้ที่มีความคิดเห็นต่างๆ ไม่ได้มีไว้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ในระบบประชาธิปไตย หากท่านใดประสงค์จะร่วมรณรงค์ กรุณาส่งชื่อ-นามสกุลจริงของท่าน กลับมาที่อีเมล์ giles.lessemajeste@gmail.com และกรุณาส่งเมลนี้ต่อไปในเครือข่ายของท่าน


ยุติการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับผู้รักประชาธิปไตย

เรา พลเมืองที่รักประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ ขอคัดค้านการใช้กฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพื่อทำลายเสรีภาพในการแสดงความเห็น เสรีภาพทางวิชาการ และเสรีภาพทางความคิด เราเรียกร้องให้รัฐบาลยุติคดีต่างๆ ที่เกิดกับกลุ่มคนที่คัดค้านรัฐประหาร 19 กันยา

รัฐประหาร 19 กันยา ได้แอบอ้างความชอบธรรมจากสถาบันเบื้องสูง เพื่อปิดบังเจตนาเผด็จการของฝ่าย คมช. พร้อมทั้งใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเพิ่มขึ้นในลักษณะที่คุกคามประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน วัตถุประสงค์ของการใช้กฏหมายนี้ไม่ใช่เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์ในระบบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย แต่เป็นการพยายามหวังทำลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร โดยมุ่งสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวแก่ผู้ที่ต้องการแสดงออกตามหลักประชาธิปไตยสากลเยี่ยงอารยประเทศ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการขัดขวางสิทธิเสรีภาพทางวิชาการของ รศ. ใจ อึ๊งภากรณ์ ผ่านการตั้งข้อกล่าวหาว่าหนังสือวิชาการของเขาเรื่อง รัฐประหาร 19 กันยา ( Coup for the Rich) "หมิ่นสถาบัน" ตัวอย่างอื่นๆ ของคนที่ถูกโจมตีเพราะไม่ยอมรับรัฐประหาร 19 กันยา มีอีกหลายคน เช่น นักข่าวบีบีซี นักเขียนชาวออสเตรเลีย กรณี จักรภพ เพ็ญแข ที่ถูกกล่าวหาในคดีคล้ายกัน เพื่อกดดันให้เขาลาออกจากตำแหน่งในรัฐบาล เพียงเพราะตั้งคำถามว่าพระมหากษัตริย์ในระบบประชาธิปไตยไทยควรจะเป็นอย่างไร หรือกรณี โชติศักดิ์ อ่อนสูง ที่สงวนสิทธิ์ตามความเชื่อของตนเองอย่างสันติ รวมทั้งกรณี ดา ตอปิโด และบุญยืน ประเสริฐยิ่ง เป็นต้น นอกจากนี้มีคดีของ นักข่าวบีบีซี Jonathan Head นักเขียนชาวออสเตรเลีย Harry Nicolaides อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และ สุวิชา ท่าค้อ เป็นต้น

ความจริงถูกพิสูจน์ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่ากฎหมายนี้ถูกนำมารังแกคนที่คิดต่างเท่านั้น ถึงเวลาแล้วที่ผู้รักความเป็นธรรม และต้องการรักษาประชาธิปไตยของไทยไว้ จะร่วมกันรณรงค์อย่างจริงจังเพื่อหยุดยั้ง "การบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ"

เราผู้มีรายนามท้ายประกาศฉบับนี้ขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือของเผด็จการและผู้หวังทำลายระบบประชาธิปไตยอีกต่อไป



ลงนาม..(ชื่อ-นามสกุลจริงของท่าน หรือเครือข่ายของท่าน)

ถ้าท่านต้องการลงชื่อสนับสนุนการรณรงค์ในครั้งนี้กรุณาส่งชื่อจริง กลับมาที่ giles.lessemajeste@gmail.com กรุณาส่งเมลนี้ต่อไปในเครือข่ายของท่าน หรือ กรุณาส่งชื่อจริงของท่าน


จำคุก3ปีชาวออสเตรเลีย"แฮรี่ นิโคลายส์"เป็นเหยื่อรายล่าสุด


วันนี้ (19 ม.ค.) เมื่อเวลา 14.00 น. ที่ห้องพิจารณา 811 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.4550/2551 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายแฮรี่ นิโคลายส์ (MR.Harry Nicolaides) อายุ 41 ปี ชาวออสเตรเลีย อดีตนักข่าวและคอลัมนิสต์ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์และรัชทายาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 20 พ.ย.51 ระบุความผิดจำเลยสรุปว่า ระหว่างวันที่ 1 เม.ย.48 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด พ.ศ.2549 จำเลยเผยแพร่หนังสือที่มีข้อความแก่ประชาชนทั่วไป อันเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ และราชวงศ์ อันเป็นการใส่ความรวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย หมิ่นพระเกียรติ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่ จ.เชียงราย และแขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ต่อเนื่องกัน

โดยวันนี้จำเลยเดินทางมาในชุดนักโทษสีน้ำตาล ในนัดสอบคำให้การ เมื่อเวลา 09.30 น. โดยจำเลยให้การรับสารภาพ พร้อมยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล ขณะที่อัยการโจทก์และทนายความจำเลย แถลงไม่ติดใจนำสืบพยาน

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามจริง ให้จำคุก 6 ปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ สมควรลดโทษให้กึ่งหนึ่งจำคุก 3 ปี แต่พฤติการณ์ของจำเลย เป็นผู้แต่งและประพันธ์หนังสือ ซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และรัชทายาท ที่มีการนำไปเผยแพร่จนทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ อันเป็นพฤติการณ์ที่มีความผิดร้ายแรง จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายแฮรี ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงว่า “My family the best” นอกจากนี้ ระหว่างที่อยู่ภายในห้องพิจารณาคดี นายแฮรีได้พูดคุยกับกลุ่มเพื่อนที่เดินทางมาให้กำลังใจ โดยนายแฮรีถึงกับร่ำไห้ แต่ขณะที่ระหว่างฟังคำพิพากษานายแฮรียืนฟังด้วยสีหน้าท่าทางสงบนิ่ง

ขณะที่ทนายความของนายแฮรี กล่าวว่า ตามกฎหมายจำเลยยังมีสิทธิ์อุทธรณ์ ฎีกาได้อีก แต่จะมีการอุทธรณ์หรือไม่ทุกอย่างขึ้นอยู่นายแฮรี ซึ่งตนยังไม่ได้คำตอบจากนายแฮรีว่าจะอุทธรณ์เพื่อขอให้ศาลรอการลงโทษหรือ ซึ่งหากจะมีการอุทธรณ์ต้องดำเนินการภายใน 30 วันตามกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายแฮรี นิโคลายส์ นั้นเคยเป็นนักข่าวและคอลัมนิสต์ มีงานเขียนในด้านการท่องเที่ยว เข้ามาทำงานในประเทศไทยเมื่อปี 2546 โดยเป็นผู้บรรยายวิชาจิตวิทยาสังคม ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากนั้นได้ย้ายไปที่เป็นผู้บรรยายวิชาการท่องเที่ยวและการโรงแรม ที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย โดยนายแฮรีถูกจับกุมคดีนี้เมื่อเดือน ก.ย.51 ที่ผ่านมา ที่ห้องโถงผู้โดยสารขาออกขณะจะเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองได้นำตัวนายแฮรีส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการตำรวจปราบปรามดำเนินคดีในเวลาต่อมา ซึ่งในชั้นพิจารณาคดีนายแฮรีไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแต่อย่างใด