ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Wednesday, 7 January 2009

การตัดสินชี้ขาดชัยชนะขึ้นกับผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ไม่ใช่ประมุขวังไหน ๆ

ที่มา thaifreenews

บทความโดย...ลูกชาวนาไทย

เกมการเมืองที่ต่อสู้กันมา 3 ปีกว่าแล้วนี้ มีทั้งการทำรัฐประหาร การใช้อำนาจตุลาการภิวัฒน์ (ที่ส่วนใหญ่เรียกว่าตุลาการวิบัติ) รวมทั้งการใช้ม็อบพันธมิตรในการห้ำหั่นฝ่ายประชาธิปไตย มีการใช้การเมืองนอกรัฐสภาและการเมืองข้างถนน ลามปามไปจนถึงการยึดทำเนียบรัฐบาล การยึดสนามบินสุวรรณภูมินั้น จนสุดท้ายก็ใช้วิธีการให้ศาลรัฐธรรมนูญ ยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม และล็อบบี้ให้กลุ่มเพื่อนเนวิน ทรยศต่อฉันทามติของประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชาชนมา จนมีการตั้งรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ในที่สุด

คนเสื้อสีแดงอาจคิดว่านี่คือการ พ่ายแพ้ทางการเมือง และเสียอำนาจรัฐไป แต่ผมกลับไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะในท้ายที่สุด เกมการเมืองทั้งหลาย ยังขึ้นอยู่กับ "การตัดสินชี้ขาดของประชาชนผู้ออกเสียงเลือกตั้ง" เพราะไม่ว่าจะอย่างไร ประเทศไทยไม่อาจหนีระบบการเมืองแบบเลือกตั้งได้ เมื่อมีการเลือกตั้ง เสียงของผู้ออกเสียงเลือกตั้ง ย่อมชี้ขาดในที่สุด ไม่ใช่อิทธิพลของประมุขวังไหนๆ หัวหน้ากลุ่มการเมืองใด ผู้มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญคนใด

การทรยศและไม่สนใจเสียงของประชาชนที่ลงคะแนนเลือดตั้ง อาจทำได้ในระหว่าง "สมัยการเลือกตั้ง" พวกเขาจะทำอย่างไรก็ได้ หากไม่แคร์ว่าสมัยต่อไป ผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไรก็ตาม ประมุขวังไหนๆ หรือกองทัพอาจใช้อิทธิพลของตนเอารถรับ สส.ไปเจรจาตั้งรัฐบาลในเขตทหารได้ บีบหรือจูงใจให้ สส. ทำตามที่ตนต้องการได้ แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา จะเป็นการชี้ขาดในที่สุด

ตอนที่ คมช. ทำรัฐประหาร พวกเขาก็ทำทุกอย่าง ที่จะยึดครองอำนาจรัฐให้ได้นานที่สุด ไล่ล่าทำลายล้างทักษิณ หรือกลุ่มการเมืองที่นิยมทักษิณทุกวิธีที่คิดได้ และแม้กระทั่ง ส่งทหารออกไปทำ ปจว. ชักจูงให้ชาวบ้านไม่เลือกพรรคกลุ่มนิยมทักษิณ แต่สุดท้ายอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของ กองทัพ ก็ถูกโค่นลงอย่างง่ายดาย โดยอำนาจของผู้ออกเสียงเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550

การปลุกม็อบป่วนเมืองของ พธม. แม้จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติมากมายแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่อาจล้มรัฐบาลได้ ที่รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ล้มลงไป เพราะการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แรงกดดันของม็อบพันธมิตร หรือ กองทัพแต่อย่างใด

เมื่อกองทัพไทย ไม่กล้าทำรัฐประหารอีกครั้งหนึ่ง เพราะแรงต้านของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” ที่คาดว่าจะมีมาก รวมทั้งการต่อต้านของประชาคมโลก อำนาจของกองทัพต่อการเมือง จึงหมดไปอย่างสิ้นเชิง การขู่ว่าจะทำรัฐประหารจึงเป็นเพียงแต่การบลั๊ฟเท่านั้น ส่วนการข่มขู่อย่างอื่น เช่น อุ้ม ก็ไม่ใช่ลักษณะของกองทัพอีกต่อไป แต่เป็นแบบเดียวกับนักเลงหรือเจ้าพ่อมากกว่า หากนักการเมืองรู้ทันเกมการขู่ ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวกองทัพอีกต่อไป

ส่วนผู้มีอำนาจนอกรัฐธรรมนูญทั้งหลายนั้น ในสามปีที่ผ่านมาของความขัดแย้งทางการเมือง พวกเขาได้แก้ผ้าล่อนจ้อนต่อหน้าประชาชนหลายครั้ง จนกล้ากล่าวได้ว่า อิทธิพลหรือบารมีของพวกเขาเสื่อมลงไปแทบหมดสิ้น ประชาชนไม่ได้เชื่อฟังเหมือนเดิมอีกแล้ว แม้จะยังไม่มีใครกล้าวิจารณ์ตรงๆ เพราะกลัวกฎหมาย แต่การวิจารณ์อ้อมๆ หรือในหมู่พวกกันเองนั้นมีอย่างโจ่งครึ่ม เมื่อบารมีเสื่อมลงไป อำนาจตามกฎหมายก็ไม่มี ก็เหลือเพียงแต่อำนาจที่เกิดจาก “เครือข่าย” ของผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งก็ไม่แตกต่างกับเจ้าพ่อแต่อย่างใด แต่การชี้นำประชาชนนั้นทำไม่ได้อีกแล้ว

ดังนั้น การต่อสู้ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยต่อไป จึงชัดเจนยิ่งขึ้นว่า ต้องให้ความสำคัญไปที่ ฐานคะแนนเสียงเดิมของกลุ่มคนรักทักษิณ ที่มีอยู่เดิม ในช่วงที่เป็นฝ่ายค้าน ก็ควรเน้นไปที่การปรับปรุงโครงสร้างของพรรค สร้างกลไกเชื่อมต่อกับมวลชน และพัฒนาผู้นำพรรครุ่นใหม่ๆ ให้มีบทบาทมากขึ้น เพราะ สส.ที่เหลืออยู่ในพรรคมีจำนวนมาก แต่เป็น สส.รุ่นใหม่แทบทั้งสิ้น ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อการ “ปรับโครงสร้าง” รื้อระบบ สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ หรือปรับองค์กรได้ดีกว่าพรรคประชาธิปัตย์ ที่โครงสร้างพรรคยังเป็นคนเก่าทั้งสิ้น ทำให้ยากที่จะปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมของพรรคได้

รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ที่เกิดขึ้นจากการทรยศหักหลังประชาชน ของกลุ่มเพื่อนเนวินนั้น มีความหวังเพียงอย่างเดียวว่า หากพวกเขาสามารถลากรัฐบาลให้อยู่ได้ครบสมัย คือ จนกว่าจะสิ้นอายุของสภานี้ คนก็จะลืมทักษิณ อิทธิพลของทักษิณจะเสื่อมลง ผมคิดว่าความคาดหวังเช่นนี้เป็นความหวังลมๆ แล้งๆ มากกว่า เพราะโครงสร้าง อุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยากที่จะสร้างผลงานให้เทียบเท่ากับรัฐบาลทักษิณได้ ยิ่งลากไปนาน คนก็จะเบื่อหน่ายแบบรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ช่วงปี 2541-2543 ที่ล้มเหลวในการบริหารประเทศ แต่ก็ยื้อต่อจนเกือบครบวาระของสภา สุดท้ายเมื่อต้องเข้าสู่สนามเลือกตั้ง ประชาชนก็สั่งสอนเอาอย่างหนัก โดยเลือกพรรคไทยรักไทย อย่างท้วมท้น

รัฐบาลของอภิสิทธิ์ ไม่มีทางทำงานได้ดีกว่ารัฐบาลทักษิณ จนประชาชนนิยมและลงคะแนนให้จนชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นอย่างแน่นอน แม้ว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จะลอกนโยบายประชานิยมของทักษิณ แต่โดยพื้นฐานทางการเมือง พวกเขาไม่อาจทำประชานิยมถึงที่สุดได้เพราะไปขัดแย้งกับ “กลุ่มชนชั้นนำ/ชนชั้นกลางในเมือง” ที่ไม่ชอบนโยบายประชานิยม รัฐบาลอภิสิทธิ์จึงทำได้แต่ประชานิยมหลอกๆ ได้เท่านั้น

กลุ่มเพื่อนเนวิน ตั้งยุทธศาสตร์เอาไว้ว่าจะรวมกับกลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน จับมือกันตั้งพรรคการเมืองและคิดว่าจะได้เสียงประมาณ 60-70 เสียง เพื่อเอาไว้ต่อรอง แบบพรรคชาติไทยของบรรหาร ผมคิดว่าเป็นการตั้งความหวังที่ไม่ดูพัฒนาการทางการเมืองของ “ผู้ออกเสียงเลือกตั้ง” ในทศวรรษ 2540-2550 ที่ผ่านมา ที่ประชาชนนิยมเลือก “พรรค” มากกว่าเลือก “ตัวบุคคล” ดังนั้น แบบจำลองการเมือง “สุพรรณบุรีโมเดล” ที่เน้นระบบอุปถัมป์ท้องถิ่น เช่นทุ่มงบประมาณลงท้องถิ่นเพื่อพัฒนาจังหวัดแบบสุพรรณ จึงไม่ได้ผลอีกต่อไป เพราะยุคนี้มี อบต./อบจ. รับภาระส่วนนี้ไปแล้ว ความคาดหวังของประชาชนต่อ สส.จึงพ้นเรื่องท้องถิ่นโดยสิ้นเชิง แต่เป็นเรื่องนโยบายระดับชาติ ต่างๆ แบบทักษิโณมิกส์ นั่นแหละ เช่น สวัสดิการสังคม หรือ Welfare ต่างๆ ซึ่ง Welfare ทำไม่ได้ หากหาเงินไม่เก่งเท่าทักษิณ และ Welfare ก็ขัดแย้งกับ คนชั้นสูง/ชั้นกลางในเมืองใหญ่ ที่สนับสนุนรัฐบาลอภิสิทธิ์ ดังนั้น ผมจึงไม่เชื่อว่า เนวิน+สมศักดิ์ จะไปรอดใน “สภาพแวดล้อมทางการเมือง” สมัยใหม่ เพราะสิ่งที่เขาคาดหวังคือ “ระบอบการเมืองแบบยุคก่อนปี 2540” ที่มีระบบหลายพรรค ประชาชนออกเสียงเลือกตั้งบุคคลมากกว่าพรรค

เมื่อมองอย่างนี้แล้ว ผมจึงคิดว่า ผมไม่มีปัญหาอะไรเลยหากรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์จะลากไปจนครบวาระ

สำหรับกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ผมไม่คิดว่าจะใช้เกมของการสร้างม็อบแบบพันธมิตร เพื่อล้มรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่การชุมนุมเพื่อการกดดันทางการเมืองนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งคนเสื้อแดงก็ทำอยู่แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้มวลชนตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการครอบงำ และไม่เป็นประชาธิปไตยของพวกอำมาตยาธิปไตย

ยุทธศาสตร์ของคนเสื้อแดง ต้องมุ่งให้ความรู้แก่มวลชน เคลื่อนไหวเพื่อสร้างแนวร่วม ส่วนพรรคเพื่อไทย ต้องเน้นการเสริมสร้างความเข็มแข็งขององค์กร และการเชื่อมโยงกับมวลชน อีกสามปีข้างหน้า หรือแม้แต่อีก 1 ปีข้างหน้า อิทธิพลของพวกศักดินาอำมาตยาธิปไตย ยิ่งเสื่อมโทรมมากกว่านี้อีก จึงยากที่จะชี้นำสังคมได้อีก พวกเขาแลกศรัทธา กับรัฐบาลที่ง่อนแหง่นของมาร์กไปแล้ว มาร์กยิ่งอยู่ คนที่โอบอุ้มยิ่งเสื่อม