ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมือง

ข่าวจากสื่อ

บทความจากสื่อ

Monday 3 October 2011

ยุติอดข้าว 112 ชั่วโมง ศิลปินประกาศรณรงค์เลิก 112 ในทางวัฒนธรรม

ที่มา Thai E-News

โดย นพ
3 ตุลาคม 2554

วันที่ 1 ตุลาคม 2554 บริเวณหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง” (112 Hunger Strike) ของนายมิตร ใจอินทร์และกลุ่มศิลปินอิสระ ดำเนินไปเป็นวันสุดท้าย และยุติการอดอาหารลงเมื่อเวลา 4.00 น. พร้อมประกาศแถลงรณรงค์การต่อสู้ให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

เมื่อเวลา 4.00 น. ซึ่งเป็นเวลาครบกำหนด 112 ชั่วโมงของการอดอาหารของนายมิตร ใจอินทร์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 26 กันยายนเวลา 12.00 น. นายมิตรได้ลงมือกินโจ๊กที่กลุ่มศิลปินเตรียมจัดซื้อไว้ให้ นายมิตรรับประทานอาหารมื้อแรกในรอบเกือบ 5 วัน ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมบ่นถึงความอร่อยในรสอาหารหลังไม่ได้รับประทานมาหลายวัน โดยในวันท้ายๆ นายมิตรเล่าว่าเริ่มมีอาการเสียดท้อง เพราะน้ำย่อยอาจเริ่มกัดกะเพาะ แต่ในที่สุดก็ยังอดทนจนผ่านพ้น 112 ชั่วโมงมาได้

นายมิตร ใจอินทร์รับประทานอาหารมื้อแรกในรอบ 112 ชั่วโมง

ใน เช้าวันนี้ผู้ที่สนใจปัญหาเรื่องกฎหมายมาตรา 112 เดินทางมาให้กำลังใจนายมิตรราว 20 คน รวมทั้งนางเพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ หรือเพ็ญ ภัคตะ นักเขียนและนักวิชาการท้องถิ่น ซึ่งเป็นภรรยาของนายมิตร ก็ได้เดินทางมาให้กำลังใจนายมิตรและรับเขากลับบ้านด้วยหลังยุติการอดอดหาร โดยนางเพ็ญสุภาเล่าว่า ก่อนที่สามีจะอดอาหาร ได้เตรียมร่างกายมาเป็นเวลา 3 เดือน โดยลดมื้ออาหารเหลือเพียง 2 มื้อ และลดปริมาณอาหารที่จะรับประทานลงทีละน้อยๆ ก่อนเริ่มปฏิบัติการอดอาหาร 112 ชั่วโมงดังกล่าว นอกจากนั้นนายมิตร กลุ่มศิลปิน และผู้สนใจ ต่างร่วมรับประทานอาหารด้วยกันในเช้านี้ด้วย

จากนั้นในเวลาราว 8.00 น. นายมิตรได้เปิดใจสั้นๆ ถึงความรู้สึกที่จะยืนหยัดรณรงค์เรื่องปัญหาในกฎหมายมาตรา 112 นี้ในโอกาสต่อไป จนกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเขาอยากให้มีการยกเลิกด้วยซ้ำ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ขอให้มีการแก้ไขและปรับปรุงการใช้กฎหมายทั้งหมด จากนั้นนายทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อ่านร่างคำประกาศเรื่องการรณรงค์ปัญหากฎหมายมาตรา 112 ในมิติทางวัฒนธรรม โดยกลุ่มศิลปินอิสระเห็นว่าปัญหาของกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีเพียงปัญหาทาง นิติศาสตร์ แต่ยังเป็นปัญหาทางวัฒนธรรมของสังคมไทย ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปถึงชีวิตประจำวัน และได้สร้างกรอบหรือจินตนาการของการดำเนินวิถีชีวิตของประชาชนที่ไม่สามารถ มองเห็นถึงสาระสำคัญของคำว่าอิสรภาพและเสรีภาพได้

กลุ่มศิลปินอิสระ จึงได้เสนอว่าการรณรงค์เรียกร้องให้เกิดการแก้ไขจนถึงการล้มเลิกกฎหมายมาตรา จึงจำเป็นต้องเกิดจากกิจกรรมในพื้นที่ของวัฒนธรรมและพื้นที่ของชีวิตเป็นคู่ ขนานกันไปกับการถกเถียงในมิติทางนิติศาสตร์ โดยกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ โดยนายทัศนัยโดยยกตัวอย่างการทำให้ตัวเลข 112 กลายเป็นสิ่งติดตา มีอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ย้ำเตือนถึงปัญหาและการมีอยู่ของกฎหมายมาตรานี้ไปทั่วทั้งสังคมไทย และใช้มิติทางวัฒนธรรมเข้าหนุนเสริมการต่อสู้เปลี่ยนแปลงทางนิติศาสตร์ (อ่านคำแถลงฉบับเต็มดังแนบด้านท้าย)
เพ็ญ ภัคตะ ภรรยาของนายมิตร ใจอินทร์ เดินทางมาให้กำลังใจและรับสามีกลับบ้าน

การอ่านคำแถลงของนายมิตรและกลุ่มศิลปิน

112 ในมิติทางวัฒนธรรม
ปัญหา ของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือที่รู้จักกันในนาม “กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” มิได้มีเพียงการถูกนำไปใช้ในการกล่าวหา หรือการเปิดโอกาสให้เกิดการกล่าวหา การกระทำที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และทำให้เกิดการปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดเห็นที่เป็นสุจริตในประเด็นที่ เกี่ยวข้องกับราชการแผ่นดิน หรือพระมหากษัตริย์ในฐานะที่เป็นองค์กรเอกชนตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น

เนื้อหา ทางกฎหมายในมิติทางนิติศาสตร์ทำให้เกิดการปิดกั้นอิสรภาพของชีวิตทาง วัฒนธรรมในวงเขตที่กว้างขวาง หากวัฒนธรรมหมายถึงวิถีชีวิตแล้ว วิถีชีวิตแบบไทยๆ ก็ถูกทำให้อยู่ภายใต้กรอบกำหนด และกรอบกำหนดดังกล่าวนี้เองที่ทำให้การมีชีวิตไปตามยถากรรมเป็นสิ่งปกติ และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีสิทธิเสรีภาพอะไร

หรือหากชีวิตจะต้อง มีสิทธิเสรีภาพต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งถูกเขียนขึ้น โดยมีผลบังคับใช้ในสองมิติ 1. มิติความหมายของคำว่า “เสรีภาพ” ที่กฎหมายนั้นๆ อนุญาตให้มี 2. มิติของกรอบความเข้าใจชีวิตทางวัฒนธรรม ภายใต้ขนบแบบไทยๆ ชุดหนึ่ง ดังนั้นแล้วทั้งสิทธิเสรีภาพตามที่กฎหมายอนุญาตให้มีและขนบความเป็นวัฒนธรรม ไทย มีสิ่งที่เชื่อมโยงกันคือการไม่เปิดโอกาสให้เกิดข้อถกเถียงต่อคำว่า “สิทธิ และเสรีภาพ”

ในมิติแรกมีปัญหามากมายตามที่ทราบกันบ้างแล้วจากประเด็นปัญหาและข้อถกเถียงต่างๆ ในทางนิติศาสตร์

แต่ ในมิติที่สองคือมิติทางวัฒนธรรมนี้ ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลในระดับชีวิตประจำวัน และผลกระทบนี้กินความอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากต่อความหมายของสิทธิและ เสรีภาพในการดำรงชีวิต ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับปัญหาของข้อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพโดยตรง แต่มันได้สร้างกรอบหรือจินตนากรรมต่อภาพของวิถีชีวิตตามยถากรรมที่ทำให้ ประชาชนไม่สามารถมองเห็นถึงสาระสำคัญของคำว่าอิสรภาพและเสรีภาพ หรือไม่สามารถที่จะตั้งคำถามต่อข้อจำกัดของอิสรภาพและเสรีภาพที่ส่วนหนึ่ง เกิดขึ้นจากผลพวงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จากข้อกำหนดทางกฎหมายในมาตรา 112 และมาตราอื่นในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันได้เลย

ดังนั้นปัญหา ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงส่งผลกระทบที่ซับซ้อนในหลายมิติ และประเด็นข้อถกเถียงที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมาตรานี้และมาตราที่เกี่ยวข้อง จึงเกิดจากการเคลื่อนไหวของคนในหลายๆ กลุ่มซึ่งเป็นผลพวงของปัญหาในชีวิตทางวัฒนธรรมที่หลากหลายที่ไม่เห็นว่า ปัญหาในระดับประจำวันของตนเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ และดำเนินไปตามยถากรรม หากแต่เกิดขึ้นจากการถูกทำให้เชื่อว่าตนเองไม่มีสิทธิเสรีภาพที่จะพูดถึง ปัญหาเหล่านั้นได้ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างภาพให้สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่มีปัญหา เป็นลักษณะของสังคมที่ปิดเงียบ ในขณะที่ปัญหาในระดับชีวิตประจำวันยังคงรุมเร้าผู้คนและทวีความรุนแรงมาก ยิ่งขึ้น และยังไม่ได้รับการเหลียวแล การเป็นสังคมปิดเงียบจึงสร้างภาวะความหวาดกลัวที่จะพูดถึงยถากรรมที่ทุกคน กำลังประเชิญหน้าอยู่

ในอดีต หน้าที่ของหลักปรัชญากฎหมายไทยคือการวางกรอบให้พลเมืองปฏิบัติตามสิ่งที่พระ มหากษัตริย์ ชนชั้นนำ และผู้นำของรัฐในสมัยต่างๆ ต้องการ แทบไม่มีกฎหมายที่เกิดขึ้นจากพลเมืองของรัฐเองที่ใช้เป็นกรอบข้อตกลงในการ อยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่เลย ชีวิตของพลเมืองไทยถูกปล่อยไว้ในจินตนาการที่ต้องเผชิญยถากรรมแต่เพียงลำพัง แต่เมื่อใดก็ตามที่การใช้ชีวิตตามยถากรรมซึ่งยากแค้นแสนลำเค็ญอยู่แล้ว มีเรื่องที่ละเมิดกรอบการจัดวางชีวิตที่เป็นระเบียบเรียบร้อยตามหลักปรัชญา กฎหมายไทย พลเมืองคนนั้นๆ กลุ่มนั้นๆ ก็จะถูกจัดการจากประมวลกฎหมายมาตราต่างๆ ตามลักษณะของกฎหมายที่มีระดับต่างกัน ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา พระราชบัญญัติ เทศบัญญัติ ระเบียบ ฯลฯ พลเมืองของรัฐไทยจึงมีชีวิตไปตามยถากรรมและอยู่ภายใต้จินตนาการเรื่องสิทธิ เสรีภาพตามแต่กรอบกฎหมาย และผู้เขียนกฎหมายจะเห็นสมควร

ในยุคที่รัฐ ทุนและระบบตลาด ซึ่งในภายหลังมีความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในโลกโลกาภิวัตน์ ชีวิตตามยถากรรมแต่เดิมที่ถูกอธิบายตามหลักผู้มีวาสนาบารมีและผู้เกิดมาบุญ น้อย โดยมีพุทธศาสนาที่ถูกใช้รับรองความไม่เสมอภาคแต่กำเนิดเพื่อตอกย้ำภาพชีวิต ของพลเมืองที่ต้องเผชิญปัญหามากมายแต่เพียงลำพัง ยังคงทำหน้าที่สำคัญอยู่ และยิ่งไปกว่านั้นในโลกสมัยใหม่พลเมืองต้องเผชิญกับปัญหาชีวิตประจำวันใน มิติทางเศรษฐกิจ ซึ่งสร้างช่องว่างที่ห่างออกจากกันเรื่อยๆ ระหว่างผู้ไม่มีจะกิน และผู้ที่ร่ำรวยเกินกว่าปกติมากนัก นอกจากภาพของชีวิตที่ต้องได้รับความช่วยเหลือให้พออยู่ไปวันๆ แบบบอนไซ คือไม่ตายแต่เลี้ยงไม่โต ยิ่งไปกว่านั้นความเชื่อเรื่องยถากรรมในอดีตถูกอธิบายใหม่ด้วยปรัชญา เศรษฐกิจที่ให้พลเมืองรู้จักประมาณตน ไม่ควรคิดอะไรมาก และไม่ควรคิดถึงสิทธิที่จะลืมตาอ้าปากได้อย่างมีอิสรภาพ ในขณะที่ชีวิตของพลเมืองถูกผูกเข้ากับพันธนาการของข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจใน การดำรงชีพที่เต็มไปด้วยหนี้สิน และบุญคุณต่างๆ นานาโดยทั้งหมดต้องก้มหน้ารับกรรมไปกันเอง

แต่เมื่อสังคมมีความรู้ ที่มากขึ้น และเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมชีวิตจึงเต็มไปด้วยปัญหาที่เชื่อมโยงกันในหลายมิติ นี้ และเริ่มเรียกร้องเพียงสิทธิที่จะพูด ตั้งคำถามและวิจารณ์ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อเรียกร้องการมีชีวิตที่เป็นธรรมมากยิ่งขึ้น ก็ต้องเผชิญกับกรอบที่ถูกกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายภายใต้ขนบชุดหนึ่งที่ พลเมืองไทยควรหุบปากและสํารวมเจียมตัวอีก

ดังนั้นปัญหาของประมวล กฎหมายมาตรา 112 จึงเป็นปัญหาที่กินความกว้างขว้างมากในระดับชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะต่อจินตนาการของการดำเนินชีวิต กิจกรรม และนิยามความหมายของวัฒนธรรมไทยที่เป็นปัญหาในมิติที่ซับซ้อน ปัญหามาตรา 112 ในมิติทางวัฒนธรรมนี้ไม่เพียงสร้างความหวาดกลัวต่อเสรีภาพในการแสดงความคิด เห็นสาธารณะที่มักถูกใช้เป็นข้อกล่าวหาในเรื่อง “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” แต่มันได้สร้างความหวาดกลัวต่อการดำรงชีวิตที่เป็นปกติสามัญภายใต้ขนบความ เป็นพลเมืองไทยที่ไม่มีสิทธิเสรีภาพในแทบทุกด้านอีกด้วย

ดังนี้แล้ว เมื่อผลกระทบของมาตรา 112 มีใจความที่กว้างขวางในระดับวัฒนธรรม และชีวิตประจำวัน ดังนั้นการรณรงค์เรียกร้องให้เกิดการแก้ไขจนถึงการล้มเลิกกฎหมายมาตรานี้จึง จำเป็นต้องเกิดจากกิจกรรมในพื้นที่ของวัฒนธรรมและพื้นที่ของชีวิตเป็นคู่ ขนานกันไปกับการถกเถียงในมิติทางนิติศาสตร์

จุดประสงค์สำคัญในการอด ข้าวของมิตร ใจอินทร์ คือการทำให้พื้นที่ของชีวิตสามัญ ชีวิตที่ทุกคนเดินเหินไปมาในกิจกรรมของชีวิตที่แตกต่างหลากหลายคือเวทีแห่ง การรณรงค์เรียกร้องสิทธิเสรีภาพในรูปแบบต่างๆ และเป็นเวทีที่แท้จริงในการไต่สวนความอยุติธรรมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ชาติพันธุ์ เพศสภาพ และอื่นๆ อย่างกว้างขวาง ด้วยเครื่องมือที่ทุกคนมีเป็นต้นทุนอยู่แล้วในกระเป๋าของตัวเอง

มิตร ใจอินทร์ และผองเพื่อนศิลปินอิสระ
1 ตุลาคม 2554
========================================

หิวประหาร-ประหารหิว

เพ็ญ ภัคตะ

จักประหารความหิวด้วยความอด
จักประชดรสชาติด้วยความเฉย
จักประท้วงความอิ่มมิลิ้มเลย
จักเยาะเย้ยเหยียดหยันสวรรยา

อันความหิวแม้อาจประหารมนุษย์
ให้ยื้อยุดฉุดแย่งแรงตัณหา
สวาปามสยามป่นปล้นบีฑา
เสวยเสพย์มังสาประชาไท

ขอประหารความหิวมิรู้โหย
อำมาตย์กลืนกอบโกยกระอักไส้
แลกความอิ่มลิ้มความอดขบถใจ
ตระหนักในเพทนาประชาชน

ประจักษ์แจ้งแรงหิวผอมผิวเกรียม
ราษฎร์ถูกราชประหารเหี้ยมทุกแห่งหน
ฟังสิฟังเสียงท้องร้องของคนจน
กิ่วขอดทนยังกร่นเพรียกให้เพียงพอ

ในความอดสดใสหทัยสุข
ไม่โลภรุกทุกข์ร่ำน้ำสายสอ
แม้นโหยไห้ไส้แหบทั้งแสบคอ
มิร้องขอเศษน้ำใจใครเยียวยา

ขอเพียงหยุดข่มเหงยำเยงไพร่
เสรีให้เทียมเท่าทั้งเจ้า-ข้า
ประหารรอยล้ำเหลื่อมเชื่อมศรัทธา
ล้างความหิวล้านชิวหารากหญ้าครอง

หิวประหารฤอาจต้านประหารหิว
เลิกกดขี่ชี้นิ้ว "หนึ่งหนึ่งสอง"
กฎหมายทาสป่าเถื่อนเบือนครรลอง
เร่งคืนความถูกต้องของ...รัฐธรรมนูญ

ปล. แด่การประกาศเจตนารมย์ของกลุ่มศิลปิน No. 112 Hunger Strike!